Categories
Special Content

อังเก ปอสเตโคกลู คนสู้ชีวิต จากกุนซือโนเนมสู่ฮีโรของเซลติก

อังเกโลส หรือ อังเก ปอสเตโคกลู ชื่อนี้เคยถูกเอ่ยอย่างหนาหูในหมู่แฟนบอลและสื่อไทยเมื่อครั้งคุมทีมโยโกฮามา เอฟ. มารินอส เพราะธีราทร บุญมาทัน แบ็คซ้ายทีมชาติไทย เป็นหนึ่งในลูกทีมของกุนซือออสซีตั้งแต่ยืมตัวจากเมืองทอง ยูไนเต็ด ในเดือนมกราคม 2019 ก่อนซื้อขาดในเดือนธันวาคมโดยปีนั้น มารินอสคว้าแชมป์ เจลีก 1 มาครองเป็นสมัยแรกในรอบ 15ปี

หลังทำงานในดินแดนปลาดิบ 3 ปีครึ่ง ปอสเตโคกลูเดินทางข้ามทวีปมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมเซลติก ยักษ์ใหญ่สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ด้วยสัญญาเพียง 12 เดือน จากกุนซือโนเนมกลายเป็นขวัญใจและฮีโรของแฟนบอลเซลติกภายในเวลาอันรวดเร็ว เพียงซีซันแรก 2021-22 กุนซือชาวออสเตรเลียนเชื้อสายกรีกก็ทำดับเบิลแชมป์ นำถ้วยสกอตติช พรีเมียร์ชิพ และสกอตติช ลีกคัพ ใส่ไว้ในตู้โชว์ถิ่นเซลติก ปาร์ก

ซีซันล่าสุด 2022-23 ปอสเตโคกลูซ้ำรอยความสำเร็จ รักษาแชมป์ลีกคัพด้วยการเฉือนเรนเจอร์ส 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ 26กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพสมัยที่ 11 ในรอบ 12 ปีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมแม้เหลือโปรแกรมแข่งอีก 4นัด เซลติกยังมีโอกาสทำทริปเปิลแชมป์หากเอาชนะอินเวอร์เนสส์ คาเลโดเนียน ธิสเซิล คู่แข่งจากแชมเปียนชิพ ในนัดชิงชนะเลิศ สกอตติช คัพ (หรือเอฟเอ คัพ ของสกอตแลนด์) วันที่ 3 มิถุนายน

กลางเดือนพฤษภาคม กุนซือร่างใหญ่วัย 57 ยังได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งสกอตแลนด์ เคียงข้างสตาร์คู่ใจ เคียวโงะ ฟุรุฮาชิ ศูนย์หน้าวัย 28 ซึ่งรับตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสกอตติช พรีเมียร์ชิพ โดยกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งเหมา 2  ประตูในนัดชิงแชมป์ลีกคัพ มีสถิติลีกวิสกีขณะนี้ 32 นัด 24 ประตู

ก่อนหน้านี้ ปอสเตโกคลูได้รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมแห่งปีจากการโหวตของสมาคมนักข่าวฟุตบอลสกอตแลนด์ด้วย

Who’s this guy? เป็นประโยคยอดฮิตในหมู่แฟนบอลเซลติกตอนที่สโมสรประกาศแต่งตั้งปอสเตโคกลู แน่นอนกองเชียร์คู่อริ เรนเจอร์ส นำมาล้อเลียนเป็นที่สนุกสนานเพราะไลท์บลูส์เพิ่งชนะสกอตติช พรีเมียร์ชิพ ซีซัน 2020-21 หยุดการครองแชมป์ลีกสูงสุดติดต่อกันของเซลติกไว้ที่ 9 ปี

รับบทอัศวินไร้หน้าขี่ม้าขาวกอบกู้เซลติก

ซีซัน 2020-21 ก่อนหน้าปอสเตโคกลูเข้ามารับงานใหญ่ในกลาสโกว์ เซลติกเพิ่งพลาดนั่งบัลลังก์พรีเมียร์ชิพ 10 ปีติดต่อกัน ได้แค่รองแชมป์ที่มีแต้มตามเรนเจอร์สถึง 25 คะแนน เรนเจอร์สยังเขี่ยพวกเขาตกรอบสกอตติช คัพ ส่วนลีกคัพ แพ้รอสส์ เคาน์ตี ก่อเกิดบรรยากาศอึมครึมในหมู่แฟนบอล ซึ่งเรียกร้องให้สโมสรเร่งเปลี่ยนแปลง นีล เลนนอน โดนปลดจากผู้จัดการทรีม ปีเตอร์ ลอว์เวลล์ ที่ทำหน้าที่ซีอีโอมายาวนาน ส่งสัญญาณพร้อมลาออก โดมินิค แม็คเคย์ เข้ามารับงานแทนแค่สองเดือนก็โบกมือลาด้วยเหตุผลที่ยากจะอธิบาย

เซลติกเฝ้ารอการเซย์เยสจากเอ็ดดี ฮาว เพื่อรับตำแหน่งผู้จัดการทีม ผ่านไปหลายเดือนก่อนที่สโมสรออกมายอมรับว่าดีลกับฮาวไม่มีทางเกิดขึ้นแล้ว และท้ายสุด ปอสเตโคกลูถูกเลือกให้มารับเผือกร้อนกู้วิกฤติเร่งด่วนของเซลติกท่ามกลางอากัปกิริยาเลิกคิ้วด้วยความมึนงงกับชื่อของนายใหญ่คนใหม่ที่ยังไม่เคยทำงานในยุโรปเลยแม้เคยเป็นเฮดโค้ชทีมชาติออสเตรเลียชุดใหญ่, ยู-20 และยู-17 รวมถึงดีกรีแชมป์ลีกญี่ปุ่น 1 สมัย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหลายสโมสรในออสเตรเลีย

แฟนบอลเซลติกหันมามองหน้ากันเพื่อถามหาคำตอบว่า “Ange Postecog-who?” ขณะที่อลัน บราซิล อดีตกองหน้าทีมชาติสกอตแลนด์ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เซลติก ยังหลุดปากในเชิงสงสัยการตัดสินใจของบอร์ดบริหารระหว่างรายการ talkSPORT ของตัวเอง แต่ถัดจากนั้นหนึ่งปี เขาได้ขอโทษปอสเตโคกลูเมื่อกุนซือออสซีนำสองแชมป์มาให้สโมสร

ทอม โรจิช อดีตมิดฟิลด์เซลติกที่เคยร่วมงานกับปอสเตโคกลูในทีมชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผมขำทุกครั้งที่มองย้อนไป แม้ผมรู้จักเขาดีแต่ก็มีแวบคิดว่าเขาเป็นใครกัน แต่ผู้คนใช้เวลาไม่นานหรอกที่จะตระหนักรู้ว่าเขาเก่งแค่ไหน และนั่นเป็นเหตุผลที่สโมสรนำเขาเข้ามา ผมยอมรับว่ามันง่ายที่จะพูดแบบนั้นตอนนี้ แต่เมื่อคุณพิจารณาผ่านประสบการณ์ ก็จะรู้ว่าเขาคือผู้จัดการทีมระดับท็อป”

เด็ก 5 ขวบนั่งเรือหนึ่งเดือนจากกรีซไปออสเตรเลีย

อังเก ปอสเตโคกลู (Ange Postecoglou) เป็นชาวออสเตรเลียน เล่นฟุตบอลตำแหน่งกองหลัง เคยเล่นให้ทีมชาติออสเตรเลีย ยู-20 จำนวน 13 นัดในปี 1985 เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ระหว่างปี 1986 – 1988 ลงสนามเพียง 4 นัด แต่แท้จริงแล้วเขามีเชื้อสายกรีก เกิดวันที่ 27 สิงหาคม 1965 ที่ Nea Filadelfeia ย่านชานเมืองกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

ช่วงเกิดรัฐประหารในประเทศเมื่อปี 1967 ทำให้ธุรกิจของ ดิมิทริส ปอสเตโคกลู ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “จิม” ตัดสินใจพาครอบครัว วูลา ภรรยา กับลูกสองคน ลิซและอังเก นั่งเรือข้ามทวีปอพยพไปเริ่มชีวิตใหม่ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียในปี 1970 ตอนนั้นอังเกเพิ่งอายุ 5 ขวบ และ 4 ปีต่อมา เข้าร่วมสโมสรเซาธ์ เมลเบิร์น เฮลลาส ฝึกปรือฝีเท้ากับทีมเยาวชนระหว่างปี 1978 – 1983 ก่อนถูกโปรโมทร่วมทีมซีเนียร์ตั้งแต่ปี 1984 จนถึง 1993 เขาเล่นให้สโมสรเดียวตลอดอาชีพค้าแข้ง มีสถิติ 193 นัด 27 ประตู จากนั้นเบนเข็มทิศเป็นผู้จัดการทีมให้เซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1996 – 2000 ก่อนอำลาสโมสรเพื่อรับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย ยู-17

ปอสเตโคกลูเปรียบเทียบการเอาชนะคำสบประสาทของแฟนบอลและสื่อมวลชนในสกอตแลนด์ว่า เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตไม่ต่างจากครอบครัวเขาเคยเผชิญเมื่อครั้งอพยพจากกรีซมาที่ออสเตรเลีย

กุนซือวัย 57 ซึ่งได้รับเบอร์ 24 เป็นหมายเลขประจำตัวผู้อพยพเมื่อปี 1970 ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าพ่อแม่ผ่านอะไรมาบ้าง ท่านต้องพาครอบครัวเดินทางครึ่งโลก ใช้เวลาบนเรือ 30 วันไปยังประเทศที่ท่านพูดภาษาไม่ได้ อีกทั้งไม่มีบ้านไม่มีงานรออยู่”

“ผู้คนมักพูดกันว่า คุณไปประเทศอื่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ชีวิตพ่อแม่ผมไม่เคยดีขึ้นเลย ท่านต้องเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อหาโอกาสให้ผมมีชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก”

ทางด้าน ลิซ พี่สาวที่อายุแก่กว่า 5 ปี เสริมว่า “พ่อแม่มีแค่กระเป๋าเดินทางตอนมาถึงเมลเบิร์น ต้องดูแลเด็กเล็กๆ 2 คน มันเป็นความลำบากยากเข็ญสำหรับแม่ ฉันจำได้ว่าได้ยินท่านนอนร้องไห้อยุ่หลายคืน”

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/65509996

ปอสเตโคกลูกล่าวต่อว่า “ผมเข้าใจดีถึงสิทธิ์พิเศษที่ผมได้รับตอนนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ยอมใช้ข้อได้เปรียบตรงนั้นเพราะตระหนักดีว่าพ่อและแม่เคยต้องทำงานหนักขนาดไหน พวกท่านเสียสละทั้งชีวิตเพื่อให้ผมมาอยู่ ณ จุดนี้ ทำให้ผมไม่ได้รู้สึกว่าทุกวันกำลังทำงาน แต่เป็นผมที่กำลังดำเนินชีวิตด้วยความฝันที่ก่อตัวขึ้นมาจากการเสียสละของผู้คน”

หลังใช้ชีวิตบนแผ่นดินใหม่ราว 5 ปี พ่อแม่ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อของเขาต่อหน่วยงานรัฐจาก Angelos Postecoglou เป็น Angelos Postekos “เป็นค่านิยมสมัยนั้นที่ต้องเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงถ้าคุณเป็นคนกรีก แต่ผมไม่เคยชอบมันเลยและไม่เคยใช้มันด้วย ผมภูมิใจในภูมิหลังของตัวเอง โอเคมันถูกใช้กับหนังสือเดินทางเล่มแรกและใบขับขี่เล่มแรกแต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถทำอะไรได้”

อังเกน้อยนั่งดูเซาธ์ เมลเบิร์น เล่นทุกวันอาทิตย์

คุณพ่อของเขาเสียชีวิตเมื่อปี 2018 ปอสเตโคกลูยอมรับว่า ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ พ่อมีวงจรชีวิตการทำงานแบบไม่รู้จักจบ ออกจากบ้านก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พอกลับถึงก็เหนื่อยจนต้องล้มตัวลงนอนทันที

แต่มีอยู่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ที่กิจวัตรได้ต่างออกไปให้จิมมีได้พักผ่อนร่างกายหลังต้องทำงานติดต่อกันตลอดสัปดาห์ด้วยการใช้เวลาบนอัฒจันทร์ นั่นทำให้อังเกน้อยได้เห็นอีกด้านหนึ่งของคุณพ่อ และเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาตกหลุมรักกีฬาลูกหนัง

ทุกวันอาทิตย์ จิมมีจะพาลูกชายไปดูการแข่งขันของเซาธ์ เมลเบิร์น สโมสรลูกหนังที่ผู้อพยพชาวกรีกร่วมกันก่อตั้งขึ้น ในวันนั้นพวกเขาจะเข้าโบสถ์ช่วงเช้าก่อนไปดูฟุตบอล สำหรับปอสเตโกคลูแล้ว ฟุตบอลไม่ใช่เพียงกีฬาแต่เป็นโอกาสที่ให้เขามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคุณพ่อ

“มันช่วยให้ผมเชื่อมโยงกับคุณพ่อได้รวดเร็ว ฟุตบอลเป็นอะไรที่ทำให้ท่านมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าผมรักในสิ่งนี้เหมือนท่าน นั่นจะช่วยให้ผมใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น”

“ตอนเด็กผมจะนั่งอยู่ข้างๆคุณพ่อ ดูฟุตบอลด้วยกัน ท่านจะคอยชี้ให้เห็นความสนุกสนามของฟุตบอลและเวลาที่มีการทำประตูเกิดขึ้น ทั้งหมดได้ซึบซับเข้าไปอยู่จิตใต้สำนึกของผม เมื่อผมเป็นผู้จัดการทีม นั่นจึงเป็นลักษณะของทีมที่ผมอยากสร้างขึ้นมา”

ชีวิต one-club player และโค้ชเริ่มที่เซาธ์ เมลเบิร์น

ด้วยความผูกพันตั้งแต่เด็กบวกกับความเป็นสโมสรฟุตบอลชาวกรีก พออายุ 9 ขวบ ปอสเตโคกลูจึงเข้าร่วมฝึกวิชาลูกหนังกับเซาธ์ เมลเบิร์น เฮลลาส เขาใช้เวลาประมาณ 10 ปีเพื่อไต่เต้าตามระบบจนกลายเป็นแบ็คตัวหลักของทีมชุดใหญ่ มีส่วนในความสำเร็จกับตำแหน่งเนชันแนล ซอคเกอร์ ลีก แชมเปียนชิพ ของออสเตรเลีย 2 สมัยในปี 1984 และ 1991

คีมอน ตาเลียโดรอส อดีตเพื่อนร่วมทีม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สกอตแลนด์ ว่า “อังเกเป็นหนึ่งในนักเตะผู้ยิ่งใหญ่และเป็นดาราของทีมตอนนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ยกย่องเทิดทูนสโมสรเป็นอย่างมาก”

“เขาเป็นแบ็คซ้ายจอมลุยและเล่นแบบโอเวอร์แลป ซึ่งเหมือนกับนักฟุตบอลสมัยใหม่เล่นกันเลย เขามีความเร็วเหลือเชื่อ เต็มไปด้วยความกร้าวแกร่ง และใช้เท้าซ้ายได้สุดยอด อังเกคาดหวังกับตัวเองสูงไม่ว่าจะเจอใคร แม้ระหว่างฝึกซ้อมสนามเล็ก เขายังเป็นแบบนั้น เขากระหายชัยชนะเสมอ”

เฟเรนซ์ ปุสกัส อดีตตำนานแนวรุกทีมชาติฮังการี เป็นชื่อหนึ่งที่ปอสเตโคกลูได้ยินบ่อยครั้งจากปากของคุณพ่อเวลาพูดถึงนักฟุตบอลที่สร้างความบันเทิงให้กับคนดู และปอสเตโคกลูมีโอกาสเจอตัวจริงและทำงานใกล้ชิดตอนที่ปุสกัสเข้ามาคุมทีมเซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1989 – 1992 ซึ่งเป็นช่วงปลายอาชีพค้าแข้งของปอสเตโคกลู ทั้งคู่ร่วมกันพาทีมเฮลลาสชนะเลิศเอ็นเอสแอล ปี 1991 ซึ่งปีนั้นปอสเตโคกลูเป็นกัปตันทีมด้วย

ปอสเตโคกลูให้เครดิตปุสกัส ซึ่งเคยครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ 3 สมัยเมื่อครั้งเป็นนักเตะเรอัล มาดริด ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลต่ออาชีพนักฟุตบอลของเขามากที่สุด

ตาเลียโดรอส อดีตกองหน้าทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มต้นอาชีพค้าแข้งที่เซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1987 – 1992 กล่าวว่า “อังเกเป็นผู้นำเสนอระหว่างฝึกซ้อม เขาพัฒนาจุดนี้ขึ้นมากช่วงปุสกัสคุมทีม เขาวางเป้าหมายให้กับเพื่อนร่วมทีม และพยายามทำให้จังหวะอยู่ ณ ระดับที่ถูกต้องเสมอ”

“ปุสกัสใช้แผนการเล่น 4-3-3 แต่อย่าลืมนั่นเป็นทศวรรษ 1980 เขาสั่งให้ปีกออกข้างและดันขึ้นสูง เขายังคาดหวังให้ฟูลแบ็คมีส่วนร่วมเกมบุกด้วย ชวนให้นึกถึงสไตล์การเล่นของทีมของอังเก”

กราฟชีวิตขึ้นๆลงๆก่อนคุมทีมชาติออสเตรเลีย

หลังจากเป็นนักเตะเซาธ์ เมลเบิร์น 9 ปี ปอสเตโกคลูซ้ำรอยความสำเร็จด้วยแชมป์เอ็นเอสแอล 2 สมัยในปี 1998 และ 1999 แต่ครั้งนี้ในฐานะผู้จัดการทีมซึ่งเขารับหน้าที่ระหว่างปี 1996 ถึง 2000 ผลงานที่โดดเด่นในลีกเมืองจิงโจ้ทำให้ทีมชาติออสเตรเลียมอบหมายให้เขาคุมทีม ยู-17 (2000 – 2005) และ ยู-20 (2000 – 2007) 

การทำงานกับทีมจิงโจ้น้อยสิ้นสุดหลังจากไม่สามารถพาทีมเยาวชนซอคเกอรูส์เข้าไปเล่นฟุตบอลโลก ยู-20 ในปี 2007 แถมยังก่อวิวาทะทางโทรทัศน์อย่างรุนแรงกับเคร็ก ฟอสเตอร์ อดีตผู้เล่นทีมชาติออสเตรเลียที่สบประสาทปอสเตโกคลูเรื่องประสบการณ์โค้ช โดยกุนซือเชื้อสายกรีกเปิดใจไม่นานมานี้ว่า เขาเชื่อว่าการออกสื่อครั้งนั้นทำให้เขาตกงาน

ถัดมา ปอสเตโกคลูทำงานช่วงสั้นๆที่ พานาไชกิ ซึ่งเล่นในลีกเทียร์ 3 ของกรีก (2008) และ วิทเธิลซี ซีบราส์ (2009) พร้อมเปิดคลินิกฟุตบอลในเมืองเมลเบิร์น ก่อนกลับไปสร้างชื่อเสียงอีกครั้งที่ บริสเบน รอร์ (2009 – 2012) โดยพาทีมครองแชมป์ลีกสูงสุด (ซึ่งรีแบรนด์จากเอ็นเอสแอล เป็น เอ-ลีก เมื่อปี 2005) ติดต่อกัน 2 สมัยในซีซัน 2010-11 และ 2011-12 

ปี 2012 ปอสเตโคกลูเซ็นสัญญาสามปีกับ เมลเบิร์น ซิตี แต่ทำงานได้เพียงปีเศษก็ได้รับข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธคือ ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2013 ด้วยสัญญา 5 ปี

ทีมซอคเกอรูส์ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล แต่สิ้นสุดเส้นทางเพียงรอบแรก แพ้ชิลี 1-3, แพ้เนเธอร์แลนด์ รองแชมป์เก่า 2-3 และแพ้สเปน แชมป์เก่า 0-3 อย่างไรก็ตาม ลูกทีมของเปสเตโคกลูก็ได้รับคำชมล้นหลามแม้ต้องอยู่ในกลุ่มแข็งจนสื่อมวลชนเชื่อว่า ทีมชาติออสเตรเลียกำลังก้าวสู่ยุคทอง ซึ่งพวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวังด้วยตำแหน่งแชมป์เอเชียน คัพ ปี 2015 

ตาเลียโดรอสพูดถึงช่วงเวลานั้นว่า “เขาเตือนให้ฟุตบอลออสเตรเลียรู้ว่าพวกเราสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับโลกได้ และด้วยอังเกเป็นผู้นำ พวกเรารู้สึกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราอาจด้อยกว่าถ้าเทียบนักฟุตบอลตัวต่อตัว แต่ในฐานะทีม เขาทำให้เชื่อว่าพวกเราสามารถชนะทีมไหนก็ได้”

ปอสเตโกคลูสามารถพาออสเตรเลียผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย แต่ 2 สัปดาห์ต่อมา แฟนบอลทีมจิงโจ้ต้องช็อกเมื่อทราบข่าวปอสเตโกคลูประกาศอำลาตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2017 ไรอัน แม็คโกเวน อดีตกองหลังทีมชาติออสเตรเลีย ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า “เขาไม่ใช่คนจำพวก ดีครับท่าน..ใช่ครับนาย เขาไม่พอใจการตัดสินใจบางอย่างของคนที่อยู่เหนือเขา เขาจึงเลือกเดินจากไป”

แต่ปอสเตโคกลูว่างงานไม่นาน โยโกฮามา เอฟ. มารินอส ประกาศแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าโค้ชเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมขณะที่กุนซือตอนนั้น เอริก มงบาร์ตส์ คุมทีมลงแข่งขัน เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ซึ่งมารินอสเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศแต่แพ้เซเรซโซ โอซากา ก่อนที่ปอสเตโคกลูจะรับหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อปฏิทินเปลี่ยนสู่ปี 2018

ช่วงปีแรกของปอสเตโคกลูไม่ดีนัก มีบางช่วงที่มารินอสต้องดิ้นรนหนีโซนตกชั้น ก่อนจบ เจลีก 1 ซีซัน 2018 ด้วยอันดับ 12 มี 41 คะแนนจาก 34 นัด แม้ทำสกอร์ได้ 56 ประตู มากกว่าทุกทีม แต่ก็เสียไปถึง 56 ประตู สูงเป็นอันดับ 3 แต่มารินอสกลับไปได้สวยในบอลถ้วย พวกเขาแพ้โชนัน เบลล์มาเร 0-1 นัดชิงชนะเลิศ เจลีก คัพ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2018

หลังจากปฏิเสธข้อเสนอคุมทีมชาติกรีซ ปอสเตโกคลูได้รับการขยายสัญญาจากสโมสร เขาตอบแทนด้วยการพามารินอสครองแชมป์ เจลีก 1 ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นสมัยแรกในรอบ 15 ปีของสโมสร เก็บ 70 คะแนนจาก 34 นัด เหนือรองแชมป์ เอฟซี โตเกียว 6 คะแนน แต่มารินอสป้องกันแชมป์ไม่สำเร็จ มี 47 คะแนนจาก 34 นัด จบซีซัน 2020 เพียงอันดับ 9 ก่อนปอสเตโกคลูลาออกไปคุมทีม กลาสโกว์ เซลติก ในเดือนมิถุนายน 2021

แคแร็กเตอร์ที่ปอสเตโคกลูนำมายังกลาสโกว์

ก่อนสองสโมสรออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ธีราทร บุญมาทัน ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “ถึงเวลาประกาศเรื่องสำคัญแล้วสินะ ผมจะคิดถึงคุณ” โดยปอสเตโคกลูเป็นโค้ชที่ธีราทรให้ความเคารพจากสไตล์การทำทีมและจิตวิทยาที่สามารถเค้นศักยภาพนักเตะที่ยอดเยี่ยม กุนซือเมืองจิงโจ้มีส่วนพัฒนาบทบาท wing-back ที่วิ่งขึ้นลงเพื่อเล่นเกมรับและรุก มาเป็น inverted-back ที่หุบเข้าในเพื่อเล่นกองกลางในบางจังหวะ

ธีราทรเคยพูดถึงอดีตบอสใหญ่ว่า ปอสเตโกคลูเป็นโค้ชที่ขรึมและดุมาก หากนักเตะเล่นไม่ได้ตามที่ต้องการ เขาจะดุหมดไม่ว่าเป็นใคร เขาจริงจังในการฝึกซ้อมมากเพื่อให้ทุกคนอยู่ในแท็คติก ไม่เล่นนอกแท็คติกที่เขาวางไว้ “ผมเรียนรู้แท็คติกจากเขามากจริงๆ”

วาตารุ ฟุนากิ นักข่าวชาวญี่ปุ่น ยืนยันคำพูดของสตาร์ทีมชาติไทยว่า ปอสเตโคกลูเป็นโค้ชที่สอนแท็คติกเก่ง เขาเข้มงวดจริงจัง แต่อีกด้าน เขาเก่งเรื่องสร้างแรงจูงใจนักเตะ เขาไม่เคยวิจารณ์ลูกทีมเสียๆหายๆผ่านสื่อ ทุกคนรักเขา เขาทำให้สปิริตของทีมมารินอสเปลี่ยนไป

ธีราทรยังเคยพูดถึงปอสเตโคกลูช่วงเวลานั้นด้วยว่า “ขอบคุณที่ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ในทุกวันทุกวินาทีต้องมีความคิดที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะต้องเจอกับอะไรถ้ามีความคิดที่แข็งแกร่ง เราจะสามารถผ่านมันไปได้”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่ปอสเตโคกลูมีความเชื่อและนำมาถ่ายทอดผ่านนักเตะและทีมฟุตบอลของเขา ล้วนมาจากชีวิตที่เข้มข้นนับตั้งแต่นั่งเรือร่วมเดือนเพื่อหนีความยากแค้นในบ้านเกิดไปยังแผ่นดินใหม่ รวมถึงประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดกว่า 3ทศวรรษทั้งบทบาทผู้เล่นและผู้จัดการทีม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)