Categories
Football Business

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้ง “องค์กรอิสระ” ดูแลความยั่งยืนลูกหนังเมืองผู้ดี

เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลอังกฤษมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไฟเขียวประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระ ในการกำกับดูแลเกมลูกหนังของประเทศ

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลอังกฤษได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ในการรวบรวมความคิดเห็น และกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกมลูกหนังเมืองผู้ดีเสียใหม่

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาขยายให้ฟังถึงรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

“สมุดปกขาว” นำไปสู่การปฏิรูป

จุดเริ่มต้นการปฏิรูปฟุตบอลของประเทศอังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “Review of Football Governance”

เบื้องหลังของรายงานฉบับดังกล่าว มาจากแฟนฟุตบอลและรัฐบาลที่ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องหาวิธีการที่จะมีการควบคุมการบริหารงานของทีมฟุตบอล ไม่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม

ข้อเสนอแนะการยกเครื่องที่ตกผลึกแล้ว ได้รวมอยู่ในสมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “A Sustainable Future – Reforming Club Football Governance” ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของเอกสารสมุดปกขาว อยู่ที่การผลักดันให้รัฐบาล จัดตั้ง “ผู้ควบคุมกิจการด้านฟุตบอล” (Football regulator) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจควบคุมดูแลลูกหนังในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของ Football regulator ได้กำหนดกฎเหล็กไว้ 5 ข้อ ได้แก่ ป้องกันความล้มเหลวด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล, กำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่เข้มงวดขึ้น, หยุดแนวคิดการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ชอบธรรม, ให้อำนาจแฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร และการจัดสรรเงินที่ยุติธรรมตามลำดับขั้นแบบพิระมิด

“การปฎิรูปครั้งใหม่ แฟนบอลคือหัวใจสำคัญในการปกป้องรากฐานที่ยาวนานของวงการฟุตบอลในประเทศ และส่งต่อเกมฟุตบอลที่สวยงามให้กับคนรุ่นหลังสืบไป” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ

ด้านลูซี่ เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่า “สมุดปกขาวฉบับนี้ แสดงถึงการปฎิรูปกีฬาฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีมานานกว่า 165 ปี”

กรณีศึกษาของบิวรี่ และแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 บิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา

สาเหตุสำคัญที่บิวรี่หลุดออกจากลีกอาชีพ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายนักเตะ และพนักงานของสโมสร นับเป็นสโมสรแรกในรอบ 27 ปี ที่ต้องพบกับจุดจบดังกล่าว ปิดฉาก 134 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในลีกฟุตบอลระดับอาชีพ

อีกทีมหนึ่งที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในเนชั่นแนล ลีก (ดิวิชั่น 5) เมื่อฤดูกาล 2020/21 แต่ยังไม่ทันเปิดซีซั่น สโมสรถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จนต้องเริ่มใหม่ที่ดิวิชั่นต่ำสุดในซีซั่นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางสโมสรที่โชคดี ยังรักษาสถานภาพทีมระดับอาชีพไว้ได้ เช่น ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ต้องแลกด้วยการถูกตัดแต้มอยู่หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด

ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่จากรัฐบาล จะมีการสร้างระบบออกใบอนุญาต เพื่อบังคับให้สโมสรต่าง ๆ แสดงรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยป้องกันความล้มเหลวด้านการเงิน ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดกับหลายสโมสร

ทดสอบนายทุนเมื่อมีการเทคโอเวอร์

ตัวอย่างจากการซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เมื่อเดือนตุลาคม 2021 แอมเนสตี้ แถลงประณามกลุ่มทุนจากซาอุดีอารเบีย ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์เป็นผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับการยื่นข้อเสนอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของมหาเศรษฐีจากกาตาร์ ที่ทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ส่วนกรณีของโรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน จนถูกบังคับขายสโมสรในเดือนมีนาคม 2022 และท็อดด์ โบห์ลี่ กลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่

โดยหน่วยงานอิสระของรัฐบาล จะมีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์หลักประกันว่า เจ้าของทีมและผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลงทุนในสโมสรจริง ๆ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ดับฝันกบฏที่เป็นภัยต่อฟุตบอลอังกฤษ

จากการก่อตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ในเดือนเมษายน 2021 สโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาก็ยอมถอนตัวออกมาในที่สุด

แม้จะออกมายอมรับความผิดพลาด แต่บรรดาแฟนบอลต้องการทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก จึงเรียกร้องให้มีการออกกฎเพื่อหยุดสโมสรที่พยายามจะทำลายพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้คืนชีพอีกครั้ง กับรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามี 60 – 80 ทีมเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 4 ดิวิชั่น มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสโมสรใดเข้าร่วมบ้าง

การถือกำเนิดของ “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาลอังกฤษ จะมีอำนาจในการหยุดความพยายามของสโมสรในอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อเกมฟุตบอลในประเทศ

ป้องกันการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าที่ไม่เข้าท่า

เมื่อปี 2012 กรณีของวินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จัดการเปลี่ยนสีเสื้อทีมเหย้าจากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง และเปลี่ยนโลโก้จากนก เป็นมังกร ตามความเชื่อแบบเอเชีย จนถูกแฟนบอลตำหนิอย่างรุนแรง

ผ่านไป 3 ปี วินเซนต์ ตัน ทานกระแสต่อต้านจากแฟนบอลไม่ไหว จนต้องกลับสู่สิ่งเดิมทั้งเสื้อ และโลโก้ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกได้ว่าบรรยากาศภายในสโมสรกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอลกลับมาสนับสนุนทีมเต็มที่

หรือกรณีของฮัลล์ ซิตี้ ในปี 2013 อัสเซม อัลลัม เจ้าของทีม พยายามเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น “ฮัลล์ ซิตี้ ไทเกอร์ส” แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธคำขอ ทำให้ตัวเขาตัดสินใจขายสโมสรในปีถัดมา

สำหรับหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ จะมอบอำนาจให้แฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของสโมสร ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ทั้งการเปลี่ยนชื่อสโมสร, โลโก้ของสโมสร, สีประจำสโมสร และอื่นๆ

การกระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นเรื่องการเงินระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดข้อตกลงในการลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการจัดสรรเงินที่ยุติธรรม เพื่อให้ทีมระดับล่าง ๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น

ริค แพร์รี่ ประธานอีเอฟแอล (EFL) ต้องการส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการออกอากาศรวมกับพรีเมียร์ลีก อีกทั้งขอให้ยกเลิกกฎการจ่ายเงินแบบชูชีพ (Parachute Payment) สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“พรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก (1992/93) ช่องว่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับลีกรองอยู่ที่ 11 ล้านปอนด์ ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้นตลอดเวลา จุดประสงค์ของเราคือการทำให้สโมสรมีความยั่งยืนในระยะยาว” อดีตซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าว 

จนถึงเวลานี้ การเจรจาระหว่างพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้คือ ให้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล เข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหา

ปฏิกิริยาจากผู้คนในแวดวงลูกหนัง

จากการที่รัฐบาลอังกฤษ เปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลฟุตบอลในประเทศ ก็ได้มีปฏิกิริยาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามมามากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด มาสเตอร์ส (ประธานพรีเมียร์ลีก) : “เรารู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่กฎระเบียบของรัฐบาล จะต้องไม่ทำลายการแข่งขัน หรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน”

สตีฟ แพริช (เจ้าของร่วมคริสตัล พาเลซ) : “มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อังกฤษจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟุตบอลถูกควบคุมโดยรัฐบาล แน่อนว่าสมุดปกขาวเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจมีปีศาจซ่อนอยู่”

เดวิด ซัลลิแวน (ประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด) : “ผมคิดว่าเป็นความพยายามโปรโมตผลงานของรัฐบาลมากกว่า รัฐบาลนี้แย่มากที่มาจัดการทุกอย่าง ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐบาล”

องค์กรควบคุมฟุตบอลของรัฐบาลอังกฤษ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2024 คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะปกป้อง รักษาวัฒนธรรมฟุตบอลที่ดีงามไว้ให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.gov.uk/government/publications/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future

– https://www.gov.uk/government/publications/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance

– https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9255/CBP-9255.pdf

– https://theathletic.com/4245991/2023/02/24/explained-white-paper-regulation-epl-efl/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/02/22/football-regulator-should-not-have-needed-game-has-blame/

Categories
Special Content

7 ปีที่ล้มเหลว : ย้อนรอยความผิดพลาด “เอฟเวอร์ตัน” ในยุคฟาฮัด โมชิริ

นับตั้งแต่ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อช่วงต้นปี 2016 พร้อมกับความทะเยอทะยานที่จะพาสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้

โมชิริได้ลงทุนไปมหาศาลในการดึงผู้จัดการทีมบิ๊กเนม และซื้อนักเตะคุณภาพเข้ามาหลายคนเพื่อหวังยกระดับเอฟเวอร์ตัน แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กับโค้ช 7 คน กลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

ช่วงเวลาดังกล่าว เอฟเวอร์ตันเปรียบเสมือนพายเรือในอ่างมานาน วนเวียนอยู่กับการซื้อนักเตะที่ล้มเหลว และเปลี่ยนตัวกุนซือ ยังหาทิศทางที่ถูกต้องไม่เจอเสียที ยิ่งไล่ตามยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ผลงานของทีมไม่ดี การเงินของสโมสรก็มีปัญหาอย่างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากโควิด-19 แต่การบริหารที่ผิดพลาดในยุคโมชิริ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ตกอยู่ในความเลวร้ายเช่นนี้

วอลซ์ และคูมัน เข้ากันไม่ได้

โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คือผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันคนแรก ภายใต้การบริหารของฟาฮัด โมชิริ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2015/16 แม้จะพาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกจบแค่อันดับที่ 11

และการตัดสินใจครั้งแรกของโมชิริ คือการปลดมาร์ติเนซออกจากตำแหน่งกุนซือ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทีม ด้วยการดึงตัวสตีฟ วอลซ์ เป็นผู้อำนวยการสโมสร และโรนัลด์ คูมัน เป็นเฮดโค้ชคนใหม่

แม้ในซีซั่นแรกของคูมัน ทำผลงานได้ดีจบอันดับที่ 7 แต่ในซีซั่นที่สอง วอลซ์และคูมัน กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการเสริมผู้เล่นหลายเรื่อง เช่นการซื้อนักเตะ 3 คนมาเล่นมิดฟิลด์ คือกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, ดาวี่ คลาสเซ่น และเวย์น รูนี่ย์

ในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เอฟเวอร์ตันใช้เงินซื้อนักเตะมากถึง 140 ล้านปอนด์ ทว่าผลงานกลับย่ำแย่ในการออกสตาร์ท 9 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 จนเฮดโค้ชชาวดัตช์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลาดนักเตะของเอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18 ใช้เงินซื้อนักเตะร่วม 220 ล้านปอนด์ แต่ไม่ได้ใกล้เคียงการลุ้นแชมป์ และโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สัญญาณแห่งความหายนะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลดบิ๊กแซม หลังทำงานได้แค่ครึ่งปี

หลังจากหมดยุคของโรนัลด์ คูมัน การสรรหากุนซือใหม่ก็เกิดขึ้น ในตอนแรก ฟาฮัด โมชิริ อยากได้มาร์โก้ ซิลวา โค้ชวัยหนุ่มของวัตฟอร์ด แต่สตีฟ วอลซ์ กลับบอกให้เลือกแซม อัลลาไดซ์ กุนซือวัยเก๋า มารับหน้าที่แทน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Everton

เอฟเวอร์ตันได้แต่งตั้งอัลลาไดซ์ มาสานต่อในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 เซ็นสัญญา 1 ปีครึ่ง และสามารถกอบกู้ผลงานที่ย่ำแย่ในยุคของคูมันได้อย่างยอดเยี่ยม เข็นเอฟเวอร์ตันจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลของทอฟฟี่สีน้ำเงิน กลับไม่ปลื้มกับสไตล์การทำทีมของบิ๊กแซม ทำให้เจ้าของทีมต้องตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานได้แค่ 6 เดือน ส่วนวอลซ์ ผอ.สโมสร ก็ตกงานด้วยเช่นกัน

โมชิริ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ และจ่ายค่าชดเชยอีก 4 ล้านปอนด์ให้กับวัตฟอร์ด จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไปติดต่อมาร์โก้ ซิลวา ให้มารับงานกุนซือแบบผิดกฎ

แต่ในที่สุด ซิลวาก็เข้ามารับหน้าที่โค้ชคนใหม่ของเอฟเวอร์ตัน ดูเหมือนว่า แนวทางของสโมสรกำลังจะเปลี่ยนไป จากการทุ่มเงินเพื่อความสำเร็จครั้งใหญ่ มาเน้นการวางอนาคตในระยะยาวแทน

ดึงอันเชล็อตติเข้ามา จนผอ. สโมสรอยู่ไม่ได้

ในปี 2018 นอกจากเอฟเวอร์ตันจะแต่งตั้งมาร์โก้ ซิลวา เป็นกุนซือคนใหม่แล้ว ยังได้ดึงตัวมาร์เซล แบรนด์ มาเป็นผอ. สโมสรคนใหม่ด้วย ในการพยายามชดใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

การเสริมผู้เล่นในยุคของซิลวา และแบรนด์ ได้เน้นไปที่นักเตะอายุน้อย และเซ็นสัญญาแบบระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร และสามารถทำกำไรมหาศาล เมื่อมีการขายนักเตะไปให้ทีมอื่น

ริชาร์ลิสัน, ลูคัส ดีญ และเยอร์รี่ มิน่า คือ 3 นักเตะดาวรุ่งที่เซ็นสัญญาเข้ามาช่วงตลาดซัมเมอร์ แน่นอนว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง ซึ่งเอฟเวอร์ตันก็ทำได้ดี จบอันดับที่ 8 ในซีซั่น 2018/19

แต่ในซีซั่นต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อซิลวาทำผลงานได้ย่ำแย่ และการแพ้ลิเวอร์พูล ในเมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ต้นเดือนธันวาคม 2019 พาทีมหล่นไปอยู่โซนตกชั้น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การตกงานของเขาในที่สุด

ซึ่งโมชิริ ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ด้วยการดึงตัวคาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือมากประสบการณ์ มาคุมทีมแทน และดึงตัวนักเตะค่าเหนื่อยแพงอย่างฮาเมส โรดริเกวซ มาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2020

เมื่อแบรนด์รู้ว่า โมชิริได้กลับไปใช้นโยบายเดิม คือการใช้เงินมหาศาลเพื่อความสำเร็จอีกครั้ง ซึ่งขัดกับแนวทางของตัวเอง ที่เน้นการสร้างทีมในระยะยาว จึงตัดสินใจอำลาตำแหน่งผอ. สโมสร ในเดือนธันวาคม 2021

เล่นกับไฟด้วยการดึงราฟา เบนิเตซ คุมทีม

คาร์โล อันเชล็อตติ ขอลาออกจากเอฟเวอร์ตัน หลังจบฤดูกาล 2020/21 และฟาฮัด โมชิริ เจ้าของทีม ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

แน่นอนว่า การเดิมพันของโมชิริในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักจากแฟนๆ เอฟเวอร์ตันว่า ทำไมสโมสรถึงเลือกโค้ชที่เคยมีประเด็นพูดหมิ่นทอฟฟี่สีน้ำเงินว่าเป็น “ทีมเล็ก” เมื่อปี 2007

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ในฤดูกาล 2021/22 ยุคของเบนิเตซ เอฟเวอร์ตันได้ผู้เล่นใหม่ 10 คน แต่ใช้เงินรวมกันแค่ 30 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นยอดใช้จ่ายซื้อนักเตะที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่โมชิริเป็นเจ้าของสโมสร

แม้จะเริ่มต้นซีซั่นในพรีเมียร์ลีกได้ดี ชนะ 4 จาก 6 เกมแรก ทำเอาแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงินเริ่มฝันไกล แต่ความจริงที่โหดร้ายก็เข้ามา เพราะ 13 เกมหลังจากนั้น ชนะแค่เกมเดียว เสมอ 3 และแพ้ถึง 9 เกม

เกมสุดท้ายของ “เอล ราฟา” คือนัดแพ้นอริช ซิตี้ 1 – 2 เมื่อ 15 มกราคม 2022 อยู่อันดับที่ 15 มีแต้มมากกว่าโซนตกชั้นแค่ 6 แต้ม ท่ามกลางความสะใจของแฟนๆ “เดอะ ค็อป” ที่เขาไปทำให้เอฟเวอร์ตันเละเทะเข้าไปอีก

การตัดสินใจดึงตัวราฟา เบนิเตซ มารับงานที่เอฟเวอร์ตัน ผลลัพธ์ที่ออกมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า ฟาฮัด โมชิริ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทีม และเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรที่ยังไม่มากพอ

คำพูดของโมชิริ ที่เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง

ด้วยความที่ฟาฮัด โมชิริ มีแพสชั่นในการยกระดับเอฟเวอร์ตัน ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ทัดเทียมกับบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่บางคำพูด หรือการให้สัมภาษณ์ของเขา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ๆ คน ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2018 โมชิริได้กล่าวพาดพิงโรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบลเยียม ที่ไม่ยอมต่อสัญญาในถิ่นกูดิสัน พาร์ค ทั้งๆ ที่ ตกลงรายละเอียดไปแล้ว โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากเชื่อเรื่องไสยศาสตร์วูดู

หรือเมื่อเดือนมีนาคม 2019 โมชิริอ้างว่า เอฟเวอร์ตันก็มี “Fab 4” อย่างกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, เวย์น รูนี่ย์, ยานนิค โบลาซี่ และเซงค์ โทซุน เป็นคู่แข่งกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ของลิเวอร์พูล

และล่าสุด หลังเกมที่บุกแพ้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0 – 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โมชิริได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงอนาคตในตำแหน่งกุนซือของแฟรงค์ แลมพาร์ด โดยพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 วันก่อนเกมกับเวสต์แฮม โมชิริยังให้คำมั่นว่าแลมพาร์ดจะยังคุมทีมต่อไป แต่เมื่อกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องตัดสินใจแยกทางกับตำนานมิดฟิลด์เชลซีในที่สุด

อนาคตของเอฟเวอร์ตันที่พอจะคาดหวังได้ อยู่ที่สนามเหย้าแห่งใหม่ในแบรมลีย์ มัวร์ ความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 แม้แฟนบอลของสโมสรจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของโมชิริก็ตาม

บทเรียนแห่งความล้มเหลว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของเอฟเวอร์ตัน ในยุคของฟาฮัด โมชิริ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือแผนงานที่ถูกต้อง ชัดเจน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบชาญฉลาด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Special Content

เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้ ? : ราชวงศ์อังกฤษ กับการเชียร์ทีมฟุตบอลในดวงใจ

ชาวอังกฤษในเวลานี้ ยังอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเกมฟุตบอลในสุดสัปดาห์นี้ แข่งขันตามปกติ

แต่มีบางแมตช์ที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป ด้วยเหตุผลเรื่องกำลังตำรวจที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากจะต้องไปดูแลความปลอดภัย ในวันประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ วันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้

เมื่อพูดถึงสมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนว่า ได้เลือกสนับสนุนทีมฟุตบอลที่แต่ละพระองค์ชื่นชอบ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับประชาชนคนธรรมดา

วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาเล่าให้ฟังว่า สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใดกันบ้าง ซึ่งอาจจะตรงใจกับทีมเชียร์ของแต่ละคนก็เป็นได้

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 : อาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

อดีตประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ที่ครองราชบัลลังก์ยาวนานถึง 70 ปี ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า เลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทีมใด แต่สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นอาร์เซน่อล หรือ เวสต์แฮม

ด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์ว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 ได้สนับสนุนอาร์เซน่อล เพราะเป็นสโมสรเดียวในอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้นักเตะ และผู้จัดการทีม ได้เข้าเฝ้าพระองค์ที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อปี 2007

นอกจากนี้ “เดอะ ซัน” สื่อดังของอังกฤษ เคยอ้างคำพูดของควีนอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นหน้าหนึ่งมาแล้วว่าเป็นกองเชียร์ของอาร์เซน่อล ตามพระมารดา รวมถึงมีการเอ่ยชื่อเชส ฟาเบรกาส ที่ขณะนั้นเป็นนักเตะของทีมด้วย 

อนึ่ง เมื่อปี 2006 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราขสวามี (สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนเมษายน ปี 2021) เคยเสด็จแทนพระองค์ในพิธีเปิดสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าแห่งใหม่ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

แต่มีอีกด้านหนึ่งที่ระบุว่า ควีนอลิซาเบธที่ 2 เป็นแฟนเวสต์แฮม เนื่องจากชื่นชอบรอน กรีนวู้ด อดีตผู้จัดการทีมของ “เดอะ แฮมเมอร์ส” เป็นการส่วนพระองค์ และเคยมอบยศอัศวินให้เมื่อปี 1981 ด้วย

จากการที่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ไม่บอกให้คนภายนอกรู้ว่า พระองค์ชื่นชอบทีมฟุตบอลทีมใดเป็นพิเศษ เพราะต้องการวางตัวเป็นกลาง และคงเป็นความลับที่จะไม่ถูกเปิดเผยไปตลอดกาล

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 : เบิร์นลี่ย์

กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พระชนมายุ 73 พรรษา ทีมฟุตบอลที่ทรงชื่นชอบคือ เบิร์นลี่ย์ ทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว หลังอยู่ในลีกสูงสุดมา 6 ซีซั่นติดต่อกัน

ความชื่นชอบในสโมสรเบิร์นลี่ย์ ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2005 พระองค์ได้เสด็จไปเยือนเมืองเบิร์นลี่ย์ เพื่อติดตามโครงการ Prince’s Trust และเยี่ยมชมสนามเทิร์ฟ มัวร์

ฤดูกาล 2009/10 เบิร์นลีย์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในยุค “พรีเมียร์ลีก” เป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นผลงานไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร เคยตกชั้นไป 2 ครั้ง ก่อนกลับมาอยู่พรีเมียร์ลีกแบบต่อเนื่องถึง 6 ซีซั่น

ซึ่งเมื่อทราบข่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ชื่นชอบ “เดอะ คลาเร็ตส์” และติดตามผลการแข่งขันของทีมอยู่เสมอ ทางสโมสรจึงมอบตั๋วปีแบบวีไอพีให้กับพระองค์เป็นการตอบแทน

เจ้าชายวิลเลียมส์ : แอสตัน วิลล่า

พระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชันษา 40 ปี ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เลือกแอสตัน วิลล่า เป็นทีมที่ทรงโปรด

เมื่อปี 2015 เจ้าชายวิลเลียมส์ เคยให้สัมภาษณ์กับแกรี่ ลินิเกอร์ พิธีกรของ BBC ว่า “เพื่อน ๆ ของผมที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน พวกเขาจะเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ด หรือเชลซี แต่ผมไม่อยากทำแบบนั้น”

“ผมเลือกเชียร์ทีมที่อยู่กลางตารางมากกว่า เพราะทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับผลการแข่งขันที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทีมนั้นคือแอสตัน วิลล่า สโมสรฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน”

“นัดแรกที่ผมได้ไปดู คือเกมที่วิลล่า เจอโบลตัน ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ปี 2000 วิลล่าผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับเชลซี บรรยากาศมันวิเศษมาก รู้สึกได้เลยว่าวิลล่าคือทีมที่ใช่สำหรับผม”

ฤดูกาล 2018/19 วิลล่าได้เลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังตกชั้นไปเล่นลีกรองอยู่ 3 ซีซั่น เจ้าชายวิลเลี่ยมได้เข้าไปกอดกับยอห์น คาริว ดาวยิงตัวเก่งด้วยความดีใจแบบสุดเหวี่ยงเลยทีเดียว

ส่วนเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตวัย 9 ขวบ ได้เคยไปชมเกมที่แอสตัน วิลล่า ชนะนอริช ซิตี้ 5 – 1 เมื่อปี 2019 แต่เจ้าชายวิลเลียมส์ก็จะให้อิสระอย่างเต็มที่ ในการเลือกทีมฟุตบอลที่เขาชื่นชอบ

เจ้าหญิงแคเธอรีน : เชลซี

พระชายาของเจ้าชายวิลเลียมส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระชันษา 40 ปี เท่ากัน ทรงชื่นชอบกีฬาตั้งแต่วัยเยาว์ และเคยเป็นอดีตกัปตันทีมฮอกกี้ระดับมัธยมศึกษา ทรงประกาศพระองค์ว่าเชียร์เชลซี

เรื่องราวความคลั่งไคล้เชลซีนั้น เกิดขึ้นในปี 2015 เจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ไปงานการกุศลที่แอนนา ฟรอยด์ เซนเตอร์ ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตสำหรับเด็กและเยาวชน และได้สนทนากับรีเจย์ ไบรอัน เด็กชายวัย 8 ขวบ

เจ้าหนูรีเจย์ ก็ได้ทักทายแบบเป็นมิตร เพราะทราบว่าเจ้าหญิงแคเธอรีน เชียร์เชลซีเช่นเดียวกับเขา นอกจากนี้ แกรี่ โกลด์สมิธ คุณลุงแท้ ๆ ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ก็เป็นแฟนตัวยงของ “สิงห์บูลส์” เช่นกัน

และยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ พ่อแม่ของเจ้าหญิงแคเธอรีน ได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งมูลค่ากว่า 1 ล้านปอนด์ ที่อยู่ใกล้กับสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ รังเหย้าชองเชลซี

เจ้าชายแฮร์รี่ : อาร์เซน่อล

พระราชโอรสพระองค์เล็ก ในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเป็นพระสวามีของเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชันษา 38 ปี ทรงชื่นชอบอาร์เซน่อล สโมสรที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษมากที่สุด

เมื่อปี 2017 “เดอะ ซัน” สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า เจ้าชายแฮร์รี่ เดินทางไปชมการซ้อมของทีมรักบี้ทีมชาติอังกฤษ และได้สนทนากับแจ็ค แกร์ หนึ่งในทีมสต๊าฟฟ์โค้ช เกี่ยวกับเรื่องการเชียร์ฟุตบอล

เจ้าชายแฮร์รี่ ถามว่า คุณเชียร์ทีมอะไร ? แจ็ค แกร์ตอบว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” แล้วถามเจ้าชายแฮร์รี่กลับไปว่า คุณเชียร์ทีมไหนล่ะ ? ก็ได้คำตอบว่า “อาร์เซน่อล… แต่ตอนนี้อย่าไปพูดถึงมันดีกว่า”

สาเหตุที่เจ้าชายแฮร์รี่ พูดประโยคดังกล่าวออกมา เป็นเพราะว่า “เดอะ กันเนอร์ส” เพิ่งถูกบาเยิร์น มิวนิค ถล่ม 5 – 1 ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และหลังจากนั้น ทีมก็ห่างหายจากถ้วยใหญ่ยุโรปมาแล้ว 6 ปี

ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ หรือครอบครัวสามัญชนทั่วไป ย่อมมีรสนิยมความชื่นชอบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง : 

– https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/royals-favourite-football-teams-williams-24519087

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/prince-william-explains-supports-aston-22435558

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/watch-prince-william-reveal-supports-5778761

https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/the-queens-a-west-ham-fan-416997

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/king-charles-supports-burnley-queen-27946146

https://www.dailystar.co.uk/sport/football/prince-harry-royal-football-arsenal-24347305

https://www.thesun.co.uk/sport/football/2892012/prince-harry-reveals-he-is-an-arsenal-fan/

– https://www.telegraph.co.uk/sport/football/9085234/Prince-of-Wales-supports-Burnley-football-club.html

https://www.lancashiretelegraph.co.uk/news/4781705.prince-charles-pledges-support-burnley-fc/

Categories
Special Content

เมื่อฟุตบอลอังกฤษเลือก “หยุดนิ่ง” หลังสูญเสียควีนอลิซาเบธที่ 2

สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา นั่นหมายถึงการสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์ ที่ครองราชย์มายาวนานกว่า 70 ปี

และหลังจากการสูญเสียควีนอลิซาเบธที่ 2 ทำให้โปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ และทั่วทั้งสหราชอาณาจักร ที่จะจัดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ (10 – 12 กันยายน) ถูกเลื่อนออกไปทั้งหมด

แต่การที่องค์กรลูกหนังเมืองผู้ดี ตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันฟุตบอลในครั้งนี้ ได้มีผู้คนบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะวิธีที่เหมาะสม ในการแสดงออกเพื่อไว้อาลัยควีนอลิซาเบธที่ 2

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาพูดถึงการจัดการของฟุตบอลอังกฤษ จากเหตุการณ์สำคัญในอดีต รวมถึงการเลื่อนเตะในสัปดาห์นี้ จะทำให้โปรแกรมเตะในช่วงที่เหลือของซีซั่นเป็นอย่างไร

กรณีศึกษาจากการสูญเสียบุคคลสำคัญ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต แต่โปรแกรมฟุตบอลเอฟเอ คัพ 4 คู่ในวันดังกล่าว ยังแข่งขันตามปกติ

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 1997 เจ้าหญิงไดอานา สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้โปรแกรมพรีเมียร์ลีก คู่ระหว่างลิเวอร์พูล กับนิวคาสเซิล ที่ตรงกับวันดังกล่าว ถูกยกเลิก

วันรุ่งขึ้น (1 กันยายน 1997) เกม “โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี้” แห่งสกอตแลนด์ เซลติก กับ เรนเจอร์ส ถูกยกเลิกเช่นกัน แต่เกมพรีเมียร์ลีก คู่ระหว่างโบลตัน วันเดอเรอร์ส กับเอฟเวอร์ตัน แข่งขันตามโปรแกรมเดิม

ในวันที่ 6 กันยายน 1997 มีการจัดงานพระศพของเจ้าหญิงไดอาน่า การแข่งขันฟุตบอลในยูเคถูกงดทั้งหมด ทำให้เกมฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ระหว่างสกอตแลนด์ กับเบลารุส ต้องเลื่อนไปแข่งในวันถัดมา

ขณะที่อังกฤษ ที่มีโปรแกรมพบกับเบลารุส ก็ถูกเลื่อนไปอีก 4 วัน หลังจากงานพระศพของเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งในวันแข่งขัน นักเตะ “สิงโตคำราม” พร้อมใจกันสวมปลอกแขนสีดำ และยืนสงบนิ่ง 1 นาที

และล่าสุด การเสด็จสวรรคตของควีนอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ร่วมกันแสดงความไว้อาลัย ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรป

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

การจัดงานศพครั้งใหญ่ของอังกฤษ ไม่ได้เกิดขึ้นมานานถึง 57 ปีแล้ว นับตั้งแต่งานศพของอดีตนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1965 แต่ฟุตบอลเอฟเอ คัพในวันนั้น ไม่ถูกเลื่อนออกไป

ไม่มีการตัดสินใจครั้งใดที่สมบูรณ์แบบ

การเสด็จสู่สวรรคาลัยของควีนอลิซาเบธที่ 2 แน่นอนว่าเป็นข่าวใหญ่ของชาวอังกฤษ แต่การจัดการกับเหตุการณ์ความสูญเสีย คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการทำให้การแข่งขันกีฬาได้ไปต่อแบบไม่มีสะดุด

รัฐบาลอังกฤษ ออกมายืนยันว่าไม่มีการบังคับให้เลื่อน หรือยกเลิกกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ในช่วงเวลา 10 วัน แห่งการไว้ทุกข์ โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้เลยว่า จะเดินหน้าจัดแข่งขันหรือไม่

ในที่สุด การประชุมของพรีเมียร์ลีก, อีเอฟเอล, เอฟเอ ร่วมกับกรมดิจิทัลวัฒนธรรมสื่อและกีฬาของอังกฤษ (DCMS) ได้ตัดสินใจ “เลื่อนการแข่งขัน” ฟุตบอลทุกระดับในสุดสัปดาห์นี้ออกไปก่อน

แต่กีฬาอื่น ๆ เช่น รักบี้, วิ่งฮาล์ฟมาราธอน, คริกเก็ต, ฮอกกี้น้ำแข็ง และแข่งม้า ในสุดสัปดาห์นี้ ยังดำเนินไปตามปกติ โดยให้ผู้จัดการแข่งขันและนักกีฬา สวมปลอกแขนสีดำเป็นการไว้ทุกข์แทน

นั่นทำให้ปีเตอร์ เคราช์ อดีตดาวเตะทีมชาติอังกฤษ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันฟุตบอล พร้อมชี้ว่า มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ ในการแสดงความเคารพสูงสุดต่อควีนอลิซาเบธที่ 2

เคราช์ กล่าวว่า “ผมรู้ว่าเป็นแค่ฟุตบอลเกมหนึ่ง และบางเรื่องมันใหญ่กว่ามาก แต่ลองมองภาพว่าถ้าฟุตบอลแข่งตามปกติ แล้วมีการสวมปลอกแขนสีดำ, ยืนสงบนิ่ง, ร้องเพลงชาติ, เล่นดนตรี และอื่น ๆ ให้ผู้คนทั่วโลกได้ดู แบบนั้นไม่ดีกว่าหรือ” 

การที่โปรแกรมการแข่งขันพรีเมียร์ลีกสัปดาห์นี้ถูกเลื่อนออกไปนั้น ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงตารางการแข่งขันในช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ที่จะอัดแน่นจนอาจจะส่งผลต่อร่างกายของนักเตะได้

โปรแกรมที่ถูกเลื่อนมา จะเอาลงตรงไหน ?

พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 เป็นฤดูกาลที่ไม่ปกติ เนื่องจากจะต้องหยุดพักการแข่งขันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนธันวาคม เป็นเวลา 5 สัปดาห์ เพื่อหลีกทางให้ฟุตบอลโลก ที่ประเทศกาตาร์

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 7 ทีมพรีเมียร์ลีก ที่เข้าร่วมฟุตบอลถ้วยยุโรป จะไม่มีที่ว่างในช่วงกลางสัปดาห์เลย เพราะมีโปรแกรมทั้งสโมสรและทีมชาติ ยาวไปตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงสิ้นปี 2022

เมื่อจบรอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอลถ้วยยุโรปแล้ว จะมีโปรแกรมพรีเมียร์ลีก อีก 2 นัด และคาราบาว คัพ รอบ 32 ทีมสุดท้าย อีก 1 นัด ก่อนจะเว้นว่าง 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักเตะเดินทางไปแข่งขันเวิลด์ คัพ

หลังจากนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก วันที่ 18 ธันวาคม ถ้าทีมที่ได้ไปต่อในถ้วยยุโรป ผ่านเข้ารอบ 16ทีมสุดท้ายคาราบาว คัพ จะต้องลงเตะในช่วงก่อนคริสต์มาส ต่อด้วยพรีเมียร์ลีกช่วงบ็อกซิ่ง เดย์ ถึงปีใหม่

เพราะฉะนั้น โปรแกรมพรีเมียร์ลีกในสัปดาห์นี้ที่ถูกเลื่อนออกไป มีความเป็นไปได้ว่าจะลงในช่วงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า แต่ถ้าเกิดทีมใดผ่านเข้ารอบลึก ๆ ของฟุตบอลถ้วย โปรแกรมเตะก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก

แล้วโปรแกรมเตะในสัปดาห์หน้า (17-18 กันยายน) ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนไม่น้อย จะต้องไปดูแลความปลอดภัยในงานพระราชพิธีพระบรมศพ วันที่ 19กันยายนนี้

การตัดสินใจกับบางเรื่องที่ใหญ่มากๆ และมีผลกระทบในวงกว้าง คงไม่มีทางที่จะถูกใจทุกคนไปเสียหมด ผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจ ต้องพยายามรักษาความสมดุลให้ได้ เพื่อทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง : 

https://theathletic.com/3579593/2022/09/09/football-calendar-queen-elizabeth/

https://theathletic.com/3580783/2022/09/10/football-matches-postponed-premier-league/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11197111/Piers-Morgan-Gary-Neville-criticse-Premier-Leagues-postponement-matches.html

Categories
Special Content

ชีวิตราวหนัง สปอร์ต-ดราม่า ของ “โคลเอ้ เคลลี่” วีรสตรีผู้มอบความสุขให้กับแฟนบอลอังกฤษ

พล็อตแบบนี้ต้องหยิบมาเขียนบทเพื่อสร้างภาพยนตร์สปอร์ต-ดราม่าแนว based on true story กับเรื่องราวของ โคลเอ้ เคลลี่ เด็กหญิงที่ต้องนั่งรถไฟไปกลับสองชั่วโมงเพื่อฝึกซ้อมฟุตบอลที่สโมสรอาร์เซนอล แต่ไม่สามารถเบียดแย่งตำแหน่งในทีมได้ ก่อนย้ายไปแจ้งเกิดกับเอฟเวอร์ตันและแมนฯ ซิตี้

เหตุการณ์สำคัญในอาชีพค้าแข้งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2021 เอ็นไขว้หน้าเข่าของเธอฉีกถึงขั้นอาจต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัยเพียง 23 ปี แต่เธอต่อสู้จนได้เล่นฟุตบอลอีกครั้งในปีต่อมา จากนั้นเพียงสามเดือนเธอกลายเป็นฮีโร่แห่งชาติ เมื่อลงเป็นตัวสำรองและทำประตูชัยให้ทีมชาติอังกฤษครองแชมป์ยูโร 2022 เป็นความสำเร็จระดับเมเจอร์รายการแรกของอังกฤษนับจากเวิลด์ คัพ 1966

แฟนบอลทั่วประเทศอังกฤษไม่เคยดีใจบ้าคลั่งนับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 1966 เมื่อทีมชาติอังกฤษมีชัยเหนือทีมชาติเยอรมนี 4-2 ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลชาย เวิลด์ คัพ ครั้งที่ 8 ที่เวมบลีย์ สเตเดี้ยม ในกรุงลอนดอน 

56 ปีต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ณ เวมบลีย์ สเตเดี้ยม ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนสนามเดิมที่มีหอคอยคู่เป็นเอกลักษณ์ อังกฤษและเยอรมนีโคจรมาพบกันในนัดชิงชนะเลิศระดับเมเจอร์อีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่ชัยชนะตกเป็นของทีมสิงโตคำราม ซึ่งผงาดครองแชมป์ฟุตบอลหญิง ยูโร 2022 แฟนบอลทั่วประเทศอังกฤษที่จับจ้องการถ่ายทอดสดร่วมกับคนดูในสนาม87,192 คน ได้ฉลองชัยแบบบ้าคลั่งอีกครั้ง

เอลลา ทูเน่ แนวรุกจากแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเพิ่งถูกเปลี่ยนลงมาแค่หกนาที ยิงให้อังกฤษขึ้นนำ 1-0 ในนาทีที่ 62 ก่อนที่ ลินา มากูลล์ ตีเสมอให้เยอรมนีจากระยะเผาขนในนาทีที่ 79 ทำให้เกมต้องขยายออกไปอีกครึ่งชั่วโมง และก็เป็น โคลเอ้ เคลลี่กองหน้าจากแมนฯ ซิตี้ ซึ่งลงสนามในนาทีที่ 64 เป็นผู้ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายเป็นประตูชัยในนาทีที่ 110 ให้อังกฤษมีชัยเหนืออดีตแชมป์เก้าสมัยไปอย่างเร้าใจ 2-1 ครองแชมป์ฟุตบอลหญิงแห่งชาติทวีปยุโรปเป็นสมัยแรก

เชื่อว่าภาพเคลลี่ กองหน้าวัย 24 ปี ถอดเสื้อสีขาวออกมาชูขึ้นไปหมุนสะบัดเหนือศีรษะหลังทำสกอร์สำคัญ จะกลายเป็นภาพแห่งความทรงจำไปอีกนานเช่นเดียวกับหลายภาพในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี

“ยูโร 2022” เป็นแรงพลักดันให้เธอกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้ง

ซาริน่า เวคแมน โค้ชทีมชาติอังกฤษ ใส่ชื่อ โคลเอ้ เคลลี่ เป็นหนึ่งในนางสิงห์ชุดยูโร 2022 ทั้งที่เธอเพิ่งกลับมาเล่นฟุตบอลในเดือนเมษายนที่ผ่านมาหลังหายหน้าไปจากฟลอร์หญ้าเกือบหนึ่งปีเพราะเอ็นไขว้หน้าเข่าข้างขวาฉีกในเดือนพฤษภาคม2021 ซึ่งเกือบทำให้เธอต้องอำลาวงการฟุตบอลหญิง และพลาดเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมสหราชอาณาจักรเข้าไปถึงรอบแปดทีมสุดท้ายและพ่ายต่อออสเตรเลีย

เคลลี่เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งเดียวที่ทำให้เธอกัดฟันต่อสู้เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บและฟื้นฟูสภาพร่างกายก็คือ การได้เป็นส่วนหนึ่งของศึกลูกหนังยูโร 2022

“มันเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์มากแต่ฉันตระหนักดีว่าต้องทุ่มเทฟื้นฟูร่างกายเท่านั้นที่จะทำให้ฉันได้รับประโยชน์จากมัน ฉันมองเป้าหมายหนึ่งเดียวคือยูโร นั่นจึงทำให้ฉันผ่านชีวิตแต่ละวันไปได้”

“มันดูเหมือนเป็นเวลาที่ยาวนานมากแต่ฉันก็มาอยู่ที่นี่ได้แล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากแต่เมื่อสามารถกลับลงสนาม ฉันก็ลืมเรื่องพวกนั้นไปหมด ฉันขอบคุณที่ได้โอกาสลงมาอยู่ในสนามเพิ่มขึ้นอีกแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี”

บางทียูโร 2022 เป็นเพียงเป้าหมายที่จับต้องได้เพื่อพลักดันให้เธอผ่านเวลาที่ยากลำบาก แต่ความปรารถนานั้นอาจมีพื้นฐานมาจากความรักกีฬาฟุตบอลอย่างแรงกล้าของเธอ

จากเด็กหญิงที่เล่นฟุตบอลกับพี่ชายห้าคน สู่วีรสตรีแห่งชาติ

โคลเอ้ แม็กกี้ เคลลี่ เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1998 ที่มหานครลอนดอน เธอเคยนั่งรถเมล์สาย 92 จากบ้านในเออลิ่งไปเวมบลีย์เพียงเพื่อซื้อโปรแกรมการแข่งขันเอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศนัดหนึ่ง และต้องเดินทางไปกลับสองชั่วโมงด้วยรถไฟสมัยที่ฝึกซ้อมกับอะคาเดมี่ของอาร์เซนอล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งลอนดอนตอนเหนือ

เคลลี่เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูกๆเจ็ดคน เธอเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็กกับพี่ชายห้าคน เคยฝึกฟุตบอลที่อะคาเดมี่ของทีมควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ก่อนย้ายมาอยู่อาร์เซนอลระหว่างปี 2015 – 2017 แต่ไม่สามารถเบียดแทรกเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้

23 กรกฎาคม 2015 ในวัย 17 ปี เคลลี่ลงสนามนัดแรกให้ทีมชุดใหญ่ของอาร์เซนอลในการแข่งขันคอนติเนนตัล คัพ กับวัตฟอร์ด และทำประตูแรกได้หลังเกมเริ่มไปได้แค่ 22 นาที ก่อนมีโอกาสเซ็นสัญญาอาชีพระดับซีนียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016อย่างไรก็ตามหลังทำ 5 ประตูจาก 16 นัด อาร์เซนอลอนุญาตให้เธอย้ายไปเล่นให้ทีมเอฟเวอร์ตันด้วยสัญญายืมตัวสามเดือนในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เคลลี่ลงตัวจริง 9 นัดทำ 2 ประตูให้กับทีมท็อฟฟี่สีน้ำเงิน ซึ่งเล่นใน เอฟเอ วีเมนส์ ซูเปอร์ลีก 2(เอฟเอ ดับเบิลยูเอสแอล 2)

หลังจากกลับมาร่วมทีมอาร์เซนอลในเดือนตุลาคม เคลลี่ลงสนามอีกสามนัดใน เอฟเอ ดับเบิลยูเอสแอล 1 ประจำปี 2016 ซึ่งทีมปืนใหญ่จบด้วยอันดับสาม มีสถิติชนะ 10 นัด เสมอ 4 นัด แพ้ 2 นัด และครองแชมป์ เอฟเอ วีเมนส์ คัพ ปี 2016 ด้วยชัยชนะเหนือเชลซี 1-0 เคลลี่ไม่ได้ลงสนามแม้มีชื่ออยู่ในทีม

เดือนกุมภาพันธ์ 2017 เคลลี่เซ็นสัญญาฉบับใหม่กับอาร์เซนอล มีโอกาสลงสนาม 7 นัด ทำ 2 ประตู ก่อนถูกเอฟเวอร์ตันยืมใช้งานอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน แต่ครั้งนี้ ทีมท็อฟฟี่สีน้ำเงินเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่น เอฟเอ ดับเบิลยูเอสแอล 1 แล้ว เคลลี่มีผลงาน 4 นัด 2 ประตู เอฟเวอร์ตันประทับใจจึงขอซื้อขาดจากอาร์เซนอลในเดือนมกราคม 2018 มีการเซ็นสัญญาผูกมัดถึงซัมเมอร์ปี 2020

ซีซั่น 2017-18 เคลลี่ทำ 2 ประตูจาก 15 นัด เอฟเวอร์ตันจบอันดับเก้า ส่วนซีซั่น 2018-19 เคลลี่มีปัญหาบาดเจ็บข้อเท้า แต่ยังทำ 1 ประตูจาก 11 นัด เอฟเวอร์ตันจบอันดับสิบ

เคลลี่เข้ารับการผ่าตัดในปี 2019 เธอกลับมาด้วยฟอร์มแข็งแกร่งกว่าเดิม ทะลวงตาข่ายได้มากถึง 9 ประตูจาก 12 นัด และเอฟเวอร์ตันจบอันดับหกของ เอฟเอ ดับเบิลยูเอสแอล ซีซั่น 2019-20 ซึ่งเธอยังได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของลีกประจำเดือนกันยายน 2019

เดือนมกราคม 2020 เคลลี่ทำแฮททริกเหมาประตูพาเอฟเวอร์ตันชนะเรดดิ้ง 3-1 แต่กลางปีนั้นเอง เคลลี่โบกมือลากูดิสันปาร์คหลังจากปฏิเสธต่อสัญญาใหม่กับเอฟเวอร์ตัน และวันที่ 3 กรกฎาคม แมนฯ ซิตี้ ประกาศเซ็นสัญญาสองปีกับเคลลี่ แต่แล้วก่อนปิดซีซั่น เธอได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่เอ็นไขว้หน้าเข่าข้างขวาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 หลังจากเปิดตัวได้สวยในฤดูกาลแรกกับทีมเรือใบสีฟ้า ทำ 16 ประตูจาก 34 นัด, ครองแชมป์เอฟเอ คัพ, ได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของสโมสร และติดทีมรวมดาราประจำปีของ พีเอฟเอ

กับทีมชาติอังกฤษ เคลลี่เคยเล่นให้ทีมชุด ยู-17, ยู-19 และ ยู-20 ซึ่งอยู่ในทีมที่ครองอันดับสาม วีเมนส์ เวิลด์คัพ ยู-20 เมื่อปี 2018 เธอติดทีมชาติชุดใหญ่นัดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2018 ลงเป็นตัวสำรองในเกมกระชับมิตรที่ชนะออสเตรีย 3-0 

เคลลี่ถูกเรียกตัวร่วมทีมชาคิอังกฤษชุด ยูโร 2022 ทั้งที่ลงเล่นในซีซั่น 2021-22 ให้แมนฯ ซิตี้ ในเกมลีกแค่นัดเดียวและเกมเอฟเอ คัพ อีกหนึ่งนัด ซึ่งเธอทำได้ 1 ประตู เคลลี่เล่นให้ทีมสิงโตคำรามทั้งสิ้น 16 นัด ทำได้ 2 ประตู ซึ่งประตูล่าสุดก็คือ ประตูชัยนัดประวัติศาสตร์นั้นเอง

ชิ่งสัมภาษณ์หลังเกม ไม่พลาดซีนร้องเพลงฉลองแชมป์กับเพื่อน

หลังพาทีมชนะเลิศยูโร 2022 โคลเอ้ เคลลี่ ย้อนพูดถึงช่วงเวลาที่ต้องฟื้นฟูร่างกายเกือบหนึ่งปีเต็มว่า “ฉันขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการกายภาพบำบัดครั้งนั้น ฉันเชื่อเสมอว่าจะได้มาอยู่ที่นี่ แต่ได้มาอยู่ที่นี่แล้วยิงประตูชัยด้วยนี่ ว้าววว….”

“ทีมเราเป็นกลุ่มเด็กหญิงที่เหลือเชื่อมาก ผู้จัดการทีมสุดพิเศษ สตาฟฟ์โค้ชก็เป็นกลุ่มที่วิเศษมาก ฉันขอบคุณทุกคน นี่เป็นความฝันที่เป็นจริงในฐานะเด็กหญิงที่เคยเฝ้าตามการแข่งขันฟุตบอลหญิง มันเหลือเชื่อ”

ก่อนที่จะพูดอะไรมากกว่านี้หรือเปิดโอกาสให้นักข่าวถามคำถามข้อต่อไป โคลเอ้ กองหน้าวัย 24 ปี ก็ผละไปจากการให้สัมภาษณ์ดื้อๆ พร้อมร้องเพลง “สวีท แคโรลีน” ที่กำลังเปิดกระหึ่มทั่วทั้งสนาม และวิ่งไปร่วมกระโดดโลดเต้นฉลองชัยชนะกับเพื่อนร่วมทีม

ต่อมาแฟนบอลทวีตเล่าถึงฉากนั้นของโคลเอ้ว่า “โคลเอ้ เคลลี่ วิ่งออกไปจากกลางวงสัมภาษณ์พร้อมไมโครโฟนในมือเพราะไม่อยากพลาดร่วมร้องเพลง สวีท แคโรลีน กับเพื่อน ๆ”

“โคลเอ้ เคลลี่ ยกเลิกการให้สัมภาษณ์หลังเกมซะอย่างนั้นเพื่อไปร้องเพลง สวีท แคโรลีน กับสาว ๆ บา บา บาส โดยมีไมค์ติดมือไปด้วย มันเพอร์เฟ็คมากเลย”

“ว่ากันตามจริง บีบีซี ควรหยุดช่วงสัมภาษณ์ทันทีที่ทางสนามเปิดเพลง สวีท แคโรลีน”

หลังเพลงจบ โคลเอ้ก็กลับมาพูดคุยกับนักข่าวต่อ “ทุกคนในครอบครัวของฉันอยู่ในกลุ่มคนดู แม่ฉัน พี่ชายทุกคน พี่สาว หลานๆด้วย ทุกคนเลย ตอนนี้ฉันแค่ต้องการฉลองชัยชนะ”

คนเก่งทำอะไรก็สวย !!!

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)