Categories
Football Tactics

recap มุมมอง ของ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ กับเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล

บันทึกกว่า 7 หน้ากระดาษที่ส่งตรงมาจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี ถึงเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล บันทึกนี้เปี่ยมไปด้วย “คุณค่า” ที่น่าติดตาม ซึ่งทาง ไข่มุกดำ ก็พร้อมที่บอกต่อเรื่องราวนี้ ให้กับทุก ๆ คนได้อ่าน ในเว็ปไซต์กัน

Categories
Football Tactics

เปิด Scrapbook โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ ถึง เออร์ลิง ฮาลันด์ และแมนฯซิตี้ของเป๊ป

จบจากแมตช์กดไลป์ซิก 7-0 ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในศึก UCL และได้เห็น เออร์ลิง ฮาลันด์ ซัลโว 5 ประตูภายใน 60 นาที ทางทีม KMD Content ได้รับโทรศัพท์ และสมุดบันทึก 7 หน้ากระดาษเขียนด้วยลายมือจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี

อาจารย์ได้ฝากให้ถอดรหัสพิมพ์ออกมา อย่างไรก็ดี ด้วย “คุณค่า” ของภาษาที่แท้จริง และงานเขียนมือ ที่หาได้ไม่ง่ายแล้วในยุคดิจิตอลแบบปัจจุบัน ทางทีมงานจึงคิดว่า จะนำเสนอในรูปแบบเว็ปไซต์ และนำกระดาษทั้ง 7 แผ่นมาเรียงร้อยให้กับทุก ๆ คนได้ค่อย ๆ แกะอ่านแบบใช้เวลากันจะดีกว่า

โดยทางทีมได้สรุปหัวข้อแต่ละแผ่นโน้ตบุ๊คเอาไว้ให้ เพื่อให้ recap มุมมองได้ง่ายขึ้น และโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเผยแพร่เรื่องราวนี้คงหนีไม่พ้นหลังการสังหารแฮตทริก ที่ 6 ในฤดูกาลนี้ และสร้างยอดรวมทุก ๆ ถ้วยเป็น 42 ประตูหลังปราบเบิร์นลีย์ได้สำเร็จ 6-0 ในศึกเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมที่ผ่านมาของเจ้าตัวฉายาที่สื่อขนานนามให้เป็น “ไอ้ปิศาจ” เออร์ลิง ฮาลันด์

แผ่น 1: 

ทฤษฎีความคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) และ 4 วาระการเล่น (Phase of Play) คือ อะไร? รวมถึงการแตะถึงการที่ เป๊ป มีนักเตะประเภท technical skill ดี ๆ รวมกับ mindset ที่เยี่ยมของผู้เล่นจนนำสู่การเล่นที่ประสบความสำเร็จ

แผ่น 2:

 ทำความรู้จักนักเตะประเภท Hybrid Working และระบบ 4:1:4:1 หรือ 4:5:1 ก่อนปรับเป็น “แบ็คทรี” ในระหว่างการเล่น

แผ่น 3:

การสร้างความได้เปรียบเรื่องตัวผู้เล่น (Numerical Superior) ให้เกิดขึ้น และการปรับฟอร์เมชั่นยามรุก เพื่อสร้างการยืนตำแหน่งแบบพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง และกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นลำบากตามหลักการของ Positional Play ผ่าน Style of Play ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังปิดกั้นเกมรุกของคู่แข่ง (ไม่ให้โต้กลับ) ได้อีกด้วย

แผ่น 4:

พูดถึงการให้ 3 เซนเตอร์ฮาล์ฟ (ดิอาซ, อาเก้, อคานจี) สร้างเกม ออกบอลแรก พาบอลขึ้นไปเอง (พร้อมกันอีกต่างหาก) อันสะท้อนผ่านตัวเลขการเปิดบอลสูงสุดของทีมใน 3 อันดับแรก และติดท็อป 5 ระยะการเคลื่อนที่ทั้ง 3 คน

แผ่น 5:

เปิดมุมมองให้ร่วมกันคิดว่า บทบาทพิเศษในเกมรุกของ 3 เซนเตอร์ฯ เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ หรือเป็นแท็คติกส์ที่ได้วางมารวมถึงการแตะเรื่องระบบอสมมาตรที่เกิดขึ้น (Asymetrical Formation) ด้วกการใช้แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) และปีกหุบใน (Inverted Winger) ทำงานร่วมกับ Playmaker

แผ่น 6:

ข้อมูลเชิงสถิติที่ตอกย้ำผลงานที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เห็น โดยทั้ง 5 ประตูของ ฮาลันด์ เกิดจาก 1 จุดโทษ และที่เหลือ 4 ประตูเกิดจากการยืนถูกที่ถูกเวลาซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

แผ่น 7:

เหตุผลในมุมของเป๊ป ผ่านอาจารย์ โค้ชน้อย ว่าทำไมจึงเปลี่ยน ฮาลันด์ ออกตั้งแต่นาทีที่ 62 เท่านั้น และปิดโอกาสการทำ “ดับเบิ้ล แฮตทริก” ในเกมเดียวกัน

เรื่อง : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี)

เรียบเรียง : KMD Content Team

Categories
Football Tactics

ปิดซีรีส์แรก 10 Episodes : The Tactics รายการพูดคุยคอนเทนท์เชิงเทคนิค และแท็คติกส์ฟุตบอลทั้งพื้นฐาน และสมัยใหม่ เพื่อคนรักฟุตบอลขั้นลึกซึ้ง

รายการ The Tactics : รักฟุตบอล เข้าใจฟุตบอล ซีรีส์เริ่มต้น เดินทางมาครบ 10 Episodes แล้ว และขอมัดรวมทั้งหมดมาให้ได้ติดตามรับชมกัน หรือหากใครใคร่จะรับชมอีกครั้งแบบรวดเดียว 10 Episode สามารถรับชมที่นี่ได้เลย

แนะนำว่า ต้องชม ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น!

ก่อนอื่นใด ขอเท้าความสักเล็กน้อยว่า รายการนี้ ถูกต่อยอดมาจากเมนู Football Tactics >> https://khaimukdam.com/football-tactics/ ในเว็บไซต์ ไข่มุกดำ และอีกหลายโพสต์วิเคราะห์ฟุตบอลในเพจไข่มุกดำ ซึ่งได้ผลิตมุมมองฟุตบอลแบบเจาะลึก แตกต่าง แต่เข้าใจได้ง่าย และไม่มีถูกผิด ให้เกิดขึ้นเพื่อเพื่อน ๆ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดฟุตบอลของตนเองไม่ว่า รับชม, เตะกับเพื่อน, แข่งขัน หรือในเชิง Coaching

รายการนี้ ได้รับเกียรติจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิคทีมชาติไทย ยู-23 ปี) ร่วมดำเนินรายการกับ “ท็อป ไข่มุกดำ” ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ มาพูดคุย และถ่ายทอดมุมมองฟุตบอล แยกเป็น 10 หัวข้อสำหรับซีรีส์เริ่มต้นนี้

The Tactics น่าจะเป็นหนึ่งในแหล่งความรู้ชั้นดีให้กับเพื่อน ๆ ได้ หวังว่าบรรดาเหล่าแฟนบอล คนรักฟุตบอล จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ แม้กระทั่งโค้ช หรือตัวผู้เล่นเองก็สามารถศึกษาไว้ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาจริง ๆ สิ่งเหล่านี้มันก็หนีไม่พ้นที่จะนำไปปรับใช้ในสนาม

สำหรับภาพรวมทั้ง 10 EP. มีอะไรให้ติดตาม นำไปใช้ได้บ้าง ตามนี้เลย

EP.1 หลักพื้นฐาน 4 ข้อในการจับประเด็นมองฟุตบอล

EP นี้เพื่อน ๆ จะได้สนุกไปกับ “พื้นฐาน” ในการติดตามฟุตบอลไม่ว่าจะในฐานะใด: โค้ช, ผู้เล่น, แฟนบอลทุกระดับ การรุก, การรับ, transition (รับเป็นรุก และรุกเป็นรับ) รวมถึง ลูกตั้งเตะ ผ่านสนามฟุตบอลที่แบ่งให้เป็น 4 โซนหลัก และ 18 โซนย่อย

เพื่อน ๆ จะได้เรียนรู้การเล่นเกมรุกว่า Direct หรือแบบ Indirect ต่างกันอย่างไร และสมัยนี้ฟุตบอลเล่นรับกันอย่างไร เรื่องทรานซิชั่นส์ไม่ต้องพูดถึง สนุกแน่ ๆ รวมถึงลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ ควรป้องกันด้วยผู้เล่นเฝ้า 2 เสาหรือไม่

EP.2 Positional Play คือ อะไร และมีความสำคัญอย่างไร

EP.2 จะพูดถึงหัวข้อสำคัญที่สุดของฟุตบอลยุคปัจจุบันหัวข้อหนึ่ง อย่าง Positional Play ซึ่งก็คือ การสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง หรือการพยายามเข้าทำลายเกมรับของคู่ต่อสู้ทุกรูปแบบ ผ่าน 3หลักการเบื้องต้น ได้แก่

1. สร้างความได้เปรียบในเรื่องจำนวนผู้เล่นในพื้นที่แดนรุกระหว่างบุก และครอบครองบอล

2. เลือกพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนการที่ตระเตรียม และซ้อมมา

3. ด้วยคุณภาพผู้เล่นที่เหนือกว่าจะทำให้การสร้างสถานการณ์ในข้อ 1 และ 2 เกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมหลัก ๆ ของ Positional Play ในส่วนของรายละเอียดเจาะลึกลงไป ตามกันต่อในคลิปนี้ได้เลย

EP.3 False 9

นี่น่าจะเป็นอีก EP ที่ทุก ๆ คนรอคอย ซึ่งพูดถึงหัวข้อที่เป็นแท็คติกส์สำคัญ ที่สอดแทรกอยู่ในกลยุทธ์การเล่น Postional Play ที่ได้นำเสนอไปใน EP ที่ผ่านมา คือ False 9 และ False 10

สำหรับผู้เล่น False 9 นั้น มักจะเป็นผู้เล่นที่มีทักษะการครองบอลที่ดี มีความพริ้วในการเคลื่อนตัวหาพื้นที่ และมี vision ที่เฉียบขาดในการถ่ายบอลให้ผู้เล่นคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดึงกองหลังออกจากลายเพื่อให้เกิดความสับสนในการเลือกตัวประกบและเกิดช่องว่างให้เพื่อนเข้าทำ

EP.4 INVERTED WINGERS / FULL BACK

แท็คติกส์สำคัญอีก 1 ชิ้นที่ถูกบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมาในโลกลูกหนังเพื่อที่จะสร้างสมดุลย์ให้กับ shape การเล่น โดยเฉพาะเกมรุก (เพิ่มจำนวนผู้เล่น, ไลน์การเล่น) บริเวณแดนกลาง และแน่นอน หากทำได้สมบูรณ์ เกมรับก็จะง่าย ทรานซิชั่นส์ก็ดี เพราะจะ allow ให้ผู้เล่นสามารถช่วงชิงบอลคืนกลับมา (Counter Pressing) ได้ทันท่วงที เพราะแต่ละคนยืนไม่ห่างกัน และไลน์ในการเล่นก็มี “ระยะ” ที่เหมาะสม

Inverted ทั้งฟูลแบ็ค และปีก (Wingers) มีหลายตัวอย่างใน EP นี้ที่ไม่อยากให้พลาดเพื่อต่อยอดความเข้าใจจาก 3 EP ที่ผ่านมา

EP.5 รู้จัก PLAYMAKER สมัยใหม่ในโลกฟุตบอล

Playmaker หรือ ตัวทำเกม หรือนักเตะผู้สร้างสรรค์เกม ในช่วงเวลาหนึ่ง (ในอดีต) จะหมายถึงคนที่ใส่เสื้อเบอร์ 10 แต่อย่างที่ทราบกันว่า เบอร์ 10 มันมีได้แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ ถ้าผู้เล่นคนอื่น ๆ สามารถยกระดับการเล่น และแนวทางการเล่นของตนเองขึ้นมา ทีมก็จะมี “เพลย์เมคเกอร์” ได้หลากหลายตำแหน่ง และมีความสามารถโดยรวมที่มากขึ้น ทำให้ทีมยิ่งได้เปรียบคู่แข่งขัน

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึง Playmaker ต่อไป ก็ไม่ใช่แค่ผู้เล่นเบอร์ 10 หรือมิดฟิลด์เพียงตำแหน่งเดียว แต่หมายถึง ทุกตำแหน่งที่มีความสามารถ เป็นได้ตั้งแต่ตำแหน่งผู้รักษาประตู, ฟูลแบ็ค, เซนเตอร์ฮาล์ฟ (คิดถึงใครกันบ้างครับ?), มิดฟิลด์ตัวรับ (แบบ deep lying playmaker) เรื่อยไปจนถึงกองหน้า (False 9) ที่เก่งฉกาจในการสร้างสรรค์โอกาส และการทำเกมได้อย่างยอดเยี่ยม

EP.6 มิดฟิลด์คู่ (Double Pivot) ทำหน้าที่อย่างไร?

Double Pivot หรือ มิดฟิลด์คู่ ซึ่งถูกพัฒนาและถูกใช้มาเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นต้นแบบต้นฉบับอย่างหนึ่งที่ทีมต่าง ๆ ได้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่บาร์เซโลนาสมัยแรก ๆ จะมี บุสเกตส์ กับ ชาบี เอร์นานเดซ เป็นมิดฟิลด์คู่ ซึ่งบทบาทของทั้งสองคน ก็รับหน้าที่แตกต่างกันไปในเกม พูดง่าย ๆ ก็คือ หากคนหนึ่งเล่นเกมรับ 30% เกมรุก 70% อีกคนก็จะเล่นกลับกัน เป็นเกมรับ 70% เกมรุก 30%

แน่นอนว่า เราจะได้เห็นบทบาทของ Double Pivot มากขึ้น ในฟุตบอลปัจจุบันนี้ ซึ่งในความหลากหลายของฟอร์เมชั่นในแต่ละทีม อาจยังไม่สามารถจะกำหนดชัดได้ว่าจะต้องยืนด้วยระบบ 4-3-3 เนื่องจากทุกการเล่นจะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับคู่ต่อสู้เสมอ และผู้เล่นที่มักจะถูกเลือกใช้กันก็คือ ผู้เล่นที่เล่นได้หลายตำแหน่ง มีความหลากหลายในการเล่น ยกเว้นคู่เซ็นเตอร์ กับประตู 3 คนเท่านั้น ที่บทบาทนั้นควรจะไม่เปลี่ยนไปมาก นอกนั้นถูกเปลี่ยนได้หมดเลย มันถึงจะควบคุมคู่ต่อสู้ได้

EP.7 Lone Striker (กองหน้าตัวเป้า)

“Lone Striker” หรือ กองหน้าตัวเป้า หนึ่งในกุญแจสำคัญของการเล่น ซึ่งผู้เล่นที่ดีในตำแหน่งนี้ ควรจะต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม ทั้งเรื่องรูปร่างที่ได้เปรียบ สูงใหญ่ มีความคล่องตัวและความเร็วสูง ยิงประตูที่เฉียบคม วิ่งเข้าไปทำประตูในพื้นที่ PTA หรือ วิ่งทะแยงตัดหลังไลน์ได้ มี first touch ที่ดี หรืออาจจะต้องมีจุดแข็งเรื่องลูกกลางอากาศ และที่สำคัญมาก ๆ คือต้องมีสัญชาติญาณในการยิงประตู ในทุกรูปแบบ

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วศูนย์หน้าตัวเป้า ที่มีความเพียบพร้อมนั้น มักจะมีค่าตัวแพงมาก ๆ ในปัจจุบัน ผู้เล่นตำแหน่งนี้ ที่มีประสิทธิภาพ ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาริม เบนเซม่า, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, แฮร์รี เคน, ​เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, ดาร์วิน นูนเญซ, โรเมลู ลูกากู, อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช ฯลฯ

EP.8 พื้นที่ PTA (Prime Target Area)

EP นี้ พูดถึงเรื่องของ “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาคุยกันวันนี้ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา

บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

EP.9 พื้นที่ Half Spaces

พื้นที่ Half Spaces ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในสนาม เป็นช่องลากยาวจะอยู่ระหว่างแนวฟูลแบ็คกับเซ็นเตอร์ฯ จึงเหมาะแก่การเข้าทำเมื่อทีมเป็นฝ่ายรุก

โดยในฟุตบอลสมัยใหม่ ทีมใหญ่ ๆ หลายทีมในต่างประเทศ มักจะให้นักเตะที่เป็นตัวทำเกมมาอยู่ในตำแหน่งนี้ และต้องเป็นนักเตะที่มีความสามารถมากพอที่จะเล่นในพื้นที่แคบ ๆ ได้ด้วย เหตุผลเพราะโซนนี้สามารถจ่ายบอลได้ทุกทิศทาง

EP.10 วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม

วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็หนีไม่พ้นในเรื่องของ Positional Play โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นPositional Play ในแดนคู่ต่อสู้ ในขณะที่เรากำลังเตรียมการใช้คน 8 คนทั้งหมดรุกเข้าไป

โดยการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้งหมดนี้ จะทำให้คู่ต่อสู่แนวรับทั้งหมดไม่มั่นคง ซึ่งเราก็ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เคยพูดมาใน EP ก่อนหน้านี้ทั้งหมด คือ การเคลื่อนที่ของ Inverted Full-back เข้ามา 2 คน แล้วเอาผู้เล่น Inverted Winger เข้ามาอีก 2 คน แล้วให้มีคนวิ่ง False 9 ลงมาตรงกลาง ส่วนฝั่งซ้ายขวา ก็ให้คนวิ่ง False 10 และ False 8

ถ้าสมมติในกรณีนี้ เราเข้าไปสู่พื้นที่เกือบจะสุดท้าย แบบทะลุทะลวง เพราะฉะนั้นการทำในลักษณะนี้พร้อม ๆ กันหรือเกือบจะพร้อมกัน แนวรับฝั่งตรงข้ามแตกแน่นอน

อย่างไรก็ดี ทีมผู้จัดทำหวังว่ารายการนี้จะให้ประโยชน์กับทุก ๆ คนได้ไม่มากก็น้อย โดยไม่ได้มีผู้สนับสนุนรายการใด ๆ ก็จะมีเพียงเพื่อน ๆ นี่แหละ ที่เป็นกำลังใจ คอยติดตาม และพูดคุยกัน และในอนาคต รายการ The Tactics จะมีซีรีส์ภาคต่ออย่างไร รอติดตามกันได้เลย

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)