Categories
Football Business

แฟร์เพลย์ทางการเงิน : เปิดเพดานค่าใช้จ่ายของสโมสรในลาลีกา ช่วงต้นปี 2022

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ลาลีกา ลีกฟุตบอลอาชีพของสเปน ได้ออกมาเปิดเผยงบการเงินของ20 สโมสรในดิวิชั่น 1 (LaLiga Santander) และ 22 สโมสรในดิวิชั่น 2 (LaLiga Smartbank)

หลังจากที่ตลาดซื้อ-ขายนักเตะช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ปิดทำการเรียบร้อย แต่ละสโมสรได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน ซึ่งส่งผลถึงเพดานค่าใช้จ่ายที่ถูกกำหนดไว้ ตามกฎควบคุมการเงินของลาลีกา

แล้วมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ส่งผลอย่างไรกับวงการลูกหนังแดนกระทิงดุ วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

“ลา คอรุนญ่า” จากฟ้าสู่เหว

ในวงการฟุตบอลสเปน เคยมีสโมสรหนึ่งที่ล่มสลายเพราะปัญหาการเงิน นั่นคือเดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า สโมสรจากแคว้นกาลีเซีย ที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุด ถึงขั้นคว้าแชมป์ลาลีกามาแล้วเมื่อปี 2000

ยุครุ่งเรืองของลา คอรุนญ่า เป็นช่วงที่เอากุสโต้ เซซาร์ เลนดอยโร่ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร เขาเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานอย่างสูง ในการพาลา คอรุนญ่า ประสบความสำเร็จให้ได้

ความสำเร็จของ “ซูเปอร์เดปอร์” ในยุคของประธานเลนดอยโร่ นอกจากแชมป์ลาลีกาครั้งเดียวในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อ 22 ปีก่อนแล้ว ยังมีแชมป์โคปา เดล เรย์ 1 สมัย และแชมป์สแปนิช ซูเปอร์คัพ 3 สมัย

กระทั่งในปี 2005 ลา คอรุนญ่า ไม่สามารถทำอันดับเพื่อคว้าสิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และฆาเบียร์ อีรูเรต้า ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ยุคทองของลา คอรุนญ่า ก็สิ้นสุดลง

https://today.line.me/th/v2/article/l8BD0L

การที่ลา คอรุนญ่า ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทำให้สโมสรขาดรายได้ก้อนโต อีกทั้งหนี้สินที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ท้ายที่สุด ลา คอรุนญ่า ก็ไม่สามารถฝืนความจริงอันโหดร้ายได้ ต้องตกชั้นจากลาลีกา ในฤดูกาล 2010/11 ตามมาด้วยหนี้สินที่พุ่งสูงถึง 160 ล้านยูโร ส่งผลให้เลนดอยโร่ ประธานสโมสรต้องออกจากตำแหน่ง

ถึงแม้จะเลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุดได้พักใหญ่ๆ แต่ก็ต้องตกชั้นกลับลงไปอีก และร่วงลงสุดขีดถึงขั้นลงไประดับดิวิชั่น 3 ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า จะกลับขึ้นสู่จุดนั้นได้อีกเมื่อไหร่

แชมป์ในสนาม แต่ช้ำนอกสนาม

เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถึงแม้จะเป็น 2 สโมสรที่คว้าโทรฟี่มากที่สุดในวงการลูกหนังสเปน แต่สิ่งที่ทั้งคู่ประสบปัญหาไม่ต่างกันเลยคือ ปัญหาภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี

แน่นอนว่า ทั้งเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในสนามและนอกสนาม เพื่อแย่งชิงความสำเร็จ เพราะแฟนบอลทั้ง 2 ทีมคงยอมไม่ได้ ถ้าพ่ายแพ้ให้กับคู่ปรับตลอดกาล

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ได้รับผลกระทบหนักพอสมควร จากการที่สโมสรไม่มีรายรับ มีแต่รายจ่าย ส่งผลให้ทั้งคู่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

https://web.facebook.com/RealMadrid

เริ่มกันที่เรอัล มาดริดกันก่อน ภาวะหนี้สินของยักษ์ใหญ่จากเมืองหลวงของสเปน เกิดจากนโยบาย “กาลาติกอส” ของฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสร ที่ใช้เงินซื้อนักเตะระดับเวิลด์คลาสเข้าสู่ทีมมากมาย

นับจนถึงปัจจุบัน ราชันชุดขาวมีหนี้สินมากถึง 651 ล้านยูโร เกิดจากการแบกรับค่าเหนื่อยนักเตะที่มหาศาล อีกทั้งมีการปิดปรับปรุงสนามซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด

แต่ทีมที่สาหัสกว่า ก็เห็นจะเป็นบาร์เซโลน่า ที่มียอดหนี้สินพุ่งสูงถึง 1 พันล้านยูโร แถมยังค้างค่าตัวนักเตะจากสโมสรอื่นๆ หลายคน ซึ่งยอดหนี้สินจำนวนนี้ มีความสุ่มเสี่ยงอาจถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว

นอกจากปัญหาโควิด-19 แล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้บาร์ซ่ามีหนี้สินท่วมท้นขนาดนี้ เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดในยุคที่โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว เป็นประธานสโมสรในช่วงระหว่างปี 2014-2020

บาร์โตเมว มีนโยบายซื้อนักเตะราคาแพง สมกับฉายา “เจ้าบุญทุ่ม” โดยจ่ายเงินไปเกือบ 1 พันล้านยูโร แต่ต้องแลกมาด้วยการแบกภาระค่าเหนื่อยของผู้เล่นที่สูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ทั้งหมด

เมื่อสถานะทางการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้มีความพยายามในการลดรายจ่ายให้ได้มากที่สุด ซึ่งหนึ่งในแนวคิดในการลดรายจ่ายคือ การปล่อยตัวลิโอเนล เมสซี่ ออกจากสโมสร

แน่นอนว่า การปล่อยซูเปอร์สตาร์หมายเลข 1 ของทีมอย่างเมสซี่ เป็นสิ่งที่สาวกอาซุลกราน่า ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุด เมสซี่เป็นฝ่ายที่ต้องออกจากสโมสร ทิ้งผลงานที่ยิ่งใหญ่ให้แฟนๆ ได้จดจำ

เมื่อบาร์ซ่าไม่สามารถรั้งเมสซี่ไว้ได้ ทำให้บาร์โตเมว ต้องอำลาตำแหน่ง พร้อมกับส่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารที่ผิดพลาด ไปให้โจน ลาปอร์ต้า ที่กลับมารับตำแหน่งประธานสโมสรอีกครั้ง

จากภาวะหนี้สินที่ท่วมท้น นั่นทำให้ 2 ยักษ์ใหญ่ของสเปน ตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจค “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” ร่วมกับอีก 10 สโมสรชั้นนำของยุโรป เพื่อหวังรายได้ที่เข้ามาอย่างจุใจ แต่โปรเจคนี้ก็ถูกล้มในที่สุด

ตัวอย่างจากการที่สโมสรฟุตบอลระดับยักษ์ใหญ่ของวงการ ใช้จ่ายเงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง จนเกิดหนี้สิน แล้วคิดว่าในอนาคตจะมีเงินเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย คือหลักความคิดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง

ควบคุมการเงินเพื่อความยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา สโมสรในลาลีกาได้ลงมติเห็นชอบให้มีการกำหนดกรอบควบคุมการเงินและหนี้สิน เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรใช้จ่ายเงินแบบเกินตัว และส่งผลถึงความยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับกรอบควบคุมการเงินของลาลีกานั้น จะแตกต่างจากกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ ของยูฟ่า โดยจะมีการวิเคราะห์สภาพการเงิน โดยใช้เพดานค่าใช้จ่ายที่แต่ละสโมสรจะนำไปใช้จ่ายล่วงหน้าได้

จาก 20 สโมสรในลีกสูงสุด มีถึง 12 ทีม ที่สามารถเพิ่มเพดานในการใช้จ่ายที่มากขึ้น, มี 7 ทีม ที่ถูกลดเพดานค่าใช้จ่ายลง และเรอัล มาดริด เป็นทีมที่ทีเพดานสูงสุด คือ 739 ล้านยูโร ซึ่งเท่ากับช่วงซัมเมอร์ปี 2021

ฆาเบียร์ โกเมซ ผู้อำนวยการทั่วไปของลาลีกา แถลงว่า “สถานการณ์ทางการเงินเมื่อเทียบกับช่วงซัมเมอร์ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะแต่ละสโมสรได้ประเมินถึงความสูญเสียที่อาจมากกว่าความเป็นจริง”

บาร์เซโลน่า เป็นเพียงสโมสรเดียวใน 44 สโมสรของลาลีกาทั้ง 2 ดิวิชั่น ที่มีตัวเลขติดลบมากถึง 144 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับช่วงตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีที่แล้ว ที่ยักษ์ใหญ่แห่งคาตาลัน มีสิทธิ์ใช้จ่ายได้สูงสุด 97 ล้านยูโร

ตามกฎข้อที่ 100 ของลาลีการะบุว่า อนุญาตให้สโมสรใช้จ่ายเงินที่สูงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ถ้าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ก็จะได้รับอนุญาตให้ใช้จ่ายได้ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจยืดหยุ่นได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

โกเมซ ได้อธิบายถึงกฎ 1 ใน 4 ว่า “ลาลีกาสนับสนุนให้ทุกสโมสรมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพทางการเงินในด้านบวก ทางลาลีกาอนุญาตให้ซื้อผู้เล่นได้ แต่มีเงื่อนไขบางประการ”

“เมื่อสโมสรมีการซื้อผู้เล่นใหม่ เราจะบังคับให้มีการตัดค่าใช้จ่ายพร้อมกับการซื้อผู้เล่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากสโมสรสามารถประหยัดเงินได้ 100 ล้านยูโร ก็จะอนุญาตให้ใช้จ่ายได้ 25 ล้านยูโร”

ผลจากการกำหนดกรอบควบคุมค่าใช้จ่ายและหนี้สินของลาลีกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ สโมสร ค่อยๆ เพิ่มเพดานในการใช้จ่ายที่มากขึ้น และหนี้สินของแต่ะสโมสรเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ถึงแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมฟุตบอลทั่วโลกได้รับผลกระทบ แต่ทั้ง 44 สโมสร จาก 2 ดิวิชั่นของลาลีกา ก็สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตดังกล่าวได้

โกเมซ สรุปปิดท้ายว่า “เราไม่มีความกังวลเลย ถึงแม้ว่าบางสโมสรอย่างเช่น บาร์เซโลน่า อาจมีปัญหามากกว่าสโมสรอื่นๆ แต่เราก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและหนี้สินนั้นได้ผลที่ดี”

ในวงการฟุตบอล การบริหารจัดการเงิน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกสโมสรฟุตบอลในโลก ความทะเยอทยานที่มาพร้อมกับวินัยทางการเงิน จะช่วยให้สโมสรฟุตบอลอยู่รอดได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Marca

อ้างอิง :

– https://www.fourfourtwo.com/features/deportivo-coruna-la-liga-segunda-champions-league-title-1999-2000

– https://theathletic.com/1432334/2019/12/05/this-is-the-worst-crisis-in-our-history-and-we-must-act-before-it-is-too-late-how-deportivo-went-from-title-winners-to-the-verge-of-oblivion-in-20-years/

– https://www.fcbarcelona.com/en/club/news/1856468/the-201920-economic-year-ends-with-losses-of-97-million-euros-caused-by-the-effects-of-covid-19

– https://www.marca.com/en/football/barcelona/2022/03/14/622f3bd8ca4741dc348b45f7.html