Categories
Special Content

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก

  • กฎ Profitability and Sustainability (P&S) เป็นกฎการเงินที่บังคับใช้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก และเดอะ แชมเปี้ยนชิพ 
  • งบการเงิน 4 ปีหลังสุด เอฟเวอร์ตัน ขาดทุนสูงถึง 417.3 ล้านปอนด์ หรือเกินกว่าที่พรีเมียร์ลีกกำหนดไว้เกือบ 4 เท่า
  • เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ถูกลงโทษตัดแต้ม ต่อจากมิดเดิลสโบรช์ และพอร์ทสมัธ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักพาดหัวข่าวใหญ่ เอฟเวอร์ตัน ถูกพรีเมียร์ลีกสั่งตัด 10 คะแนน จากกรณีละเมิดกฎการเงินที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

แน่นอนว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ต่างแสดงความผิดหวัง และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่ออกมา แม้จะรับรู้มาตลอดว่าสักวันหนึ่งทีมจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งพวกเขาจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

หากอุทธรณ์ไม่สำเร็จ สโมสรก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม กลับมามุ่งมั่นในสนามเพื่อเก็บชัยไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการร่วงตกชั้นจากลีกบนยอดพีระมิดเมืองผู้ดี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตัดสินคดีละเมิดกฎการเงินในอนาคต และต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกสู่การลงโทษหักแต้มที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

รู้จักกับ P&S กฎคุมการเงินลูกหนังเมืองผู้ดี

กฎ Profitability and Sustainability หรือเรียกย่อๆ ว่า P&S คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน เพื่อควบคุมการเงินของ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก และ 24 สโมสรในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ

สำหรับกฎ P&S เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งในฤดูกาลปัจจุบัน กฎดังกล่าวจะระบุไว้ในหมวด E. ข้อ 47-52 ของระเบียบการแข่งขัน (PL Handbook) โดยทุกสโมสรจะต้องส่งงบการเงินให้พรีเมียร์ลีกตรวจสอบทุกปี

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของกฎ P&S คือ “สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน105 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุด หากมีสโมสรใดขาดทุนเกินกำหนดจะต้องถูกลงโทษ”

ซึ่งคำว่า “ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์” ความจริงแล้วมีเพดานอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 90 ล้านปอนด์ที่เหลือ ทางพรีเมียร์ลีกอนุโลมให้เจ้าของสโมสรนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางอ้อมได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าสโมสรใดตกชั้นลงไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ กฎ P&S จะเข้มงวดมากกว่าพรีเมียร์ลีก เพราะจะทำให้ลิมิตการขาดทุน ลดลงเหลือเพียง 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุดเช่นกัน

นับตั้งแต่กฎ P&S หรือไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ฉบับพรีเมียร์ลีก บังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีสโมสรใดเคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ในที่สุด เอฟเวอร์ตัน ก็กลายเป็นสโมสรแรกที่ได้รับผลกรรมจากการละเมิดกฎดังกล่าว

ตรวจสุขภาพการเงินเอฟเวอร์ตัน 3 งวดล่าสุด

จากรายงานงบการเงินของเว็บไซต์ Company House ระบุว่า รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เอฟเวอร์ตันมีรายได้จากสื่อ, การค้า และแมตช์เดย์ รวม 181 ล้านปอนด์ ขาดทุน 44.7 ล้านปอนด์

และเมื่อบวกกับยอดขาดทุนใน 3 ปีบัญชีก่อนหน้า เริ่มจากปี 2019 จำนวน 111.8 ล้านปอนด์, ปี 2020 จำนวน 139.9 ล้านปอนด์ และปี 2021 จำนวน 120.9 ล้านปอนด์ รวม 4 ปีหลังสุด เท่ากับ 417.3 ล้านปอนด์

แต่ในปี 2020 และ 2021 เป็นช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีกอนุญาตให้รวบเป็นงวดเดียวกัน โดยการนำยอดมารวมกัน แล้วหารด้วย 2 นั่นเท่ากับว่า เอฟเวอร์ตันขาดทุนโดยเฉลี่ย 130.4 ล้านปอนด์ต่อปี

นั่นหมายความว่า การคำนวณหายอดขาดทุนตามกฎ P&S ใน 3 งวดบัญชีล่าสุด คือ 2019, 2020-21และ 2022 “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ติดลบ 287 ล้านปอนด์ ยังเกินกว่าที่ทางพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้ถึง 182 ล้านปอนด์

ในส่วนของค่าจ้างนักเตะ เฉพาะ 4 ปีบัญชีหลังสุด เอฟเวอร์ตันจ่ายเงินสูงถึง 582 ล้านปอนด์ เป็นรองสโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ แม้กระทั่งโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่เคยสัมผัส

เมื่อนำค่าจ้างมาคำนวณสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน (746 ล้านปอนด์) จะพบว่าเอฟเวอร์ตันจ่ายค่าจ้างคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรมีปัญหาการเงิน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

สแกนกรรมทอฟฟี่สีน้ำเงิน ทำการเงินเข้าขั้นวิกฤต

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่การลงโทษหัก 10 คะแนน ก็คือการที่เอฟเวอร์ตันขาดทุนเกินกว่ากำหนดในรอบ 3 ปีหลังสุด ซึ่งพวกเขารอดตกชั้นในฤดูกาล 2021/22 และ 2022/23 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย

นั่นทำให้บรรดาทีมคู่แข่งสำคัญที่สูญเสียผลประโยชน์จากการตกชั้น ทั้งเบิร์นลีย์ (2021/22), เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์ ยูไนเต็ด (2022/23) รวมตัวกันไปร้องเรียนพรีเมียร์ลีก เพื่อหวังเอาผิดกับทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินให้ได้

ต่อมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ได้ใช้เวลาไต่สวนนานถึง 5 วัน และตรวจสอบพบความผิดอีกข้อหาหนึ่ง นอกเหนือจากการมียอดติดลบเกินกว่าที่ทางลีกเมืองผู้ดีกำหนด

ความผิดปกติที่ว่านั้นคือ เอฟเวอร์ตันส่งข้อมูลงบการเงินอันเป็นเท็จในรอบปีบัญชี 2021/22 โดยแจ้งว่าขาดทุนเพียง 44.7 ล้านปอนด์ แต่ยอดขาดทุนจริงที่ P&S คำนวณได้คือ 124.7 ล้านปอนด์ ต่างกันถึง 80 ล้านปอนด์

ทางคณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ชี้แจงว่า เอฟเวอร์ตันได้มีการผ่องถ่ายรายจ่ายบางส่วนออกไปกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่แบรมลีย์ มัวร์ ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเงินของเอฟเวอร์ตันเข้าขั้นวิกฤต ประการแรก จ่ายเงินซื้อนักเตะจำนวนมาก แต่รายรับจากการขายนักเตะ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ และส่วนแบ่งรายได้จากผลงานในตารางคะแนน ได้กลับมาไม่มาก

อีกประการหนึ่งคือ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับกลุ่มทุน USM ของอลิเซอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจชาวรัสเซีย อันเนื่องมาจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

ชดใช้ความผิดพลาด มองปัจจุบันและอนาคต

จากคำตัดสินของคณะกรรมการอิสระ ทำให้เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ได้รับบทลงโทษด้วยการตัดคะแนน และมีผลทันที ทำให้เหลือ 4 คะแนน หล่นไปอยู่อันดับรองสุดท้ายของตาราง

ก่อนหน้านี้ มิดเดิลสโบรช์ ในฤดูกาล 1996/97 เคยถูกตัด 3 แต้ม เนื่องจากไม่ลงแข่งขันกับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และพอร์ทสมัธ เมื่อซีซั่น 2009/10 ที่โดนหัก 9 แต้ม จากกรณีที่สโมสรถูกควบคุมกิจการ ท้ายที่สุดก็ตกชั้นทั้งคู่

นักวิเคราะห์สถิติจาก Opta ประเมินว่า ทีมของกุนซือฌอน ไดซ์ มีโอกาสตกชั้นในซีซั่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกหัก 10 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าเบิร์นลีย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 1994/95 เอฟเวอร์ตันก็มีแค่ 4 แต้ม จาก 12 เกมแรก เช่นเดียวกับซีซั่นนี้ แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการจบอันดับที่ 15 พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครอง ซึ่งอาจจะเป็นลางดีของพวกเขาก็ได้

ขณะเดียวกัน เอฟเวอร์ตันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของทีมรายใหม่ จากฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน มาเป็น 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา หลังเข้าซื้อหุ้น 94.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับ 777 Partners เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก โดยได้เข้าไปลงทุนกับทีมฟุตบอลชื่อดังในยุโรป เช่น เซบีย่า (สเปน), เจนัว (อิตาลี), แฮร์ธ่า เบอรฺลิน (เยอรมนี) และสตองดาร์ด ลีแอช (เบลเยียม)

ซึ่งขั้นตอนการเทคโอเวอร์ อยู่ระหว่างรอทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2023 แต่หลังจากเอฟเวอร์ตันถูกตัด 10 แต้ม และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น โมชิริอาจจะมีการทบทวนดีลการซื้อกิจการอีกครั้ง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

เชือดท็อฟฟี่ สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้ และเชลซี

เมื่อเอฟเวอร์ตันได้รับบทลงโทษตัดแต้มหนักที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก คำถามที่ตามมาก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กำลังถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎการเงิน จะโดนลงโทษหรือไม่ อย่างไร

กรณีของแมนฯ ซิตี้ ถูกตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงิน 115 กระทง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 เช่น แจ้งข้อมูลการเงินไม่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของยูฟ่า อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน

ขณะที่เชลซี เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสในช่วงปี 2012-2019 สมัยที่โรมัน อบราโมวิช ยังเป็นเจ้าของสโมสร เช่น ค่าจ้างอันโตนิโอ คอนเต้, ค่าตัวเอแดน อาซาร์,ที่ถูกโอนไปยังแหล่งฟอกเงินที่บริติช เวอร์จิ้นส์ เป็นต้น

ความเป็นไปได้ของบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ และเชลซี จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้มสถานหนัก, ปรับตกชั้น หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ เหมือนที่สโมสรในลีกล่างเคยเจอมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ลูตัน ทาวน์ คือทีมที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดถึง 30 แต้ม เมื่อฤดูกาล 2008/09 สมัยที่อยู่ในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) หลังถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน และตกชั้นเมื่อจบซีซั่น

หรือกรณีของบิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นซีซั่น 2019/20 ไปไม่กี่นัด

การตัดคะแนนเอฟเวอร์ตัน 10 แต้ม เสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนเรือใบสีฟ้า และสิงห์บูลส์ ให้เตรียมรับมือกับข่าวร้ายระดับสะเทือนวงการลูกหนัง ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้

เรื่องราวการถูกลงโทษของเอฟเวอร์ตัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ต้องจับตาดูว่าพรีเมียร์ลีก จะใช้กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/67448714

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/17/everton-deducted-10-points-premier-league-financial-rules/

https://theathletic.com/5072039/2023/11/17/everton-points-deduction-punishment-written-reasons/

https://theathletic.com/5071224/2023/11/18/everton-10-point-penalty-explained/

https://theathletic.com/5072612/2023/11/18/everton-ffp-chelsea-manchester-city/

https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2023/08/31/132475d9-6ce7-48f3-b168-0d9f234c995a/PL_Handbook_2023-24_DIGITAL_29.08.23.pdf

– https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122

https://swissramble.substack.com/p/everton-finances-202122

https://www.financialfairplay.co.uk/financial-fair-play-explained.php

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00036624/filing-history

Categories
Special Content

7 ปีที่ล้มเหลว : ย้อนรอยความผิดพลาด “เอฟเวอร์ตัน” ในยุคฟาฮัด โมชิริ

นับตั้งแต่ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อช่วงต้นปี 2016 พร้อมกับความทะเยอทะยานที่จะพาสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้

โมชิริได้ลงทุนไปมหาศาลในการดึงผู้จัดการทีมบิ๊กเนม และซื้อนักเตะคุณภาพเข้ามาหลายคนเพื่อหวังยกระดับเอฟเวอร์ตัน แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กับโค้ช 7 คน กลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

ช่วงเวลาดังกล่าว เอฟเวอร์ตันเปรียบเสมือนพายเรือในอ่างมานาน วนเวียนอยู่กับการซื้อนักเตะที่ล้มเหลว และเปลี่ยนตัวกุนซือ ยังหาทิศทางที่ถูกต้องไม่เจอเสียที ยิ่งไล่ตามยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ผลงานของทีมไม่ดี การเงินของสโมสรก็มีปัญหาอย่างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากโควิด-19 แต่การบริหารที่ผิดพลาดในยุคโมชิริ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ตกอยู่ในความเลวร้ายเช่นนี้

วอลซ์ และคูมัน เข้ากันไม่ได้

โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คือผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันคนแรก ภายใต้การบริหารของฟาฮัด โมชิริ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2015/16 แม้จะพาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกจบแค่อันดับที่ 11

และการตัดสินใจครั้งแรกของโมชิริ คือการปลดมาร์ติเนซออกจากตำแหน่งกุนซือ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทีม ด้วยการดึงตัวสตีฟ วอลซ์ เป็นผู้อำนวยการสโมสร และโรนัลด์ คูมัน เป็นเฮดโค้ชคนใหม่

แม้ในซีซั่นแรกของคูมัน ทำผลงานได้ดีจบอันดับที่ 7 แต่ในซีซั่นที่สอง วอลซ์และคูมัน กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการเสริมผู้เล่นหลายเรื่อง เช่นการซื้อนักเตะ 3 คนมาเล่นมิดฟิลด์ คือกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, ดาวี่ คลาสเซ่น และเวย์น รูนี่ย์

ในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เอฟเวอร์ตันใช้เงินซื้อนักเตะมากถึง 140 ล้านปอนด์ ทว่าผลงานกลับย่ำแย่ในการออกสตาร์ท 9 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 จนเฮดโค้ชชาวดัตช์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลาดนักเตะของเอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18 ใช้เงินซื้อนักเตะร่วม 220 ล้านปอนด์ แต่ไม่ได้ใกล้เคียงการลุ้นแชมป์ และโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สัญญาณแห่งความหายนะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลดบิ๊กแซม หลังทำงานได้แค่ครึ่งปี

หลังจากหมดยุคของโรนัลด์ คูมัน การสรรหากุนซือใหม่ก็เกิดขึ้น ในตอนแรก ฟาฮัด โมชิริ อยากได้มาร์โก้ ซิลวา โค้ชวัยหนุ่มของวัตฟอร์ด แต่สตีฟ วอลซ์ กลับบอกให้เลือกแซม อัลลาไดซ์ กุนซือวัยเก๋า มารับหน้าที่แทน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Everton

เอฟเวอร์ตันได้แต่งตั้งอัลลาไดซ์ มาสานต่อในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 เซ็นสัญญา 1 ปีครึ่ง และสามารถกอบกู้ผลงานที่ย่ำแย่ในยุคของคูมันได้อย่างยอดเยี่ยม เข็นเอฟเวอร์ตันจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลของทอฟฟี่สีน้ำเงิน กลับไม่ปลื้มกับสไตล์การทำทีมของบิ๊กแซม ทำให้เจ้าของทีมต้องตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานได้แค่ 6 เดือน ส่วนวอลซ์ ผอ.สโมสร ก็ตกงานด้วยเช่นกัน

โมชิริ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ และจ่ายค่าชดเชยอีก 4 ล้านปอนด์ให้กับวัตฟอร์ด จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไปติดต่อมาร์โก้ ซิลวา ให้มารับงานกุนซือแบบผิดกฎ

แต่ในที่สุด ซิลวาก็เข้ามารับหน้าที่โค้ชคนใหม่ของเอฟเวอร์ตัน ดูเหมือนว่า แนวทางของสโมสรกำลังจะเปลี่ยนไป จากการทุ่มเงินเพื่อความสำเร็จครั้งใหญ่ มาเน้นการวางอนาคตในระยะยาวแทน

ดึงอันเชล็อตติเข้ามา จนผอ. สโมสรอยู่ไม่ได้

ในปี 2018 นอกจากเอฟเวอร์ตันจะแต่งตั้งมาร์โก้ ซิลวา เป็นกุนซือคนใหม่แล้ว ยังได้ดึงตัวมาร์เซล แบรนด์ มาเป็นผอ. สโมสรคนใหม่ด้วย ในการพยายามชดใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

การเสริมผู้เล่นในยุคของซิลวา และแบรนด์ ได้เน้นไปที่นักเตะอายุน้อย และเซ็นสัญญาแบบระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร และสามารถทำกำไรมหาศาล เมื่อมีการขายนักเตะไปให้ทีมอื่น

ริชาร์ลิสัน, ลูคัส ดีญ และเยอร์รี่ มิน่า คือ 3 นักเตะดาวรุ่งที่เซ็นสัญญาเข้ามาช่วงตลาดซัมเมอร์ แน่นอนว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง ซึ่งเอฟเวอร์ตันก็ทำได้ดี จบอันดับที่ 8 ในซีซั่น 2018/19

แต่ในซีซั่นต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อซิลวาทำผลงานได้ย่ำแย่ และการแพ้ลิเวอร์พูล ในเมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ต้นเดือนธันวาคม 2019 พาทีมหล่นไปอยู่โซนตกชั้น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การตกงานของเขาในที่สุด

ซึ่งโมชิริ ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ด้วยการดึงตัวคาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือมากประสบการณ์ มาคุมทีมแทน และดึงตัวนักเตะค่าเหนื่อยแพงอย่างฮาเมส โรดริเกวซ มาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2020

เมื่อแบรนด์รู้ว่า โมชิริได้กลับไปใช้นโยบายเดิม คือการใช้เงินมหาศาลเพื่อความสำเร็จอีกครั้ง ซึ่งขัดกับแนวทางของตัวเอง ที่เน้นการสร้างทีมในระยะยาว จึงตัดสินใจอำลาตำแหน่งผอ. สโมสร ในเดือนธันวาคม 2021

เล่นกับไฟด้วยการดึงราฟา เบนิเตซ คุมทีม

คาร์โล อันเชล็อตติ ขอลาออกจากเอฟเวอร์ตัน หลังจบฤดูกาล 2020/21 และฟาฮัด โมชิริ เจ้าของทีม ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

แน่นอนว่า การเดิมพันของโมชิริในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักจากแฟนๆ เอฟเวอร์ตันว่า ทำไมสโมสรถึงเลือกโค้ชที่เคยมีประเด็นพูดหมิ่นทอฟฟี่สีน้ำเงินว่าเป็น “ทีมเล็ก” เมื่อปี 2007

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ในฤดูกาล 2021/22 ยุคของเบนิเตซ เอฟเวอร์ตันได้ผู้เล่นใหม่ 10 คน แต่ใช้เงินรวมกันแค่ 30 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นยอดใช้จ่ายซื้อนักเตะที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่โมชิริเป็นเจ้าของสโมสร

แม้จะเริ่มต้นซีซั่นในพรีเมียร์ลีกได้ดี ชนะ 4 จาก 6 เกมแรก ทำเอาแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงินเริ่มฝันไกล แต่ความจริงที่โหดร้ายก็เข้ามา เพราะ 13 เกมหลังจากนั้น ชนะแค่เกมเดียว เสมอ 3 และแพ้ถึง 9 เกม

เกมสุดท้ายของ “เอล ราฟา” คือนัดแพ้นอริช ซิตี้ 1 – 2 เมื่อ 15 มกราคม 2022 อยู่อันดับที่ 15 มีแต้มมากกว่าโซนตกชั้นแค่ 6 แต้ม ท่ามกลางความสะใจของแฟนๆ “เดอะ ค็อป” ที่เขาไปทำให้เอฟเวอร์ตันเละเทะเข้าไปอีก

การตัดสินใจดึงตัวราฟา เบนิเตซ มารับงานที่เอฟเวอร์ตัน ผลลัพธ์ที่ออกมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า ฟาฮัด โมชิริ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทีม และเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรที่ยังไม่มากพอ

คำพูดของโมชิริ ที่เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง

ด้วยความที่ฟาฮัด โมชิริ มีแพสชั่นในการยกระดับเอฟเวอร์ตัน ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ทัดเทียมกับบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่บางคำพูด หรือการให้สัมภาษณ์ของเขา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ๆ คน ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2018 โมชิริได้กล่าวพาดพิงโรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบลเยียม ที่ไม่ยอมต่อสัญญาในถิ่นกูดิสัน พาร์ค ทั้งๆ ที่ ตกลงรายละเอียดไปแล้ว โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากเชื่อเรื่องไสยศาสตร์วูดู

หรือเมื่อเดือนมีนาคม 2019 โมชิริอ้างว่า เอฟเวอร์ตันก็มี “Fab 4” อย่างกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, เวย์น รูนี่ย์, ยานนิค โบลาซี่ และเซงค์ โทซุน เป็นคู่แข่งกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ของลิเวอร์พูล

และล่าสุด หลังเกมที่บุกแพ้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0 – 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โมชิริได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงอนาคตในตำแหน่งกุนซือของแฟรงค์ แลมพาร์ด โดยพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 วันก่อนเกมกับเวสต์แฮม โมชิริยังให้คำมั่นว่าแลมพาร์ดจะยังคุมทีมต่อไป แต่เมื่อกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องตัดสินใจแยกทางกับตำนานมิดฟิลด์เชลซีในที่สุด

อนาคตของเอฟเวอร์ตันที่พอจะคาดหวังได้ อยู่ที่สนามเหย้าแห่งใหม่ในแบรมลีย์ มัวร์ ความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 แม้แฟนบอลของสโมสรจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของโมชิริก็ตาม

บทเรียนแห่งความล้มเหลว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของเอฟเวอร์ตัน ในยุคของฟาฮัด โมชิริ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือแผนงานที่ถูกต้อง ชัดเจน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบชาญฉลาด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง