Categories
Football Tactics

“ทุ่มบอล” อาวุธลับที่มองไม่เห็นของ “ลิเวอร์พูล” ยุคนายหัวคล็อปป์

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ลิเวอร์พูลกลับมาฝึกซ้อมที่แอ็กซ่า เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ หลังจบคิวอุ่นเครื่องสองนัดที่อาเซียน ก่อนจะเดินทางต่อไปเก็บตัวปรีซีซั่นที่เยอรมนีและออสเตรีย มีข่าวเล็กๆบนหน้าสื่อไม่กี่สำนักที่ลงข่าวลิเวอร์พูลต่อสัญญาอีกหนึ่งปีกับ โธมัส กรอนเนมาร์ค โค้ชชาวเดนมาร์กวัย 46 ปี เจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลระยะ 51.33 เมตร

ซีซั่น 2022-23 เป็นปีที่ 5 ที่กรอนเนมาร์คทำงานให้กับลิเวอร์พูลในตำแหน่ง “โธรว์-อิน โค้ช” ที่รับผิดชอบการทุ่มบอลเขาทำงานแบบพาร์ทไทม์จึงไม่มีชื่ออยู่ในสตาฟฟ์โค้ช แต่ภารกิจของอดีตนักกรีฑาและบ๊อบสเลด (เลื่อนน้ำแข็ง) ทีมชาติเดนมาร์กเปรียบเสมือนปิดทองหลังพระในความสำเร็จของทีมหงส์แดงยุคเยอร์เกน คล็อปป์

ถ้าอยากรู้ว่าผลงานของกรอนเนมาร์คเป็นอย่างไรบนสนามแข่งขัน ให้สังเกตการทุ่มบอลของศิษย์เอกสามคนได้แก่ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, แอนดี้ โรเบิร์ตสัน และ โจ โกเมซ

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่นักเตะลิเวอร์พูล 15 คนกำลังฝึกซ้อม นักข่าวเห็นกรอนเนมาร์คยืนอยู่กับคล็อปป์และดร.อันเดรียส ชลัมแบร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมากรอนเนมาร์คได้ทวีตยืนยันว่าเขาได้เซ็นสัญญาหนึ่งปีกับลิเวอร์พูล

“ผมภูมิใจที่จะบอกว่าได้ต่อสัญญากับลิเวอร์พูลอีกหนึ่งปีเป็นซีซั่นที่ห้าในฐานะโค้ชทุ่มบอล รวมถึงสโมสรฟุตบอลอาชีพอีกสามทีม ผมเริ่มทึ่งกับการทุ่มบอลหลังได้เห็นญาติๆที่เป็นพี่ใหญ่ของผมทุ่มบอลไกลช่วงกลางทศวรรษ 1980”

กรอนเนมาร์คไม่ได้ระบุชื่ออีกสามทีมที่เขาต่อสัญญาแต่ที่ผ่านมา เขาทำงานฟรีแลนซ์ให้กับ อาแจ็กซ์, ไลป์ซิก, เกนท์, แอตแลนตา ยูไนเต็ด และมิดทีลแลนด์

 “คล็อปป์” ยังงงเมื่อรู้ว่าโลกลูกหนังมีอาชีพโค้ชทุ่มบอล

โธมัส กรอนเนมาร์ค เริ่มเข้ามาทำงานในแอนฟิลด์เมื่อเดือนกันยายน 2018 เยอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งขณะนั้นคุมทีมหงส์แดงมาแล้วสามซีซั่นเต็ม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับโค้ชทุ่มบอลมาก่อน แต่พอรู้เรื่องราวของโธมัส ผมคิดทันทีว่าต้องเจอตัวเขาให้ได้ ซึ่งหลังได้คุยกันแล้ว มันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยที่ผมต้องจ้างเขาให้มาทำงานกัน”

ทางด้านกรอนเนมาร์คเล่าถึงเหตุการณ์สี่ปีที่แล้วว่า “เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ผมได้รับข้อความเสียง พอเปิดฟังในรถจึงรู้ว่าเป็นเยอร์เกน คล็อปป์ ผมถึงกับทรุดจมที่นั่งเมื่อได้ยินเสียงเขา”

“คล็อปป์บอกว่า สโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในซีซั่น 2017-18 อันดับสี่พรีเมียร์ลีกและเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก (แพ้เรอัล มาดริด 1-3) แต่พวกเขาเสียบอลจากการทุ่มบ่อยมาก ตอนนั้นผมรับงานทีมอาชีพแปดแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่อยากได้การทุ่มไกล แต่ลิเวอร์พูลกับอาแจ็กซ์ชัดเจนว่าทุ่มไกลไม่ใช่แนวทางของพวกเขา ผมจึงโฟกัสเรื่องทุ่มบอลเร็วและฉลาดซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมเริ่มทำงานประมาณปี 2007 ประเด็นหลักอยู่ที่การครองบอล เราจะรักษาบอลอย่างไรเมื่อต้องทุ่มบอลขณะถูกกดดัน เราจะสร้างโอกาสและทำประตูอย่างไรจากสถานการณ์ทุ่มบอล”

ถึงแม้กรอนเนมาร์คเป็นเจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลแต่ คล็อปป์บอกว่าระยะทางไม่ใช่เหตุผลหลักที่เขาสนใจโค้ชเมืองโคนมรายนี้

“หลังจากโธมัสเข้ามา การทุ่มบอลของเราได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกันว่าเป็นเรื่องทุ่มบอลให้ไปไกลๆ ตอนนี้เรามีการทุ่มบอลที่แตกต่างกัน 18 วิธี แน่นอนเราต้องการครองบอลต่อหลังการทุ่มซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่สมเหตุสมผลเลยถ้าทุ่มบอลไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นแบบ 50-50 (โอกาสครองบอลต่อ) ซึ่งตรงนี้แหละที่พัฒนาการส่งผลอย่างมาก”

เมื่อราวกว่าสิบปีที่แล้ว รอรี่ เดแล็ป มิดฟิลด์ชาวไอริส ซึ่งเล่นให้ทีมสโต๊คระหว่างปี 2007 – 2013 รวมถึงปี 2006 ที่ถูกยืมตัวมาจากซันเดอร์แลนด์ เป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุ่มบอลได้ไกล ซึ่งความสามารถพิเศษนี้มีส่วนช่วยให้ทีมช่างปั้นหม้อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีก แต่กรอนเนมาร์คยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำงานที่แอนฟิลด์เพื่อเปลี่ยนให้ลิเวอร์พูลเป็นแบบสโต๊ค

กรอนเนมาร์คเชื่อมั่นว่าเขาสามารถช่วยลิเวอร์พูลให้มีแต้มต่อพิเศษเพิ่มขึ้นจากการทุ่มบอลซึ่งเฉลี่ยแล้วตกนัดละประมาณ40-50 ครั้ง โค้ชวัย 46 ปี ไม่ได้สอนเพียงเทคนิค “การทุ่มบอลไกล” เท่านั้น แต่รวมถึง “การทุ่มบอลเร็ว” เพื่อนำไปสู่เคาน์เตอร์-แอทแท็ค และ “การทุ่มบอลฉลาด” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาการครองบอลขณะตกอยู่ในสภาพกดดัน

เทคนิคหลักของกรอนเนมาร์คเปรียบเสมือนสามขาหยั่งของ Marginal Gains ซึ่งเป็นทฤษฏีว่าด้วยการปรับปรุงหรือสร้างความสำเร็จเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้

“ทักษะนี้สามารถช่วยนำไปสู่การทำสกอร์ แม้กระทั่งช่วยรักษาชีวิตของทีม ผมให้ความสนใจทุกแง่มุม ไม่ใช่เพียงเทคนิคการขว้าง แต่ยังรับบอลอย่างไร วิ่งไปตามทิศทางที่ถูกต้องและสร้างความได้เปรียบ การยืนตำแหน่ง และการสร้างพื้นที่ว่าง”

กรอนเนมาร์คเล่าถึงช่วงที่เริ่มต้นทำงานกับลิเวอร์พูลเมื่อปี 2018 ว่า โจ โกเมซ เป็นผลผลิตที่ออกดอกออกผลคนแรกของเขาที่แอนฟิลด์ เซ็นเตอร์แบ็คชาวอังกฤษเพิ่งย้ายมาจากชาร์ลตันเมื่อสามปีก่อนหน้านี้

“ถ้าเป็นกองหลังคู่แข่งขัน ผมคงไม่อยากอยู่บริเวณพื้นที่ที่โกเมซจะทุ่มเข้าไปหรอก หรือว่ากันตามจริงหากต้องแข่งกับลิเวอร์พูล ผมก็ไม่อยากให้บอลออกนอกสนาม (เพื่อให้ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายทุ่ม) ผมไม่ได้หมายถึงลิเวอร์พูลต้องทุ่มบอลไกลทุกครั้งที่มีโอกาสหรอกนะ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าเมื่อไรพวกเขาจะทำมัน”

เอียน ไรท์ อดีตศูนย์หน้าอาร์เซนอล เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเห็นโจ โกเมซ ทุ่มบอลสวยๆให้ลิเวอร์พูล ซึ่งผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ดูเหมือนกรอนเนมาร์คคงสอนอะไรบางอย่างให้กับเขา ต้องยอมรับเลยว่าลิเวอร์พูลได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้น”

“เทคนิคทุ่มบอล” สร้างประโยชน์ให้ทีมฟุตบอลมากกว่าใครคาดคิด

ก่อนหน้ารับงานที่แอนฟิลด์เมื่อปี 2018 โธมัส กรอนเนมาร์ค เคยเป็นโค้ชทุ่มบอลให้กับ เอฟซี มิดทีลแลนด์ และ เอซี ฮอร์เซนส์ สองสโมสรหัวแถวของลีกเดนมาร์ก โดยซีซั่น 2017-18 มิดทีลแลนด์เพิ่งครองแชมป์เดนิส ซูเปอร์ลีกา สมัยที่สอง ส่วนฮอร์เซนส์ทำ 10 ประตูจากการทุ่มไกลในซีซั่นเดียวกัน ขณะที่ อันเดรียส พูลเซ่น แบ็คซ้ายชาวเดนส์ ซึ่งย้ายจากมิดทีลแลนด์ไปเล่นให้โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ในปี 2018 เพิ่มระยะการทุ่มจาก 25 เมตรเป็น 37.9 เมตรหลังได้รับการเทรนจากกรอนเนมาร์ค

“มีคนมากมายที่คิดว่างานผมเป็นเรื่องแค่ทุ่มไกล มิดทีลแลนด์ทำได้มากถึง 35 ประตูในสี่ซีซั่นจากเทคนิคนั้น คุณทำได้ถ้ามีทีมที่ใช่หรือเหมาะกับการทุ่มไกล แต่หลายทีมต้องการความรู้ของผมเพียงเรื่องทุ่มไกล ผมสัมผัสความรู้สึกนั้นได้”

บางทีสกอร์เกิดจากการทุ่มบอลเร็วและฉลาดจริงหรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ระบุชัดเจนได้ยาก แต่กรอนเนมาร์คยังมั่นใจว่า ทักษะทุ่มบอลมีอิทธิพลกับเกมลูกหนังอย่างแน่นอนเพราะมันช่วยให้เกมลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสร้างความสนุกสนานให้กับแฟนบอล

“นอกจากนี้ถ้าครองบอลได้มากขึ้น คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน เช่นเดียวกับลูกเซต-พีชอย่างการเตะมุมและฟรีคิก มันสามารถสร้างความกดดันให้กับทีมคู่แข่งได้เช่นกัน”

อีกด้านหนึ่ง การทุ่มบอลผิดพลาดก็มีผลมากกว่าที่คาดคิด กรอนเนมาร์คกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หลายทีมที่เล่นสไตล์โททัล ฟุตบอล อาจเสียบอลเมื่อโดนกดดันขณะทุ่มบอลเข้าสนาม เกมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากคือนัดชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2011 ระหว่างบาร์เซโลนากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”

“บาร์เซโลนาเล่นฟุตบอลสไตล์ติกี-ตากา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้ครองบอลเลยช่วงต้นการแข่งขัน บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายนำ 1-0 (เปโดร นาทีที่ 27) แต่แล้ว เอริก อาบีดาล (แบ็คซ้าย) ต้องทุ่มบอลใกล้กรอบเขตโทษตัวเอง เขาทุ่มสั้นด้วยเทคนิคที่แย่ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอลและอีกห้าวินาทีต่อมา สกอร์ก็เป็น 1-1 (รูนีย์ นาทีที่ 34)” (หมายเหตุ : บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายชนะ 3-1)

“ตามปกติจะมีการทุ่มบอลระหว่าง 30-50 ครั้งต่อนัด หากโค้ชคนไหนพูดว่าทีมเขาไม่เห็นต้องทำอะไรกับมันเป็นพิเศษเลย ผมมองว่าเขาเป็นโค้ชที่ขาดความทะเยอทะยานนะ”

“ทุ่มบอล” เป็นเทคนิคพิเศษที่มีความสำคัญต่อฟูลแบ็คและปีก

โธมัส กรอนเนมาร์ค เปิดเผยว่า การทุ่มบอลไกลมีเทคนิคอยู่ 25-30 ลักษณะ เขาจะใช้วิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาผู้เล่น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะทุ่มได้ไกลขึ้น 4-8 เมตร นั่นเท่ากับขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงสองเท่า

“ลักษณะการทุ่มบอลไกลที่ดี อย่างแรกแน่นอนต้องเป็นระยะทาง แต่ความเร็วและทิศทางพุ่งเป็นแนวราบก็มีความสำคัญเช่นกัน มีหลายทีมที่มีผู้เล่นที่สามารถทุ่มบอลได้ไกลๆ แต่ถ้าสูงเกินไปก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามป้องกันหรือแย่งได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้ามองลูกทุ่มที่ดี คุณจะเห็นมันวิ่งไปได้ไกล มีทิศทางเป็นแนวราบ และพุ่งออกไปอย่างแรง”

กรอนเนมาร์คระบุว่า การทุ่มบอลนับเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็ค

“เป็นเรื่องสำคัญที่แบ็คซ้ายขวาต้องมีความสามารถทุ่มบอลไกล มีความจริงข้อหนึ่งที่ชี้ว่าหากต้องทุ่มบอลภายใต้สถานการณ์กดดัน พวกเขามีโอกาสเสียบอลถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฟูลแบ็คจำเป็นต้องสามารถทุ่มบอลให้ไกลจากแดนตัวเอง ผลของมันไม่ได้มีแค่รักษาการครอบครองบอลแต่ยังสามารถเคาน์เตอร์แอทแท็คอีกด้วย”

อดีตนักเลื่อนน้ำแข็งทีมชาติเดนมาร์กให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นไปได้ผู้เล่นทุกคนควรมีทักษะทุ่มบอลที่ถูกต้อง เพียงแต่ฟูลแบ็คเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นสูงสุด รองลงมาคือผู้เล่นปีก

“การซ้อมมื้อแรก ผมจะเทรนแบ็คซ้ายขวา 6-10 คน เริ่มจากเซสชั่นพื้นฐาน การเคลื่อนตัว และบันทึกวิดีโอ จากนั้นเป็นการสอนเทคนิคบางอย่าง ผมจะพิจารณานักเตะด้วยสายตาและวิเคราะห์จากวิดีโอ ผมต้องการเห็นตำแหน่งการวางเท้า ระยะระหว่างเท้า การเคลื่อนไหวของเอว หัวไหล่ และการวิ่ง”

แม้กูรูยังมองข้ามความเสียหายจากการทุ่มบอลผิดพลาด

โธมัส กรอนเนมาร์ค เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นอาชีพพิเศษนี้ว่า “ผมเริ่มต้นเมื่อปี 2004 ใครๆก็หัวเราะไอเดียการเป็นโค้ชทุ่มบอลของผม มันคงดูประหลาดเกินไปนั่นแหละที่มีคนลุ่มหลงการทุ่มบอล”

“ฟุตบอลกำเนิดขึ้นมาสัก 140 ปี ตอนนี้ผมอายุสี่สิบกว่าแล้วและแทบไม่เคยได้ยินใครพูดคุยเรื่องทุ่มบอลอย่างเป็นกิจลักษณะ คุณดูบอลทางทีวีและคงเคยเห็นทีมที่เสียบอลจากการทุ่ม มันเกิดขึ้นบ่อยแต่คอมเมนเตเตอร์กลับไม่พูดอะไร แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่กี่วินาที นักเตะเกิดจ่ายบอลพลาด พวกเขาจะพูดว่า ‘โอ้! นั่นจ่ายบอลแย่นะ’ และถ้าคนนั้นทำพลาดอีก ก็จะถูกมองว่าวันนี้เขาเล่นไม่ดี แต่ถ้าผิดซ้ำครั้งที่สาม จะโดนวิจารณ์ว่าควรถูกเปลี่ยนตัวออก นี่แหละวัฒนธรรมฟุตบอล ซึ่งมุมมองของผมว่ามันแปลกอย่างสิ้นเชิง”

เชื่อว่าหลังอ่านบทความนี้จบลง คุณจะสังเกตการทุ่มบอลในสนามละเอียดลึกซึ้งขึ้น และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการทุ่มบอลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่จะรอดูการทุ่มบอลของอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, โรเบิร์ตสัน และโกเมซเป็นพิเศษ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Football Business

“ลิเวอร์พูล” กับการไปต่ออีก 4 ปี ของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี

เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง

24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน

แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน

ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี

หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน

ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด

ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน

ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”

ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s

👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว

👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง

👉  Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี

👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่

สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า

แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์

บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”

ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”

ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้

“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”

“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย

การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/

https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors

https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/

Categories
Special Content

“ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” เลือกเขียนชีวประวัติบทที่ 3 กับ “เชลซี”

ด้วยวัย 27 ปี ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กำลังเริ่มต้นประวัติบทใหม่ในช่วงพีคของอาชีพค้าแข้งกับ เชลซี หลังจากใช้เวลา 11 ปีร่วมกับ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นับเป็นนักเตะน้อยรายที่ได้เล่นเกมระดับซีเนียร์กับยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกถึงสามทีม โดยเฉพาะกับทีมเรือใบสีฟ้า ซึ่งเขากวาดเหรียญชนะเลิศระดับเมเจอร์มากมายยกเว้นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพลาดให้ทีมสิงโตน้ำเงินคราม

ราฮีม สเตอร์ลิ่ง เป็นนักเตะใหม่รายที่สองของเชลซีในตลาดรอบนี้ถัดจาก เอ็ดดี้ บีช นายทวารจากเซาแธมป์ตัน แต่ถือเป็นสตาร์ใหญ่คนแรกในยุค ท็อดด์ โบห์ลีย์ เจ้าของสโมสรคนใหม่ชาวอเมริกัน เขาเซ็นสัญญาห้าปีบวกอ็อปชั่นปีที่หก รับค่าเหนื่อยเท่ากับที่ซิตี้จ่ายให้คือ 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ ย้ายเข้าสแตมพอร์ด บริดจ์ ด้วยค่าตัว 47.5 ล้านปอนด์ (ยังไม่รวมแอดออน 2.5 ล้านปอนด์) เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 44 ล้านปอนด์ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อมาจากลิเวอร์พูลช่วงซัมเมอร์ปี 2015

หลังผ่านการตรวจสภาพร่างกาย สเตอร์ลิ่งเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปสมทบกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ที่เก็บตัวปรีซีซั่นอยู่ในลอส แอนเจลีส โดยลูกทีมของโธมัส ทูเคิล มีคิวอุ่นเครื่องกับคลับ อเมริกา ในวันเสาร์ที่ 16กรกฎาคม, ชาร์ลอตต์ เอฟซี ในวันพุธที่ 20 ที่เมืองชาร์ลอตต์ และ อาร์เซนอล ในวันเสาร์ที่ 23

ก่อนเซ็นสัญญากับเชลซีไม่กี่วันเคยมีข่าวโคมลอยว่า ลิเวอร์พูลสนใจอยากได้อดีตปีกดาวรุ่งกลับไปเล่นในแอนฟิลด์อีกครั้ง ซึ่งกระแสถูกจุดและดับลงอย่างรวดเร็วเพราะสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเชลซีเป็นทีมเดียวที่เปิดโต๊ะเจรจากับทีมเรือใบสีฟ้าอย่างจริงจัง ส่วนลิเวอร์พูลก็จบภารกิจตลาดรอบนี้ไปแล้ว

แต่บางส่วนของข่าวนั่งเทียนเขียนช่วยเตือนความจำว่า สเตอร์ลิ่งไม่มีโทรฟี่ติดมือระหว่างชีวิตสี่ปีในแอนฟิลด์ แต่นั่นไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เขาต้องกลับไปไขว่คว้าความสำเร็จกับลิเวอร์พูล เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีความทรงจำที่ดีส่วนตัวมากพอสมควร

ชีวิตสองบทแรก 11 ปี กับ “ลิเวอร์พูล” และ “แมนฯซิตี้”

เด็กชายราฮีม แชคีลล์ สเตอร์ลิ่ง เกิดในประเทศจาเมกา และหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมสามปี คุณแม่คือ นาดีน คลาร์ก อดีตนักกรีฑาทีมชาติ ซึ่งสเตอร์ลิ่งเชื่อว่าสไตล์วิ่งของเขาเป็นดีเอ็นเอที่ตกทอดมาจากคุณแม่ ได้อพยพมาอยู่นีสเดน กรุงลอนดอน ขณะที่เขาอายุห้าขวบ

บนเส้นทางกีฬาฟุตบอล สเตอร์ลิ่งเล่นให้ทีมเยาวชนท้องถิ่น อัลฟา แอนด์ โอเมกา เป็นเวลาสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ตอนอายุสิบขวบ ลงสนามตำแหน่งปีก เขาได้รับความสนใจจากแมวมองของอะคาเดมี่ อาร์เซนอล, เชลซี, ฟูแลม, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่เพราะคำแนะนำของคุณแม่ที่ไม่อยากให้เขาเลือกสโมสรละแวกเมืองหลวงเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์อันธพาลท้องถิ่น นั่นจึงทำให้สเตอร์ลิ่ง ซึ่งขณะนั้นอายุ 16 ปี ย้ายไปอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ด้วยค่าตัว 450,000 ปอนด์

ในปีนั้นเอง สเตอร์ลิ่งเริ่มไต่ระดับจากทีมเยาวชน ลงแข่งขันนัดแรกให้ลิเวอร์พูล ยู-18 ในดาร์บี้แมตช์กับเอฟเวอร์ตัน ส่วนเกมแรกในพรีเมียร์ อะคาเดมี่ ลีก เป็นนัดเสมอแอสตัน วิลล่า 2-2 เขายังทำได้ถึงห้าตุงในนัดถล่มเซาธ์เอนด์ 9-0 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011

24 มีนาคม 2012 สเตอร์ลิ่งถูกโปรโมทขึ้นมาเล่นทีมซีเนียร์เป็นครั้งแรก ลงเป็นตัวสำรองในเกมพรีเมียร์ลีกกับวีแกน ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปี 107 วัน เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคมปีเดียวกัน เขาเป็นตัวจริงนัดแรกในรอบคัดเลือกยูโรปา ลีก ซึ่งลิเวอร์พูลชนะ 1-0 ในบ้านของฮาร์ทส์ และอีกสามวันต่อมา ลงตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีก เสมอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-2 ในแอนฟิลด์

ด้วยฟอร์มเจิดจรัสเกินวัย ลิเวอร์พูลรีบจับสเตอร์ลิ่งต่อสัญญาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012 และเขายังฉายแสงต่อไปการันตีด้วยตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี 2014 และ 2015 ของลิเวอร์พูล และติดหนึ่งในหกที่ลุ้นรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของ พีเอฟเอ ถึงสองปีติดต่อกัน

แต่ก็เป็นเพราะสัญญาใหม่ที่ทำให้สเตอร์ลิ่งยุติบทบาทกับลิเวอร์พูลโดยมีข่าวว่า เขาต้องการค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์จากรับอยู่เดิม 35,000 ปอนด์ และหลังจากปฏิเสธร่วมทัวร์ปรีซีซั่นปี 2015 ที่เอเชีย ตามด้วยขาดซ้อมสองวันเพราะป่วยซึ่งโดนตำหนิอย่างหนักผ่านสื่อจากอดีตนักเตะหงส์แดงอาทิ สตีเวน เจอร์ราร์ด, เจมี่ คาร์ราเกอร์ และแกรม ซูเนสส์ ปีกดาวรุ่งวัย 21 ปีหันไปเซ็นสัญญาห้าปีกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ด้วยค่าตัว 44 ล้านปอนด์ยังไม่รวมแอดออนอีก 5 ล้านปอนด์ในอนาคต ทำให้เขาเป็นนักเตะอังกฤษที่ค่าตัวแพงที่สุดขณะนั้น สเตอร์ลิ่งอำลาแอนฟิลด์ด้วยผลงาน 129 นัด 23 ประตู

ไม่กี่เดือนต่อมา เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เข้ามาคุมทีมหงส์แดงแทนแบรนเดน ร็อดเจอร์ส ขณะที่สเตอร์ลิ่งต้องรออีกหนึ่งปีเพื่อทำงานกับเป๊ป กวาร์ดิโอลา ทและกลายเป็นหนึ่งในนักเตะคู่บารมีของกุนซือชาวสเปน ร่วมกันนำความสำเร็จมาสู่ถิ่นเอติฮัด แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 4 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และเฉียดเข้าใกล้แชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เพียงเหรียญรองแชมป์เมื่อปี 2021 จากการปราชัยต่อเชลซี 0-1 ที่ปอร์โต ประเทศโปรตุเกส สเตอร์ลิ่งอำลาเอติฮัดด้วยสถิติ 339นัด 131 ประตู

ส่วนเกินที่ “แมนฯซิตี้” แต่ส่วนเติมที่ “เชลซี”

ซีซั่นสุดท้ายที่แมนเชสเตอร์ แม้สเตอร์ลิ่งยังได้เล่นเกือบห้าสิบนัดแต่ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรอง บวกกับกวาร์ดิโอลาเริ่มถ่ายเลือดเก่าเสริมเลือดใหม่เช่นเดียวกับคล็อปป์ทำที่แอนฟิลด์ รวมถึงแผงหน้าที่ซื้อ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ และ จูเลี่ยน อัลวาเรซ สวนทางเดินกับ กาเบรียล เชซุส ที่ย้ายไปอยู่อาร์เซนอล และสเตอร์ลิ่งที่เหลือสัญญาหนึ่งปี

แต่ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ สเตอร์ลิ่งคือแนวรุกความหวังใหม่ที่มีอายุเพียง 27 ปี โดยซีซั่นที่แล้ว เขาทำสกอร์เฉพาะเกมลีกได้ถึง 13 ประตูระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เทียบกับ 15 ประตูที่ โรเมลู ลูกากู ทำให้เชลซีทั้งซีซั่นรวมทุกรายการ สเตอร์ลิ่งไม่ได้มีดีเพียงการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย เขายังเพิ่มทางเลือกให้กับทูเคิลในการวางหมากเกมรุก เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกที่จะช่วยแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สูสีขึ้นหลังตามหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล ทีมละเกือบยี่สิบคะแนนในฤดูที่แล้ว พร้อมเป้าหมายกลับไปครอบครองถ้วยบิ๊กเอียร์ ซึ่งเป็นโทรฟี่ที่สเตอร์ลิ่งไม่เคยสัมผัส

สเตอร์ลิ่งเล่นได้หลายหน้าที่ในแนวรุกทั้งปีก มิดฟิลด์ตัวรุก หรือหน้าต่ำ เขาถนัดตำแหน่งปีก เล่นได้ทั้งสองฝั่ง แม้ถนัดเท้าขวาแต่มักถูกมอบหมายให้อยู่ด้านซ้าย มีจุดเด่นตรงความเร็ว ความคล่องแคล่ว การเลี้ยงบอล จุดศูนย์ถ่วงต่ำ เป็นตัวทะลุทะลวงที่อันตราย

แม้มีส่วนสูงเพียง 5 ฟุต 7 นิ้ว เทียบกับลูกากู 6 ฟุต 3 นิ้ว แต่สเตอร์ลิ่งมีตัวท่อนบนใหญ่ ช่วยเรื่องการรักษาสมดุลย์ขณะเคลื่อนที่ได้มาก ซาบี เอร์นานเดซ ตำนานมิดฟิลด์บาร์เซโลน่า เคยกล่าวว่า สเตอร์ลิ่งมีดีมากพอที่จะเล่นในลา ลีกา เพียบพร้อมทั้งร่างกายและเทคนิค

กูรูลูกหนังเชื่อว่า สเตอร์ลิ่งจะเพิ่มมิติให้กับเกมรุกของเชลซีแม้ซีซั่นที่แล้ว ทูเคิลจะใช้บริการของ คริสเตียน พูลิซิช กับตำแหน่งกองหน้าริมเส้นด้านซ้าย แต่ปีกทีมชาติอังกฤษเล่นได้ครบเครื่องกว่าโดยเฉพาะจังหวะจบสกอร์ ซึ่งสเตอร์ลิ่งมักใช้เท้าขวาเลี้ยงบอลเข้าในเพื่อหาจังหวะยิงประตู 

สเตอร์ลิ่งเป็นตัวอันตรายในพื้นที่สุดท้าย สามารถใช้ความเร็ว ความคล่อง การคอนโทรลบอล และการมองหาโอกาส สร้างความปั่นป่วนให้กองหลังทั้งตรงกลางและริมสนามสองด้าน ซึ่งเขามักย้ายไปฝั่งขวาเหมือนอย่างที่กวาร์ดิโอล่าส่งตัวลงมาในพรีเมียร์ลีกนัดปิดฤดูกาลที่แล้วขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามแอสตัน วิลล่า 0-2 สเตอร์ลิ่งโยนบอลจากด้านขวา ข้ามหัวกองหลังทีมสิงห์ผงาดไปยังเสาสองให้ อิลคาย กุนโดกัน โขกตีไข่แตกเป็นประตูแรกจากสามประตูภายในเวลาห้านาที ให้ทีมเรือใบสีฟ้าแซงชนะ 3-2 ครองแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 4 ในรอบห้าปี 

จึงเชื่อได้ว่า ไค ฮาแวร์ตซ์ ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งของเดอะ บลูส์ จะได้บอลที่หลากหลายระยะขึ้นในฤดูกาลใหม่จากสเตอร์ลิ่ง ซึ่งบางจังหวะสามารถวิ่งไปแทนตำแหน่งของฮาแวร์ตซ์ที่ถอยลงมาเป็นหน้าต่ำ เพื่อหาโอกาสสับไกด้วยตัวเอง

พูลิซิชเป็นนักเตะที่เก่งแน่นอน เพียงแต่สเตอร์ลิ่งเก่งกว่าในมุมความหลากหลาย ผลดีมหาศาลจึงตกเป็นของเชลซีที่มีสองสตาร์มากความสามารถและต่างพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน ทูเคิลจึงมีอ็อปชั่นให้เลือกใช้ต่อกรกับคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งเกมระดับทวีปและภายในประเทศอังกฤษ

“ทูเคิล” อาจปรับ 3-4-2-1 เป็น 4-3-3 รองรับ “สเตอร์ลิ่ง”

ข่าวดีในฤดูกาล 2022-23 เชลซีจะได้ เบน คีลเวลล์ วิงแบ็คและมิดฟิลด์ริมสนามฝั่งซ้ายกลับมาในสภาพสมบูรณ์หลังจากซีซั่นที่ผ่านมาใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าที่ฉีกขาด โดยก่อนหน้านั้น คีลเวลล์และ รีช เจมส์ ซึ่งทำหน้าที่เดียวกันทางด้านขวา ร่วมกันสร้างความปั่นป่วนให้เกมรับของคู่ต่อสู้

ทูเคิลกำลังจะได้คีเวลล์กลับมาประจำการ แถมยังมีสเตอร์ลิ่งเสริมอันตรายให้กับเกมบุกด้านซ้ายเพิ่มขึ้นอีก การที่ทั้งสองอยู่ร่วมสโมสรยังส่งผลดีต่อทีมชาติอังกฤษของแกเร็ธ เซาธ์เกต เป็นอย่างมากในฟุตบอลโลกปลายปีนี้ที่กาต้าร์

ย้อนกลับไปยังเดือนมีนาคม 2021 ในแมตช์เวิลด์ คัพ 2022 รอบคัดเลือก คีลเวลล์เล่นแบ็คซ้ายในหมากเกม 4-3-3 สเตอร์ลิ่งยืนปีกซ้าย แถมได้ เมสัน เมาท์ เพื่อนร่วมสโมสร เป็นส่วนหนึ่งของสามประสามแดนกลางฝั่งซ้าย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับทีมสิงโตน้ำเงินคราม

หมากเกมนี้ได้เห็นการผ่านบอลรูปสามเหลี่ยมแบบงามๆในจังหวะบุก คีลเวลล์เคลื่อนที่ใกล้ริมสนาม สเตอร์ลิ่งวิ่งล้ำไปข้างหน้าและสามารถหักตัดเข้าใน โดยมีเมาท์อยู่ต่ำลงมา สามารถเลือกจ่ายบอลให้ทั้งคีเวลล์หรือสเตอร์ลิ่ง ตัวคีลเวลล์เองก็มีโอกาสโอเวอร์แลปและอันเดอร์แลป ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟอร์แมท 3-4-2-1 ของทูเคิล 

เพลย์สามเหลี่ยมยังเกิดบริเวณหน้ากรอบเขตโทษ ซึ่งมีเมาท์เป็นหัวสามเหลี่ยม คีลเวลล์วิ่งไปทางซ้ายเพื่อรับบอลจากเมาท์ก่อนโยนเข้าไปในกรอบเขตโทษที่สเตอร์ลิ่งรอจังหวะเข้าชาร์จ

หรือเป็นจังหวะเล่นชิ่งระหว่างสองคน คีลเวลล์เคลื่อนตัวเข้าใน ส่งบอลฉีกไปทางซ้ายให้สเตอร์ลิ่งที่วิ่งขึ้นไปรอใกล้เส้นสนาม คีลเวลล์หลอกวิ่งตัดหลังตัวประกบสเตอร์ลิ่ง พร้อมลากกองหลังตามไป เหมือนต้องการขึ้นไปรับบอลแต่ความจริงเพื่อหลอกดึงกองหลัง เปิดโอกาสให้สเตอร์ลิ่งเห็นช่องเปิดและวิ่งตัดเข้าในเพื่อยิงเองหรือผ่านลูกไปที่หน้าประตู

ฤดูกาล 2022-23 แฟนบอลเชลซีอาจเห็นระบบ 3-4-2-1 เปลี่ยนไปเป็นแผงหลังแบ็คโฟร์มากขึ้น คีลเวลล์และเจมส์จะทำหน้าที่ฟูลแบ็คมากขึ้น ขณะที่สเตอร์ลิ่งจะได้แสดงความเป็นอัจฉริยะสร้างสรรค์เกมบุกจากปีกซ้ายมากขึ้นเหมือนช่วงที่กวาร์โอลาใช้งานเป็นตัวหลัก

ด้วยวัย 27 ปี กับสัญญาห้าปี บวกกับศักยภาพของสเตอร์ลิ่งที่เข้ามาเติมเต็มและสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับเชลซี อนาคตของปีกซ้ายเชื้อสายจาเมกาในสโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกทีมที่ 3 จะเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามไม่แพ้ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมากับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477

Categories
Special Content

คืนเสรีภาพ “ยืนเชียร์” ให้แฟนบอลอังกฤษหลังแบนเกือบสามสิบปี

แฟนบอลพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพของอังกฤษกำลังจะได้รับไฟเขียวให้กลับมายืนเชียร์อีกครั้งหลังโดนแบนเกือบสามทศวรรษซึ่งมีผลมาจากรัฐบาลอังกฤษสั่งให้สนามฟุตบอลทุกแห่งระดับเทียร์ 1-2 ปรับเป็นอัฒจันทร์สำหรับนั่งอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์เมื่อปี 1989 ที่พรากชีวิตแฟนบอลลิเวอร์พูลไปถึง 97 คน

กฎหมายที่ระบุให้สโมสรพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพปรับปรุงอัฒจันทร์ให้เป็นแบบนั่งชมทั้งสนาม (All-seater Stadium) เริ่มมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในฤดูกาล 1994-95 หลังได้รับการพิจารณาสาเหตุของโศกนาฏกรรมฮิลล์สโบโรห์จาก “เทย์ลอร์ รีพอร์ต” ซึ่งเป็นรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการที่รับผิดชอบโดย ลอร์ดจัสติน เทย์เลอร์ ที่ออกมาเผยแพร่ในเดือนมกราคม 1990

เกือบสามทศรรษที่อัฒจันทร์โซน “ยืนดูบอล” โดนแบนแต่ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลจะนั่งเชียร์ก้นติดเก้าอี้ตลอดแมตช์การแข่งขันเพราะบางช่วงที่เกมบนฟลอร์หญ้าสู้กันดุเดือดคู่คี่สูสี กองเชียร์ก็อดใจไม่ไหวต้องลุกขึ้นมากำหมัดชูแขนตะโกนเชียร์ตะเบงเสียงร้องเพลงเป็นระยะๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำได้เพียงจับตามองอย่างเฝ้าระวัง ไม่กระทำการใดๆหากสถานการณ์ยังไม่ส่อแววเกิดอันตราย

แต่เชื่อว่าภายในอนาคต เกมลูกหนังพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพจะได้รับอนุญาตให้แฟนๆยืนดูอย่างถูกกฎหมายในโซนsafe standing ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์สนามที่ได้รับการปรับปรุงให้ดูบอลอย่างปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสืบเนื่องจากผลลัพธ์ที่น่าพอใจทั้งความปลอดภัยและความสนุกสนานขณะเชียร์บอลผ่านโครงการทดลอง เซฟ สแตนดิ้ง เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งนำร่องโดยสี่สโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี และ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ รวมถึง คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ อีกหนึ่งทีมจากแชมเปี้ยนชิพ ไม่รวมลิเวอร์พูลที่ลงมือทดลองกับสนามแอนฟิลด์ไปแล้ว

ทั้งห้าทีมได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นโซน “ยืนอย่างปลอดภัย” ก่อนประเดิมการใช้งานนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการโควิด-19ได้รับการผ่อนปรน เป็นการแข่งขันที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ระหว่าง เชลซี กับ ลิเวอร์พูล ซึ่งเสมอกันไป  2-2 ตามด้วยวันต่อมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้อนรับ วูลฟ์แฮมป์ตัน ที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด

อะไรคือ “เซฟ สแตนดิ้ง” กับความสำเร็จของโครงการยืนเชียร์ปลอดภัย

โซนยืนเชียร์ปลอดภัยหรือ Safe Standing เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้แฟนบอลยืนดูการแข่งขันได้ตลอดทั้งแมตช์ อัฒจันทร์ส่วนนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่นั่งแบบ Rail Seat คือมีเก้าอี้พับได้ให้แฟนบอลเลือกกางนั่งหรือพับเก็บเวลายืนเชียร์ก็ได้ โดยล็อคติดกับราวโลหะที่สูงระดับเอวเพื่อให้แฟนบอลยืนพิงได้สะดวกสบาย โครงที่นั่งถูกติดตั้งแบบถาวรและมีระยะห่างเท่ากับที่นั่งมาตรฐาน เฟรมเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างรางที่มีความแข็งแรงสูงตลอดความยาวของแต่ละแถว

สโมสรแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้ทำ Rail Seat ขึ้นได้แก่ กลาสโกว์ เซลติก ยักษ์ใหญ่ของสกอตแลนด์ ซึ่งเริ่มใช้งานพื้นที่เซฟสแตนดิ้ง ความจุ 2,600 ที่นั่งภายในสนามเซลติก พาร์ค เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ขณะที่พื้นที่อื่นๆยังเป็นแบบนั่งดูตามปกติ

Rail Seat อาจยังไม่แพร่หลายในประเทศอังกฤษ ต่างกับประเทศเยอรมนีซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของสโมสรในบุนเดสลีกาได้จัดสรรพื้นที่เซฟสแตนดิ้งแล้ว รวมถึงโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ทำจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งผู้คนเรียกชื่อมันว่า Yellow Wall หรือกำแพงสีเหลือง

เจค โคเฮน แฟนบอลทีมเชลซี ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 2 มกราคมปีที่แล้วว่า “ผมดีใจที่เชลซีได้เป็นทีมนำร่อง ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัฒจันทร์เชดเอนด์ และแมทธิว ฮาร์ดดิ้ง ชั้นล่าง การยืนเชียร์บอลเป็นบรรยากาศที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต้องสงสัยเลยโซนเซฟสแตนดิ้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ดีในแมตช์เดย์”

ทางด้าน มาร์ติน เคลาเก้ ประธานร่วมของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซัพพอร์ตเตอร์ส ทรัสต์ เปิดเผยว่า แฟนบอลทีมสเปอร์สให้การสนับสนุนอย่างล้มหลามเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่แนวคิดนี้เริ่มถูกพลักดัน โดยจากรายงานประจำปีระบุว่ามีผู้เห็นด้วยสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จากความจุ 62,850 คนของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม ถูกจัดสรรให้เป็นเซฟสแตนดิ้ง 5,000 คนสำหรับเซาธ์สแตนด์ชั้นล่าง บวกชั้นบน 1,442 คน และเซ็คชั่นทีมเยือนอีก 3,000 คน

หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสนามกีฬาได้ตีพิมพ์รายงานผลการทดลองเบื้องต้นไว้ว่า การนั่งชมในโซนยืนดูไม่ถูกบดบังวิสัยทัศน์ของการมองเห็นเกมในสนาม, การดีใจหลังเกิดการทำประตูมีความปลอดภัย แฟนบอลไม่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าหรือถอยหลังที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตราย, ราวกั้นช่วยให้แฟนบอลเดินบนอัฒจันทร์อย่างมีระเบียบ แม้กระทั่งคนที่เข้าสนามหลังเกมเริ่มไปแล้วยังสามารถเดินไปยังที่นั่งได้รวดเร็ว, ราวกั้นช่วยจัดแฟนบอลเป็นกลุ่มเป็นก้อนทำให้เจ้าหน้าที่สนามเฝ้าจับตาได้ง่าย

ในส่วนรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลให้รับผิดชอบโครงการหลังดำเนินการทดลองเซฟสแตนดิ้งเป็นระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง ค่อนข้างออกไปทางบวกสำหรับแฟนบอลทั้งด้านปลอดภัยและประสบการณ์การชมที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ไนเจล ฮัดเดิลสตัน จะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สนามเหย้าของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซึ่งเขาเคยเดินทางมาชมการแข่งขันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสเปอร์สเฉือนชนะเบิร์นลีย์ 1-0

แหล่งข่าววงในของรัฐบาลเปิดเผยว่า “เราอยู่เคียงข้างแฟนบอลเสมอ และตั้งใจที่จะทำตามสัญญาในการนำการยืนดูบอลอย่างปลอดภัยไปยังสนามฟุตบอล และพัฒนาประสบการณ์ที่วิเศษสุดของการดูบอลให้กับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพ”

“รัฐบาลไม่เคยประนีประนอมหากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสโมสรฟุตบอล กลุ่มแฟนบอล และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อส่งมอบ ‘เซฟ สแตนดิ้ง’ ซึ่งเราตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ”

ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้ แฟนบอลทุกสนามแข่งขันของสองลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษจะได้กลับมาสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ที่ตื้นเต้นเร้าใจในอารมณ์ที่คอลูกหนังเมื่อกว่าสามสิบปีก่อนคุ้นเคยอีกครั้ง นั่นคือ “การยืนลุ้นบอลตลอดแมตช์”

“เยลโล่ วอลล์” ของดอร์ทมุนด์ สุดยอดบรรยากาศยืนเชียร์บอลยุคใหม่

“เซฟ สแตนดิ้ง” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอมริกาและออสเตรเลีย แต่หากใครต้องการสัมผัสบรรยากาศการยืนเชียร์บอล(แบบปลอดภัย)ที่สุดยอดที่สุดในโลกต้องเป็นที่สนาม “เวสท์ฟาเลินชตาดิโยน” ความจุ 81,365 คนของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

ใครที่มีโอกาสสัมผัส “กำแพงเหลือง” (Yellow Wall) หรืออัฒจันทร์ฝั่งเซาธ์แบงค์ของกองเชียร์ดอร์ทมุนด์ คงอดขนลุกขนชันไม่ได้กับภาพแฟนบอลกว่า 24,000 คนที่ยืนตะโกนร้องเพลงเชียร์บนพื้นที่ที่เปรียบเสมือนระเบียงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปพร้อมด้วยทะเลธงสีเหลืองดำ

รูเบน ดรัคเกอร์ หนึ่งในแฟนบอลดอร์ทมุนด์ผู้ถือตั๋วปีโซนกำแพงเหลืองที่สนนราคาไม่ถึง 200 ปอนด์ กล่าวว่า “เดอะ วอลล์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะแสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างแฟนบอลเกือบ 25,000 คนที่ยืนเคียงข้างกันแบบไหล่ชนไหล่ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่บ้าคลั่งของคนกลุ่มหนึ่ง”

“แฟนบอลทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาเชียร์บอลตรงนี้ได้ จะมาคนเดียวหรือมาทั้งครอบครัว ผู้ชายผู้หญิง คนรายได้ต่ำหรือสูง ตอนแรกพวกเขาอาจเข้าสนามเพราะการชักชวนของคุณพ่อ พี่ชาย หรือเพื่อนฝูง แต่เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของเดอะวอลล์ มันก็เสมือนสายใยที่เชื่อมโยงกับคนอื่นๆผ่านทางร่างกายที่ใกล้ชิด เป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ที่เหลือเชื่อให้แก่พวกเขา”

ฟลอเรียน โธมัส แฟนบอลทีมเสือเหลืองวัย 31 ปี ซึ่งซื้อตั๋วปีมาตั้งแต่ซีซั่น 2008-09 สมัยที่ เยอร์เกน คล็อปป์ เพิ่งก้าวขึ้นคุมทีมดอร์ทมุนด์ เล่าให้ฟังว่า “ผมยังจำครั้งแรกที่ไปดูการแข่งขันกับพ่อตอนอายุสิบสอง เราได้ที่นั่งฝังเวสต์สแตนด์ ประตูอยู่ขวามือผม มีผู้คนเต็มไปหมดและอยู่ชิดกันมาก บรรยากาศแบบนั้นสถานที่แบบนั้น ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว”

“ผมเคยพาเพื่อนจากอังกฤษไปดูเกมหนึ่งของเรา พวกเขาตื่นตาตื่นใจเพราะมันต่างจากประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีก ช่วงโควิดระบาดผมไม่ได้ไปดูแมตช์เหย้าเลยเพราะคนน้อย มันไม่เหมือนเดิมหากปราศจากเยลโล่วอลล์ที่อัดแน่นและไม่มีพวกแฟนบอลอัลตร้า ผมรู้ดีว่าเพื่อนๆก็คิดอย่างเดียวกัน”

“ถึงเป็นตั๋วยืนและคุณไปอยู่ตรงไหนก็ได้(ภายในเซ็คชั่นที่กำหนด) แต่แฟนบอลมักยืนตรงที่ประจำ มันแปลกมากที่ผู้คนหลากหลายแตกต่างมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนสโมสร พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์กันนอกสนามบอลแต่กลับร้องเพลงร่วมกันกระโดดกอดกัน”

“ผมเจอผู้คนใหม่ๆในสนามที่อยากบอกเลยว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่ต่างคนต่างรู้เรื่องชีวิตนอกสนามกันน้อยมาก นี่เป็นสถานที่เดียวที่พวกเรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน”

“การยืนดูบอลสร้างความแตกต่างให้ผมในเรื่องของสาเหตุที่เข้ามาดูเกมในสนาม ผมยืนเพื่อสนับสนุนสโมสร บางครั้งก็ไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่เห็นเกมสนามชัดเจนนัก บางครั้งก็มีธงบัง มีหัวมีแขนบังสายตา แต่ผมยอมรับมันได้ มันเป็นเรื่องของความใกล้ชิดซึ่งเอื้ออำนวยให้ร่วมตะโกนร้องเพลงตะโกนเชียร์เป็นธรรมชาติ”

“บอกตามตรง ผมไม่ชอบดูการแข่งขันของดอร์ทมุนด์ในสนามหากไม่ได้อยู่ในเซ็คชั่นยืน แต่มีอยู่ 2-3 ครั้งที่เป็นแบบนั้น ซึ่งผมรู้สึกทำผิดพลาดมาก”

ถึงเวลาต้อง “มูฟ ออน” จากโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์

แนวคิดที่อยากให้แฟนบอลในพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพกลับไปยืนเชียร์บอลเริ่มก่อตัวอย่างช้าๆ จนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2019 เมื่อทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรมแรงงานต่างให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะดำเนินการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบาย “เซฟ สแตนดิ้ง” จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2020 ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ได้ประกาศอนุญาตให้ห้าสโมสรจัดทำโซนยืนดูบอลอย่างถูกกฎหมายขึ้น

แม้การทดลองของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จะประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ แต่ยังมีขั้นตอนสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงแต่ละสโมสรต้องลงทุนปรับปรุงสภาพสนามเพื่อให้ตรงกับข้อระเบียบของเซฟ สแตนดิ้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่แฟนบอลอังกฤษในสองดิวิชั่นแรกจะได้กลับไปสัมผัสยืนเชียร์กันทั่วทุกสนาม

มาร์กาเรต แอสพินอลล์ ซึ่งสูญเสียลูกชายเจมส์จากเหตุการณ์ในสนามฮิลล์สโบโรห์ ให้ความคิดเห็นว่า “มุมมองของฉันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน”

“ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉันหวังว่าเราได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนั้น แฟนบอลจะต้องไม่ถูกกระทำเหมือนยุค 1970และ 1980 ที่ถูกต้อนเหมือนวัวควายอยู่ในคอก ทุกสิ่งเปลี่ยนไปและถึงเวลาที่เราต้องก้าวไปข้างหน้าเสียที มีแฟนบอลรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่ชอบยืนดูการแข่งขัน แต่ยังจำเป็นที่จะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับทุกคน”

“เราต้องดำเนินการเรื่องนี้ไปอย่างช้าๆ ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและเห็นความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือแฟนบอลและความปลอดภัยของพวกเขา ตราบใดที่มันยังถูกตระหนัก ฉันก็โอเคกับมัน”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Special Content

กาปฏิทินลุ้นระทึก “ลิเวอร์พูล X เบลลิงแฮม” ซูเปอร์บิ๊กดีลปีหน้า

#SSxKMD | ขณะที่หลายสโมสรกำลังชุลมุนฝุ่นตลบกับการเจรจาซื้อขายนักเตะในตลาดซัมเมอร์ 2022 ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เรื่อยไปจนถึง 1 กันยายน แต่ลิเวอร์พูลกลับเสร็จสิ้นภารกิจไปอย่างรวดเร็วหลังจากได้นักเตะครบสามคนตามเป้าหมาย ได้แก่ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ มิดฟิลด์ตัวรุกทีมฟูแลม, ดาร์วิน นูนเยซ กองหน้าทีมเบนฟิกา และคัลวิน แรมซีย์ แบ็คขวาทีมอเบอร์ดีน

แม้ลิเวอร์พูลยังปรากฏบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่องแต่เป็นข่าวการขายและปล่อยยืม หรือไม่ก็เซ็นสัญญาระดับเยาวชน แต่หากเป็นประเด็นเสริมขุมกำลังก็เป็นการจับแพะชนแกะ ตีไข่ใส่สี หรือวิเคราะห์คาดการณ์ของนักข่าวเสียมากกว่าเป็นการเคลื่อนไหวจริง ๆ ของสโมสร

อย่างเช่นรายของ อุสมาน เดมเบเล่ ปีกขวาวัย 25 ปี ซึ่งหมดสัญญากับบาร์เซโลนาและเป็นฟรีเอเยนต์ สื่อสเปนตีข่าวครึกโครมว่าจะเล็งเซ็นซาลาห์ เซ็นแล้ว 3 ปี วีคละ 350K สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์สโมสร

หรือกรณีของ โอตาวิโอ ตัวรุกวัย 27 ปี ของปอร์โต แชมป์ปรีไมรา ลีกา ซึ่งเล่นกองกลางริมเส้นซ้ายขวาและมิดฟิลด์ตัวรุก ถูกหยิบมาเสนอข่าวเพราะลิเวอร์พูลกำลังสานต่อโมเดล “โปรตุกีส คอนเน็คชั่น” หลังจากซื้อหลุยส์ ดิอาซ และดาร์วิน นูนเยซ ห่างกันไม่ถึงครึ่งปี แต่กลับเป็นกูรูจากค่ายโกล สื่อลูกหนังระดับโลก ที่ออกมาสยบข่าวลือ อ้างว่าเป็นไปไม่ได้ที่ “เดอะ เรดส์” จะซื้อนักเตะอายุ 27 ปี แถมยังไม่ต้องการนักเตะตำแหน่งนี้เพิ่มด้วย ก่อนสรุปนิ่ม ๆ ว่า โอตาวิโอไม่ได้เป็นและไม่เคยเป็นเป้าหมายของลิเวอร์พูล

แม้ลิเวอร์พูล(น่าจะ)ไม่ทำธุรกิจฝั่งผู้ซื้อในตลาดรอบนี้แล้ว แต่กระแสข่าวจากสำนักใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือต่างชี้ไปทางเดียวกันว่า “มิดฟิลด์กลางสนาม” เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งที่หงส์แดงพร้อมเปย์หนักระดับซูเปอร์บิ๊กดีลในตลาดซัมเมอร์ปีหน้า หลังจากรอบนี้ได้ทุ่มเงิน 85 ล้านปอนด์ สร้างสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรกับตำแหน่งกองหน้า

ถึงเวลาสร้างคลื่นลูกใหม่ของขุนพล “เดอะ เรดส์”

ลิเวอร์พูลแสดงการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนว่า เยอร์เกน คล็อปป์ กำลังสร้างทีมใหม่รุ่นที่สองทดแทนบรรดาขุนพลที่ร่วมสร้างความยิ่งใหญ่ในช่วง 6 ปีแรกของการคุมทีม นักเตะใหม่ที่ซื้อมาระยะหลังจึงมีอายุน้อย

จากการศึกษาของสมาคมสื่อสารมวลชนะระบุว่า ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่พึ่งพานักเตะสูงอายุมากกว่าทีมใดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2021-22

หากคิดตามจำนวนนาทีรวมที่ผู้เล่นลิเวอร์พูลอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปลงสนามซีซั่นที่แล้ว จะคิดเป็น 46.2 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ตามด้วยอันดับสอง นิวคาสเซิล 39.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ส่งนักเตะรุ่นโอเวอร์ 30 ลงไปไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์ลีกแค่ 22.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่กับฤดูกาลใหม่ ตัวเลขของลิเวอร์พูลย่อมลดลงแน่นอนจากการเข้ามาของ นูนเยซ (23), คาร์วัลโญ (19) และแรมซีย์ (18) พร้อมการจากไปของ ซาดิโอ มาเน (30), ดิวอค โอริกี (27) และ ทาคูมิ มินามิโนะ (27) หรืออาจรวมถึง เนโก วิลเลียมส์ (21) ที่เล่นตำแหน่งเดียวกับแรมซีย์

อิบราฮิมา โกนาเต (23) เริ่มเบียดแย่งเวลาบนฟลอร์หญ้ามาจาก โจเอล มาติป (30) ได้มากขึ้น ขณะที่ เคอร์ติส โจนส์ (21) และ ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์ (19) เริ่มมีอนาคตสดใสเพิ่มเรื่อยๆ แล้วยังมีเหล่าดาวรุ่งตัวความหวังอย่าง เคด กอร์ดอน (17), ไทเลอร์ มอร์ตัน (19) และ โอเวน เบค (19)

อย่างไรก็ตามตัวหลักวัยเก๋าที่ยังสามารถยึดครองตำแหน่งตัวจริงต่อไปในซีซั่นหน้าได้แก่ เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค (30), โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (30), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (32) และ ติอาโก อัลกันตารา (31) ซึ่งจะเห็นว่า หัวใจห้องเครื่องของหงส์แดงกำลังโรยราด้วยวัยทั้งเฮนเดอร์สันและติอาโก รวมถึง เจมส์ มิลเนอร์ (36) ซึ่งเพิ่งต่อสัญญาใหม่แต่คงปิดฉากชีวิตในแอนฟิลด์หลังซีซั่น 2022-23 จบลง ขณะที่ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน (28) และ ฟาบินโญ (28) มีอนาคตไม่แน่นอนในแอนฟิลด์

นั่นจึงทำให้คล็อปป์เริ่มให้น้ำหนักกับการหาตัวตายตัวแทนหรือ “เน็กซ์-เจน” ของมิดฟิลด์กลางสนาม ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อความสำเร็จของลิเวอร์พูลในอนาคต จึงเห็นว่ากุนซือเยอรมันมีข่าวอยากได้ ออเรเลียง ชูเอาเมนี กองกลางตัวเก่งวัย 22 ปีของโมนาโกอย่างจริงจัง ก่อนถอยทัพเมื่อเรอัล มาดริด เข้ามาพร้อมจะเปย์หนักแบบไม่อั้น

ถึงแม้เสร็จสิ้นภารกิจตลาดรอบนี้ในฐานะผู้ซื้อไปแล้ว แต่ลิเวอร์พูลยังถูกสื่อมวลชนเสนอข่าวโยงกับมิดฟิลด์หลายคนอย่างเช่น นิโกลา บาเรลลา ของอินเตอร์ มิลาน, อาเดรียง ราบิโอต์ ของยูเวนตุส และ คาร์นีย์ ชุควูเอกา ของแอสตัน วิลลา อย่างไรก็ตาม ชื่อที่เป็นกระแสแรงและมีน้ำหนักมากที่สุดได้แก่ จูด เบลลิงแฮม

คล็อปป์หมายตา “เบลลิงแฮม” คือหัวใจในอนาคตของทีม

จูด เบลลิงแฮม ฉายแสงขณะอายุแค่ 16 ปี เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ลงสนามนัดแรกในประวัติศาสตร์ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ เมื่อปี 2019 เขาเล่นให้ทีมลูกโลก 44 นัดก่อนย้ายไปค้าแข้งกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เมื่อปี 2020 ด้วยค่าตัวกว่า 30 ล้านปอนด์ ขณะที่เบอร์มิงแฮมถึงขั้นอำลาเบอร์เสื้อหมายเลข 22 ให้กับมิดฟิลด์ดาวรุ่งโรจน์คนนี้

เบลลิงแฮมเพิ่งฉลองวันเกิด 19 ปี ไปไม่นานแต่ติดทีมชาติอังกฤษไปแล้ว 15 นัด เป็นหนึ่งในขุนพลตัวหลักของทีมเสือเหลืองกับผลงาน 10 ประตู 18 แอสซิสต์จากทั้งหมด 90 นัด

เบลลิงแฮมเป็นมิดฟิลด์ครบเครื่องกระเทียมดอง มองหยาบ ๆ ในดอร์ทมุนด์เขาคือมิดฟิลด์กลางสนาม แต่สามารถขยับไปทางขวาและซ้ายสวมตำแหน่งเบอร์ 6 และ 10 ได้ด้วย แสดงให้เห็นถึงทักษะที่หลากหลายสารพัดประโยชน์ แต่กูรูลูกหนังยกให้เขาเป็นผู้เล่นเบอร์ 8 ที่เชื่อมเกมในฐานะซัพพอร์ตติ้งมิดฟิลด์ โอเวอร์แลปขึ้นไปบุกจากสองฝั่งสนาม ส่วนกับทีมชาติอังกฤษ เบลลิงแฮมมักลงไปลึกมากขึ้นแสดงให้เห็นถึงความนิ่งและวุฒิภาวะเกินวัย สามารถครองบอลได้ดีภายใต้แรงกดดันและมองหาพื้นที่ว่างได้เฉียบคมเหลือเชื่อ

แน่นอนด้วยความสามารถเอกอุขนาดนี้บวกกับวัยไม่ถึงยี่สิบ ลิเวอร์พูลจึงต้องการเบลลิงแฮมมาเป็นผู้บัญชาเกมกลางสนามรุ่นต่อไปแทนเฮนเดอร์สัน, ติอาโก และมิลเลอร์ คล็อปป์สามารถใช้งานเขาได้ทั้งหมากเกม 4-3-3 และ 4-2-3-1 ซึ่งอาจเป็นฟอร์แมตแห่งอนาคตของหงส์แดง ร่ายล้อมด้วยมิดฟิลด์รุ่นใหม่อย่างคาร์วัลโญ, โจนส์ และเอลเลียตต์ หรืออีกนัยหนึ่ง คล็อปป์ต้องการเบลลิงแฮมมาสืบทอดตำนานต่อจากเฮนเดอร์สัน

เรอัล มาดริด เป็นทีมหนึ่งที่หมายตาเบลลิงแฮมเพื่อให้มาเป็นลูกา โมดริช คนใหม่ของพวกเขา เช่นเดียวกับ เชลซี ก็วางแผนร่วมล่าลายเซ็นของมิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติอังกฤษด้วย ทำให้สื่อหลายสำนักประเมินค่าตัวเบลลิงแฮมไปทางเดียวกันคือแตะหลัก 100 ล้านปอนด์ หรืออย่างต่ำไม่น่าหลุด 80 ล้านปอนด์ นั่นทำให้ลิเวอร์พูลคงต้องทำลายสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นปีที่สองติดต่อกัน

นีล โจนส์ กูรูของสื่อโกล มองว่าเบลลิงแฮมมีใจให้ลิเวอร์พูลไม่ใช่น้อยเพราะมีสตีเวน เจอร์ราร์ด เป็นไอดอล และมีความสัมพันธ์แนบชิดกับเฮนเดอร์สันในทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้หลังเพิ่งตกเป็นข่าวแรง เบลลิงแฮมโพสต์ถึงเฮนเดอร์สัน กัปตันทีมหงส์แดง ในฐานะตำนาน

กระแสข่าวบนหน้าสื่อฟุตบอลทั่วโลกชี้ตรงกันว่า “ซูเปอร์บิ๊กดีล” ระหว่างลิเวอร์พูลและดอร์ทมุนด์จะเกิดขึ้นในตลาดซัมเมอร์ปีหน้าอย่างแน่นอน ขณะที่สัญญาของเบลลิงแฮมยังเหลือถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2025

คุณค่าของ “เบลลิงแฮม” คุ้มค่าแก่การรอคอยหรือไม่

ปีหน้าเป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับดีล จูล เบลลิงแฮม ระหว่างสองสโมสร ลิเวอร์พูลเพิ่งทุ่มเงินไปร่วม 85 ล้านปอนด์ไปกับนูนเยซคนเดียว และขุมกำลังแดนกลางที่มีตอนนี้ก็มากพอสำหรับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหนึ่งซีซั่น ส่วนดอร์ทมุนด์คงไม่ต้องการเสียซูเปอร์สตาร์พร้อมกันสองคนในปีนี้หลังจาก เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ย้ายไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และยังมี เจดอน ซานโช ที่ไปอยู่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หนึ่งปีก่อนหน้านี้

ลิเวอร์พูลตระหนักดีถึงคุณค่าของการรอคอย ไม่พลีพลามเปลี่ยนเป้าหมายที่คิดรอบคอบแล้วย้ายไปยังทางเลือกอื่น ๆ หงส์แดงเคยพยายามแต่ล้มเหลวกับการเซ็นสัญญา เวอรกิล ฟาน ไดค์จ ในตลาดซัมเมอร์ปี 2017 แล้วรอเพื่อพยายามใหม่กับตลาดหน้าหนาวปี 2018 ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็นดีลที่ดีมากที่สุดครั้งหนึ่งของสโมสรที่ได้เซ็นเตอร์แบ็คเวิลด์คลาสเข้ามาอยู่แอนฟิลด์

ลูกา ซูชิซ มิดฟิลด์ดาวดวงใหม่วัย 19 ปีของทีมชาติโครเอเชีย ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเบลลิงแฮม เขาแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วหลังย้ายมาอยู่เรดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก เมื่อปี 2020 ช่วงสองฤดูเขาลงสนาม 71 นัด ทำไป 13 ประตู 6 แอสซิสต์ และมีสัญญากับทีมกระทิงแดงถึงปี 2025

ชูชิซ ที่เป็นแฟนบอลบาร์เซโลน่าและมีลูกา โมดริช เป็นไอดอลวัยเด็ก ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่อย่าง ยูเวนตุส, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน, ลาซิโอ, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และนิวคาสเซิล รวมถึงลิเวอร์พูล

กูรูลูกหนังหลายคนกล่าวว่า หากมีมิดฟิลด์ที่ควรค่าแก่การรอคอย (และจ่ายหนัก) จูล เบลลิงแอม เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น นั่นทำให้บรรดาเดอะ ค็อป เฝ้าลุ้นระทึกอีกหนึ่งปีข้างหน้า พวกเขาจะได้เบลลิงแฮมหรือไม่ และเบลลิงแฮมจะเฉิดฉายภายใต้ยูนิฟอร์ม “เดอะ เรดส์” อย่างที่คาดหวังหรือเปล่า

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Special Content

เจย์ สเปียริ่ง : นักเตะลิเวอร์พูล ที่ตามรอยโมเดลคืนสู่ทีมเก่าปั้นเยาวชน

1 กรกฎาคม 2022 ถือเป็นวันแรกของ 3 นักเตะใหม่ลิเวอร์พูล ทั้งฟาบิโอ คาร์วัลโญ่, ดาร์วิน นูนเญซ และคาลวิน แรมซี่ย์ ที่ได้ย้ายเข้าสู่ถิ่นแอนฟิลด์อย่างเป็นทางการ

แต่สำหรับนักเตะอย่างเจย์ สเปียริ่ง ที่ “เดอะ ค็อป” บางคน อาจจะลืมเชื่อเขาไปแล้ว เขาเคยลงเล่นให้กับลิเวอร์พูลชุดใหญ่ 55 นัด และตอนนี้ได้คัมแบ็กคืนสู่ทีมเก่าอีกครั้งในรอบ 9 ปี

มิดฟิลด์วัย 33 ปี กับบทบาทใหม่ในการประคองนักเตะรุ่นน้อง ที่ใช้แนวทางเดียวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมคู่ปรับของพวกเขา วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

⚽️ เลือดเมอร์ซีย์ไซด์ขนานแท้

เจย์ สเปียริ่ง เกิดที่วอลลาซีย์ ในย่านเมอร์ซี่ย์ไซด์ เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กับอคาเดมี่ของลิเวอร์พูล ต่อมาได้เป็นกัปตันทีมลิเวอร์พูล ชุด U-18 ที่คว้าแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 2007

ในฤดูกาล 2008/09 สเปียริ่งได้ก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของ “หงส์แดง” ในยุคที่ราฟาเอล เบนิเตซ เป็นผู้จัดการทีม ได้ลงเล่นไป 2 นัด ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่พบกับพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น และเรอัล มาดริด

จนกระทั่งในฤดูกาล 2011/12 ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีก คัพ แต่สเปียริ่งมีชื่อเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง ขณะที่นัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ เขาลงเล่นเป็นตัวจริง อยู่ในสนาม 54 นาที ก่อนที่ทีมจะแพ้เชลซี 1 – 2

5 ฤดูกาลในถิ่นแอนฟิลด์ สเปียริ่งลงเล่นทั้งหมด 55 นัด นอกจากนี้ เลสเตอร์ ซิตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส ได้ยืมตัวไปใช้งานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่โบลตันจะดึงตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร ในปี 2013

ช่วงที่สเปียริ่งอยู่กับโบลตัน เคยถูกแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ยืมตัวไปใช้งานช่วงสั้น ๆ เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่ในปี 2017 เขาย้ายไปร่วมทีมแบล็คพูล ค้าแข้งอยู่ 3 ฤดูกาล จึงแยกทางจากถิ่นบลูมฟิลด์ โร้ด

สโมสรสุดท้ายของสเปียริ่ง ในฐานะนักเตะระดับซีเนียร์คือ ทรานเมียร์ โรเวอร์ส ในลีกทู (ดิวิชั่น 4) เป็นทีมจากย่านเมอร์ซี่ย์ไซด์ เช่นเดียวกับลิเวอร์พูล และเอฟเวอร์ตัน ก่อนที่จะอำลาทีมหลังจบซีซั่น 2021/22

⚽️ ก็อปปี้ต้นแบบจาก “ปีศาจแดง”

ลิเวอร์พูลดึงตัวสเปียริ่งกลับมาร่วมงานอีกครั้ง เพื่อใช้ประสบการณ์ในการดูแลนักเตะรุ่นน้อง สู่เป้าหมายหลักในการเป็นโค้ชอคาเดมี่แบบเต็มตัว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับพอล แม็คเชน ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

แม็คเชน เป็นอดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนฯ ยูไนเต็ด เคยพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 2003 จากนั้นในปีต่อมา ได้มีชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่ ก่อนอำลาทีมในปี 2006 โดยที่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่เลย

หลังออกจากโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด อดีตเซ็นเตอร์แบ็ก “ปิศาจแดง” ก็พเนจรไปค้าแข้งกับอีกหลายสโมสรในอังกฤษ ก่อนจะกลายเป็นนักเตะฟรีเอเย่นต์ เมื่อหมดสัญญากับรอชเดล ในลีก วัน หลังจบซีซั่น 2020/21

กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2021 แม็คเชน ในวัย 35 ปี ได้กลับสู่แมนฯ ยูไนเต็ด ทีมเก่าอีกครั้ง แต่การคัมแบ็กในครั้งนี้ เขาได้ลงสนามในชุด U-23 ของสโมสร ในฐานะ 1 ใน 3 นักเตะอายุเกินที่อนุญาตให้ลงสนามได้

แม็คเชน ลงเล่นกับแมนฯ ยูไนเต็ด U-23 ทั้งหมด 6 นัด ควบคู่กับการเป็นโค้ชในทีมชุดเดียวกัน ก่อนที่จะแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการหลังจบซีซั่นที่ผ่านมา และตอนนี้เขาได้ทำหน้าที่โค้ช U-23 แบบเต็มเวลาแล้ว

นิค ค็อกซ์ หัวหน้าอคาเดมี่ของยูไนเต็ด ให้เหตุผลถึงการดึงตัวแม็คเชนว่า “บทบาทใหม่นี้ เราได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเพิ่มการสนับสนุนอีกระดับหนึ่งให้กับผู้เล่นของเรา ในการช่วยเหลือเยาวชนสู่ทีมชุดใหญ่”

“เราเชื่อว่า พอลมีคุณสมบัติที่ดีพอสำหรับงานนี้ เพื่อผลักดันเด็ก ๆ สู่ระดับสูงสุด ในฐานะที่เขาเคยเป็นนักเตะในอคาเดมี่ เขารู้จักสโมสรในทุกมิติ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ตลอดเวลา”

นอกเหนือจากแมนฯ ยูไนเต็ด ก็ยังมีสโมสรอื่น ๆ ที่เคยใช้โมเดลแบบเดียวกันนี้ เช่น ไบรท์ตัน ที่เซ็นสัญญาแอนดรูว์ ครอฟส์ เมื่ออายุ 35 ปี และเซาธ์แธมป์ตัน ที่ดึงตัวโอลลี่ แลงคาเชียร์ เมื่ออายุ 32 ปี

⚽️ บทบาทใหม่ในอคาเดมี่ “หงส์แดง”

การกลับสู่ลิเวอร์พูลเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เจย์ สเปียริ่ง จะรับหน้าที่โค้ชในเคิร์กบี้ อคาเดมี่ ให้กับทีมชุด U-18 ควบคู่กับการเป็น 1 ในโควตานักเตะอายุเกินสำหรับทีมชุด U-21 ที่มีแบร์รี่ ลิวทัส เป็นผู้จัดการทีม

สำหรับฟุตบอลลีกเยาวชน รุ่น U-21 มีกฎข้อหนึ่งที่ระบุไว้ว่า สโมสรจะได้รับอนุญาตให้ส่งนักเตะอายุเกินลงสนามได้ นัดละ 5 คน (จากเดิม 3 คน) และมีผู้รักษาประตูอายุเกินได้อีก 1 คน ในกรณีจำเป็น

อเล็กซ์ อิงเกิลโธร์ป ผู้จัดการของเคิร์กบี้ อคาเดมี่ กล่าวว่า “เจย์จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับนักเตะเยาวชนของเรา และประสบการณ์ของเขาที่เคยลงเล่นทั้ง 4 ดิวิชั่นในระดับอาชีพ จะช่วยได้ไม่น้อยเลย”

“ถ้าเขาสามารถดึงศักยภาพทุกอย่างออกมา แล้วถ่ายทอดให้บรรดานักเตะดาวรุ่งได้ ผมคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะเป็นโค้ชที่ดีได้จริง ๆ ผมคิดว่าเจย์คือคนที่ใช่กับสโมสรที่ใช่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว”

ขณะที่สเปียริ่ง ให้สัมภาษณ์กับ The Athletic ว่า “มันน่าเหลือเชื่อมากที่ได้กลับมาลิเวอร์พูลอีกครั้ง และตอนนี้ผมกำลังเริ่มต้นบทบาทใหม่ ในการช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตสู่ทีมชุดใหญ่ในอีกไม่นานนี้”

“ผมใช้เวลาคิดอยู่นาน และมั่นใจว่าคืองานในฝันของผม รู้สึกดีใจที่อิงเกิลโธร์ปและสโมสรเชื่อมั่นในตัวผม และจะตอบแทนความไว้ใจที่มีให้กัน ผมคิดว่านี่คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผมเลยทีเดียว”

นักเตะเยาวชนชุด U-18 ที่สเปียริ่งจะมีโอกาสดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น สเตฟาน บาจเซติก นักเตะนอกสหราชอาณาจักรคนสุดท้ายที่ได้เซ็นสัญญามาร่วมทีม, เบน ดัค, เทรนต์ โคน-โดเฮอร์ตี้, บ็อบบี้ คลาร์ก ฯลฯ

ส่วนนักเตะชุด U-18 ที่ลงเล่นในลีกเยาวชนเมื่อฤดูกาล 2021/22 และมีโอกาสขยับขึ้นสู่ชุด U-21 ในฤดูกาลใหม่ เช่น โอคลีย์ คันโนนิเออร์, จาเรลล์ ควานซาห์, ลุค แชมเบอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีแข้งดาวรุ่งบางส่วน ที่ได้รับโอกาสลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของเจอร์เก้น คล็อปป์แล้ว อาทิ ไคเค กอร์ดอน, ไทเลอร์ มอร์ตัน, โอเว่น เบ็ค, แม็กซ์ โวล์ทแมน, ฮาร์วีย์ แบลร์, เมลคามู ฟราเอนดอร์ฟ เป็นต้น

ในเวลานี้ ลิเวอร์พูลมีดาวรุ่งที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์อยู่มากมาย และเจย์ สเปียริ่ง กำลังจะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ที่น่าตื่นเต้น ในการเชื่อมต่อกับนักเตะรุ่นใหม่ สู่รุ่นใหญ่ในอนาคตต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3389548/2022/06/30/jay-spearing-liverpool-coach/

– https://www.liverpoolfc.com/news/jay-spearing-makes-return-liverpool-u18s-coach

https://www.liverpoolworld.uk/sport/football/liverpool/liverpool-copying-innovative-manchester-united-transfer-trick-to-help-next-generation-of-stars-3737500

https://www.manutd.com/en/news/detail/man-utd-announce-paul-mcshane-signing-in-innovative-player-coach-role

https://www.goal.com/en/news/why-35-year-old-journeyman-paul-mcshane-man-utd-u23s/6xmkhib8886s18867zyrnpdoa

Categories
Football Business

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของ “ลิเวอร์พูล” จากกรณีศึกษา “ไตโว อโวนิยี่”

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็ก ๆ ที่อาจไม่น่าสนใจสำหรับแฟนบอลอังกฤษส่วนใหญ่ยกเว้นสาวกเจ้าป่า น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งกำลังใจจดจ่อกับประเด็นปรับปรุบขุมกำลังต้อนรับการกลับขึ้นมายังลีกสูงสุดนับจากตกชั้นดิวิชั่น 1 (เดิม) เมื่อปี 1999 หรืออาจรวมถึงเดอะ ค็อป บางส่วนที่คลิกอ่านเพราะสะดุดตาคำว่า ex-Liverpool striker บนพาดหัวข่าวหรือท่อนโปรยนำ

กองเชียร์ที่กำลังรอฟอเรสต์ปิดดีลสัญญายืมตัว ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูจอมหนึบของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งน่าจะช่วยให้ทีมมีโอกาสเสียประตูน้อยลง ต่างตื่นเต้นกับข่าวสโมสรสร้างสถิติซื้อผู้เล่นแพงที่สุดขึ้นมาใหม่ด้วยการทุ่มเงิน 17.5 ล้านปอนด์ คว้าตัว ไตโว อโวนิยี่ ศูนย์หน้าไนจีเรียวัย 24 ปีมาจากยูเนี่ยน เบอร์ลิน ทีมอันดับ 5 ในบุนเดสลีกา เพื่อทะลุทะลวงเกมรับท็อปคลาสของคู่แข่งร่วมลีก

อโวนิยี่เป็น “อดีต” สไตรคเกอร์ของลิเวอร์พูลและมีชื่อเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแอนฟิลด์ยาวนานหกปี แต่เขาไม่เคยลงเล่นให้หงส์แดงสักนัดแม้กระทั่งเกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่นก็ยังไม่มีโอกาส เพราะเกือบทันทีหลังซื้อตัวมาจาก อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ ปลายเดือนสิงหาคม 2015 ลิเวอร์พูลได้ส่งเขาไปให้เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวในซีซั่น 2015-16

และเหมือนสัญญายืมตัวกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อโวนิยี่ต้องเซ็นชื่อทุกซีซั่น เขาจึงกลายเป็นนักเตะพเนจรย้ายถิ่นทุกปี ไปให้เล่นให้ เอ็นอีซี ไนจ์เมเกน, รัวยา แล็กแซล มูครง, เคเอเอ เกนท์, ไมน์ซ 05 และ ยูเนี่ยน เบอร์ลิน ตามลำดับ

จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตอโวยินี่ เมื่อยูเนี่ยน เบอร์ลิน พอใจผลงานของศูนย์หน้าไนจีเรียระหว่างยืมตัวในซีซั่น 2020-21 จึงตัดสินใจซื้อขาดจากลิเวอร์พูลเป็นเงิน 6.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอโวนิยี่ไม่ทำให้ต้นสังกัดผิดหวัง ช่วงสองปีที่ค้าแข้งในเมืองเบียร์ เขาทำผลงาน 25 ประตู 9 แอสซิสต์จาก 65 นัด ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนไหนทำสกอร์ได้มากเท่าเขาในช่วงเวลานั้น

ศึกลูกหนังบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา อโวนิยี่ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย 15 ประตูจาก 31 นัด แถมยังถูกเรียกตัวติดทีมชาติไนจีเรีย 4 นัด ทำ 1 ประตูนับตั้งแต่ประเดิมยูนิฟอร์มอินทรีมรกตในเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งด้วยฟอร์มร้อนแรง เขาจึงถูกดึงให้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการสร้างทีมของ สตีฟ คูเปอร์ กุนซือเวลส์วัย 42 ปี ด้วยค่าตัวที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์น็อตติงแฮม ฟอเรสต์

ฤดูกาลหน้า อโวนิยี่จะได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรก และแน่นอนจะได้เผชิญหน้ากับทีมเก่า ลิเวอร์พูล ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคมที่สนามซิตี้ กราวน์ เป็นนัดแรก

สไตล์การเล่นของอโวยินี่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ราชิดี เยกินี่ ตำนานผู้ทำประตูรวมได้มากที่สุดตลอดกาลของไนจีเรีย ขณะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เคยชื่นชมการยิงที่เฉียบคมและพละกำลังของศูนย์หน้าวัย 24 ปีจากกาฬทวีปรายนี้

“หงส์แดง” ทำเงินเฉียดแปดล้านปอนด์จากนักเตะที่ไม่เคยใช้งาน

หาก ไตโว อโวนิยี่ เป็นการลงทุนก็ถือว่าสร้างผลกำไรงามให้กับลิเวอร์พูลถึงแม้ไม่เคยถูกใช้งานในฐานะนักเตะเลยสักนัดเดียว เชื่อหรือไม่ว่า “เดอะ เรดส์” มีรายได้เข้ากองคลังเกือบ 8 ล้านปอนด์จากศูนย์หน้าไนจีเรียผู้นี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ขณะอายุ 13 ปี อโวนิยี่ได้รับตำแหน่งเอ็มวีพีหรือผู้เล่นทรงคุณค่าของการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนรายการหนึ่งที่กรุงลอนดอน ซึ่งมี โคคา-โคลา เป็นสปอนเซอร์ บวกกับฟอร์มฉายแววจึงถูกเชิญเข้าร่วมฝึกซ้อมและลงแข่งขันให้กับ อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่

อีกห้าปีต่อมา อโวนิยี่เซ็นสัญญาอาชีพกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2015 หลังจากหงส์แดงเคาะราคาซื้อจากอิมพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ เป็นเงินประมาณ 400,000 ปอนด์ แต่ถูกปล่อยให้ เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวทันที และคล้อยหลังไม่กี่เดือน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้เข้ามาเริ่มงานผู้จัดการทีมในแอนฟิลด์

ตลอดหกฤดูกาล อโวนิยี่ต้องไปเล่นที่อื่นด้วยสัญญายืมตัวทั้งหมด 6 สโมสรไม่ซ้ำกัน ก่อนยูเนี่ยน เบอร์ลิน ขอซื้อขาดในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ทำกำไรให้กับลิเวอร์พูลถึง 6.1 ล้านปอนด์ แต่ “ดิ ไอรอน วันส์” ใช้งานศูนย์หน้าไนจีเรียแค่ปีเดียวก็ขายต่อให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ 17.5 ล้านปอนด์ ฟันกำไรเหนาะ ๆ 11 ล้านปอนด์ แต่สโมสรต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปให้ลิเวอร์พูล

ส่วนหนึ่งในสัญญาเมื่อปี 2021 ระหว่างลิเวอร์พูลกับยูเนี่ยน เบอร์ลิน เป็นเงื่อนไขส่วนแบ่งการขายหรือ Sell-on Clause ทำให้สโมสรเมืองเบียร์ต้องแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าตัวที่ขายได้ให้กับทีมหงส์แดง ซึ่งเท่ากับ 1.75 ล้านปอนด์นั่นเอง

นั่นเท่ากับว่า ลิเวอร์พูลได้เงินจากอโวยินี่ทั้งทางตรงทางอ้อมรวมกัน 7.85 ล้านปอนด์ ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากการปล่อยยืมให้กับ 6 สโมสรเข้าไปด้วย ลิเวอร์พูลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนักเตะดาวรุ่งแววดีที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานแล้วได้หนึ่งคน หรือเก็บสะสมเพื่อเอาไปทุ่มซื้อ จู้ด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ซูเปอร์สตาร์ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตลาดซัมเมอร์รอบหน้าก็ยังได้

เงื่อนไข “เซลล์-ออน” แหล่งรายได้ส้มหล่นของเหล่าสโมสรเล็ก

เซลล์-ออน มักเป็นแหล่งรายได้ของสโมสรเล็ก ๆ จากการขายนักเตะที่พวกเขามองว่าน่าจะไปได้ไกลในอนาคต ตัวอย่างที่เกิดขึ้นประมาณสองปีที่แล้วกับ แมทท์ โดเฮอร์ตี้ ฟูลแบ็คชาวไอริช ซึ่งย้ายจากวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ไปอยู่กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2020 ด้วยค่าตัวระหว่าง 18-21 ล้านปอนด์หลังจากเล่นให้กับวูลฟ์สยาวนานหนึ่งทศวรรษ ลงสนาม 260 นัด

วูลฟ์แฮมป์ตันค้นพบโดเฮอร์ตี้ระหว่างเตะอุ่นเครื่องปรีซีซั่นกับ โบฮีเมี่ยนส์ เอฟซี ทีมในลีกไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 แม้โดเฮอร์ตี้ไม่เคยเล่นทีมชุดใหญ่ของโบฮีเมี่ยนส์เลยสักนัด แต่ถูกเรียกตัวเข้ามาทดสอบฝีเท้าและได้เซ็นสัญญาสองปีกับทีมหมาป่า ซึ่งจ่ายค่าตัวให้ต้นสังกัดไปครั้งนั้น 75,000 ปอนด์

โดเฮอร์ตี้ย้ายไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับวูลฟ์สและแฟนบอลโบฮีเมี่ยนส์อาจลืมชื่อเขาไปแล้วจนกระทั่งตกเป็นข่าวย้ายไปทีมสเปอร์สด้วยค่าตัว 18-21 ล้านปอนด์ เนื่องจากสัญญาเมื่อสิบปีที่แล้วระหว่างโบฮีเมี่ยนส์กับวูลฟ์สมีเงื่อนไขเซลล์-ออน 10เปอร์เซ็นต์รวมอยู่ด้วย ทำให้โบฮีเมี่ยนส์รับส่วนแบ่งไป 1.8-2.1 ล้านปอนด์ ซึ่งจำนวนอาจดูเล็กน้อยแต่มันคือรายได้ก้อนใหญ่มากของสโมสรไอริชแห่งนี้ที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ และเมื่อปี 2016 มีรายได้รวมทั้งปีแค่ 945,000 ปอนด์ (ยังไม่หักหนี้สิน)

ยังมีสโมสรเล็กๆอีกหลายทีมที่ได้รับประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งการขายอย่างเช่นเมื่อครั้ง อายเมริค ลาปอร์เต้ เซ็นเตอร์แบ็คชาวฝรั่งเศส ย้ายจากแอธเลติค บิลเบา ไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2018 ด้วยค่าตัว 57 ล้านปอนด์

ขณะอายุ 12 ปี ลาปอร์เต้เข้าร่วมทีมเยาวชนอะคาเดมี่ของ อาแฌ็ง ซึ่งแข่งขันในดิวิชั่น 8 ของลีกฝรั่งเศส และใช้เวลาที่นั้นนานสี่ปีก่อนย้ายไปอยู่กับอะคาเดมี่ของแอธเลติก บิลเบา เมื่อปี 2010 ด้วยวัย 16 ปี โดยอาแฌ็งจะได้รับส่วนแบ่ง 1เปอร์เซ็นต์ของการขยายลาปอร์เต้ในอนาคต

เซ็นเตอร์แบ็คดาวรุ่งจากเมืองน้ำหอมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จบนแผ่นดินกระทิงดุ ลาปอร์เต้เล่นให้ทีมชุดใหญ่ของบิลเบาระหว่างปี 2012-2018 ลงสนาม 116 นัด ก่อนถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อตัวไปในตลาดหน้าหนาวปี 2018 ด้วยราคา 57 ล้านปอนด์ ทำให้เงินเกือบหกแสนปอนด์ถูกโอนเข้าบัญชีของอาแฌ็ง ช่วยให้สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายได้

“หงส์แดง” ลุ้นรอรับเงินจาก “เซลล์-ออน” ในสัญญาอีกหลายราย

เซลล์-ออน ไม่ได้คำนวณจากเปอร์เซ็นต์ของเงินขายนักเตะเท่านั้น แต่อาจคิดจากผลกำไรได้อีกด้วยอย่างเช่น ดาร์วิน นูนเยซ กองหน้าดาวรุ่งทีมชาติอุรุกวัยที่เพิ่งย้ายไปอยู่ลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวเมื่อรวมเงื่อนไขแอด-ออนแล้วตก 85 ล้านปอนด์ เคยมีเงื่อนไขเซลล์-ออนที่กำหนดว่า เบนฟิก้าต้องจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ของกำไรการขายให้กับ อัลเมเรีย ต้นสังกัดเก่าของนูนเยซในสเปนก่อนย้ายเข้าเบนฟิก้าเมื่อปี 2020 

สัญญาซื้อขายนักฟุตบอลก็คือเอกสารทางกฎหมายอย่างหนึ่งแต่มีเงื่อนไขผูกมัดหลายประเด็น แต่ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าสื่อมักเป็นเพียงค่าตัว ค่าเหนื่อย และระยะเวลา ช่วงหลังๆจะพบอ็อปชั่นซื้อขาด, อ็อปชั่นต่อสัญญา และโบนัสแอด-ออน ซึ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มตามผลงานของนักเตะหรือสโมสรใหม่ แต่ความจริงแล้วยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆอีกดังเช่น เซลล์-ออน ที่ถูกหยิบมาพูดถึงจากกรณีของ ไตโว อโวนิยี่

ในอนาคต ลิเวอร์พูลอาจได้เงินส้มหล่นลักษณะนี้อีกเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อนักเตะใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สองเป้าหมายใหญ่ของสโมสร เพราะเท่าที่ได้รับการเปิดเผยยังมีอดีตผู้เล่นของลิเวอร์พูลมีพันธะเซลล์-ออนกับสโมสรที่ซื้อไปรวม 15 คนคือ

  • หลุยส์ อัลแบร์โต้ (ลาซิโอ) – 30 เปอร์เซ็นต์
  • แดนนี่ วอร์ด (เลสเตอร์) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน เคนท์ (เรนเจอร์ส) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ราฟา คามาโช (สปอร์ติ้ง ลิสบอน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • โดมินิค โซแลงเก้ (บอร์นมัธ) – 20 เปอร์เซ็นต์ จากกำไร
  • อัลแลน โรดริเกวส (แอตเลติโก ไมเนียโร)  – 10 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน บริวสเตอร์ (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • ไค-จานา ฮูเวอร์ (วูลฟ์แฮมป์ตัน) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • โอวี่ อียาเรีย (เรดดิ้ง) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เฮอร์บี เคน (บาร์สลีย์) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • คามิล กราบารา (โคเปนเฮเกน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เลียม มิลลาร์ (บาเซิล) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • แฮร์รี่ วิลสัน (ฟูแลม) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • มาร์โก กรูซิช (ปอร์โต) – 10 เปอร์เซ็นต์

ในอดีต ลิเวอร์พูลเคยได้รับประโยชน์ทั้งจากส่วนแบ่งการขายและเงื่อนไขเซลล์-ออนหมดอายุมาแล้วกับกรณีของ ไอบ์, เซอร์ไก คานอส, แบรด สมิธ, ติอาโก อิลอรี, บ็อบบี้ ดันแคน และ มาริโอ บาโลเตลลี่

ลิเวอร์พูลยังมีช่องทางใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขเซลล์-ออนที่เคยทำไว้กับหลายทีม รวมถึงตัวอย่างที่ไม่ได้พบบ่อยกับการซื้อตัวกลับมาเช่น รายของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกชาวเวลส์ ซึ่งฟูแลมเพิ่งซื้อขาดหลังประทับใจผลงานช่วงยืมตัว สมมุติว่าวันหนึ่ง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เจรจาขอซื้อจากฟูแลมที่ค่าตัว 25 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลสามารถขอซื้อด้วยราคาหลังหักส่วนลด 15เปอร์เซ็นต์ หรือ 21.25 ล้านปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญากับอดีตผู้เล่นที่ไม่เคยได้เล่นกับทีมเลยระหว่างมีสัญญาในแอนฟิลด์ระหว่างปี 2015-2022 เพราะถูกปล่อยยืมตลอดเหมือนกับอโวนิยี่ หรือถ้าไม่ต้องการตัวกลับ ลิเวอร์พูลก็ยังได้ส่วนแบ่ง 15เปอร์เซ็นต์เมื่อฟูแล่มขายให้สเปอร์ส

บางทีการซื้อขายนักเตะสักคนหนึ่งใช้เวลาเนิ่นนานเยิ่นเย้อไม่ใช่เพราะตกลงค่าตัวค่าเหนื่อยกันไม่ได้ แต่อาจเป็นเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆที่แทรกอยู่ในสัญญาก็เป็นได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Football Business

วิลเลียม สเปียร์แมน : ตัวละครลับ ช่วย “ลิเวอร์พูล” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก

#SSxKMD | 25 มิถุนายน 2020 การรอคอยอันแสนยาวนานของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล สิ้นสุดลงเสียที เมื่อคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นสมัยที่ 19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

เมื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองตามเชียร์ประสบความสำเร็จ ก็มักจะยกความดีความชอบให้นักเตะและโค้ช แต่ความจริงแล้วยังมีทีมงานหลังบ้านอีกจำนวนหนึ่ง คอยปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งมีบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินอาชีพนี้มาก่อน แต่นั่นคือฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้หงส์แดงคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในวันนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน

แล้ว “ข้อมูล” มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จัก “วิทยาศาสตร์ข้อมูล”

คำว่า “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Science) หมายถึงการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ตามกระบวนการตั้งสมมติฐาน ทดลอง และหาผลลัพธ์ที่กลั่นกรองออกมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยผู้ที่ทำอาชีพด้าน Data Science จะเรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Scientist) ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้หลากหลายแขนง ทั้งด้านคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์/สถิติ และธุรกิจ

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 สายงาน Data Scientist ในอุตสาหกรรมกีฬา จะมีมูลค่าสูงถึง 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน ถึงแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม

สำหรับวงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ก็ได้มีการออกแบบการจัดเก็บ “ข้อมูล” ที่ละเอียดและหลากหลายมากกว่าในอดีต ซึ่งใครก็ตามที่มีข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า ก็แทบจะมีชัยไปมากกว่าครึ่งแล้ว

แต่การมีข้อมูลเยอะ ๆ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่ได้นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ให้ตกผลึก และผู้บริหารสูงสุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่เปิดใจที่จะรับฟัง ทำให้ข้อมูลไม่ได้ถูกใช้งานจริง ๆ

สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน ต่างก็มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว แต่สำหรับลิเวอร์พูล ในยุคที่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาบริหารทีม ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง จนสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร

เมื่อปี 2002 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ ที่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซ็อกซ์ เคยใช้เงิน 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงตัวบิลลี่ บีน ผู้จัดการทีมเจ้าของคอนเซปต์ “Moneyball” ที่ใช้ข้อมูลในการสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่

กระทั่งการเข้ามาซื้อสโมสรลิเวอร์พูลของกลุ่ม FSG จอห์น เฮนรี่ ไม่ได้แค่เข้ามากอบกู้ซากปรักหักพัง ที่เจ้าของทีมในอดีตทิ้งไว้เท่านั้น ยังได้นำแนวคิดเรื่อง “ข้อมูล” มาใช้บริหารทีม จนประสบความสำเร็จ

จอห์น เฮนรี่ ได้ดึงตัวเอียน เกรแฮม มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยข้อมูล และยังมีทีมงานที่อยู่ภายใต้แกรแฮมอีก 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดร.วิลเลียม สเปียร์แมน ผู้จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ด้านอนุภาคพลังงานสูง

ดร. สเปียร์แมน เคยทำงานวิจัยเรื่องการวัดขนาดและความกว้างของสนามพลังฮิกส์ ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ก่อนที่ในปี 2015 จะได้มาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬาให้กับฮูเดิ้ล (Hudl) ที่สหรัฐอเมริกา

และที่ Hudl นี่เอง ที่ทำให้ดร. สเปียร์แมน ได้มีความสนใจในเรื่องราวของกีฬา “ฟุตบอล” ที่มีจังหวะการเล่นต่อเนื่อง และมองว่าข้อมูลที่ซับซ้อนในเกมลูกหนัง ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าใดนัก

กระทั่งในเดือนมีนาคม 2018 ดร. สเปียร์แมน ได้เข้ามาเป็นทีมงานในฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของลิเวอร์พูล หน้าที่ของเขาคือ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์การแข่งขันของผู้เล่นในสนาม และการสรรหาผู้เล่นใหม่

ดร. สเปียร์แมน ได้นำโมเดลจาก Hudl ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้ง 22 คน และลูกฟุตบอล ด้วยการใช้กล้องที่ติดตั้งไว้รอบ ๆ สนาม จับภาพในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

เครื่องมือดังกล่าว ทำให้สามารถประเมินระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับลูกฟุตบอล และคำนวณเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่แท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์กับแท็กติก “เกเก้นเพรสซิ่ง” ของเจอร์เก้น คล็อปป์

ตัวอย่างจากโมเดล Pitch Control

ตัวอย่างการใช้ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ของลิเวอร์พูล ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยดร.วิลเลียม สเปียร์แมน และ ดร.ทิม วาสเกตต์ ได้ร่วมกันอธิบายโมเดลการคุมพื้นที่ในขณะที่ครอบครองบอล หรือ Pitch Control

ดร. สเปียร์แมน ได้นิยาม Pitch Control ไว้ว่า “มันคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่ง หรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ได้ควบคุมพื้นที่ในบริเวณหนึ่งของสนาม ดังนั้นต้องผ่านบอลในจุดที่ได้เปรียบ เพื่อรักษาการครองบอลของทีมไว้”

ส่วน ดร.วาสเกตต์ กล่าวเสริมว่า “เราได้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาช่องว่างที่ผู้เล่นสามารถแย่งพื้นที่จากอีกฝั่งไว้ได้ และจะส่งผลถึงโอกาสการทำประตู ณ จุดหนึ่งบนสนาม ในอีก 15 วินาทีข้างหน้า”

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจากทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะถูกส่งไปให้เจอร์เก้น คล็อปป์ เพื่อใช้ประกอบในการฝึกซ้อม และการวางแท็กติก ควบคู่กับมันสมองในเกมลูกหนังที่ยอดเยี่ยมของกุนซือชาวเยอรมันวัย 55 ปี

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างเช่นในเกมที่ลิเวอร์พูล บุกชนะท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ 1 – 0 เมื่อเดือนมกราคม 2020 ลิเวอร์พูลยิงขึ้นนำก่อนตั้งแต่ครึ่งแรก พอถึงช่วงท้ายเกมสเปอร์พยายามจะตีเสมอให้ได้

แต่แล้ว ลิเวอร์พูลได้ใช้เทคนิคให้ผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ทั้ง 10 คน ยืนแพ็คกันอยู่บริเวณกลางสนามด้วยระยะห่างกันไม่ถึง 20 หลา บีบให้สเปอร์ทำได้แค่ส่งบอลไปรอบ ๆ ไม่สามารถเจาะช่องเข้าไปได้จนจบการแข่งขัน

นอกจากนี้ ฟูลแบ็ก 2 ฝั่งทั้งแอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (ซ้าย) และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ (ขวา) มีการส่งบอลข้ามฝากให้กันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็มาจากโมเดล Pitch Control เช่นเดียวกัน

ความลับจากวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่ทรงพลังจนเห็นผลของจริงในสนาม มีส่วนช่วยให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2019/20 ต่อยอดจากแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อ 1 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

“ข้อมูล” เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรแรก ๆ ของพรีเมียร์ลีก ที่เห็นความสำคัญของ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ที่นำมากลั่นกรองจนตกผลึก และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จกับแชมป์ 6 รายการ ในยุคของกุนซือเจอร์เก้น คล็อปป์

จาก Data Science สู่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างบริษัท Zone7 ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นในทีม

และยังมีเครื่องมือจาก Neuro11 ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของสมองสำหรับนักเตะในการเล่นลูกนิ่ง เช่น ความเครียดในการเล่นจังหวะหนึ่ง, ท่าที่เหมาะสมที่สุดเมื่อต้องยิงฟรีคิก เตะมุม หรือจุดโทษ

เมื่อลิเวอร์พูลพิสูจน์ให้เห็นแล้วในช่วงปี 2019-2020 ทีมคู่แข่งสำคัญอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้แต่งตั้งลอรี่ ชอว์ อดีตนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มาเป็นทีมงานข้อมูลหลังบ้าน เมื่อช่วงต้นปี 2021

รวมถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคที่เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ ก็เริ่มที่จะแสดงความก้าวหน้า ด้วยการดึงโดมินิค จอร์แดน มาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Data Scientist คนแรกของสโมสร เมื่อปลายปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ก่อนคนอื่น จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ เพราะในโลกธุรกิจยุคสมัยใหม่ จะเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.liverpoolfc.com/news/cern-lfc-weird-journey-william-spearman-liverpools-lead-data-scientist

– https://www.liverpool.com/liverpool-fc-news/features/liverpool-transfer-news-jurgen-klopp-17569689

– https://theathletic.com/2041669/2020/09/09/meet-william-spearman-liverpools-secret-weapon-15-seconds/

– https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/harvard-physicist-opens-up-role-22959333

– https://zone7.ai/how-physicists-are-taking-on-the-challenge-of-interpreting-football-data/

https://www.bbc.com/news/business-56164159

– https://medium.com/the-spekboom/how-math-and-data-science-made-liverpool-the-best-team-on-the-planet-a72d50b325

Categories
Special Content

“คล็อปป์” กับปฏิบัติการสร้างลิเวอร์พูล “เน็กซ์-เจน” ไล่ล่าความสำเร็จช่วงสี่ปีถัดจากนี้

สองเดือนก่อน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้ขยายสัญญากับลิเวอร์พูลเพิ่มสองปีไปสิ้นสุดยังปี 2026 นั่นเท่ากับว่ายอดกุนซือเยอรมันวัย 55 ปี จะคุม “เดอะ เรดส์” นานสิบเอ็ดปีนับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่แทน เบรนแดน รอดเจอร์ส เมื่อเดือนตุลาคม 2015

สี่ซีซั่นถัดไปกับผลงานล่าสุดที่เกือบหอบสี่โทรฟี่สำคัญเข้าไปวางในตู้โชว์ถิ่นแอนฟิลด์ แม้ไม่ปริปากบอกออกมาแต่เชื่อว่า คลอปป์รู้ดีว่าเขาสามารถชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก, พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และลีก คัพ ในปีเดียวกันได้ นั่นหมายถึงขุมกำลังผู้เล่นต้องสมบูรณ์ครบเครื่องทั้งจำนวนและคุณภาพ ตัวจริงตัวสำรองทดแทนกันได้ เราจึงเห็นปฎิบัติการในตลาดนักเตะช่วง 1-2 ปีอย่างมีนัยยะ ลิเวอร์พูลภายใต้การนำของ จูเลียน วอร์ด ผู้อำนวยการด้านกีฬา จึงซื้อน้อยแต่เน้นถูกจุดถูกคน ยอมเปย์หนักเมื่อถึงเวลาอย่างกรณี ดาร์วิน นูนเญซ ที่จ่ายระดับสร้างสถิติสูงสุดใหม่ของสโมสร

ว่ากันว่า หงส์แดงจบภารกิจในตลาดปีนี้ไปแล้วหลังจากได้ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ มิดฟิลด์ตัวรุกวัย 19 ปี ทีมชาติโปรตุเกส ยู-21 จากฟูแลม, นูนเญซ กองหน้าวัย 22 ปี ทีมชาติอุรุกวัยจากเบนฟิกา และ คัลวิน แรมเซย์ แบ็คขวาวัย 18 ปี ทีมชาติสกอตแลนด์ ยู-21 จากอเบอร์ดีน รวมถึง หลุยส์ ดิอาซ ปีกซ้ายวัย 25 ปี ทีมชาติโคลอมเบียจากปอร์โต เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ลิเวอร์พูลวางแผนระดับ “บิ๊ก ดีล” อีกสิบสองเดือนข้างหน้าไว้เรียบร้อยสำหรับการเสริมตำแหน่งมิดฟิลด์กลางสนาม ซึ่งลือให้แซ่ดว่า “เอาแน่” กับ จูด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์วัย 18 ปี ทีมชาติอังกฤษของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซึ่งสามารถเล่นมิดฟิลด์ริมสนามทั้งซ้ายขวาด้วย

จะเห็นว่าระยะหลัง ลิเวอร์พูลเน้นเสริมผู้เล่นใหม่อายุไม่เกิน 25 ปีเพื่อเป็นการเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นแม้ตัวหลักที่นำความสำเร็จมาให้ยังอยู่และมีอายุยี่สิบปลายๆถึง 30 ปี

ถึงเวลา “คลอปป์” เปลี่ยนกระดูกสันหลังหงส์แดงใหม่

ย้อนเวลาไปยังปี 2015 โรแบร์โต เฟียร์มิโน เป็นหนึ่งในนักเตะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ใช้เป็นศูนย์กลางในการสร้างทีมหงส์แดงของเขา ฟอร์มกองหน้าทีมชาติบราซิลอยู่ในช่วงพีคด้วยวัยประมาณ 24 ปี 

กูรูลูกหนังบางคนมองว่า เฟียร์มิโนเป็นชิ้นแรกของกระดูกสันหลังของหงส์แดงยุคกุนซือเยอรมัน ตามมาด้วย เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ในเดือนมกราคม 2018 เป็นชิ้นที่สองด้วยสถิติค่าตัวแพงที่สุด(ขณะนั้น)ของสโมสร และหกเดือนต่อมา คล็อปป์ก็ได้ ฟาบินโญ และ อลิสซอน เบคเกอร์ เพื่อประกอบเป็นกระดูกสันหลังที่สมบูรณ์

ผลลัพธ์คือถ้วยชนะเลิศ แชมเปียนส์ ลีก, พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ, ยูฟา ซูเปอร์ คัพ และฟีฟา คลับ เวิลด์ คัพ อย่างละหนึ่งสมัยภายในเวลาเพียงสี่ปี ยังไม่นับตำแหน่งรองแชมป์ แต่ถึงเวลาที่คล็อปป์ต้องหาชิ้นส่วนเพื่อประกอบกระดูกสันหลังของลิเวอร์พูลขึ้นมาใหม่เพื่อสานต่อความสำเร็จอีกสี่ปีข้างหน้าตามระยะเวลาของสัญญา

ตอนนี้ เฟอร์มิโนและฟาน ไดจ์ค อายุ 30 ปีแล้ว อลิสซอน 29 และ ฟาบินโญ 28 แม้นายประตูเมืองกาแฟจะเล่นระดับท็อปได้นานกว่าคนอื่น แต่สักวันคล็อปป์ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาคนมารับหน้าที่แทน

เดอะ เรดส์ เพิ่งได้นูนเญซในวัยเพียง 22 ปี ซึ่งน่าจะเป็นกองหน้าแกนหลักให้ทีมจนถึงปลายทศวรรษ และสิบสองเดือนก่อนหน้า อิบราฮิมา โกนาเต เซ็นเตอร์แบ็ควัย 23 ปี ที่มีส่วนสูง 6 ฟุต 4 นิ้ว ได้ย้ายมาจาก แอร์เบ ไลป์ซิก เมื่อรวมกับอลิสซอน ก็เหลือกระดูกสันหลังชิ้นสุดท้ายที่คล็อปป์ต้องหามาให้ได้ ซึ่งสื่อมวลชนฟันธงเรียบร้อยแล้วว่า เขาจะรออีกหนึ่งปีเพื่อดึงเบลลิงแฮมมาจากดอร์ทมุนด์

ส่วนซาลาห์นั้น พิจารณาจากสภาพร่างกายน่าจะยังเล่นระดับสูงได้อีก 2-3 ปี เรื่องของสัญญาที่ยังเหลือถึงปลายเดือนมิถุนายน 2023 ก็ยังคลุมเคลือ มีความเป็นไปได้ที่ลิเวอร์พูลอาจปล่อยให้เขาหมดสัญญากลายเป็นฟรีเอเยนต์เนื่องจากสตาร์ทีมชาติอียิปสต์เรียกร้องค่าเหนื่อยใหม่สูงถึง 400,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ มากกว่าที่ได้รับตอนนี้ถึงสองเท่า ขณะที่ฟาน ไดจ์ค ซึ่งเป็นผู้เล่นหงส์แดงที่รับค่าจ้างสูงสุดตอนนี้ มีรายได้เพียง 220,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น

มาเนได้เก็บข้าวของย้ายไปร่วมถ้ำเสือที่บาเยิร์น มิวนิก เป็นที่เรียบร้อย เหลือเพียงเฟอร์มิโน ซึ่งน่าจะเป็นกองหน้าสามประสานรุ่นแรกคนเดียวที่ยังได้ไปต่อกับคลอปป์ กองหน้าเลือดแซมบาอาจพอใจที่จะต่อสัญญา 1-2 ปีและเรียกร้องค่าเหนื่อยที่ลิเวอร์พูลพอรับไหว

“คลอปป์” อาจกลับไปใช้แผน 4-2-3-1 เหมือนที่ดอร์ทมุนด์

ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ว่า มีเรื่องหนึ่งที่ “เดอะ เรดส์” รุ่นต่อไปของ เยอร์เกน คลอปป์ อาจเปลี่ยนไปนั่นคือ “ระบบการเล่น” จากเดิมหมากกระดาน 4-3-3 ซึ่งมีสามประสานกองหน้า โมฮาเหม็ด ซาลาห์, ซาดิโอ มาเน และโรแบร์โต เฟอร์มิโน เป็นดาราชูโรง แต่ฤดูกาล 2022-23 บรรดา “เดอะ ค็อป” อาจเห็นฟอร์แมท 4-2-3-1 มากขึ้น และอาจเข้ามาแทนที่ 4-3-3 เต็มตัวในอนาคต การเปลี่ยนแปลงนี้ก็เพื่อสนับสนุนกองหน้า “เน็กซ์-เจน” ให้งัดศักยภาพออกมาได้มากที่สุด

ย้อนกลับไปที่ปี 2016 หลังจากคลอปป์ทำงานที่แอนฟิลด์ได้หนึ่งปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่ายอย่างมีนัยยะจาก 4-2-3-1 ที่เขาใช้กับดอร์ทมุนด์และระยะแรกกับลิเวอร์พูล มาเป็น 4-3-3 ที่นำความสำเร็จมาให้กับสโมสรตลอดช่วงที่ผ่านมา

4-2-3-1 เอื้ออำนวยให้กุนซือเยอรมันวางมิดฟิลด์กลางสนามเพียงสองคนแทนสามคน ทั้งคู่จะมีหน้าที่รับผิดชอบลดน้อยลงเพื่อดูแลพื้นที่ตรงกลางจากหน้ากรอบเขตโทษระหว่างสองฝั่งสนามเท่านั้น

การเข้ามาของนูนเญซจากเบนฟิกาอาจทำให้คลอปป์กลับไปใช้ 4-2-3-1 หรืออย่างน้อยอาจได้เห็น 4-2-3-1 มากขึ้นในซีซั่นใหม่ บางทีอาจเริ่มจาก “ศึกแดงเดือด” กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในสนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ก็ได้

กูรูลูกหนังเยอรมันและแฟนบอลส่วนหนึ่งของบาเยิร์น มิวนิก รู้สึกผิดหวังที่ทีมเสือใต้ไม่พยายามที่จะดึงนูนเญซมาแทนโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ที่ขอขึ้นบัญชีย้ายทีมไปเรียบร้อยแม้เหลือสัญญาอีกหนึ่งปี โดยก่อนหน้าย้ายมาอยู่กับมหาอำนาจลีกเมืองเบียร์ ศูนย์หน้าทีมชาติโปแลนด์คือคนสำคัญของคลอปป์ในทีมดอร์ทมุนด์ ด้วยสไตล์ที่คล้ายคลึงของเลวานดอฟสกีและนูนเญซทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า นูนเญซคือเลวานดอฟสกีคนใหม่ของคลอปป์ในยูนิฟอร์มสีแดง นั่นทำให้ 4-2-3-1 ถูกหยิบมาใช้อีกครั้ง

หรือระหว่างรอ เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ตัวความหวัง แผน 4-2-3-1 ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลย คลอปป์มีแนวรุกเหลือเฝือที่จะให้อยู่ข้างหลังนูนเญซจากนั้นเลือกกองกลางสองคนจาก ฟาบินโญ, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เธียโก อัลกันตารา, นาบี คิเอตา และ เจมส์ มิลเลอร์ ส่วน เคอร์ติส โจนส์ อาจถ่างออกไปด้านข้างฝั่งซ้ายซึ่งเขาทำได้ดีไม่แพ้กลางสนาม

ใครจะอยู่ข้างหลังนูนเญซบนหมากกระดาน 4-2-3-1 คลอปป์มีตัวเลือกหลายคนขึ้นอยู่กับว่าต้องการเพลย์เมคเกอร์ เบอร์สิบ หรือหน้าต่ำ ตัวซัพพอร์ทศูนย์หน้า ซึ่งเฟอร์มิโนรับจ็อบทั้งสองอย่างสบาย หรืออัลกันตาราที่เพียบพร้อมด้วยเทคนิคและครีเอทีฟ พร้อมลงตำแหน่งเบอร์สิบ แม้กระทั่งนักเตะหนุ่ม ฮาร์วีย์ เอลเลียต และ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ บางทีเบอร์สิบอาจเหมาะกับทั้งคู่ที่มีเล่นได้สารพัดประโยชน์กับแผน 4-3-3 หรือถ่างออกพื้นที่กว้างของ 4-2-3-1

ตัวเลือกอีกคนคือ ดีโอโก โซตา ซึ่งบางครั้งเคยทำหน้าที่ใกล้เคียงกันในทีมวูลฟ์แฮมป์ตัน อยู่ข้าง ๆ หรือด้านหลัง ราอูล ฆิเมเนซ ที่เป็นศูนย์หน้าตัวเป้า อย่างซีซั่นที่แล้วโซตาแสดงให้เห็นสัญชาติญาณจบสกอร์ในเขตโทษแถมมีการเล่นลูกกลางอากาศได้น่าประทับใจ ลองจิตนาการการรอโหม่งของโซตาที่อยู่หลังนูนเญซ ซึ่งรองรับหมากเกม 4-2-4 ของคลอปป์ในจังหวะที่ต้องไล่ล่าประตูเพิ่มได้ โดยฤดูที่แล้ว โซต้าและนูนเญซทำสกอร์จากศีรษะคนละ 6 ประตูให้กับต้นสังกัด หรือคลอปป์อาจปรับให้ เทรนท์ อเลกซานเดอร์-อาร์โนลด์ เข้าไปอยู่แดนกลางมากกว่ารอจังหวะโอเวอร์แลป ซึ่งจะกลายเป็น 2-3-5

หากคล็อปป์ยังยึดมั่นกับ 4-3-3 ต่อไป เขาสามารถมอบหมายให้นูนเญซเล่นปีกซ้ายเปิดบอลไปให้ศูนย์หน้า เฟอร์มิโนหรือ ดีโอโก โซตา หรืออาจเป็น 4-4-2 เพราะที่ลีกโปรตุเกส นูนเญซเคยยืนกองหน้าคู่เพื่อเปิดโอกาสให้ลิเวอร์พูลแพ็คแดนกลางให้แน่นขึ้น

ความจริงแล้วนูนเญซเป็นกองหน้าสารพัดประโยชน์ เล่นได้ทั้งศูนย์หน้าตัวเป้า, หน้าต่ำ และปีกซ้าย จึงน่าติดตามทีเดียวว่า คลอปป์จะใช้ลูกทีมใหม่ค่าตัว 85 ล้านปอนด์อย่างไร เมื่อรวมกับเหล่าลูกทีมเจนเนอเรชั่นต่อไปที่เข้ามาแอนฟิลด์ช่วงหลัง จะทำให้คลอปป์วางหมากเกมได้หลากหลายรูปแบบขึ้น ช่วยสร้างความตื่นตาตื่นใจกับการรับชมเกมบนฟลอร์หญ้าของสาวกหงส์แดงอย่างแน่นอน

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา