โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“ท้องถิ่นนิยม” จึงเป็นสายใยสำคัญที่เชื่อมโยงแฟนบอลเข้ากับสโมสรอย่างเหนียวแน่นเหมือนเป็นดีเอ็นเอ แม้เวลาต่อมาความนิยมกีฬาลูกหนังจะแพร่กระจายไปทั่วโลก มีแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลก แม้แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก บอร์ดบริหาร และเจ้าของสโมสร ก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติที่มองฟุตบอลเป็นธุรกิจ แต่แฟนบอลหลักที่จ่ายเงินซื้อตั๋วปีเข้ามาส่งเสียงเชียร์ในสนามตลอดซีซันยังเป็นคนในเมืองและประเทศอังกฤษอยู่ดี นั่นจึงทำให้สโมสรเล็กในลีกรองๆสามารถขับเคลื่อนทีมไปได้เรื่อย ๆ
ไม่ใช่เพียงอังกฤษ “ท้องถิ่นนิยม” ยังมีความสำคัญต่อความนิยมในวงการฟุตบอลประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนสโมสรที่ใช้ชื่อองค์กรหรือบริษัทหลายสิบปีมาเป็นชื่อจังหวัดอย่างเช่น ทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหลังถูกนายเนวิน ชิดชอบ เทคโอเวอร์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น บุรีรัมย์ พีอีเอ ก่อนเป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทุกวันนี้
เรื่องราวของสโมสรฟุตบอลผ่านมุมมองท้องถิ่นนิยมมีตัวอย่างให้อ่านมากมาย แต่ดูเหมือน “เรอัล โซเซียดาด” เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะมีระดับความเข้มข้นของท้องถิ่นนิยมเหนือกว่ามาตรฐานทีมส่วนใหญ่
เรอัล โซเซียดาด หรือ “ลา เรอัล” หรือทีมราชันย์ เป็นสโมสรในซาน เซบาสเตียน (San Sebastian) เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในจังหวัดกีปุซโกอา (Gipuzkoa) ของแคว้นบาสก์ (Basque Country) เขตปกครองอิสระที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปน
ทีมก่อตั้งเมื่อปี 1909 พร้อมกฎเหล็กข้อหนึ่งเช่นเดียวกับแอธเลติก บิลเบา ทีมคู่อริร่วมแคว้น ที่จะเซ็นสัญญาเฉพาะกับนักเตะชาวบาสก์เท่านั้น ก่อนกำแพงเชื้อชาติถูกทำลายในเดือนกันยายน 1989 เมื่อโซเซียดาดซื้อตัวจอห์น อัลดริดจ์ กองหน้าทีมชาติไอร์แลนด์จากลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ทำให้ปัจจุบัน ทีมราชันย์น้ำเงินขาวมีทั้งนักเตะบาสก์ สเปน และต่างชาติคละเคล้ากันไป อย่างไรก็ตาม ทีมเยาวชนของสโมสรยังสืบทอดนโยบายออล-บาสก์ ไม่ยกเลิกตามทันที สามารถพัฒนาผู้เล่นจนถึงระดับชาติหลายคนเช่น ชาบี อลอนโซ และอองตัว กรีซมันน์ เป็นต้น
โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง และความรักจากคนท้องถิ่น
หลุยส์ มิเกล เอกีกาเรย์ ผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลสเปนของอีเอสพีเอ็น เคยตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นนิยมในกีฬาลูกหนังไว้ว่า ในยุคที่ฟุตบอลเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางบริโภคนิยม แม้ไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนแต่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มทุนเจ้าของสโมสรวางเป้าหมายหาเงินเป็นหลัก ลดน้ำหนักของความสำเร็จในสนามแข่งขัน
เอกีกาเรย์กล่าวเสริมว่า ตัวเขาไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่เป็นเพียงยกข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ขณะกำลังทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จทางการเงิน สโมสรยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประชาชนในชุมชนซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทีมฟุตบอลนั้นๆผ่านประวัติศาสตร์ที่ยาวนานได้หรือไม่ ชุมชนท้องถิ่นยังจะเป็นหัวใจของสโมสรต่อไปหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมที่จะยังรักษาการเต้นของหัวใจโดยไม่เสียหลักการตามพันธกิจข้อพื้นฐานของสโมสร
อย่างไรก็ตามคอลัมนิสต์แห่งสื่อใหญ่ อีเอสพีเอ็น ยังมั่นใจว่าถ้าจะมีสโมสรที่ประสบความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องและรักษาความผูกพันของแฟนบอลท้องถิ่นไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือ เรอัล โซเซียดาด ซึ่งยังไม่เคยจบลาลีกาต่ำกว่าอันดับหกนับตั้งแต่ไวรัสโควิดเริ่มระบาดไปทั่วโลก และระหว่างนั้น “ลา เรอัล” ยังเฉือนทีมใหญ่ร่วมแคว้นบาสก์ แอธเลติก บิลเบา 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศโกปา เดล เรย์ ซีซัน 2019-20 ที่แข่งวันที่ 3 เมษายน 2021 ครองแชมป์เมเจอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี (ไม่นับแชมป์ลีกเซกุนดา ฤดูกาล 2009-10)
ถ้าซีซันนี้ โซเซียดาดจบลาลีกาด้วยอันดับท็อป-4 พวกเขาจะได้ลงสนามยูฟา แชปเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 หลังจากก่อนหน้าได้โควตาแข่งขันยูโรปา ลีก สามปีติดต่อกันกับอันดับ 6, 5, 6 บนตารางลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ หากโซเซียดาดเบียดขึ้นไปจบด้วยอันดับสาม ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งของทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยรวม 134.2 ล้านยูโรต่ออันดับสถิติ เทียบกับ 683.5 ล้านยูโรของเรอัล มาดริด และ 656.4 ล้านยูโรของบาร์เซโลนา แม้กระทั่งยังน้อยกว่าเมื่อนำไปเทียบกับเซบีญาและบีญาร์เรอัล สองทีมที่อยู่อันดับต่ำกว่า
สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างเชิงสังคมของชุมชน
บทความนี้ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในฐานะทีมฟุตบอลหรือบริษัทธุรกิจ แต่ว่าด้วยสโมสรแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนไว้ ณ ระดับที่สูงมาก
อันโดนี อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหารของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “เรอัล โซเซียดาด ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการทางกีฬาแต่ยังเป็นโครงการเชิงสังคมอีกด้วย ทำไมหรือ? ก็เพราะนั่นเป็นวิถีแห่งความเป็นอยู่หรือการกระทำ มันไม่เกี่ยวกับชนะลาลีกาหรือยูโรปาลีก แต่เป็นภาพสะท้อนของประชาชนในชุมชนผ่านพฤติกรรมของพวกเรา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกเขา ซึ่งอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็อยู่ในสังคมของเราเช่นกัน ตรงนี้จึงทำให้เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรทางสังคมเอามาก ๆ”
วิถีชีวิตของสโมสรเป็นมากกว่าฟุตบอล อีมานอล อัลกวาซิล ผู้จัดการทีมวัย 51 ปีของโซเซียดาด เกิดและเติบโตในจังหวัดกีปุซโกอา อยู่กับโซเซียดาดตั้งแต่ระดับเยาวชน ขึ้นมาเล่นทีมสำรองจนกระทั่งติดทีมชุดใหญ่ระหว่างปี 1990 ถึง 1998 มีสายเลือดน้ำเงินขาวหรือ Txuri-Urdin (ฉายาทีมในภาษา Euskera ของชาวบาสก์) อย่างเข้มข้น หลังแขวนสตั๊ดยังกลับมาเริ่มต้นอาชีพโค้ชที่โซเซียดาด เมื่อปี 2011 ไต่เต้าจากโค้ชทีมเยาวชน, ผู้ช่วยโค้ชทีมสำรอง, เฮดโค้ชทีมสำรอง ก่อนคุมทีมชุดใหญ่แทนอาเซียร์ การิตาโน ในเดือนธันวาคม 2018 และพาทีมชนะเลิศโกปา เดล เรย์
ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองเล็ก ๆ มีประชากรไม่ถึงสองแสนคน แต่มีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมและการประกอบอาหาร เอกีกาเรย์กล่าวว่า ถ้าต้องการทำความเข้าใจสโมสรเรอัล โซเซียดาด ก็ต้องรู้จักจังหวัดกีปุซโกอา พวกเขาภาคภูมิใจในสายเลือดที่เก่าแก่สลับซับซ้อน มีความหวงแหนวิถีชีวิตและภาษาของตนเอง ทั้งหมดนี้สะท้อนและแสดงออกมาผ่านเรอัล โซเซียดาด และซูเบียตา (Zubieta) อะคาเดมีของสโมสร อย่างที่อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร พูดกับนักข่าวไว้ข้างต้น
เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรฟุตบอลระดับลาลีกาที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่หุ้นสโมสรถูกกระจายอยู่ในมือของคนมากกว่า14,000 คน ไม่มีใครถือหุ้นเกินสองเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ จึงทำผ่านกระบวนการลงคะแนน
อิราโอลากล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องการให้เรอัล โซเซียดาด เป็นของทุกคน เป็นสโมสรที่หยั่งรากลึกลงไปผ่านรูปแบบกีฬา ผู้เล่นเยาวชนในอะคาเดมีล้วนเกิดในจังหวัดกีปุซโกอา นั่นจึงทำให้สโมสรใกล้ชิดกับประชาชนมาก เราพยายามแสดงตัวเองในฐานะชาวบาสก์และชาวกีปุซโกอา”
เมืองท่องเที่ยวชายทะเล และอาหารอร่อย ไม่แพง หาง่าย
ซาน เซบาสเตียน อยู่ในจังหวัดกีปุซโกอาทางภาคเหนือของแคว้นบาสก์ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งใต้ของทะเลกันตาเบรียที่แสนสวยงาม ทำให้เมืองนี้เป็นสถานตากอากาศชายหาดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศสเปน ซาน เซบาสเตียนยังมีความโดดเด่นไปด้วยอาคารทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเมืองได้ด้วยการเดินเท้าหรือขี่จักรยานเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก
จุดขายที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเมื่อมาเยือนซาน เซบาสเตียน คืออาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลถึงขั้น “เคเตอร์วิงส์” บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดเลี้ยงชั้นแนวหน้าของอังกฤษ ยกให้ซาน เซบาสเตียน ครองแชมป์เมืองอาหารชั้นนำของโลก เพราะเต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายของสตรีทฟูด ตลาดสด บาร์ คาเฟ ภัตตาคารไฮเอนด์ และอาหารติดดาวมิชลิน ภายใต้บรรยากาศที่งดงามของสถาปัตยกรรมแบบเบล เอปอค (Belle Époque) ที่สำคัญคือ อาหารอร่อย ราคาไม่แพง และหาได้ง่าย
ใครที่ชอบรับประทานอาหารติดดาว ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองที่ครอบครองดาวมิชลินมากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงกรุงโตเกียว และนำหน้านิวยอร์กที่รั้งอันดับสาม
สำหรับสโมสรโซเซียดาดมีชื่อเต็มว่า Real Sociedad de Fútbol, S.A.D. เรียกสั้น ๆ ว่า Real Sociedad (หรือ Royal Society ในภาษาอังกฤษ) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1909 “ลา เรอัล” เคยครองแชมป์ลาลีกาสองสมัยติดต่อกันในซีซัน1980-81 และ 1981-82 เป็นรองแชมป์สามสมัยในซีซัน 1979-80, 1987-88, 2002-03 เคยเป็นแชมป์โก เดล เรย์ สามสมัยในปี 1909, 1987, 2020
โซเซียดาดเคยมีช่วงเวลาในลีกสูงสุดยาวนานถึงสี่สิบฤดูกาลตั้งแต่ปี 1967 ถึง 2007 ตกลงไปเล่นเซกุนดาสามปีจนกระทั่งชนะเลิศลีกเทียร์สองในซีซัน 2009-10 ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่สามหลังเคยสัมผัสมาในซีซัน 1948-49, 1966-67 ทำให้โซเซียดาดกลับมาอยู่ลาลีกาตั้งแต่ซีซัน 2010-11 จวบจนปัจจุบัน
นอกจากฟุตบอลทั้งทีมชายและหญิง โซเซียดาดยังมีกีฬาอีกหลายประเภทอาทิ กรีฑาลู่และลาน ฮ็อกกี และบาสก์ เปโลตา (basque pelota) ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้ไม้ตีลูกใส่กำแพง คล้ายรวมสควอชและแฮนด์บอลเข้าด้วยกัน
โซเซียดาดไม่เพียงพัฒนาด้านกีฬาแต่รวมถึงความเป็นมนุษย์
อาจกล่าวได้ว่า ศูนย์ฝีกซ้อมและอะคาเดมีซูเบียตาเปรียบได้กับสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงองค์กรแห่งนี้ นับตั้งสโมสรกำเนิดขึ้นในปี 1909 ต้องมีเด็กท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งคนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ เนื่องจากสโมสรให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งดูได้จากตัวเลขรายได้ของ “ลา เรอัล” ที่นำไปใช้กับทีมซีเนียร์ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของลาลีกาที่ตกราว 75 เปอร์เซ็นต์ นั่นเท่ากับว่า ส่วนที่เหลือถูกใช้กับอะคาเดมี การศึกษา และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น
เอกีกาเรย์ นักข่าวเชื้อสายบาสก์ของอีเอสพีเอ็น เล่าประสบการณ์ว่า ถ้าเดินไปรอบเมืองซาน เซบาสเตียน จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสนับสนุนทีมโซเซียดาดแม้ไม่ใช่แฟนบอลทีมนี้ก็ตาม เนื่องจากคนท้องถิ่นต่างตระหนักดีว่าสโมสรให้ความช่วยเหลือทั้งชุมชนและสโมสรเล็ก ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างเช่นการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกซ้อมและโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับนักฟุตบอลเยาวชนจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา มีครูพิเศษมาช่วยติว เกือบครึ่งหนึ่งมีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ขณะที่ขุมกำลังระดับซีเนียร์ 26 คน มีถึง 16 คนเคยเล่นให้ Sanse หรือทีมสำรอง และผู้เล่นใช้เวลาในทีมสำรองราว 8.2 ปีก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ มีเพียงแอธเลติก บิลเบา ทีมเดียวเท่านั้นที่มีนักเตะชุดใหญ่ที่ขึ้นมาจากทีมสำรองมากกว่า แม้กระทั่ง La Masia อะคาเดมีอันโด่งดังของบาร์เซโลนา ยังพัฒนาตัวเองจนติดทีมชุดใหญ่น้อยกว่าโซเซียดาด
โรแบร์โต โอลาเบ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ให้ความเห็นว่า “เวลาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง” โอลาเบเป็นคนยืมตัวและให้โอกาสกับ มาร์ติน โอเดการ์ด ช่วงที่เรอัล มาดริด มองข้ามความสามารถ ก่อนโอเดการ์ดถูกปล่อยตัวให้อาร์เซนอลยืมและเซ็นสัญญาย้ายทีมถาวร ปัจจุบันเขาเป็นกัปตันทีมเดอะกันเนอร์สและมีโอกาสชูถ้วยชนะเลิศพรีเมียร์ลีกซีซันนี้
“แน่นอนมันมีเงินเป็นตัวเชื่อมโยง คุณต้องให้ทรัพยากรบุคคลกับทีม แต่คุณยังต้องลงทุนให้เวลากับผู้เล่นอายุน้อยด้วย มันเป็นความรับผิดชอบของสโมสรที่จะให้โอกาสแก่พวกเขา นักเตะดัง ๆ เก่ง ๆ เป็นความต้องการที่วิเศษสุดของทีมอยู่แล้ว แต่สโมสรมีความรับผิดชอบที่จะเปิดประตูให้กับคนหนุ่ม ๆ ด้วยเช่นกัน”
“ในมุมมองส่วนตัว เรามีหน้าที่ต้องสร้างทีมและทำให้เติบโตไม่ใช่แค่เซ็นสัญญานักเตะใหม่เข้ามาทุกปี แต่ยังต้องสร้างนักเตะปีแล้วปีเล่า พวกเขาจะดีขึ้นด้วยการอดทนรอคอยและให้เวลาพวกเขาพัฒนาความสามารถ นี่รวมถึงอีมานอล (อัลกวาซิล ผู้จัดการทีม) ด้วยเช่นกัน”
ตัวอย่างหนึ่งของความอดทนคือ มิเกล โอยาร์ซาบัล แนวรุกและกัปตันทีม ซึ่งเล่นให้โซเซียดาดเกือบ 250 นัดแล้วในบอลลีก เขาเป็นคนสังหารจุดโทษนาทีที่ 63 ให้ต้นสังกัดครองแชมป์โกปา เดล เรย์ น่าเสียดายที่ไม่ติดทีมชาติสเปนชุดเวิลด์คัพ 2022 เพราะบาดเจ็บสาหัสที่หัวเข่า เขาเพิ่งต่อสัญญาใหม่ไปถึงปี 2028 หลังจากเข้ามาเพาะบ่นฝีเท้ากับโซเซียดาดตั้งแต่อายุเพิ่ง 14 ปี
โอยาร์ซาบัลพูดถึงต้นสังกัดว่า “คนที่นี่ทำงานกันได้เจ๋งมาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นทั้งในฐานะมนุษย์ธรรมดาและนักฟุตบอล แน่นอนเพื่อพลักดันจนติดทีมชุดใหญ่”
“ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาสโมสร คุณจะได้รับการปกป้องและเฝ้าดูแลเอาใจใส่ พวกเขาช่วยคุณทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เพียงด้านกีฬา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้กระทั่งชีวิตหลังฟุตบอล พวกเขายังมอบสิ่งที่จำเป็นมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เขามอบเครื่องไม้เครื่องมือให้เราทั้งฟุตบอลและด้านอื่นของชีวิต”
เมื่อเสียงตะโกน “We will always be with you.” ดังก้องสนาม
Real Sociedad Femenino หรือทีมฟุตบอลหญิงของเรอัล โซเซียดาด ก่อตั้งในปี 2004 ตอนนี้เล่นอยู่ในลีกสูงสุด Primera División de la Liga de Fútbol Femenino หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Liga F หลังจากเลื่อนชั้นสองปีติดต่อกันและยังเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง พวกเธอครองแชมป์บอลถ้วย โกปา เดอ ลา เรย์นา (Copa de la Reina) ปี 2019 และครองตำแหน่งรองแชมป์ Liga F ฤดูกาลที่แล้ว ได้สิทธิลงเตะแชมเปียนส์ลีกฤดูกาลนี้ แต่พลาดเข้าไปเล่นรอบแบ่งกลุ่มหลังจากแพ้บาเยิร์น มิวนิก
ทีมหญิงโซเซียดาดมี นาตาเลีย อาร์โรโย วัย 36 ปี เป็นผู้จัดการทีมที่ถือว่าอายุน้อยมาก เธอเคยทำงานสื่อมวลชนเป็นอดีตนักข่าวและนักวิเคราะห์เกม ส่วนบอลลีกหลังแข่งขันนัดที่ 20 สาว ๆ “ลา เรอัล” มี 26 คะแนน รั้งอันดับ 8 จากทั้งหมด 16ทีม ตามหลังเลบันเต ทีมอันดับ 3 ซึ่งได้โควตารอบแรกแชมเปียนส์ลีก มากถึง 24 คะแนน ดูเหมือนเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับพวกเธอ อย่างไรก็ตาม สโมสรยังเดินหน้าสนับสนุนทีมฟุตบอลหญิงต่อไปโดยมีโครงการระดับเอ็กซ์คลูซีพในซูเบียตาที่ประกอบไปด้วยสนามฟุตบอลความจุคนดูสี่พันคน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เหมือนทีมฟุตบอลชาย
อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร กล่าวว่า “เรามีจำนวนนักฟุตบอลหญิงมากที่สุดในลีกสเปน นี่เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจและดีเอ็นเอของสโมสร มันไม่มีทางเบี่ยงเบนหันเหไปทิศทางอื่นเพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในความปรารถนาของชุมชนท้องถิ่น”
ทั้งหมดนี้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนที่แสดงให้เห็นแล้วว่าในซาน เซบาสเตียน เมืองหลวงของจังหวัดกีปุซโกอา สายใยลายน้ำเงินขาวของเรอัล โซเซียดาด สามารถเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์กับผู้คนท้องถิ่นได้อย่างเหนียวแน่น ความจริงไม่เพียงซาน เซบาสเตียน แต่รวมถึงเทศบาลทั้งหมด 89 แห่งในจังหวัดกีปุซโกอา มีเพียงสามเทศบาลเท่านั้นที่ไม่มีสมาชิกอย่างเป็นการทางของสโมสรอยู่
ในส่วนภารกิจบนสนามแข่งขัน โซเซียดาดมุ่งมั่นให้จบลาลีกาด้วยอันดับสาม รวมถึงเข้าไปให้ลึกที่สุดบนเส้นทางยูโรปาลีกที่มีลูกทีมของยอดกุนซือ โชเซ มูรินโญ เป็นคู่แข่งรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ไม่ว่าความสำเร็จจะมากหรือน้อย โซเซียดาดยังคงมั่นใจได้ว่าสโมสรมีผู้คนมากมายเดินเคียงข้างให้การสนับสนุนดังเช่นท่อนหนึ่งของเพลงเชียร์ “beti egongo gara zurekin.” ซึ่งแปลว่า “We will always be with you.”
เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)
Senior Football Editor