Categories
Column

การกลับมาของ “เชซุส” จอมกระซวกตาข่ายใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค.2022) สปอตไลท์ถูกส่องไปที่คิง พาวเวอร์ สเตเดี้ยม สนามแข่งขันเอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์ ครั้งที่ 100 เพื่อจับฟอร์มของสองสตาร์กองหน้าที่เพิ่งย้ายเข้ามาพรีเมียร์ลีกด้วยราคาแพงและตกเป็นข่าวดัง เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ กับ ดาร์วิน นูนเญซ แต่วันเดียวกัน กาเบรียล เชซุส กองหน้าที่ย้ายทีมในตลาดรอบเดียวกันด้วยค่าตัว 45 ล้านปอนด์ ลงเล่นในบ้านใหม่ เอมิเรตส์ สเตเดียม เป็นครั้งแรก และสามารถระเบิดฟอร์มทำแฮททริกต่อหน้ากองเชียร์อาร์เซนอล

เชซุส กองหน้าทีมชาติบราซิลวัย 25 ปี ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายในนาทีที่ 13, 15 และ 77 ช่วยให้อาร์เซนอลถลุงเซบีญา ทีมอันดับ 4 ลาลีกา 6-0 ครองแชมป์รายการเอมิเรตส์ คัพ นั่นทำให้รวมแล้ว เชซุสทำไป 7 ประตูจาก 5 นัดอุ่นเครื่องปรีซีซัน ซึ่งอาร์เซนอลชนะร้อยเปอร์เซ็นต์ เนิร์นแบร์ก 5-3, เอฟเวอร์ตัน 2-0, ออร์แลนโด ซิตี 3-1, เชลซี 4-0 และเซบีญา 6-0

อาร์เซนอล ทุ่มเงิน 45 ล้านปอนด์ซื้อเชซุส ซึ่งค้าแข้งห้าปีครึ่งกับแมนฯ ซิตี หลังย้ายมาจากพัลไมรัสในเดือนมกราคม 2017เพื่อมาทดแทนสองกองหน้าคนสำคัญ ปีแยร์-แอเมริก โอบาเมย็อง และ อาแล็กซ็องดร์ ลากาแซ็ต ซึ่งย้ายไปร่วมทีมบาร์เซโลนาและลียง ทีมปืนใหญ่ได้มอบเสื้อเบอร์ 9 ให้กับเชซุส ซึ่งสามารถทำประตูหลังถูกเปลี่ยนลงสนามเพียง 90 วินาทีของนัดแรกในสีเสื้อเดอะ กันเนอร์ส ที่ประเทศเยอรมนี

เชซุส ให้สัมภาษณ์กับชีวิตใหม่ในกรุงลอนดอนว่า “ผมเคยคิด (เรื่องย้ายออกจากแมนฯ ซิตี) ได้สัก 1-2 ปีแล้ว การย้ายมาอยู่ที่อาร์เซนอลถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมา”

“ผมอยากเล่นฟุตบอลโดยมีรอยยิ้มบนใบหน้าอีกครั้ง คุณแม่ได้โทรศัพท์มาหาผมหลังดูการแข่งขันของเรา (พบออร์แลนโด) ท่านพูดว่า แม่เห็นลูกเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ลูกกำลังเล่นฟุตบอลด้วยความสุขอีกครั้ง ผมตื้นตันใจมากที่ได้ยินแบบนั้น”

“ทุกคนในสโมสรให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี ผมอายุมากกว่านักเตะส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 ปี แต่พวกเขามองผมเป็นผู้เล่นที่ผ่านประสบการณ์มามาก ผมชอบนะ ผมชอบที่จะเป็นต้นแบบให้กับนักฟุตบอลคนอื่น”

“เอดู” ต้องการ “เชซุส” คนก่อนหน้าฤดูกาล 2021-22

เอดู ผู้อำนวยการด้านฟุตบอลของอาร์เซนอล ซึ่งเข้ามาทำงานที่ถิ่นเอมิเรตส์ในเดือนกรกฎาคม 2019 อยู่เบื้องหลังการดึงตัวเชซุสมาจากแมนฯ ซิตี เขาคุ้นเคยเชซุสเมื่อครั้งทำหน้าที่ประสานงานทั่วไปให้กับทีมชาติบราซิลระหว่างปี 2016 – 2019

“ผมทำงานกับกาเบรียลที่ทีมชาติบราซิล ผมรู้จักทั้งเขาและทุกคนในครอบครัวของเขา นั่นทำให้ผมตัดสินใจไปคุยกับครอบครัวเขาด้วย มีเรื่องหนึ่งที่ผมพูดกับเขาและเอเยนต์ชอบมาก ผมบอกว่า กาเบรียล…ผมมาที่นี่ (แมนเชสเตอร์) และพยายามเซ็นสัญญากับคุณ แต่ไม่ใช่กาเบรียลจากซีซั่นนี้ (ฤดูกาล 2021-22) แต่เป็นกาเบรียลจากซีซั่นอื่นเพราะซีซั่นนี้ คุณไม่ได้เล่นอย่างที่ผมเคยรู้จัก คุณสูญเสียแสงที่เคยเปล่งประกาย ตอนที่เห็นคุณในซีซั่นนี้มันไม่ใช่ตัวคุณอย่างที่เคยเป็น ซึ่งผมรู้จักคุณเป็นอย่างดี ผมต้องการกาเบรียลคนก่อนหน้านี้ และคุณจะต้องกลับมาเป็นกาเบรียลคนเดิม

“เขามองผมแล้วพูดว่า คุณพูดถูก” ผู้บริหารวัย 44 ปี ชาวบราซิล กล่าวทิ้งท้ายถึงเชซุส ซึ่งกลับมาเป็นนักเตะคนเดิมที่เล่นด้วยความสุขอีกครั้ง

“โอเดการ์ด” เป็นนักเตะที่ช่วยงัดฟอร์มเก่งของ “เชซุส” คืนมา

มิเกล อาร์เตตา ผู้จัดการทีมวัย 40 ปี ให้ความเห็นว่า มาร์ติน โอเดการ์ด กัปตันทีมคนใหม่ของอาร์เซนอล มีส่วนสำคัญช่วยยกระดับการเล่นของเชซุสให้สูงขึ้นทั้งที่เพิ่งเข้าร่วมทีมได้ไม่นาน

“มาร์ตินเป็นคนช่วยให้แก๊บบีดีขึ้น มาร์ตินจำเป็นต้องมีตัวอันตรายอยู่ข้างหน้าเพราะเขาเป็นผู้เล่นที่ต้องจ่ายบอลสุดท้ายไม่จังหวะใดก็จังหวะหนึ่งไม่ว่ากำลังอยู่ในพื้นที่เปิดหรือไม่ ที่ผ่านมาเรามองหาคนที่จะเข้ามาพัฒนาทีมด้วยสิ่งที่เราไม่เคยมีมาก่อน และตอนนี้การเชื่อมโยงระหว่างมาร์ตินและแก๊บบีได้เกิดขึ้นแล้ว”

อิดริส เอลบา นักแสดงดังที่รับบทไฮม์ดัลล์ในหนังแฟรนไชส์เรื่อง ธอร์ และ อเวนเจอร์ส ซึ่งเป็นสมาชิก “กูเนอร์ส” นานหลายปี ให้ความเห็นถึงนักเตะเบอร์ 9 คนใหม่ของอาร์เซนอลว่า เชซุสเป็นผู้เล่นที่เข้ามาเพิ่มเติมเสน่ห์ความเร้าใจให้กับอาร์เซนอลที่เล่นบอลได้สนุกตื่นเต้นมากขึ้น

“การเซ็นสัญญา (กับเชซุส) จะเพิ่มเติมความเซ็กซี่และความเร้าใจให้กับทีม เขาเป็นกองหน้าที่สามารถอธิบายคุณค่าด้วยเบอร์เสื้อของตัวเอง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้นักเตะคนอื่นๆมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น”

“ผมยังคิดว่าฤดูก่อน เราเป็นทีมที่แข็งแกร่ง การพลักดันช่วงควอเตอร์สุดท้ายของซีซั่นสร้างความตื่นเต้นมากเพียงแต่เราไม่ได้จบด้วยอันดับที่ต้องการ แต่ผมยังเป็นกูเนอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

“เชซุส” เพิ่มทางเลือกและการยืดหยุ่นให้กับเกมบุก “อาร์เซนอล”

นอกจากเชซุสแล้วยังมีนักเตะใหม่อีกสองคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีมอาร์เซนอลอย่างมีนัยยะคือ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโกแบ็คซ้ายราคา 30 ล้านปอนด์จากแมนฯ ซิตี และ ฟาบิโอ วิเอรา มิดฟิลด์ตัวรุกวัย 30 ปีจากปอร์โต

เชซุสเล่นได้ทั้งศูนย์หน้าตัวเป้าและกองหน้าริมเส้น ซินเชนโกไม่เพียงรับหน้าที่แบ็คและวิงแบ็คแต่เป็นมิดฟิลด์ตัวรุกและกลางสนาม วิเอราสามารถลงทุกตำแหน่งในแดนกลาง ทั้งสามช่วยเพิ่มอ็อปชั่นและความยืดหยุ่นให้กับการวางหมากเกมของอาร์เตตา

สมัยสวมเสื้อแมนฯ ซิตี เป๊ป กวาร์ดิโอลา กำกับเชซุสให้เล่นกองหน้าด้านข้างหรือฟอลส์ไนน์แม้ตำแหน่งที่ถนัดของเขาคือศูนย์หน้าตัวเป้า แต่เมื่อย้ายมาสวมเสื้ออาร์เซนอล อาร์เตตามีแผนให้เชซุสเล่นบทบาทเบอร์ 9 แต่กองหน้าทีมชาติบราซิลสามารถถอยลงต่ำหรือเคลื่อนที่ไปด้านข้างเพื่อรับบอลและเพิ่มมิติให้กับเกมรุกของทีมปืนใหญ่

ตัวอย่างเกมชนะเซบียา อาร์เตตาใช้แผน 3-4-1-2 ให้เชซุสยืนกองหน้าคู่กับ กาเบรียล มาร์ติเนลลี หรือเกมที่ถลุงเชลซี กุนซือสเปนเปลี่ยนเป็นฟอร์แมท 4-2-3-1 โดยมีเชซุสยืนตำแหน่งหัวหอก หรือบางจังหวะที่ใช้ระบบ 4-3-3 เชซุสสามารถลงต่ำจากฟรอนท์ไลน์และสร้างพื้นที่ให้โอเดการ์ดหรือซากาเข้าโจมตีทะลุทะลวง

ด้วยวัย 25 ปี เชซุสมีเทคนิคแพรวพราว เป็นตัวอันตรายในกรอบเขตโทษ สามารถเล่นบอลขณะหันหลังให้ประตู เคลื่อนไหวเพื่อดึงตัวประกบ และมองหาพื้นที่ว่างเพื่อรับบอล

เกมอุ่นเครื่องปรีซีซัน 5 นัดเป็นเพียงออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อยของบรรดาเดอะ กูเนอร์ส เชซุสจะเริ่มเสิร์ฟอาหารจานหลักที่เอร็ดอร่อยตั้งแต่วันศุกร์นี้ (5 ส.ค.2022) ซึ่งอาร์เซนอลจะออกไปเปิดฤดูกาลใหม่ของพรีเมียร์ลีกที่สนามของคริสตัล พาเลซ

Categories
Column

ทีมรวมดาราพรีเมียร์ลีก “ย้ายทีมสุดคุ้ม? ตลาดซัมเมอร์ 2022”

ตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีนี้ผ่านไปแล้วเกือบสองเดือน พรีเมียร์ลีกมีการเซ็นสัญญาย้ายทีมที่น่าสนใจหลายคนโดยเฉพาะกองหน้านำโดยผู้เล่นไฮโปรไฟล์อย่าง เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ และไฮไพรซ์อย่างดาร์วิน นูนเญซ ซึ่งทำลายสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดของลิเวอร์พูล รวมถึงตัวท็อปของลีก ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, กาเบรียล เชซุส, ริชาร์ลิซอน, จิอันลูกา สกามัคกา ที่ข้ามฟากมาจากเซเรีย อา หรือตัวเก๋าที่คัมแบ็คเมืองผู้ดีอย่างเป็นทางการ ฟิลิเป คูตินโญ เป็นต้น

หากให้จัดทีม Best Transfers XI หรือรวมดาราผู้เล่นที่ย้ายทีมในตลาดรอบนี้ (แม้ยังไม่ปิดทำการ) คงเป็นโจทย์ที่ต้องใช้จินตนาการสูงเพราะฤดกาลใหม่ยังไม่เริ่มทำการแข่งขัน คงต้องพิจารณาจากฟอร์มอุ่นเครื่องปรีซีซัน และอิทธิพลทางบวกที่คาดว่าจะมีต่อต้นสังกัดใหม่ว่ามีแววเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพียงไหน

เริ่มที่สามประสานแนวรุกในระบบ 4-3-3 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเล่นยอดนิยมยุคปัจจุบัน ตำแหน่งศูนย์หน้าตัวเป้าควรตกเป็นของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ที่ราคาก้อนแรกยังไม่รวมโบนัสแอดออนที่แมนฯ ซิตี้ จ่ายไปให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตกเพียง 51ล้านปอนด์สำหรับว่าที่ซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 2020 แถมยังเป็นผู้เล่นเบอร์ 9 ตัวจริงเสียงจริงที่เป๊ป กวาร์ดิโอลา เฝ้ารอนานหนึ่งปีเต็มหลังล่าลายเซ็นของแฮร์รี เคน ไม่สำเร็จ

กองหน้าตัวซ้ายได้แก่ กาเบรียล เชซุส ที่ย้ายจากแมนฯซิตีด้วยค่าตัว 45 ล้านปอนด์ สามารถสร้างอิมแพ็คให้กับแนวรุกทีมอาร์เซนอล เขาส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายไปแล้ว 4 ประตูจากการอุ่นเครื่อง 3 นัด อีกทั้งเป็นหนึ่งตัวเต็งที่จะครอบครอง “โกลเดน บู๊ท” ในฐานะดาวซัลโวสูงสุดของพรีเมียร์ลีก

กองหน้าตัวขวาได้แก่ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง สตาร์กองหน้าอีกคนหนึ่งที่ย้ายออกจากถิ่นเอติฮัด และเพิ่มเงินเข้ากองคลังแมนฯซิตี สูงถึง 50 ล้านปอนด์ ปีกทีมชาติอังกฤษไม่ได้รับโอกาสมากนักในซีซันที่ผ่านมาแต่ก็ไม่เคยทำให้กวาร์ดิโอลาผิดหวังทุกครั้งส่งลงสนาม รวมถึงนัดปิดซีซั่นที่ทำแอสซิสต์ประตูแรกช่วยตีไข่แตกให้ทีมเรือใบสีฟ้า ซึ่งแซงชนะแอสตัน วิลลา 3-2 คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างระทึกใจ เชื่อได้ว่าสเตอร์ลิ่งจะช่วยเพิ่มมิติและทางเลือกให้กับทีมเชลซีของโธมัส ทูเคิล อย่างแน่นอน พร้อมเป็นอีกคนที่มีลุ้นรองเท้าทองคำ

มาถึงกองกลาง คัลวิน ฟิลลิปส์ มิดฟิลด์เนื้อหอมที่แมนฯ ซิตี จีบสำเร็จและจ่ายเงินให้ลีดส์ ยูไนเต็ด ไป 42 ล้านปอนด์ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทีมรวมดารา แต่เมื่อชั่งน้ำหนักผลตอบแทนแล้ว อีฟส์ บิสซูมา ที่ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซื้อจากไบรท์ตันในราคา 26 ล้านปอนด์ น่าจะสร้างความพึงพอใจอย่างมากแก่อันโตนิโอ คอนเต

ขนาบข้างด้านขวาของบิสซูมาคือ คริสเตียน อีริคเซน ที่แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ตัวมาฟรีๆ เอริค เทน ฮาก คงปวดหัวที่จะตัดสินใจเลือกบทบาทไหนให้มิดฟิลด์เวิลด์คลาสรายนี้ที่เล่นได้ทั้งเบอร์สิบ เบอร์แปด และมิดฟิลด์ริมเส้น เช่นเดียวกับ ลิซานโดร มาร์ติเนซ เซ็นเตอร์แบ็คร่วมทีมปีศาจแดงที่ย้ายจากอาแจ็กซ์ในราคา 46 ล้านปอนด์ เพราะ “นักเชือดแห่งอัมสเตอร์ดัม” สามารถเล่นได้ถึงสี่ตำแหน่ง

มิดฟิลด์ด้านซ้ายคือ โจ อารีโบ ของเซาแธมป์ตัน สตาร์ทีมชาติไนจีเรียที่ย้ายมาจากเรนเจอร์สในสกอตติช พรีเมียร์ชิพ เขาจะช่วยยกระดับการต่อสู้ในแดนกลางกับคู่แข่งอีก 19 ทีมในพรีเมียร์ลีกของทีมนักบุญแดนใต้ได้อย่างแน่นอน

สำหรับปราการหลังคู่กลาง มาร์ติเนซยืนฝั่งซ้าย และเป็นเซ็นเตอร์แบ็คถนัดซ้ายที่ทีมปีศาจแดงตามหามานาน ฝั่งขวาของทีมรวมดาราตกเป็นของ คาลิดู คูลิบาลีย์ กำแพงเหล็กทีมชาติเซเนกัลจากนาโปลีที่หลายสโมสรชั้นนำหมายปองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเป็นทีมเชลซีที่ได้ลายเซ็นไปในที่สุด การมาของคูลิบาลีย์ช่วยให้ทูเคิลคลายความกดดันที่เสียอันโตนิโอ รูดิเกอร์ และอันเดรียส คริสเตนเซน ไปได้มาก

อาร์เซนอลเป็นทีมหนึ่งที่เสริมทีมได้น่าจับตา นอกเหนือเชซุส ทีมปืนใหญ่ยังได้ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก จากแมนฯซิตี แบ็คซ้ายทีมชาติยูเครนไม่เพียงมาแทน คีแรน เทียร์นีย์ ซึ่งระยะหลังมีปัญหาบาดเจ็บ แต่เขายังสามารถเล่นวิงแบ็คและมิดฟิลด์ตัวรุกได้อีกด้วย

ในบรรดาสมาชิกใหม่ของสเปอร์ส ริชาร์ลิซอน มีค่าตัวแพงที่สุดคือ 60 ล้านปอนด์ กองหน้าบราซิลเก่งแน่นอนแต่คงสร้างอิมแพ็คให้กับทีมไก่เดือยทองน้อยกว่า ดีเจค สเปนซ์ ถ้านำค่าตัวเข้ามาชั่งน้ำหนักด้วย แบ็คขวาวัย 21 ปีของมิดเดิลสโบรห์ ที่ถูกปล่อยยืมและช่วยให้ฟอเรสต์เลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบ 23 ปี เป็นการลงทุนมูลค่าเพียง 20 ล้านปอนด์ที่สร้างกำไรให้สเปอร์สแน่นอน

มาถึงตำแหน่งสุดท้าย ผู้รักษาประตู ทีมมหาเศรษฐีใหม่อย่างนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด จ่ายเงินให้เบิร์นลีย์เพื่อแลกกับ นิค โป๊ปนายทวารทีมชาติอังกฤษ เพียง 10 ล้านปอนด์เท่านั้น

สรุปทีมรวมดารา Best Transfers XI ประจำตลาดซัมเมอร์ปี 2022

ผู้รักษาประตู : นิค โป๊ป

กองหลัง : ดีเจด สเปนซ์, คาลิดู คูลิบาลีย์, ลิซานโดร มาร์ตินเนซ, โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก

กองกลาง : คริสเตียน อีริคเซน, อีฟส์ บิสซูมา, โจ อารีโบ

กองหน้า : ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, กาเบรียล เชซุส

Categories
Column

“เปริซิช และ สเปอร์ส” ความท้าทายสูตรเด็ด “สามสิบยังแจ๋ว”

แม้ได้มาฟรีกับค่าเหนื่อยไม่ถึงหนึ่งแสนปอนด์ต่อสัปดาห์ แต่มีคำถามผุดขึ้นมาว่า อิวาน เปริซิช ในวัย 33 ปี ช่วงปลายอาชีพค้าแข้ง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไหมสำหรับ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ทีมอันดับ 4 บนตารางพรีเมียร์ลีก

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ประกาศข่าวเซ็นสัญญา 2 ปีกับ อิวาน เปริซิช นักเตะสารพัดประโยชน์วัย 33 ปี ทีมชาติโครเอเชีย ซึ่งปิดฉากชีวิต 7 ปีกับ อินเตอร์ มิลาน หลังหมดสัญญาในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/TottenhamHotspur

เปริซิชเป็นหนึ่งในเป้าหมายเสริมทัพของ อันโตนิโอ คอนเต้ เพราะเปริซิชเล่นได้หลายตำแหน่งบนหมากกระดานของกุนซือชาวอิตาเลียน รวมทั้งวิงแบ็คและมิดฟิลด์ตัวรุก โดยเปริซิช ซึ่งได้รับการติดต่อจากเชลซีด้วย เซ็นสัญญากับสเปอร์สเป็นเวลา 2 ปี รับค่าเหนื่อยปีละ 5.1 ล้านปอนด์ หรือเฉลี่ย 98,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

เปริซิช ซึ่งเล่นให้ทีมชาติโครเอเชีย 113 นัด ได้โพสต์อำลาแฟนบอลเนรัซซูรี่บนอินสตาแกรมส่วนตัวอย่างซาบซึ้ง ทิ้งไว้ด้วยภาพจำการรับใช้สโมสร 254 นัด 55 ประตู 49 แอสซิสต์ 3 โทรฟี่ และ 18,934 นาที นับตั้งแต่ย้ายเข้าเป็นสมาชิกของอินเตอร์ มิลาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2015

ที่มหานครลอนดอน เปริซิชจะได้ร่วมงานอีกครั้งกับคอนเต้หลังจากทั้งคู่และทีมงูใหญ่ครองสคูเดตโต้ ฤดูกาล 2020-21 ดับความหวังของยูเวนตุสที่จะครองแชมป์ลีกเมืองมะกะโรนีติดต่อกัน 10 ปี ก่อนที่คอนเต้ทำให้ทุกคนช็อคด้วยการโบกมืออำลาอินเตอร์ มิลาน

นอกเหนือเป็นลูกทีมที่เข้าขากันดีแล้ว เปริซิชยังสามารถเล่นเข้ากับระบบของคอนเต้ ไม่ว่าจะเป็นวิงแบ็คตามฟอร์แมท 3-4-3 หรือรับหน้าที่มิดฟิลด์ริมสนามและกองหน้ากึ่งปีก ไม่เพียงเท่านั้นคอนเต้อาจใช้เปริซิชเป็นตัวแก้สถานการณ์ ปรับตำแหน่งให้ยืนศูนย์หน้าแทน แฮร์รี่ เคน ในบางครั้งได้อีกด้วย

แม้วัยเข้าช่วงปลายอาชีพค้าแข้ง แต่เปริซิชยังไม่ส่งสัญญาณว่ามีปัญหาเรื่องความฟิต เขาลงเล่นให้สโมสรและทีมชาติถึง 58 นัดในซีซั่นที่ผ่านมา ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย 12 ครั้ง

“เปริซิช” ตามรอย “สามสิบยังแจ๋ว” ของแมนฯ ยูไนเต็ด

เพียงแค่ชูเสื้อยังไม่ได้ลงซ้อมกับทีมใหม่ แต่กลับมีคำถามขึ้นมาแล้วว่า คอนเต้คิดถูกแล้วหรือที่ซื้อนักเตะวัย 33 ปี ที่เล่นตำแหน่งที่ต้องสูญเสียพลังงานมากแม้ฟรีค่าตัวและค่าเหนื่อยไม่แรง

ความจริงแล้วการเซ็นสัญญาระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับนักเตะที่อายุอยู่ช่วงปลาย (แต่ฝีเท้าต้องขั้นเทพ) เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้จัดการทีมนิยมใช้กัน ตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งได้ เอดินสัน คาวานี่ มาจากตลาดฟรีเอเยนต์กลางปี 2020 ขณะนั้น “มาธาดอร์” ในวัย 33 ปี เพิ่งหมดสัญญากับ ปารีส แซงต์ แยร์กแมง

แม้ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องสภาพร่างกายจะทนต่อความโหดของพรีเมียร์ลีกได้หรือไม่ แต่คาวานี่ได้พิสูจน์คุณค่าทั้งในและนอกสนาม กลายเป็นขวัญใจของเหล่าเรด อาร์มี่ อย่างรวดเร็ว จนปีศาจแดงใช้ออปชั่นขยายสัญญาเป็นปีที่สอง แต่น่าเสียดาย คาวานี่มีปัญหาบาดเจ็บเรื้อรัง บวกกับการมาของ คริสเตียโน โรนัลโด้ ทำให้ลงสนามแค่ 20 นัด 910 นาที มีผลงาน 2ประตู 1 แอสซิสต์ รวมทุกรายการ

ซีซั่นที่เพิ่งจบไป แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้กลยุทธ์เดิม เซ็นสัญญา 2 ปีกับ คริสเตียโน โรนัลโด้ ซึ่งถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน แต่ท้ายที่สุด ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติโปรตุเกสกลายเป็น “เดอะ แบก” ในวัย 37 ปี ถ้านับเฉพาะพรีเมียร์ลีกกับแชมเปี้ยนส์ลีก “ซีอาร์เซเว่น” เล่น 37 นัด 3,071 นาที ผลิต 24 ประตู 3 แอสซิสต์ ขณะที่ เอริค เทน ฮาก ประกาศทันทีที่รับตำแหน่งผู้จัดการทีมคนใหม่ว่า โรนัลโด้เป็นคนสำคัญของทีม

ซีซั่นหน้า นอกจากเปริซิคแล้ว กลยุทธ์นี้กำลังจะถูกพิสูจน์จากกรณี โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ดาวซัลโวทีมชาติโปแลนด์วัย 33 ปี ซึ่งวอนเชิงขู่ บาเยิร์น มิวนิก ให้ปล่อยตัวเขาไปแม้ยังเหลือสัญญาอีกหนึ่งปีก็ตาม แน่นอนว่าฝีเท้าเวิลด์คลาสแบบเลวานดอฟสกี้จะต้องถูกทีมชั้นนำในยุโรปจับจ้องตาเป็นมันแน่นอน

ครบเครื่องทั้งฝีเท้า ประสบการณ์ และคาแรกเตอร์

เปริซิชลงเป็นตัวจริงนัดที่ 35 ในศึกลูกหนังกัลโช่ เซเรีย อา เกมปิดซีซั่นที่เจอกับซามพ์โดเรีย สตาร์โคแอตทำสกอร์ให้อินเตอร์ มิลาน ได้ในนาทีที่ 49 แต่ถูกเปลี่ยนตัวออกไปอีกสิบนาทีต่อมาเพราะบาดเจ็บน่อง เขาต้องใช้ไม้ค้ำยันหลังจบเกม แต่ผลสแกนเอ็มอาร์ไอไม่แสดงปัญหาร้ายแรง ขณะที่การตรวจร่างกายของแพทย์ทีมสเปอร์สก็ผ่านไปด้วยดี 

นอกเหนือทักษะขั้นสูงผ่านตัวเลข 10 ประตู 9 แอสซิสต์ ซึ่งทำให้เนรัซซูรี่ในซีซั่นสุดท้าย คอนเต้ยังหวังพึ่งพาประสบการณ์และบุคลิกผู้นำทั้งในสนามแข่งและสนามฝึกซ้อมของเปริซิช ที่สั่งสมมาจากการเล่นกว่า 650 นัดในระดับสโมสรและทีมชาติ พร้อมโปรไฟล์แชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย, แชมป์เซเรีย อา, แชมป์โคปปา อิตาเลีย และแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีก รวมถึงมีส่วนสำคัญพาโครเอเชียทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศ เวิลด์ คัพ 2018 ซึ่งพ่ายต่อฝรั่งเศส 2-4 และเขาทำได้หนึ่งประตู

การดำรงอยู่เป็นเวลาสองปีของเปริซิชจึงเป็นเรื่องน่าติดตามทีเดียวว่า นักเตะสารพัดประโยชน์วัย 33 ปี ที่มีฝีเท้าระดับเวิลด์คลาส จะสร้างอิมแพ็คให้กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ มากน้อยเพียงไหน บวกกับการได้ร่วมงานกับโค้ชที่มีคู่มือการใช้งาน บางที “ลิลลี่ไวท์ส” อาจจะได้กลับเข้าสู่นัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์สโมสรก็ได้หลังจากได้เพียงรองแชมป์ปี 2019 เมื่อแพ้ต่อ ลิเวอร์พูล 0-2 

และหากเปริซิชเป็นตัวแปรกสำคัญ นั่นอาจทำให้ “สามสิบยังแจ๋ว” กลายเป็นกระแสความเชื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมีนัยยะก็เป็นได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Column

การกลับมายืนตรงข้าม ลิเวอร์พูล ของ ราฟา เบนิเตซ

In Brief: ฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนใคร หากผงซักฟอกชนิดหนึ่งลดราคา คุณลูกค้าอาจจะซื้อ เพราะถูกกว่ายี่ห้อประจำที่ขายราคาเต็ม และคุณภาพใกล้เคียงกัน ทว่ากับเสื้อบอลคู่แข่ง ต่อให้ลดราคาลง คุณอาจไม่ซื้อ เพราะความภักดีกับสโมสรรักทำให้ย้ายค่ายไม่ได้ แม้จะต้องจ่ายราคาเต็มก็ตาม

การตัดสินใจไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน ของราฟาเอล เบนิเตซ ไม่ใช่สิ่งผิด หากแต่มันได้ “ตอกย้ำ” อีกครั้งถึงระดับความเข้าใจการบริหารจัดการทีมฟุตบอลของเจ้าของ และทีมผู้บริหารที่หากมีความเข้าใจสักนิด ดีลนี้จะไม่มีทางบังเกิดขึ้น และ “ราฟา” ก็จะไม่มีโอกาสใน 100 ปีที่จะต้องตัดสินใจไปคุม หรือไม่คุมทีมเอฟเวอร์ตันจากที่เขาเคยมีป้ายแปะชื่อว่าเคยทำทีมลิเวอร์พูลมาก่อน

ไม่ใช่แค่เรื่องคอนเนกชั่น แต่เป็น “รายละเอียด” อื่น ๆ เช่น แนวทางการทำทีมสอดคล้องกับวัฒนธรรมของทีมหรือไม่? บุคคลิก คาแร็กเตอร์ ส่วนตัวที่ต่อไปจะก้าวมา represent สโมสรซึ่งเป็น club ระดับโลกสู่สายตาชาวโลก

ภายใต้บทสัมภาษณ์ของ “ราฟา” ด้านล่าง ยังมีส่วนที่ “ราฟา” เองก็ไม่เข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างของฟุตบอลหรือไม่? จากการที่แตะเฉพาะคีย์คำพูดสำคัญเมื่อ ค.ศ.2007 ว่าเอฟเวอร์ตันเป็นทีมเล็ก บลา บลา แต่สิ่งที่ “ราฟา” ควรต้องพูดให้มากกว่านี้ (หรือพูดแล้ว ใครเจอช่วยหามาสนับสนุนได้ในคอมเมนท์) ก็คือ เขาไม่ได้รู้สึกอย่างไรเลยหรือกับการจะมาสร้าง (อีกทีม) ของเมืองลิเวอร์พูล ให้ประสบความสำเร็จที่แม้ไม่อาจเทียบเคียงทีมเก่า หงส์แดง ได้ แต่ทว่าจะมีความพยายาม มุ่งมั่น เต็มที่จะทำให้ดีที่สุด

สุดท้าย “จุดยืน” ของเพจอาจจะอนุรักษ์นิยมเล็กน้อย แต่หากเลือกได้ก็ขอยืนยันว่า ดีลนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นหากเราเป็น ราฟาเอล เบนิเตซ

เช่นกัน ยืนยันอีกครั้ง ราฟา ไม่ได้ผิด เพราะไม่ได้ไปฆ่าใครตาย แต่ในบริบทฟุตบอล มันก็มีมุมมองแบบ Old School แบบที่ทางเพจเลือกมองเช่นเดียวกัน

ขอให้โชคดีครับ “ราฟา” เสมือนเรายินดีด้วยเมื่อคนรักเราไปมีความสุขกับความรักใหม่ และในมุมกลับกัน หาก “ราฟา” ไม่ประสบความสำเร็จ และจากเอฟเวอร์ตันไปคุมทีมอื่น เราก็จะยินดีไม่แพ้กัน และขอให้ประสบความสำเร็จต่อ ๆ ไป

Story: หลังจาก แชมป์ เอฟเอ คัพ, คอมมิวนิตี ชิลด์, ยูฟา ซูเปอร์ คัพ และ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ที่ราฟาเอล เบนิเตซ เคยฝากความสำเร็จเอาไว้กับ ลิเวอร์พูล การต้องมาเห็นกุนซือสแปนิชคุมทีมในถิ่น กูดิสัน ปาร์ก อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แฟน ‘หงส์แดง’ คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่ในทางตรงกันข้าม มันก็ย่อมไม่ใช่ภาพที่แฟนบอลเอฟเวอร์ตันคุ้นชินเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า ‘ทีมเล็ก’ ยังเป็นแผลที่แฟน ท็อฟฟี บางคนยากจะลืมลงได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ราฟา เบนิเตซ ก็ยืนยันว่าเขาเองไม่มีอะไรต้องกลัว และเรื่องราวในอดีตทั้งหมดจัถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาถ้าสามารถสร้างความสำเร็จเป็นตำนานบทใหม่ให้กับแฟนเอเวอร์โตเนียนได้ แต่ถึงอย่างนั้น นายใหญ่ชาวสเปนก็ออกมายอมรับความผิดพลาดที่เคยพูดไม่ดี และสร้างความเจ็บช้ำให้กับแฟนบอลทีมสีน้ำเงินแห่งเมอร์ซีย์ไซด์เอาไว้ในปี 2007 กับคำว่า ‘ทีมเล็ก’ ตั้งแต่สมัยที่เขายังคุมทีม ลิเวอร์พูล อยู่

คำถามแรก ๆ ในฐานะกุนซือเอฟเวอร์ตันที่ ราฟา ต้องตอบเมื่อสัปดาห์เข้ารับตำแหน่งคือคำถามที่ว่า ‘การมารับงานในครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่กับการถูกประนามจากแฟนบอล’ โดยนายใหญ่ชาวสเปนยังมองเรื่องนี้ในเชิงบวกว่า “ผมมั่นใจเมื่อตัดสินใจตอบตกลง หรือแม้กระทั่งเมื่อตัดสินใจเริ่มพูด มันเป็นโอกาสที่ดีและสำหรับผม ความท้าทายไม่ใช่สิ่งที่ผมกลัว ตรงกันข้าม ผมต้องการที่จะเอาชนะมัน ผมต้องการที่จะทำมันให้ออกมาดี ถึงตรงนี้คุณจะพูดหรือจะทำล่ะ ผมชอบทำมากกว่า และมารอดูว่าเราจะทำได้หรือไม่”

ครอบครัวของ ราฟา ยังอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูลมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2010 ที่เขาออกไปรับงานกับ อินเตอร์ มิลาน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เขาสามารถยืนยันได้ว่าคนในเมืองส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนเขาเป็นอย่างดี

“พูดตามตรง เอฟเวอร์โตเนียน รอบตัวผมค่อนข้างมีความสุข และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี” เบนิเตซ กล่าว “แม้แต่แฟนบอลลิเวอร์พูล พวกเขาก็ให้การยอมรับ มันจึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผมที่จะได้กลับมาสู่พรีเมียร์ลีก เพื่อทำอะไรบางอย่างที่ผมเคยทำได้ดีให้เรียบร้อย”

ถึงจะมีคำยืนยันจากเจ้าตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนการเซ็นสัญญากับ เอฟเวอร์ตัน จะเกิดขึ้น ข้อความความต่อต้านจำนวนไม่น้อยก็ไปปรากฎที่สนาม กูดิสัน ปาร์ค เพื่อบอกกับสโมสรว่าแฟนบอลไม่แฮปปีกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และที่หนักข้อหน่อยก็เป็นข้อความข่มขู่ซึ่งเขียนไว้ว่า “เรารู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน จงอย่าเซ็นสัญญา” ซึ่งถูกทิ้งไว้ใกล้ ๆ กับบ้านของเขาที่ย่าน เวียร์รอล แต่ เบนิเตซ ยังมองว่าข้อความเหล่านั้นมาจากคนกลุ่มน้อยมากกว่า

“เมื่อพูดถึงป้ายข้อความ เราอาจจะพูดถึงคนแค่ 1 ถึง 2 คน คุณไม่มีทางรู้แน่นอน ดังนั้นผมคิดว่ามันดีกว่าที่จะคิดเกี่ยวกับข้อดีและวิธีที่คนจำนวนมากแสดงออกถึงการสนับสนุนให้ผมทำผลงานออกมาได้ดี” กุนซือวัย 61 ปี กล่าว แต่กระนั่นเขาก็รู้ดีว่าต้นเหตุความไม่พอใจที่เกิดขึ้นมาตากคำพูดของเขาในปี 2007 ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมายอมรับความผิดพลาดในคราวนั้นพร้อมกับอธิบายมุมมองของตัวเอง

“มันเป็นเรื่องเมื่อนานมาแล้ว คุณจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อสโมสร และนั่นคือสิ่งที่ผมจะทำในตอนนี้ด้วย ถ้าคุณเป็นผู้จัดการทีม คุณต้องปกป้องสโมสรของคุณในทุกบริบท ซึ่งในตอนนี้ผมก็จะสู้เพื่อเอฟเวอร์ตัน” เบนิเตซ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเจอกับปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรง แต่ ราฟา เบนิเตซ ก็ไม่ใช่กุนซือคนแรกที่เจอกับกระแสต่อต้านจากแฟนบอล เพราะที่ผ่านมาก็มีกุนซือนับสิบคนที่เคยคุมทีมใดทีมหนึ่งก่อนย้ายไปคุมทีมอริร่วมเมือง อาทิ จอร์จ แกรแฮม เทรนเนอร์ที่เคยพาอาร์เซนอลคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย แต่กลับไปรับงานคุมทีม ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ แถมพา ‘ไก่เดือยทอง’ 

คว้าแชมป์ ลีก คัพ หรือ ไบรอัน คลัฟ กุนซือ ดาร์บี เคาน์ตี กับ น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ ในยุค 70 ที่มีงานอดิเรกอย่างการด่า ลีดส์ ยูไนเต็ด แต่สุดท้ายกลับตัดสินใจเข้ารับงานกับ “ยูงทอง” ซึ่งสร้างความเดือดดาลให้กับแฟนบอลเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นของ ลีดส์ ก็ไม่ให้กับเขาสักเท่าไหร่ นำมาสู่ผลงานอันอย่างย่ำแย่ของทีม และโดนไล่ออกหลังจากคุมทีมไปแค่ 44 วัน

ในยุคหลังเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันนี้กับเกิดขึ้นไม่มาก แม้จะเคยมีกุนซือที่เคยคุมทีมซึ่งเป็นอริกันแล้วไปคุมทีมฝรั่งตรงข้าม อาทิ โชเซ มูรินโญ ที่เคยคุม เชลซี ก่อนข้ามฟากไปคุม ท็อตแนม แต่ในกรณีนี้อาจจะพออธิบายได้ว่าช่วงเวลาระหว่างที่นายใหญ่ชาวโปรตุกีสคุมทีมทั้ง 2 ถูกคั่นด้วยการไปรับงานกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำให้แฟนบอลอาจจะมองข้ามเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นไปได้บ้าง 

ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลกลับไปเกิดขึ้นในอิตาลี เมื่อตอนที่ เมาริซิโอ ซาร์รี ตัดสินใจไปรับงานกับ ยูเวนตุส เนื่องจากในอดีต กุนซือ ‘สิงห์อมควัน’ รายนี้เคยแจกนิ้วกล้างใส่แฟนบอล ‘ม้าลาย’ แม้ว่าสุดท้ายเขาจะคุมยูเวนตุส คว้าแชมป์เซเรียอา ได้ ก็ยังไม่สามารถซื้อใจแฟนบอลคืนมา และต้องออกจากทีมไปหลังคุมทีมได้แค่ปีเดียวเท่านั้น

ถึงตรงนี้อาจจะพอจะสรุปใด ๆ วัดกันที่ความสำเร็จ แม้ในตอนแรกแฟนบอลอาจจะเกลียดขี้หน้าและไม่พอใจ แต่ถ้าทำทีมประสบความสำเร็จ และมีผลงานที่ดี แฟนบอลก็อาจจะพร้อมหลับตาข้างหนึ่งและไม่พูดถึงเรื่องราวในอดีต ไม่ใช่ว่าลืม หากแต่พร้อมจะดื่มด่ำกับความสุขที่กุนซือคนนั้นบัลดาลให้มากกว่า และเมื่อไรก็ตามที่ผลงานไม่ดี ร้อยราวในอดีตก็พร้อมจะถูกขุดขึ้นมาพูดอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย และมันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความสำเร็จและความจริงใจของกุนซือคนนั้น ๆ จะเอาชนะใจแฟนบอลได้จริง ๆ 

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์@Everton

Categories
Column

เรื่องจากแรงบัลดาลใจได้เห็นการเล่นของ โดมินิก โซบอสซ์ไล

ย้อนความไปเกม คืนวันศุกร์ 20 ส.ค.ผมมีโอกาสคัฟเวอร์เกมระหว่าง RB Leipzig vs. Stuttgart (นั่งชมเกมนี่แหละ แต่ตั้งใจหน่อย) และสะดุดกับนักเตะรายหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากเทรนเนอร์ เจสซี่ มาร์ช เป็นอย่างมากจนแอบฉงน และถึงกับมอบหมายบทบาทสำคัญในทีมให้ทั้ง ๆ ที่อายุเพิ่งจะ 20 ปีเท่านั้น 

คำถาม “ทำไม” ดังขึ้นในหัวทันที พร้อมกับสเต็ปตามมาว่า อยากหาคำตอบ จนเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ครับ

โดมินิก โซบอสซ์ไล มิดฟิลด์วันเดอร์คิดชาวฮังการี คือ ดาวเตะหนุ่มแห่งพารากราฟแรก โดยเจ้าตัวเป็นหนึ่งในผลิตผลที่ได้รับการฟูมฟัก ปลุกปั้น และเติบโตขึ้นในอาณาจักรฟุตบอลแฟรนไชส์สไตล์เร้ดบูลล์ 

สายการผลิตที่เห็นนักเตะอย่าง เออร์ริ่ง ฮาลันด์, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่, ติโม แวร์เนอร์, นาบี เกอิต้า หรือแม้แต่ ซาดิโอ มาเน่ เจิดจรัสฉายแสงอยู่ในสโมสรใหญ่ ๆ ในลีกดังของยุโรป คือเหล่ารุ่นพี่ของ โซบอสซ์ไล

เร้ดบูลล์อีกแล้วหรือ? … หลายๆ คนอาจจะนึกในใจ (เหมือนผม)

บ้างอาจจะอยากให้สโมสรที่ตัวเองเชียร์ไปซื้อแมวมองเร้ดบูลล์มาซะเลย 555

ทำนั้นไม่ง่ายเหมือนพูดครับ เพราะการจะทำให้ได้ผลผลิตจากกระบวนอย่างเร้ดบูลล์ จำเป็นต้องมีความชัดเจนในโครงสร้างนโยบายการทำทีม เป้าหมาย และความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของเจ้าของสโมสร และทีมบริหาร 

ภายใต้สโลแกนของเร้ดบูลล์ที่ว่า “เราจะติดปีกให้คุณ” หรือ “Red bull gives you wings” … อันเป็นที่มาของกลยุทธ์หลัก และแนวทางปฏิบัติของสโมสรที่ใช้ดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด 

ผมใช้คำว่า “ธุรกิจ” เพราะเร้ดบูลล์มองการทำทีมฟุตบอลเป็นธุรกิจชัดเจน ซื้อถูก ขายแพง สร้างมูลค่า สร้างกำไร (และอาจจะขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังได้เพิ่มปีละ 2 ล้านกระป๋อง! 😅) 

งานแมวมอง (Scouting) จึงเป็นแก่น หรือหัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็ว่าได้ เพราะคำว่า “Scouting” มีที่มามาจากการทหารที่ต้องส่งหน่วยลาดตระเวนไปสอดส่องพื้นที่เวลาไปสู้รบตบมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งไปตั้งหลักถิ่นฐานระหว่างสงครามก็ต้องมีสมรภูมิที่ดี ไม่เสียเปรียบ

ภูมิประเทศบริเวณไหนที่มีจุดอ่อนก็อาจจะต้องวางกำลังป้องกันแน่นหนาหน่อย ไม่งั้นอาจจะโดนลอบโจมตีได้ 

ไม่ต่างกับงานแมวมองที่ต้องส่งคน ส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยสอดส่องเฝ้ามองนักเตะที่มีแวว และ “พยายามเซ็นสัญญามาให้ได้ก่อนคู่แข่ง และหากเป็นไปได้ในช่วงอายุที่น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นี่คือหนึ่งในหลักการของเร้ดบูลล์ ซาลส์บวร์ก 

ปัจจุบันมีฐานข้อมูล วีดิโอคลิปเป็นหมื่นเป็นแสน และคอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึก และประมวลผลขีดความสามารถ และช่วยกลั่นกรองนักเตะตามเกณฑ์ชี้วัดต่าง ๆ ที่กำหนดได้ 

การที่แมวมองของทีมชั้นนำไปดูนักเตะในสนามนั่นหมายความว่าเป้าหมายนั้นผ่านการคัดกรองมาแล้วส่วนหนึ่ง 

เร้ดบูลล์เปรียบเทียบการเฟ้นหานักเตะเหมือนถนนสามเลน

เลนขวาที่รถวิ่งช้าสุด (รถยุโรปพวงมาลัยซ้าย) สำหรับนักเตะท้องถิ่น เลนนี้คุณทำงานได้มาก และสร้างความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แถมไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ แต่บางครั้งคุณติดรถบรรทุกที่วิ่งช้า ซึ่งก็เหมือนกับความจำกัดของจำนวนนักเตะที่มีพรสวรรค์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นบางครั้งคุณจำเป็นต้องแซงข้ามเลน 

เลนกลางเป็นเลนส์ของนักเตะภาคพื้นยุโรปที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป (ตามกฏหมายของสหภาพยุโรป) แต่มันก็มีความเสี่ยงที่นักเตะเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะคนสำคัญ หรือกลายมาเป็นนักเตะอาชีพได้ ซึ่งบรรดาสโมสรชั้นนำในยุโรปอาจจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนั้นมาก แต่เร้ดบูลล์มองมันเป็นโอกาส และความท้าทาย 

เลนเร็วเป็นพื้นที่ของนักเตะระดับ international ที่สามารถเข้ามายกระดับของทีมได้ทันที มีอายุระหว่าง18-23 ปี (แต่บางเคสที่พิเศษจริง ๆ ก็มีข้อยกเว้นได้ เช่น หากเห็นว่านักเตะคนนั้นมีคุณภาพที่จะสามารถเข้ามาช่วยประคับประครองนักเตะดาวรุ่งในทีมได้ เป็นต้น) 

เหมือนไม่ยาก แต่ไม่ง่าย ขั้นตอนการมองหานักเตะเริ่มขึ้นก่อนหน้าการเซ็นสัญญาหลายปี (เฉลี่ย 3 ปี) ทุกครั้งเริ่มต้นที่คำถามว่าเราต้องการผู้เล่นที่มีโพรไฟล์แบบไหนในแต่ละตำแหน่ง? เป็นคำถามที่ Sporting Director และทีมโค้ชชิ่งสต๊าฟฟ์เป็นผู้ให้คำตอบ พวกเขามีไอเดียที่ชัดเจนในรูปแบบปรัชญาฟุตบอลที่ต้องการเล่น และลักษณะของนักเตะที่เข้ากัน 

หลักใหญ่ใจความอยู่ที่
• มีสไตล์การเล่นที่มุ่งมั่น
• สามารถเล่นเกมทรานส์ซิชั่นได้อย่างรวดเร็ว
• มีความเเข็งแกร่งด้านจิตใจ 

ราล์ฟ รังนิค ได้รับการแต่งตั้งจากเร้ดบูลล์เข้ามาดำรงตำแหน่ง Director of Football เมื่อปี 2012 เพื่อปฏิรูป ปรับรากฐาน และวางระบบของสโมสรด้านที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล 

Ralf Rangnick (RB Leipzig, Trainer, head coach); Porträt, Einzelbild

ถามว่ารังนิคต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง? คำตอบที่รังนิคบอกกับดีทริช เมเทสซิทซ์ เจ้าของเร้ดบูลล์ คือ แทบจะทุกอย่าง! 

รังนิคได้งบมาสร้างทีม เพื่อเป้าหมายพาไลป์ซิกเลื่อนชั้นจากระดับ 4 ของปิระมิดฟุตบอลเยอรมันจากตอนที่เร้ดบูลล์ซื้อทีมมาเมื่อปี 2009 ให้ขึ้นมาเล่นในระดับสูงสุดของประเทศให้ได้ภายใน 8 ปี … หมายความว่ารังนิคเหลือเวลาอีกแค่ 5 ปี ที่จะทำให้สำเร็จ 

แผนของรังนิคจึงไม่มีอะไรซับซ้อน … “ทำอย่างไรก็ได้ให้ประสบความสำเร็จสูงสุดในระยะเวลาอันสั้นที่สุด” 

ด้วยปรัชญาฟุตบอลที่รังนิคยึดมั่น ประกอบกับการทำงานอย่างหนัก ที่ต้องการห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นตลอดเวลาจากทุกภาคส่วน และการมีทีมงานที่มีเป้าหมายและยึดมั่นวิถีเดียวกันทำให้ อาร์เบ ไลป์ซิก ก้าวขึ้นมายืนอยู่บนเวทีบันเดสลีกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จบนสนามฟุตบอลเท่านั้น เร้ดบูลล์ยังทำกำไรมหาศาลจากนโยบาลซื้อถูกขายแพง เเละเหมือนว่าพวกเขาจะมีนักเตะขึ้นมาทดแทนกันได้อย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะต้องเสียนักเตะตัวหลักออกจากทีมแทบทุกฤดูกาล 

โยฮันเนส สปอร์ส ผู้เคยร่วมงานกับรังนิคสมัยฮอฟเฟ่นไฮม์ และต่อมาที่ไลป์ซิกในฐานะหัวหน้าทีมแมวมอง กล่าวว่า 

“กุญแจสำคัญของนักเตะดาวรุ่งในช่วงอายุ 17-20 ปี คือการได้ลงเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอในระดับที่สูงพอแก่การพัฒนา แต่ไม่สูงจนเกินไป” 

ฮาลันด์ สมัยที่เล่นให้กับซาลซ์บูร์ก คือตัวอย่างที่ดี ออสเตรียคือเวทีที่ดีที่จะให้เขาลองผิดลองถูก เรียนรู้และพัฒนา สิ่งสำคัญคือ 

“ฮาลันด์รู้ว่าหากเขาทำผิดพลาดในเกม เขาจะได้รับโอกาสอีกครั้งในเกมถัดไป (เพื่อทำให้ถูกต้อง)” สำหรับทีมใหญ่ในเวทีระดับสูงสุด มันไม่ใช่เรื่องง่าย 

เร้ดบูลล์เติบโตอย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่งแบบนี้ก็ไม่ได้มีแต่คนชื่นชมเสมอไป 

และเขียนมาตั้งยาวแต่ไม่มีสักประโยคที่พูดถึงแฟนบอล 

ใช่ครับ! เร้ดบูลล์ไม่ได้เป็นที่รักของแฟนบอลในเยอรมันเท่าไหร่นักเนื่องจากเป็นสโมสรที่ค่อนข้างใหม่ แถมมีภาพความเป็นสโมสรนักลงทุนอย่างชัดเจนด้วยเจ้าของคนเดียวทำธุรกิจเบ็ดเสร็จ ขณะที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีในเยอรมัน สโมสรจะมีโครงสร้างแบบ “50+1” 

ผมไม่คิดว่าเร้ดบูลล์จะแคร์กับเรื่องนี้มากนัก ตราบใดที่โมเดลทางธุรกิจของพวกเขายังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่รังนิคพูดถึงปรัชญาฟุตบอลของเขาว่า 

“ฟุตบอลเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของไอเดียที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไอเดียที่เรายึดมั่น” 

ปล. รู้หรือไม่: ถึงแม้ว่า ไลป์ซิก จะเป็นเมืองที่ค่อนข้างโมเดิร์น มีคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่เยอะเพราะมีมหาวิทยาลัยอยู่มาก แต่คนเหล่านี้มักจะมาจากต่างเมือง และซัพพอร์ตสโมสรบ้านเกิด

Categories
Column

KMD Preview Euro 2020

กลุ่ม เอ: อิตาลี นิวสไตล์, เติร์กเกมรับ, สวิส และเวลส์ อ่อนแรง

กลุ่มเอ แม้ไม่ใช่ Group of Death แต่ก็เต็มไปด้วยทีมชั้นแนวหน้าในอันดับท็อป 22 ของ ยูฟา เนชันส์ ลีก Ranking ในปี 2018 อันได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 1, อิตาลี อันดับ 8, เวลส์ อันดับ 19 และ ตุรกี อันดับ 22 กลุ่มนี้จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่น่าจะมีการแข่งขันเพื่อแย่งกันเข้ารอบเดือดที่สุดกลุ่มหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งเราจะมาเจาะกันไปทีละทีมครับ

ตุรกี

แม้จะผ่านรอบคัดเลือกมาในอันดับที่ 2 ของกลุ่มเอช แต่พวกเขาเป็นเพียงทีเดียวที่ไม่แพ้ให้ฝรั่งเศสในรอบคัดเลือกกลุ่มนี้ โดยเก็บได้ถึง 4 คะแนนจากการเจอกัน 2 นัด นั่นก็พอจะแสดงให้เห็นว่าตุรกีมีดีแค่ไหน โดยจุดเด่นของทีมชุดนี้ ไม่ใช่การยิงประตูได้เยอะแต่เป็นการเสียประตูยาก ในรอบคัดเลือกเสียไปแค่ 3 ประตูเท่านั้น ซึ่งน้อยที่สุดร่วมกับเบลเยียม

เซนอล กูเรส กุนซือรุ่นเดอะวัย 69 เข้ามาทำให้ทีมไก่งวงเป็นบอลชัวร์แบบอนุรักษ์นิยมเน้นเกมรับตามคติที่ว่า “ไม่ได้ก็ไม่เสีย” และทำได้ดีโดยเฉพาะในรอบคัดเลือกที่เก็บคลีนชีตได้เป็นกอบเป็นกำ

เจ้าตัวยังจัดทีมผสมนักเตะดาวรุ่งกับตัวเก๋าได้อย่างลงตัว โดยมีหัวใจคือ บูรัค ยิลมาซ กองหน้าจอมเก๋าวัย 35 ปี ที่น่าจะเล่นในยูโรครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในอาชีพ กองกลางจอมฝีมือ ฮาคาน ซาลาโนกลู และดาวเตะรุ่นใหม่อย่าง เซคิ ซีลิค แบ็คขวาวัย 24 ปี จากลีลล์ และก็แน่นอนเซนเตอร์ฮาล์ฟดี ๆ อย่าง เมริ เดมิราล, ซากลาร์ โซยุนชู ไม่นับโอซาน คาบัค อดีตนักเตะลิเวอร์พูล

ตุรกี จะเล่นใน อิตาลี 1 นัด คือเกมเปิดสนามกับทีมเจ้าบ้านในกรุงโรม ก่อนที่อีก 2 นัดพบกับ เวลส์ และ สวิตเซอร์แลนด์ จะย้ายไปเล่นที่ บาคู ประเทศ อาเซอร์ไบจาน

อิตาลี

หนึ่งใน 2 ทีมที่ครองสถิติชนะ 100% ในรอบคัดเลือกร่วมกับ เบลเยียม ทั้งยังครองอันดับที่ 2 ในการทำประตู และเสียประตูน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากเบลเยียมเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงความสมดุลทั้งในเกมรุก และเกมรับทำให้ผลงานของทีมแกร่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยมีสถิติไม่แพ้ใครมาแล้วติดต่อกัน 27 นัด และมีโอกาสทำสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกันยาวนานที่สุด 35 นัดเทียบชั้น สเปน กับ บราซิล ที่ครองสถิติร่วมกัน หากคว้าแชมป์ได้ในยูโร 2020 ครั้งนี้

หลังจากความล้มเหลวในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โรแบร์โต มันชินี ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีม “อัซซูรี” ให้กลับมาแกร่งอีกครั้ง เขาใช้ทีมที่มีอายุน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา ให้โอกาสนักเตะรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิดแทนที่จะเรียกใช้งานขาประจำ นั่นทำให้มีชื่อที่น่าสนใจอย่าง โดมินิโก เบราร์ดี กับ มานูเอล โลคาเตลลี จาก ซาสซูโอโล แต่ก็ยังมีแนวรับตัวเก๋าอย่าง เลโอนาร์โด โบนุชชี กับ จอร์โจ คิเอลลินี เป็นเจ้าเก่าคอยประคองทีมอยู่เช่นกัน

แดนกลาง ยังน่าสนใจ เพราะชื่อของ จอร์จินโญ่, มาร์โก แวร์รัตติ ขณะที่แนวรุกแม้จะเหมือนไม่มีเบอร์ 9 แท้ ๆ แต่เกมรุกจากกองหน้าด้านข้าง (ระบบหน้า 3) น่ากลัว เฟเดริโก เคียซ่า, ชิโร อิมโมบิเล, ลอเรนโซ อินซินเย หรือกลางตัวรุก นิโคโล บาเรลลา

อิตาลี จะได้เปรียบทีมอื่น ๆ ในกลุ่มพอสมควรเนื่องจากพวกเขาจะได้เล่นในโรมทั้ง 3 นัด โดยจะเปิดสนามกับ ตุรกี, ตามด้วยการพบกับ สวิตเซอร์แลนด์ และ ปิดท้ายในเกมพบกับ เวลส์

สวิตเซอร์แลนด์

นี่คือทีมชาติที่น่าทึ่งที่สุดในช่วงที่ผ่านมา เพราะหลังจากผ่านรอบคัดเลือกของศึกยูโร 2020 ในฐานะแชมป์กลุ่ม สวิส ไม่ชนะใครเลยติดต่อกัน 5 นัดช่วงการแข่งขัน ยูฟา เนชันส์ ลีก ก่อนจะมาชนะคู่แข่งติดกันรวด 6 นัด รวมถึงเกมอุ่นเครื่อง 2 นัดสุดท้ายก่อนยูโร 2020 กับ สหรัฐอเมริกา และ ลิชเตนสไตน์ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะบอกว่าพวกเขากำลังอยู่ในฟอร์มที่ยอดเยี่ยมได้ถูกที่ถูกเวลาทีเดียว

วลาดิเมียร์ เพ็ตโควิช ทำงานกับทีมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ถูกแต่งตั้งให้มาดูแลทีมในเดือนกรกฎาคม 2014 กุนซือวัย 57 ปี ทำผลงานได้ตามเป๋ามาตลอดทั้งพาทีมเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ยูโร 2016 และ ฟุตบอลโลก 2018 โดยผู้เล่นส่วนใหญ่ก็ไม่เปลี่ยนแปลงอาทิ ฟาเบียน ชาร์, ริคาร์โด โรดริเกวซ, เซอร์ดาน ชาคิรี และ กรานิต ชากา จับคู่ เรโม ฟรอยเลอร์ ก็อยู่กับทีมชุดนี้อย่างครบถ้วน

นอกจาก ชาคิรี อยากให้จับตา บรีส เอมโบโล แนวรุกบทบาท False 9 กับทีมที่น่าจะหันมาเล่น แบ็คทรี ในทัวร์นาเมนท์นี้

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นทีมที่มีโปรแกรมลำบากที่สุดเพราะต้องบินไปบินมา เริ่มจากเกมแรกที่จะพบกับ เวลส์ จะเล่นใน อาเซอร์ไบจาน ก่อนบินมาเตะกับ อิตาลี ที่โรม และจะบินกลับไปเตะกับตุรกีในเกมสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่มที่ บาคู อีกครั้ง

เวลส์

ว่ากันว่านี่คือทัพ ‘มังกรแดง’ ที่ดีที่สุดในรอบ 58 ปี เพราะพวกเขามาปรากฏตัวในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์เมเจอร์ระดับชาติครั้งแรกแบบไม่ต้องลุ้นเพราะยึดอันดับ 2 กลุ่มอี ตามหลังทีมรองแชมป์โลกอย่างโครเอเชียเพียง 3 คะแนน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อ่อนประสบการณ์ที่สุดนี่เอง ที่ทำให้หลายฝ่ายยังให้พวกเขาดูเป็นรองกว่าทีมอื่น ๆ ในกลุ่ม

โรเบิร์ต เพจ เข้ามารับงานต่อจาก ไรอัน กิกส์ ที่ถูกตั้งข้อหาทำร้ายอดีตแฟนสาวทำให้โดนพักงาน และนั่นคือจุดที่น่ากังวลที่สุดของทัพ ‘มังกรแดง’ เพราะหลังจากนั้นมาในเกมอุ่นเครื่องทั้งที่พบกับ ฝรั่งเศส และ แอลเบเนีย ทีมยังไม่พบกับชัยชนะเลย แต่ในข้อดีก็ยังพอมี เพราะ เวลส์ชุดนี้น่าจะมีทีมดีที่สุด เนื่องจากนักเตะที่มีให้เลือกใช้งานทั้ง อารอน แรมซีย์, แดเนียล เจมส์, เนโก วิลเลียมส์, แฮร์รี วิลสัน รวมไปถึง แกเร็ธ เบล ที่ฟอร์มกลับมาดีอีกครั้งเมื่อย้ายมาเล่นกับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ด้วย หรือเดวิด บรู๊ก ดาวรุ่งตัวรุกจากบอร์นมัธ ที่จะทำให้แนวรุกของทีมมีออฟชั่นหลากหลายมาก

เวลส์ ก็ต้องเจอชะตากรรมในการเล่นที่ อาเซอร์ไบจาน 2 นัดเช่นกัน ในเกมกับ สวิตเซอร์แลนด์ และ ตุรกี ก่อนบินมาเล่นเกมสุดท้ายที่โรม ในเกมพบกับอิตาลี

ความน่าจะเป็น:

โดยกลุ่มนี้ เมื่ออิงจากอัตรต่อรองถูกกฎหมายแล้ว อิตาลี (11/1) มีภาษีดีที่สุดในการเข้ารอบ เพราะพวกเขายังเป็นหนึ่งในทีมเต็งแชมป์ปีนี้ด้วย รองลงมาเป็น ตุรกี (50/1) ที่มีโอกาสเป็นอันดับที่ 2 และที่ 3 เป็นสวิตเซอร์แลนด์ (66/1) และ และสุดท้ายเป็น เวลส์ (150/1)

ซึ่งคงต้องบอกว่า ราคาต่อรองไม่ได้ดูเกินจริงไปนัก อิตาลี ของมันชินี่ คือ สมัยใหม่ และไม่ใช่เน้นรับแบบอิตาเลียน สไตล์ แท้ ๆ และขุมกำลังเก่าใหม่ดูลงตัว ตุรกีกับตัวผู้เล่นโดยรวมก็เช่นกันเฉพาะอย่างยิ่งเกมรับ ขณะที่สวิส หรือเวลส์ หากยังนึกถึงแค่ ชาคิรี หรือเบล เป็นหลัก (แม้คนอื่นจะพอมี) แต่ทว่านั่นดูเหมือนจะไม่เพียงพอ

รวมความแล้ว เพจไข่มุกดำ เลือกมองไปที่ อิตาลี และตุรกี สำหรับการเข้าสู่รอบต่อไปครับ

กลุ่ม บี: เบลเยียมแบเบอร์ แต่ให้จับตาเกมรับ ส่วนเดนมาร์ก คือ ดีระดับม้ามืดทัวร์นาเมนท์

ถ้าไม่นับเรื่องอันดับโลกแล้ว เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่กลุ่มบี เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, เบลเยียม และ รัสเซีย เป็นกลุ่มที่ 3 จาก 4 ทีมมักมีอะไรคล้ายกัน อย่างเช่น การที่ 3 ชาติมีอาณาเขตติดกับทะเลบอลติก (เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ และ รัสเซีย) หรือ 3 ทีมในกลุ่มนี้มีเสื้อเหย้าสีแดง (เบลเยียม, เดนมาร์ก, รัสเซีย) และ 3 ทีมจากกลุ่มนี้เข้ารอบมาด้วยฐานะอันดับที่ 2 ในรอบคัดเลือก (เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ และ รัสเซีย) แถมในกลุ่มนี้ก็ยังถือเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงที่จะมีทีมได้เข้ารอบน็อคเอาต์ถึง 3 ทีมอย่างไม่ต้องสงสัยโดยยังจะมี “ปัจจัย” จากการเล่นในบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก หากไม่นับความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพฝีเท้า ครับ ใครเป็นใครอย่างไร เราจะไล่ไปดูกันทีละทีม

เดนมาร์ก

ทีมอันดับ 10 ของโลกในปัจจุบันที่ถูกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทำนายว่ามีโอกาสเข้าไปได้ลึกถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยพวกเขาเข้ารอบสุดท้ายมาในฐานะอันดับ 2 ของกลุ่มดี ที่เกือบจะเป็นแชมป์กลุ่มแต่นัดสุดท้ายกลับไปพลาดเสมอกับไอร์แลนด์ แต่ถึงอย่างนั้น เดนมาร์ก ก็ถือเป็นหนึ่งในทีมไร้พ่ายในรอบคัดเลือกซึ่งมีทีมที่ทำได้แค่ 5 ทีม (อื่น ๆ คือ อิตาลี, เบลเยียม, ยูเครน และ สเปน) จึงไม่น่าแปลกใจถ้าถูกยกให้เป็นม้ามืดในการแข่งขันครั้งนี้

แคสเปอร์ ฮูลจ์มันด์ เข้ามาทำหน้าที่แทน อาเก ฮาไรเด ที่หมดสัญญาไปเมื่อปี 2020 ซึ่งอันที่จริงแล้วสัญญาของ ฮาไรเด ต้องหมดหลังยูโร 2020 แต่เนื่องจากพิษโควิด-19 ทำให้ทัวร์นาเมนต์ต้องเลื่อนออกไป และกุนซือวัย 67 ปีก็เลือกวางมือแทนที่จะไปต่อ งานยากจึงตกมาสู่มือโค้ชวัย 49 ปี (ถือว่าเป็นโค้ชหนุ่ม) ซึ่งทำผลงานได้ดีเกินคาด เพราะตั้งแต่เกมกับอังกฤษใน เนชันส์ลีก เมื่อเดือนกันยายน 2020 มาจนถึงปัจจุบัน ทีม ‘โคนม’ แพ้ไปเพียงนัดเดียวจากการเล่น 10 นัด ซึ่งน่าจะพอพิสูจน์อะไรได้บางอย่าง

เดนมาร์กชุดนี้ถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายปี เพราะมีผู้เล่นคุณภาพตั้งแต่หน้าประตูตัวเองไปถึงหน้าประตูฝั่งตรงข้ามไล่ตั้งแต่ แคสเปอร์ ชไมเคิล, ซิมง เคียร์, อันเดรียส คริสเตียนเซน, ยานนิค เวสเทอร์การ์ด, โยอาคิม แอนเดอร์เซน (3 รายหลังคือ ยอดเซนเตอร์ฯ ของพรีเมียร์ลีก) ทำหน้าที่ในเกมรับ ปิแอร์ เอมิล ฮอยจ์เบิร์ก ผนึกความแข็งแกร่งแดนกลางกับ โทมัส เดลานีย์ โดยมี คริสเตียน อิริคเซน เป็นเบอร์ 10 ทำเกมรุกเสมือนเป็นหัวใจในแดนกลาง แดนหน้า แม้จะเหมือนไม่โดดเด่นเท่าแต่ชื่อของ มาร์ติน เบรธเวต และ ยูซูฟ โพลเซน นั้นขายได้ แถมยังทำหน้าที่ล่าตาข่าย ซึ่งตลอด 10 นัดหลังภายใต้โค้ช ฮูลจ์มันด์ พวกเขายิงได้ถึง 25 ประตู เฉลี่ยนัดละ 2.5 ลูกเลยทีเดียว

เดนมาร์ก เป็นอีกทีมที่ ‘มีบุญ’ เพราะได้เตะในบ้านที่สนาม ปาร์เกน สเตเดียม ในโคเปนเฮเกน ทั้ง 3 นัดรอบแบ่งกลุ่ม อันถือเป็นจุดได้เปรียบสำคัญเหนือทุกทีม โดยเริ่มจากเกมพบกับ ฟินแลนด์ ต่อด้วยเบลเยียม และปิดท้ายกับ รัสเซีย

เบลเยียม

‘ทีมอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน’ คงพออธิบายถึงความยอดเยี่ยมให้เห็นภาพของทัพปิศาจแดงยุโรปได้ไม่ยาก เพราะในรอบคัดเลือก สามารถครองสถิติอันเป็นที่สุดในหลายด้าน ทั้งชนะ 100%, ยิงมากที่สุด (40 ประตู), เสียประตูน้อยที่สุด (3 ประตู) และผลต่างประตูเสียดีที่สุด (+37 ประตู) จากการพลาดแชมป์โลกไปเมื่อ 2 ปีก่อน (ตกรอบเซมิฯ เพราะลูกตั้งเตะให้ฝรั่งเศส) การมาเล่นในยูโรครั้งนี้ เป้าหมายของทีมคือจุดสูงสุดคว้าแชมป์แบบไม่ต้องสงสัย

ชื่อของโรแบร์โต มาร์ติเนซ จนถึงตอนนี้คงไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้ว หลังเข้ามารับงานแทนมาร์ค วิลม็อตส์ตอนจบยูโร 2016 โค้ชชาวสเปนพาทีมไปถึงอันดับ 3 ในฟุตบอลโลกที่รัสเซียเมื่อ 2 ปีก่อน และหลังจากนั้นก็พาเบลเยียมไต่ขึ้นไปเป็นทีมอันดับ 1 ของฟีฟา เวิร์ลด์ แรงกิง และทำให้ เบลเยียม มีชื่อเป็นตัวเต็งเบอร์ต้น ๆ ในการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย

ขุมกำลังของเบลเยียมชุดนี้ยังไม่ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนเท่าไหร่นัก (ขาด กอมปานี, เฟลไลนี และเดมเบเล) ความแข็งแกร่งของทีมก็ไม่ได้ต่างไปจากช่วงฟุตบอลโลกเท่าไหร่ด้วย โดยผู้รักษาประตูยังเป็น ติเบาต์ กูร์กตัวร์ ,แนวรับก็ยังมีตัวหลัก ๆ อย่าง โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์, เดดริค โบยาตา, เจสัน เดไนเยอร์ โดยกองกลางอุดมไปด้วยตัวพรสวรรค์ อาทิ เควิน เดอ บรอยน์, เดนนิส ปรัต, ยูรี เทเลมองส์, ยานนิค การ์รัสโก, ขณะที่แนวรุกชื่อของ เอเด็ง อาซาร์ และ โรเมลู ลูกากู ยังคงน่ากลัวอย่างไม่ต้องสงสัย

โดดเด่นสุดน่าจะเป็นเกมริมเส้นที่ตัวอย่าง โธมัส มินิเยร์, ธอร์แกน อาซาร์, นาเซอร์ ชาดลี และการัสโก คือ มีดี หรือกองหน้าที่ดีที่สุดคนหนึ่งของทัวร์นาเมนท์ โรเมลู ลูกากู

แต่ทว่า เบลเยียม มีชะตากรรมสุดหฤโหดในการบินไป-กลับระหว่างรัสเซียกับโคเปนเฮเกน ระยะทางกว่า 5,600 ไมล์ เนื่องจาก เกมแรกที่จะพบกับ รัสเซีย ต้องแข่งขันใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อนไปแข่งกับ เดนมาร์ก ที่ ปาร์เกน สเตเดียม และบินมาปิดท้ายเกมที่ 3 ใน เชนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก อีกครั้งกับ ฟินแลนด์

รัสเซีย

ทัพ ‘หมีขาว’ ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจในรอบคัดเลือก เพราะแม้จะจบอันดับที่ 2 ของกลุ่ม แต่เป็นการจบที่ 2 ตามหลังทีมชั้นเซียนแบบ เบลเยียม และผลงานในรอบคัดเลือกคือชนะ 8 แพ้ 2 ซึ่งถ้าไม่นับความพ่ายแพ้ต่อทีมอันดับ 1 ของโลกแล้ว (แพ้ทั้ง 2 นัด) ที่เหลือพวกเขาก็ ‘ตบ’ ทีมร่วมกลุ่ม ‘เรียบ’ เหมือนกัน และคราวนี้ รัสเซีย ก็ได้โอกาสในการล้างตากับ เบลเยียมอีกครั้งในบ้านของตัวเองด้วย

สแตนิสลาฟ เซอร์เซซอฟ อดีตนายทวารทีมชาติรัสเซียยุค 90s พิสูจน์ตัวเองได้อย่างงดงามในฟุตบอลโลก 2018 ที่ทำให้ทีมที่มีอันดับต่ำที่สุดเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศได้สำเร็จ และยื้อทีมรองแชมป์โลกอย่างโครเอเชียให้ต้องไปตัดสินกันในการดวลลูกที่จุดโทษได้ ผลงานดังกล่าวทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้คุมทีมต่อ และเจ้าตัวตอบแทนความไว้ใจพาลูกทีมซึ่งส่วนใหญ่เตะอยู่ลีกในประเทศผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายของศึกยูโรในครั้งนี้ได้ตามเป้า

รัสเซียมีการสร้างทีมใหม่จากเมื่อ 2 ปีก่อนจากการรีไทร์ของนายทวาร อีกอร์ อาคินเฟเยฟ (ตอนนี้เลยสบับกันชิงเบอร์ 1 อยู่ แต่น่าจะใช้ อันทอน ซูนิน) และตัวเก๋า เซอร์เก อิกนาเชวิช ทำให้ทีมมีนักเตะเจนเนอเรชั่นใหม่เข้ามาทำให้ทีมชุดนี้อาจจะดูลงตัวมากขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนด้วยซ้ำ แม้ผู้เล่นส่วนใหญ่จะมาจากลีกในประเทศทำให้อาจจะไม่คุ้นชื่อเสียง แต่ก็มีนักเตะบางคนที่เป็นแกนหลัก และค้าแข้งในลีกชั้นนำอย่าง อเล็กซานเดอร์ โกโลวิน จากโมนาโก ยอดตัวรุกที่เล่นได้หลายตำแหน่ง หลายสไตล์, อเล็กเซ มิรันชุค จากอตาลันตา และ เดนนิส เชอริเชฟ จาก บาเลนเซีย ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นผู้เล่นสำคัญในแดนกลาง ส่วนในแดนหน้า อาร์เตม ซูบา กองหน้าจากเซนิต จะเป็นตัวหลักอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้จะได้สิทธิ์ในการเล่นในบ้าน แต่รัสเซียจะได้เล่นในบ้านเพียง 2 เกมแรกที่จะพบกับ เบลเยียม และ ฟินแลนด์ เท่านั้น ส่วนอีกเกมที่จะพบกับ เดนมาร์ก พวกเขาต้องบินไปเล่นที่ โคเปนเฮเกน แต่กระนั้นก็ถือว่าได้เปรียบมาก ๆ แล้ว

ฟินแลนด์

นี่คือทีมที่มาไกลที่สุดในด้านพัฒนาการ เพราะเมื่อย้อนกลับไปในรอบคัดเลือกปี 2016 พวกเขาไม่ชนะใครเลยแม้แต่เกมเดียว แต่ภายใน 4 ปี ฟินแลนด์พัฒนาจนสามารถเข้าสู่รอบสุดท้ายของฟุตบอลยูโรได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ และเป็นการเข้ารอบแบบไม่ต้องไปลุ้นเพลย์ออฟด้วย หลังจบอันดับ 2 ในกลุ่มเจ ตามหลังอิตาลีแค่ทีมเดียว

มาร์คคู คาเนอร์วา กุนซืออดีตครูโรงเรียนประถม คือผู้อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงกของทีมจากดินแดนแห่งซานตาคลอส หลังจากรับงานผู้ช่วยมา 4 ปี เขาถูกแต่งตั้งให้คุมฟินแลนด์ชุดใหญ่ในปี 2016 ก่อนพาทีมเอาชนะได้ถึง 54.29% จากการคุมทีมลงสนาม 35 เกม และชนะถึง 19 เกม และแม้สไตล์บอลของโค้ชวัย 57 ปี คนนี้จะเล่นโดยเน้นเกมรับแบบ ‘ไม่ได้ก็อย่าเสีย’ แต่ผลที่ออกมาคือการพาทีมบ้านเกินไปเล่นในฟุตบอลรายการเมเจอร์เป็นครั้งแรกได้อย่างยอดเยี่ยม

นอกจาก เตมู ปุกกี ที่เป็นที่รู้จักจากการเล่นกับ นอริช ซิตี แล้ว นักเตะหลาย ๆ คนก็มาจากลีกในบ้านเกิดทำให้ไม่น่าจะเป็นที่รู้จักของแฟนบอลทั่วไปสักเท่าไหร่ โดยนักเตะที่เล่นในลีกชั้นนำของยุโรปก็มีไม่มาก และส่วนมากไม่ได้อยู่ในทีมใหญ่ อย่าง ซาอูลื ไวซาเนน จาก คิเอโว, ไพรี ซอยร จาก เอสบอร์ก, เกล็น กามารา จาก เรนเจอร์ส และ เฟเดอริก เยนเซน จาก เอาสบวร์ก หรือขอฝากหัวหอกอีกคนที่หาก ปุกกี ยิงไม่ได้ก็จะเป็น มาร์คุส ฟอร์สส์ ดาวเตะเบรนท์ฟอร์ด น้องใหม่พรีเมียร์ลีก

ฟินแลนด์ ไม่ต่างจากทีมชาติส่วนใหญ่ที่ต้องเล่นใน 2 ประเทศในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม แต่ยังเคราะห์ดีที่พวกเขาไม่ต้องเจอการบินไปกลับ โดยเกมแรกจะพบกับ เดนมาร์ก ที่โคเปนเฮเกน ก่อนบินไปแข่งอีก 2 เกมที่รัสเซีย พบกับ รัสเซีย และ เบลเยียม ตามลำดับ

ความน่าจะเป็น

เมื่ออิงจากอัตราต่อรองถูกกฎหมายแล้วไม่น่าแปลกใจที่ตัวเต็งจะเป็นเบลเยียม เพราะนอกจากจะเป็นตัวเต็งในการเข้ารอบแล้ว ‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ ยังเป็นตัวเต็งแชมป์อีกทีมที่อัตรา 6/1 รองลงมา รองลงมาคือ เดนมาร์ก ที่มีอัตราต่อรองที่ 33/1 โดยอันดับที่ 3 เป็นรัสเซีย 80/1 และปิดท้ายที่ฟินแลนด์ มีอัตราต่อรองห่างออกไปถึง 200/1 

อย่างไรก็ตามอย่างที่เกริ่นไว้ว่า กลุ่มนี้มีนัยยะบางอย่างกับ ‘3 ใน 4’ ดังนั้นนี่อาจจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้ารอบได้ถึง 3 ทีมได้ไม่ยาก โดยอันดับที่ 3 ที่ดีที่สุด 4 จาก 6 กลุ่ม จะได้เข้าไปเล่นในรอบน็อคเอาต์ ซึ่งถ้ามองว่า ฟินแลนด์ ที่ดูเป็นรองสุดกู่ แจกแต้มให้กับทุกทีมในกลุ่มทีมละ 3 คะแนน นั่นก็มีโอกาสส่งทีมอื่น ๆ ไปยังรอบน็อคเอาต์ได้ 3 ทีมสูงมากเช่นกัน

โดยถ้ามองจากเนื้อผ้าแล้ว เบลเยียม น่าจะเข้ารอบแบบลอยลำ แต่อยากให้จับตาเกมรับที่ไม่เคยเข้าตานัก ตามด้วยเดนมาร์ก ที่ดูกลมกล่อมระดับเป็น “ม้ามืด” ทัวร์นาเมนท์ได้เลย เพราะเกมรับดีมาก แดนกลางดี และกองหน้า คือ not bad ขณะที่รัสเซีย ซึ่งแท็คติกส์ค่อนข้างดี และได้เล่นในบ้านถึง 2 นัดน่าจะได้เข้ารอบเป็นหนึ่งใน 4 อันดับ 3 ที่ดีที่สุดด้วยการเอาชนะ ฟินแลนด์ ซึ่งคงมาเน้นรับหวัง 0-0 ทุกเกมแต่ไม่น่าจะต้านทานได้ครับ

กลุ่ม ซี: กลุ่มที่อ่อนสุด!? และการกลับมาอีกครั้งของกังหันลม

กลุ่มซีในยูโร 2020 เป็นกลุ่มที่ผสมผสานแต่ละทีมได้อย่างลงตัว เพราะมีทั้งยักษ์หลับที่กลับมาอย่าง เนเธอร์แลนด์, ทีมแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกอย่าง ยูเครน, ทีมรองแชมป์กลุ่มอย่าง ออสเตรีย และทีมที่มาจากการเพลย์ออฟอย่าง นอร์ธ มาซิโดเนีย และเหมือนเช่นเคย ที่เราจะไปดูรายละเอียดกันเป็นทีม ๆ ไป

เนเธอร์แลนด์

‘อัศวินสีส้ม’ ห่างหายจากฟุตบอลรายการเมเจอร์ระดับชาติรอบสุดท้ายไปถึง 7 ปี ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้เล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับนี้ คือ ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล (2 ทัวร์นาเมนท์หลักล่าสุด ชวดไป) หลังจากนั้นก็โชว์ฟอร์มได้น่าผิดหวังอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงในยูโร 2020 ที่สามารถขับเคี่ยวในรอบคัดเลือกได้อย่างสนุก แม้สุดท้ายจะเข้ารอบเป็นที่ 2 ของกลุ่มซี แต่ก็จี้เยอรมนีทีมแชมป์กลุ่มห่างแค่ 2 คะแนนเท่านั้น

แฟรงก์ เดอ บัวร์ เข้ามารับงานแทน โรนัลด์ คูมัน ที่พาทีมเข้าสู่รอบสุดท้ายของ ยูโร 2020 ได้สำเร็จแต่เนื่องจากทัวร์นาเมนต์ต้องเลื่อนออกไปทำให้อดีตแนวรับบาร์เซโลนาตัดสินใจไปรับงานกับทีมสโมสรเก่าในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 2020/21 โดยผลงานของ เดอ บัวร์ หลังเข้ามารับงานค่อนข้างน่าเป็นห่วง หลังคุมทีมไป 11 เกมชนะได้ไม่ถึงครึ่งเพียง 5 นัด เสมอ 4 และ แพ้ 2 ซึ่งความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น คือการแพ้ในเกมที่มีความหมายอย่างการแพ้ อิตาลี 0-1 คาบ้าน ในเนชันส์ ลีก และพ่ายต่อ ตุรกี ในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 ไป 2-4

นอกจากผลงานในระยะหลังจะน่าเป็นห่วงแล้ว นักเตะในทีมชุดนี้ของเดอ บัวร์ ก็ไม่ใช่ชุดที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะกัปตันทีม เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บ และไม่ติดทีมชุดนี้ ขณะที่ ดอนนี ฟาน เดอ เบค ก็มาเจ็บถอนตัวไปอีกคน โดยเดอ บัวร์ ตัดสินใจไม่เรียกใครมาทดแทนส่งผลให้ทีมชุดนี้มีนักเตะเพียง 25 คนเ 

สองแนวรับจากกัลโช เซเรีย อา มาไธจ์ส เดอ ลิกต์ (ยูเวนตุส) และ สเตฟาน เดอ ฟรายจ์ (อินเตอร์) ยังคงเป็นตัวหลัก โดยแดนกลางจะมีนักเตะจากลีกชั้นนำอย่าง แฟรงกี เดอ ยองก์ (บาร์เซโลนา), มาร์เทน เดอ รูน (อตาลันตา) และ จีนี ไวจ์นัลดุม (ลิเวอร์พูล) คอยเดินเกม และแนวรุกก็มีชื่อของ เมมฟิส เดปาย (ลียง) ซึ่งกลายเป็นตัวความหวังสูงสุดในแนวรุก, ลุค เดอ ยองก์ (เซบีญา – น่าจะลงมาเป็นตัวสำรอง ในสไตล์เบอร์ 9 แท้ ๆ) และ เวาต์ เว็กฮอร์สต์ (โวสต์สบวร์ก – อาจเป็นทีเด็ดกับสไตล์จี๊ดจ๊าด เพรสซิ่งเก่ง เร็ว อายุยังน้อย ยิงได้สม่ำเสมอมาตลอดในช่วง 5 ซีซั่นที่ผ่านมา) คอยทำหน้าที่ล่าตาข่าย

ฮอลแลนด์ เป็นอีกทีมที่ ‘บุญหนา’ เพราะจะได้เล่นในบ้านที่สนามโยฮันน์ ครัฟฟ์ อารีนา ตลอด 3 เกมรอบแรกในการพบกับ ยูเครน, ต่อด้วย ออสเตรีย ก่อนปิดท้ายกับ นอร์ธ มาซิโดเนีย

ยูเครน 

นี่คือหนึ่งในทีมที่มีโอกาสเป็น ‘ม้ามืด’ (ชักจะหลายทีม 555) ในการแข่งขันครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย หลังพวกเขาสร้างเซอร์ไพร์สในรอบคัดเลือกด้วยการเบียดทีมแชมป์เก่า โปรตุเกส ให้จบแค่ที่ 2 ของกลุ่มบี พร้อมคว้าแชมป์กลุ่มเข้ารอบสุดท้ายมาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเสียประตูเพียง 4 ลูกซึ่งน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจาก เบลเยียม กับตุรกี ทั้งที่ต้องเจอบททดสอบกับทีม ‘ฝอยทอง’ และ เซอร์เบีย (หรือ ต.ค.ปีก่อนเคยเล่นรับชนะสเปน 1-0 ได้สำเร็จ)

อังเดร เชฟเชนโก กองหน้าระดับตำนานของ เอซี มิลาน และเชลซี เข้ามารับงานกับ ยูเครนหลังจบ ยูโร 2016 (หลังไปเล่นการเมืองพักหนึ่ง) และไม่พลาดพาทีมเข้ามาเล่นในยูโรเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันได้สำเร็จ ‘เชวา’ กล้าที่จะใช้นักเตะดาวรุ่งโดยเฉพาะในตำแหน่งกองหลัง ตำแหน่งที่โค้ชส่วนใหญ่เลือกจะใช้ตัวเก๋า และผลตอบแทนที่ได้รับคือการที่ทีมสามารถ เก็บ 4 คะแนนในการเล่น 2 นัดกับ โปรตุเกส และส่งผลให้ทีมของเขาคว้าแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกได้ในที่สุด

ยูเครนชุดนี้เป็นส่วนผสมระหว่างตัวประสบการณ์อายุราว 30 ปี กับตัวสดอายุราว 25 หรือต่ำกว่า โดยมีแกนหลักมาจากสโมสร ดินาโม เคียฟ และ ชัคตาร์ โดเนสต์ ซึ่งเป็นสโมสรจากลีกในประเทศ และมีนักเตะจากลีกใหญ่มาแซมเล็กน้อย ที่น่าจับตามองคือแบ็คขวาพรสวรรค์วัย 18 ปี อิลิยา ซาบาร์นี ส่วนคู่เชนเตอร์ฯ ก็เป็นตัวหลักจาก ชัคตาร์ฯที่เล่นร่วมกันมานานทั้ง มิโคลา มาติเยนโก, ซอร์เกย์ ครีฟตอฟ, ทาราส สเตปาเนนโก ในแดนกลาง รัสลัน มาลินอฟสกี จากอตาลันตา (ครีเอทีฟ เทคนิคดี, เท้าซ้ายดีทั้งผ่าน ทั้งยิง, assist ได้) จะเล่นร่วมกับ อังเดรย์ ยาโมเลนโก จากเวสต์แฮม และ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก จากแมนฯ ซิตี ในแดนหน้าจะมี โรมัน ยาเรมชุก จาก เกนต์ ที่ฟอร์มซีซั่นปัจจุบันดี และสถิติทีมชาติก็ใช้ได้ คอยล่าตาข่าย

ยูเครน จะประเดิมสนามในอัมสเตอร์ดัม กับ เนเธอร์แลนด์ ก่อนบินไปเล่นที่ บูคาเรสต์ กับ นอร์ธ มาซิโดเนีย และ ออสเตรียตามลำดับ

ออสเตรีย

เทียบกันในกลุ่มนี้ ออสเตรีย มีอันดับโลกอยู่ในอันดับ 23 รองจาก เนเธอร์แลนด์ ทีมเดียวเท่านั้น แม้จะอันดับโลกดีกว่ายูเครน แต่ก็ดีกว่าแค่อันดับเดียว แถมพวกเขากลับผ่านรอบคัดเลือกมาในฐานะที่แย่กว่าโดยเป็นรองแชมป์ของกลุ่มจี ที่ถูกแชมป์กลุ่มอย่างโปแลนด์ทิ้งขาดถึง 6 คะแนน ทำให้ชื่อของ ออสเตรีย อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ออสเตรียก็สามารถเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลยูโรได้เป็นครั้ง 2 ติดต่อกัน จึงต้องให้เครดิตในข้อนี้ด้วย

หลังจากความล้มเหลวในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2018 ฟรานโก โฟดา กุนซือชาวเยอรมนี ก็เข้ามารับต่อ และทำสถิติได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคุมทีม 34 นัด พาทีมเอาชนะได้ถึง 20 นัด คิดเป็น 58.82% และอันที่จริงแล้วสถิติการคุมทีมชนะของกุนซือวัย 55 ปีนั้น เกิน 60% มาตลอดจนกระทั่งใน 6 เกมหลังสุดที่เหมือนเครื่องช็อตไปดื้อ ๆ หลังเอาชนะได้เพียงเกมเดียวเหนือหมู่เกาะแฟโร 3-1 นอกจากนั้นอีก 5 เกมออกผลเสมอ 3 และแพ้ 2 ซึ่งน่าสนใจว่าในทัวร์นาเมนต์นี้ โฟดา จะปลุกทีมให้กลับมาดุอีกครั้งได้หรือไม่?

นักเตะของออสเตรียส่วนมากค้าแข้งอยู่ในบุนเดสลีกา นำทัพโดย ดาบิด อลาบา ที่เพิ่งย้ายไปร่วมทีม เรอัล มาดริด (โฟดา จะให้เล่นตรงไหน แบ็คซ้าย, เซนเตอร์ฯ หรือมิดฟิลด์ เพราะโดนลองมาหมดแล้ว – น่าจะจบที่แบ็คซ้าย) และยังมี สเตฟาน ไลเนอร์ จากมึนเชนกลัดบัค, สเตฟาน พอสช์ (ฮอฟเฟนไฮม์) และมาร์ติน ฮินเตเร็กเกอร์ (แฟรงก์เฟิร์ต) ที่จะช่วยกันทำหน้าที่ในแดนหลัง โดยแดนกลางจะมี ฟลอเรียน กริลลิตส์ช กับคริสตอปห์ บอมการ์เนอร์ จากฮอฟเฟนไฮม์, จูเลียน บอมการ์ตลินเกอร์ จาก เลเวอร์คูเซน, วานเลนติโน ลาซาโร จากมึนเชนกลัดบัค, คอนราด ไลเมอร์ จาก แอร์เบ ไลป์ซิก และที่น่าจับตา คือ ซาเวอร์ ชลาเกอร์ (โวลฟ์บวร์ก – ตัดบอล, ไปกับบอล, ผ่านบอลทางลึก) และแดนหน้าจะมี มาร์เซล ซาบิตเซอร์ อีกหนึ่งตัวหลักของ ไลป์ซิกยืนหน้าต่ำหลังหัวหอกอย่าง ซาซา คาลาดซิช ที่ สตุ๊ตการ์ตส่งเข้าประกวด

ออสเตรีย แม้ตัวผู้เล่นไม่เด่น แต่นักเตะส่วนใหญ่มาจาก เรดบูลล์ โมเดล ผ่าน ซัลซ์บวร์ก และไลป์ซิก จะเป็นทีมที่โดน ‘แจ็คพ็อต’ ของกลุ่มนี้ เพราะต้องบินไป-กลับ สองรอบระหว่างแข่งขัน 3 นัด รวมระยะทางเกือบ 3,300 ไมล์ โดยพวกเขาจะเปิดสนามกับ นอร์ธ มาซิโดเนีย ที่ บูคาเรสต์ หลังจากนั้นบินไปเล่นกับ เนเธอร์แลนด์ ที่อัมสเตอร์ดัม ก่อนบินมาปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มที่ฮังการีอีกครั้งกับ ยูเครน

นอร์ธ มาซิโดเนีย

นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศชาติที่มาถึงฟุตบอลยูโร 2020 รอบสุดท้ายได้สำเร็จ และเป็นการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อนตั้งประเทศเลยด้วย นอร์ธ มาซิโดเนีย เก็บชัยชนะ 4 นัด และเสมออีก 2 ในรอบแบ่งกลุ่ม 10 เกม จบอันดับที่ 3 ของกลุ่ม ก่อนโชคดีได้เจองานง่ายในเพลย์ออฟ 2 นัดกับ โคโซโว และ จอร์เจีย จึงไม่แปลกหากใครหลายคนจะมองว่าพวกเขาคือทีมไม้ประดับของทัวร์นาเมนต์นี้ (คือ ผลผลิตการเพิ่มทีมจาก 16 เป็น 24 ทีม)

อีกอร์ อังเยลอฟสกี เข้ามาทำทีมชาติชุดนี้ตั้งแต่อายุ 39 ปี โดยเข้ามาแทนที่ของ ลูบินโก ดรูโลวิช ที่ไปรับงานคุมทีม ปาร์ติซาน เบลเกรด แต่ผลงานของกุนซือวัย 45 ปีรายนี้กลับน่าประทับใจ เมื่อคุมทีมจบที่ 3 ในรอบคัดเลือกกลุ่มจี เป็นรองแค่ โปแลนด์ และ ออสเตรีย ก่อนจะมาคว้าโควตาในรอบเพลย์ออฟ ด้วยการเอาชนะ โคโซโว และ จอร์เจีย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ นอร์ธ มาซิโดเนีย ได้สำเร็จ

แม้จะเป็นชาติน้องใหม่ในยุโร แต่ นอร์ธ มาซิโดเนีย ก็มีนักเตะคุณภาพกระจายอยู่ในลีกยุโรปมากมาย ไล่ตั้งแต่ผู้รักษาประตู สโตเล ดิมิเตรฟสกี จาก ราโย บาเยกาโน, เอซกาน อลิออสกี (ลีดส์ ยูไนเต็ด), โบบัน นิโคลอฟ มิดฟิลด์จาก เลชเช, อีลิฟ เอฟมาซ กองกลางดาวรุ่งจากนาโปลี, ดราโก เชอร์ลินอฟ ปีกตัวจี๊ดจาก สตุ๊ตการ์ต, อเล็กซานดาร์ ทราจ์คอฟสกี กองหน้าจากมาญอร์กา และ โกรัน ปานเดฟ หัวหอกตัวเก๋าจากเจนัว เมื่อมองนักเตะที่ว่ามาทั้งหมดการจะกาชื่อพวกเขาทิ้งตั้งแต่ก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มก็ออกจะรีบร้อนเกินไปหน่อย (เคยปราบเยอรมันมา 2-1 เมื่อไม่นานมานี้)

นอร์ธ มาซิโดเนีย เล่นได้ทั้งหลัง 3 และแบ็คโฟร์ แต่กำลังพลไม่แข็งแกร่ง และมากพอ (น่าจะเป็น 3-5-2) จะได้เล่นในฮังการีก่อน 2 นัด โดยจะพบกับ ออสเตรีย และ ยูเครน ตามลำดับ ก่อนบินไปปิดรอบแบ่งกลุ่มกับ เนเธอร์แลนด์ ที่ อัมสเตอร์ดัม ในนัดสุดท้าย

ความน่าจะเป็น:

อ้างอิงจากอัตราต่อรองจากบริษัทรับพนันถูกกฎหมายก็คงเดาไม่ยากว่า เนเธอร์แลนด์ เป็นตัวเต็งของกลุ่มนี้ด้วยอัตรา 10/1 รองลงมาคือ ยูเครน ที่อัตรา 66/1 ส่วน ออสเตรีย ตามมาเป็นที่ 3 ที่อัตราต่อรอง 100/1 และ นอร์ธ มาซิโดเนีย นอกจากจะรั้งท้ายในกลุ่มแล้ว พวกเขายังเป็นหนึ่งในทีมที่ได้เรตแย่ที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ดัวอัตรา 500/1 ด้วย

ขณะที่ในทางปฏิบัติแล้ว กลุ่มนี้อาจจะชุลมุนกว่าที่คาด เพราะถึงแม้ฮอลแลนด์จะดูดีกว่าใคร แต่โค้ชที่ทำทีมจนมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่แฟรงก์ เดอ บัวร์ ประกอบกับทีมก็ไม่ได้พร้อมสมบูรณ์ ดังนั้นคาดหวังได้เลยว่า แฟน ๆ จะไม่ได้เห็นทีมดัตช์ที่เล่นรุก สวยงาม มีประสิทธิภาพ แบบที่เราชื่นชอบแน่นอน 

ดังนั้นโอกาสจึงอาจเปิดให้ทีมอย่าง ออสเตรีย หรือ ยูเครน ฉกฉวยคว้าคะแนนไปได้ ขณะที่ นอร์ธ มาซิโดเนีย ก็มีนักเตะที่มีชื่อชั้นอยู่ไม่น้อยทำให้อาจจะไม่ถึงขั้นแจกแต้มไปทั่วอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ก็ได้ (ด้วยเพราะอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้แข็งมากด้วยเช่นกัน)

มองจากเหตุผลที่ว่ามา ยูเครน กับ เนเธอร์แลนด์ มีโอกาสมากที่สุด (เพราะคุณภาพผู้เล่น) ที่จะคว้า 2 อันดับแรกในกลุ่มนี้ ขณะที่ ออสเตรีย ก็มีโอกาสที่จะสอดแทรกขึ้นไปใน 2 อันดับแรกได้เช่นกัน ส่วน นอร์ธ มาซิโดเนีย ก็อาจจะกลายเป็นทีมที่เข้ารอบน็อคเอาต์ได้หากมีทีมใดใน 3 ทีมที่ว่ามาทำผลงานได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และพวกเขาฉกฉวย 3 แต้มมาครองได้ในการเจอกับทีมนั้น

กลุ่ม ดี: อังกฤษ ขวัญใจตลอดกาล/รุ่นเก๋า โครแอต/สด เช็ค/สู้สกอตต์

อังกฤษ เป็นทีมชาติที่แฟนบอลชาวไทยให้ความสำคัญกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเชียร์ หรือ แช่งขัน และในยูโร 2020 หนนี้ ทัพ ‘สิงโตคำราม’ อยู่ในกลุ่มดี ร่วมกับ โครเอเชีย ทีมรองแชมป์โลก, สก็อตแลนด์ ทีมบ้านใกล้เรือนเคียง และ สาธารณรัฐเช็ก ทีมที่ถูกซูเปอร์คอมพิวเตอร์มองว่าจะเป็นแชมป์ในการแข่งขันคราวนี้ ใครเป็นใครอย่างไรกัน ไปแกะรอยแต่ละชาติกันครับ

อังกฤษ

ทีมขวัญใจพ่อยกแม่ยกแฟนบอลชาวไทยทำให้น่าจะมีคนรอลุ้นมากที่สุด และอังกฤษก็ไม่ทำให้การรอคอยของแฟนบอลในยูโรคราวนี้ผิดหวัง (ณ จุดนี้) หลังเข้ารอบสุดท้ายมาด้วยฐานะแชมป์กลุ่มเอ เก็บชัยชนะได้ 7 จาก 8 นัด และยิงประตูได้ถึง 37 ลูก สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ร่วมกับอิตาลี และเป็นรองแค่ เบลเยียม ทีมเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ 6 เกมหลังสุดก่อนมาถึงทัวร์นาเมนต์นี้ อังกฤษยังเก็บชัยชนะรวดคิดต่อกันทั้งหมดด้วย

แกเร็ธ เซาธ์เกต ได้รับเครดิตค่อนข้างสูงหลังพาอังกฤษเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย (แม้จะถูกมองว่า ขาดความ “ยืดหยุ่น” และแก้เกมได้ดี) หลังจากนั้นยังพาทัพ ‘สิงโตคำราม’ คว้าอันดับที่ 3 ในยูฟา เนชันส์ ลีก 2019 อีกด้วย โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมากุนซือวัย 50 ปี คุมทีมชาติไปแล้ว 54 นัด และพาทีมเก็บชัยได้มากถึง 63% หรือ 34 นัด แต่อย่างไรก็ตามสำหรับแฟนบอลแล้ว ต้องการแชมป์เป็นรูปธรรมมากกว่า หรือต้องการเห็นชัยชนะในนัดสำคัญ ๆ มากกว่าสถิติที่สวยหรู ซึ่งเซาธ์เกต ก็ตั้งความหวังไว้กับศึกยูโรในคราวนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับขุมกำลังของนักเตะทีมชาติอังกฤษ คงไม่ต้องสาธยายอะไรกันมากมาย เพราะล้วนแต่เป็นนักเตะที่คุ้นหน้าตุ้นตากันจากพรีเมียร์ลีกทั้งสิ้น โดยทั้ง 26 คน มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่มาจากลีกอื่น ได้แก่ คีแรน ทริปเปียร์ จาก แอตฯ มาดริด, เจดอน ซานโซ กับ จูด เบลลิงแฮม (17 ปีเท่านั้น) จาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ โดยอังกฤษชุดนี้ถือว่ามีแนวรุกอันตรายหลายคน ทั้ง แฮร์รี เคน, มาร์คัส แรชฟอร์ด, แจ็ค กรีลิช รวมไปถึง ราฮีม สเตอร์ลิง และดาวรุ่งอีกหลายคนที่อาจแจ้งเกิดทันเวลา อาทิ ฟิล โฟเดน, เมสัน เมาท์ หรือซานโช กับเบลลิงแฮม ที่ได้เอ่ยชื่อไว้แล้วข้างต้น ดังนั้นความพร้อมจึงน่าจะอยู่ที่ความฟิตของแกนหลัก อย่าง แฮร์รี แมคไกวร์ ที่บาดเจ็บมาจากสโมสร และไม่น่าจะพร้อมในเกมแรก ๆ หรือจอร์แดน เฮนเดอร์สัน ที่หายเจ็บกลับมาทันเวลาพอดี

โครเอเชีย

ทีมรองแชมป์โลกทีมล่าสุด แม้จะเข้ารอบสุดท้ายมาด้วยฐานะแชมป์กลุ่มอี แต่ผลงานในรอบคัดเลือกจะเรียกว่าน่าผิดหวังก็ว่าได้ เมื่อเก็บได้เพียง 17 คะแนน ซึ่งน้อยที่สุดในบรรดาทีมที่เข้าสู่รอบสุดท้ายได้ เท่านั้นยังไม่พอ นับตั้งแต่ปี 2020 จาถึงปัจจุบัน ‘โครแอต’ เล่นเกมทีมชาติไปแล้ว 13 เกม ชนะได้เพียง 4 เกมเท่านั้น แพ้ไปถึง 7 และเสมอ 1 โดยพวกเขาแพ้ทีมอย่าง สโลเวเนีย และเสมอกับอาร์เมเนีย ด้วยซ้ำไป ทำให่สถานการณ์ก่อนเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์นี้ ดูไม่ดีเลย หรือรวม ๆ แล้วทีมดูแย่ลงกว่าเมื่อ 3 ปีก่อนที่ได้รองแชมป์โลก 2018

ซลัตโก ดาลิช ทำผลงานได้อย่างยอดเยียมในฟุตบอลโลก 2018 ด้วยการไปถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก แต่หลังจากนั้นผลงานของก็ดูดร็อปลงมาเรื่อย ๆ แม้จะประคองตัวเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายของยูโร 2020 ได้ แต่ทีมก็ดูจะมีปัญหามากทีเดียวโดยเฉพาะแนวรุกที่ทำประตูไม่ค่อยได้ในระยะหลังเมื่อไม่มี มาริโอ มานด์ซูคิซ ซึ่งหากหวังจะทำผลงานได้น่าประทับใจอีกครั้ง กุนซือวัย 54 ปี ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้

ผู้เล่นตัวหลัก ๆ ของโครเอเชียชุดนี้ ส่วนมากคือผู้เล่นชุดรองแชมป์โลกเมื่อ 3 ปีก่อน (แต่แก่ลง! หรือหายไป 2-3 ตัวดี ๆ) โดยแนวรับยังมีนักเตะอย่าง โดมากอย วิดา, ซิเม เวอร์ซาลจ์โก และ เดยัน ลอฟเรน คอยประจำการ หรือดาวรุ่ง ยอสโก กวาดิโอล วัย 19 ปีที่เตรียมย้ายไปไลป์ซิก ซัมเมอร์นี้ (ฉายา ลิตเติ้ล เป๊ป) แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ฟูลแบ็คดี ๆ และไว้ใจได้ ส่วนแดนกลางยังแน่นเพราะมี มัตเตโอ โควาซิช, ลูกา โมดริช, มาร์เซโล โบรโววิช หรือมิลาน บาเดลจ์ ที่ล้วนเก๋า คอยทำหน้าที่คุมเกม ส่วนแดนหน้า อีวาน เปริซิช, อังเดรจ์ คามาริช และ อันเท เรบิช จะยืนเป็น 3 ประสานร่วมกันล่าตาข่าย ตัวใหม่หน่อยก็จะมี นิโคลา วลาซิช (อดีตขุนพลเอฟเวอร์ตัน) ที่อาจถึงเวลาของเขา และเล่นดีขึ้น ๆ หลังย้ายออกมาจากเอฟเวอร์ตัน หรือบรูโน เพตโควิช ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองหลังไม่มี มานด์ซูคิช

โครเอเชีย จะเริ่มทัวร์นาเมนต์นี้ในลอนดอน ในการเจอกับอังกฤษ ก่อนบินไปยัง กลาสโกว์ เพื่อเล่นอีก 2 เกมที่เหลือกับ สาธารณรัฐเช็ก และ สก็อตแลนด์ ตามลำดับ

สาธารณรัฐเช็ก

สาธารณรัฐเช็ก เป็นขาประจำของฟุตบอลยูโรมาตลอดตั้งแต่สมัยยังเป็น เช็กโกสโลวาเกีย โดยเป็นทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกครั้งไม่เคยขาดจนถึงในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ในรอบคัดเลือก เช็ก ถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มเดี่ยวกับอังกฤษ และตามหลังเข้ารอบมาในฐานะทีมอันดับที่สอง ด้วยผลงานชนะ 5 แพ้ 3 ทว่าพอมาในรอบสุดท้าย พวกเขาก็ยังต้องอยู่กลุ่มเดียวกับอังกฤษอีกครั้งเหมือนเดิม

ยาโรสลาฟ ซิลฮาวี เข้ามารับงานคุมสาธารณรัฐเช็กในเดือนกันยายน 2018 เขาเป็นคนที่คุมทีมในรูปแบบที่กล้าได้กล้าเสีย ไม่ประณีประนอม ผลที่ออกมาคือทีมไม่เสมอแม้แต่นัดเดียวในรอบคัดเลือกยูโร 2020 และตลอด 3 ปี ซิลฮาวี คุมเช็กไป 27 นัด โดยมีเกมที่เขาคุมทีมเสมอเพียงนัดเดียวเท่านั้น โดยเป็นการเสมอกับ เบลเยียม ในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (โดยรวม คือ เกมรับไม่ค่อยดีนัก แม้รุกจะโอเคร)

สาธารณรัฐเช็กเป็นทีมที่ประกอบขึ้นมาจากนักเตะที่ค้าแข้งอยู่ทั่วยุโรป อาทิ โทมัส วาซลิก ผู้รักษาประตูจากเซบีญา, วลาดิเมียร์ คูฟาล และ โทมัส ชูเช็ก จาก เวสต์แฮม ยูไนเต็ด, พาเวล คาเดราเบค จาก ฮอฟเฟนไฮม์, อันโตนิน บารัค จาก เฮลลาส เวโรนา, วลาดิเมียร์ ดาริดา กัปตันทีมจากแฮร์ธา เบอร์ลิน หรือที่กำลังมาแรง อดัม โลเช็ค ที่เด่นเกมรุก และทำประตูได้ เลี้ยงบอลดี เล่นได้หลายตำแหน่ง (อาจถูกดึงมาเวสต์แฮม ตามพี่ ๆ ได้) และกองหน้าก็มี แพทริก ชีค ซึ่งค่อนข้างโอเครจาก ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และ มาเตจ วีดรา จากเบิร์นลีย์

เช็กจะเริ่มต้นเกมแรกของยูโร 2020 ที่ กลาสโกว์ ในการเจอกับสก็อตแลนด์ และนักต่อมายังเล่นที่เดิมในการพบกับ โครเอเชีย ก่อนจะไปปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มที่ลอนดอน ในการพบกับอังกฤษ

สก็อตแลนด์

นี่เป็นเพียงครั้งที่ 3 เท่านั้นที่สก็อตแลนด์ได้เข้ามาเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ เคร็ก บราวน์ คุมทีมเข้ามาในรายการนี้เมื่อปี 1996 โดยทีมจากแดนวิสกี จบอันดับที่ 3 ในกลุ่มไอ แต่ผ่านเข้ามาในรอบสุดท้ายด้วยการเพลย์ออฟเอาชนะทั้ง อิสราเอล และ เซอร์เบีย ได้สำเร็จ ดังนั้นสถานของทีมจึงค่อนข้างดูเป็นรองชาติอื่น ๆ อยู่บ้าง

สตีฟ คลาร์ก ถูกแต่งตั้งให้เข้ามารับตำหน่งระหว่างรอบคัดเลือกยูโร 2020 ในเดือนพฤษภาคม 2019 และสุดท้ายก็พาทีมผ่านรอบเพลย์ออฟเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายได้สำเร็จ ถึงแม้ผลงานจะดูไม่ค่อยสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมกลุ่ม แต่ คลาร์ก ก็คุมทีมไม่แพ้ใครมาตลอด 5 นัดหลังสุดก่อนเริ่มการแข่งขัน ยูโร 2020 และสามารถพาทีมเสมอกับ เนเธอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ที่ดูเหนือกว่าพวกเขาได้ด้วย (อีกทั้งด้วยประสบการณ์ คนฟุตบอลจำนวนไม่น้อยยังเรต คลาร์ก เหนือกว่า เซาธ์เกต ด้วยซ้ำ)

สำหรับนักเตะของ สก็อตแลนด์ ก็มาจากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ สก็อตติช พรีเมียร์ชีฟ เป็นส่วนใหญ่ และมีนักเตะหลายคนที่แฟนบอลชาวไทยน่าจะคุ้นหูคุ้นตา ทั้ง แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, แกรนท์ ฮันลีย์, คีแรน เทียร์นีย์, เลียม คูเปอร์ ที่ทำหน้าที่ในแนวรับ (น่าจะเป็นระบบหลัง 3 และแข็งมากทั้งฝั่งซ้ายที่เทียร์นีย์ จะถูกโยกไปเป็นเซนเตอร์ฯ และ รบส.วิงก์แบ็คซ้าย) กองกลางก็มีนักเตะให้เลือกใช้หลายรายทั้ง สก็อตต์ แมคโทมิเนย์, จอห์น แมคกินน์, สจวร์ต ดัลลัส, ไรอัน เฟรเซอร์ รวมไปถึง บิลลี กิลมอร์ และกองหน้าก็มี เช อดัมส์ คอยล่าตาข่าย หรือไรอัน คริสตี ซึ่งมีความหลากหลายในเกมรุกได้ทั้งมิดฟิลด์ตัวรุก และกองหน้า ทำประตูได้ เพรสซิ่งแดนบนได้ดี มีหลายทีมจับจ้องจะดึงตัวมาจากเซลติก

ความน่าจะเป็น:

อ้างอิงจากอัตราต่อรองจากบริษัทรับพนันถูกกฎหมายก็จะเห็นว่าอังกฤษ แทบจะนอนมาในกลุ่มนี้ เพราะนอกจากจะเป็นตัวเต็งของกลุ่มแล้ว อัตราต่อรอง 5/1 ของพวกเขายังเป็นอัตราต่อรองในการเป็นเต็งแชมป์ด้วย โดยที่ตามมาคือ โครเอเชีย ที่อัตรา 66/1 ส่วน สาธารณรัฐเช็ก มีอัตราต่อรองที่ 150/1 และปิดท้ายที่ สก็อตแลนด์ ที่ 250/1

อย่างไรก็ตาม ถึงสก็อตแลนด์ จะดูมีอัตราต่อรองที่แย่งที่สุด แต่พวกเขาอาจจะมีบทบาทในฐานะ ‘ตัวแปร’ ที่อาจจะส่งใครเข้ารอบหรือลากใครตกรอบไปพร้อม ๆ กันก็ได้ เพราะถึงแม้หลายปัจจัยจะดูไม่เอื้ออำนวย แต่นักเตะของพวกเขาก็ยังพอมีดีอยู่ ดังนั้นมีโอกาสที่ทั้งสามทีมไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, สาธารณรัฐเช็ก หรือ โครเอเชีย จะมาพลาดสะดุดในการเจอกันได้อยู่เหมือนกัน

ส่วนทีมแชมป์กลุ่มนั้นก็ค่อยข้างชัดเจนว่าน่าจะเป็นอังกฤษ ถ้าพวกเขาไม่สะดุดขาตัวเองจนเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่ในส่วนที่ว่าใครจะเป็นที่สองแล้วตามทีมของ แกเร็ธ เซาธ์เกต เข้าไปในรอบน็อตเอาต์ อันนี้น่าจะต้องไปดูฟอร์มในเกมกันอีกที

กลุ่ม อี: กระทิงยิงไม่ดุ สวีเดน อีกหนึ่งม้ามืด

กลุ่มอี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจของฟุตบอลยูโรในคราวนี้ เพราะเต็มไปด้วยบรรดาทีมขาประจำ และมีทีมระดับท็อป 20 ของโลกอยู่ถึง 3 ชาติ ได้แก่ สเปน, สวีเดน และ โปแลนด์ โดยที่ตัวสอดแทรก และตัวแปรสำคัญ ก็ไม่ใช่ทีมน้องใหม่ในรายการนี้ แต่เป็น สโลวะเกีย ทำให้กลุ่มนี้มีสีสัน และน่าสนใจไม่แพ้กลุ่มอื่น ๆ ในการแข่งขันคราวนี้ และเหมือนเดิมที่เราจะไปดูกันทีละทีมครับ

สเปน

ทีมอันดับโลกสูงสุดในกลุ่มนี้ที่เข้ารอบมาด้วยฟอร์มอันแข็งแกร่ง จากการชนะ 8 เสมอ 2 ไม่แพ่ใครใน 10 เกมรอบคัดเลือก พร้อมเสียไปเพียง 5 ประตู ซึ่งน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 3 หลังจากนั้นก็ยังโชว์ฟอร์มได้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพิ่งไล่ถล่มเยอรมนีไปขาดลอยถึง 6-0 ทำให้เพวกขาเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะคว้าแชมป์ในปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

หลุยส์ เอ็นริเก กลับมาคุมทีมชาติสเปนอีกครั้งหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อลูกสาวต้องจากไปเพราะอาการป่วย เขาพยายามเปลี่ยนเลือดใหม่ให้ทัพ ‘กระทิงดุ’ โดยผลงานตั้งแต่กลับมาคุมทีมในคำรบนี้ของอดีตกุนซือบาร์เซโลนา ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะใน 11 เกมหลังแม้จะแพ้แค่เกมเดียว แต่ก็ชนะได้เพียงแค่ 5 เกมเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงครึ่งของจำนวนนัดทั้งหมด โดยไปหลุดเสมอไปถึง 5 เกมด้วยกัน

สเปนชุดนี้จะไม่มี เซร์คิโอ รามอส ที่รับใช้ทีมชาติมาอย่างยาวนาน จนเกิดกระแสดรามามิใช่น้อยนอกสนาม โดยรามอสซึ่งจริง ๆ ไม่สมบูรณ์นักก่อนทัวร์นาเมนท์จะถูกทดแทนด้วยนักเตะเลือดใหม่อย่างวัยไม่ถึง 30 อย่าง เปา ตอร์เรส, อีริค การ์เซีย, โฆเซ กายา, ดีเอโก ยอเรนเต รวมไปถึง อายเมอริค ลาปอร์ต ที่โยกจากฝรั่งเศสมาเล่นให้สเปน ขณะที่แดนกลาง ยังมีทั้งตั๋วเก๋า และเลือดใหม่ปะปนกันไป อาทิ เซร์คิโอ บุสเกตส์, โกเก, โรดรี, ดานี โอลโม (จะเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตา และได้รับความสนใจจากทีมใหญ่ทั่วยุโรปในฐานะมิดฟิลด์ตัวรุก) และ ปาโบล ซาราเบรีย เป็นต้น โดยที่แดนหน้า ก็ล้วนแต่มีนักเตะที่น่าสนใจทั้ง เกราร์ด โมเรโน รองดาวซัลโวลาลีกา, แฟร์ราน ตอร์เรซ กับ อดามา ตราโอเร สองนักเตะจากพรีเมียร์ลีก และอัลวาโร โมราตา กับ มิเกล โอยาร์ซาบาล รวมอยู่ด้วย แต่ในเชิงประสิทธิภาพการทำประตูยังคงต้องลุ้นกันเล็กน้อย

สเปน ยังเป็นทีมที่เน้นต่อบอล ครองบอล แต่ก็ไม่ได้หนักหน่วงเท่ากับยุครุ่งเรือง 2008 – 2012 และโชคดีในทัวร์นาเมนท์นี้ที่ไม่ต้องเดินทางไปไหน พวกเขาจะปักหลักแข่งขันที่เอสตาดิโอ เด ลา การ์ตูฆา ในเซบีญา ทั้ง 3 เกม โดยไล่จากการเจอกับ สวีเดน ต่อด้วย โปแลนด์ และปิดท้ายพบ สโลวะเกีย

สวีเดน

หากไม่นับปี 1992 ที่สวีเดน ได้อันดับที่ 3 และนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทัพ ‘ไวกิงส์’ เป็นขาประจำในฟุตบอลยูโรมาตลอด แต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่พวกเขาผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปเล่นในรอบน็อคเอาต์ได้ คือในปี 2004 และปีนี้เป็นโอกาสดีที่ทีมจะทำแบบนั้นให้ได้อีกครั้ง แม้ค่อนข้างจะเกรงใจสเปนที่พวกเขาเอาชนะไม่ได้ทั้งสองนัดที่เจอกันในรอบคัดเลือกที่ผ่านมาก็ตาม

แยนน์ แอนเดอร์สัน เข้ามารับงานคุมทีมสวีเดนตั้งแต่จบฟุตบอล ยูโร 2016 และพาทีมเก็บชัยชนะได้เกินครึ่ง (แบบคาบเส้น) หลังลงเล่นไป 55 นัด และ ชนะไปได้ 28 นัด เสมอ 10 แพ้ 17 โดยผลงานของเขาในปี 2021 ก็ดูเข้าที เมื่อพาทีมชนะได้ทุกเกมรวม 5 นัด ทั้งในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก และ เกมกระชับมิตร ซึ่งอาจจะมองได้กุนซือวัย 58 ปีผู้นี้จูนทีมได้ลงตัวแบบถูกเวลาอย่างพอเหมาะพอเจาะ

นักเตะชุดนี้ของ สวีเดนก็น่าสนใจ เพราะถึงแม้ไม่มี ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ในทีม (กลับมาเล่นทีมชาติ แต่เจ็บถอนตัวออกไป) ทว่าก็ปรากฏชื่อของนักเตะหลายคนจากลีกชั้นนำซึ่งน่าจะช่วยทีมชุดนี้ได้มากไล่ตั้งแต่ในแนวรับ วิคตอร์ ลินเดเลิฟ จาก แมนฯ ยูไนเต็ด, ลุดวิก ออกุสตินสัน จาก เบรเมน, เอมิล คราฟธ์ จาก นิวคาสเซิล, พอนตัส ยานส์สัน จาก เบรนท์ฟอร์ต ขณะที่แดนกลางมี เดยัน คูลูเซฟสกี จาก ยูเวนตุส, มาติอัส สแวนเบิร์ก จาก โบโลญญา, อัลบิน เอ็คดาล จาก ซามพ์โดเรีย และ เอมิล ฟอร์สเบิร์ก จาก ไลป์ซิก โดยแดนหน้า ยังมีตัวเก๋า มาคุส เบิร์ก (34 ปี) และเลือดใหม่อย่าง อเล็ดซานเดอร์ อิซัค จากเรอัล โซเซียดาด (21 ปี กำลังก้าวขึ้นมา และถูกเปรียบเทียบกับ เออร์ลิง เบราต์-ฮาลันด์ เช่นกัน) คอยประจำการ

สวีเดน จะเริ่มทัวร์นาเมนต์ที่ เซบีญา ในเกมพบกับสเปน ก่อนบินไปยังรัสเซีย เพื่อพบกับ สโลวาเกีย และ โปแลนด์ ตามลำดับต่อไป

โปแลนด์

เมื่อได้ยินชื่อนี้หลาย ๆ คนคงอดคิดถึงชื่อของ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่นักเตะคนเดียวที่พวกเขามี เพราะทีมนี้มีนักเตะที่ยอดเยี่ยมอีกหลายคน จึงสามารถผ่านรอบคัดเลือกมาในฐานะแชมป์กลุ่มชนิดที่ทิ้งอันดับที่ 2 ขาดถึง 6 คะแนน แต่เครื่องหมายคำถามตัวโตที่เกิดขึ้นกับทีมนี้คือโค้ชที่พาทีมมาสู่ยูโร 2020 กับโค้ชที่จะคุมทีมลงสนามสู้ศึกเป็นคนละคนกัน

เยอร์ซี เบอร์ซีเซ็ค ถูกปลดจากตำแหน่งอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยสมาคมฟุตบอลฯให้เหตุผลว่าไม่พอใจสไตล์การทำทีมของเขา และแทนที่ด้วย เปาโล ซูซา ที่ว่างงานอยู่พอดี ทว่า ภายใต้การทำทีมของซูซา โปแลนด์ เพิ่งชนะไปเพียงเกมเดียวจาก 5 นัดหลัง โดยเสมอไปถึง 3 และแพ้ไปอีก 1 เกม ทำให้หลายฝ่ายมองว่าทีมอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งเท่าตอนที่ เบอร์ซีเซ็คทำงานอยู่ก็ได้

โปแลนด์ชุดนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นนักเตะที่ทางด้าน เบอร์ซีเซ็ค เคยเลือกใช้งาน ซึ่งเป็นนักเตะที่มีวัยอยู่ในช่วง 25-32 ปี โดยมีทั้งประสบการณ์ และความพร้อม อาทิ วอยเซียก เชสนีย์ ผู้รักษาประตูจากยูเวนตุส, แนวรับจะมี พาเวล ดาวิโดวิชซ์ จากเวโรนา, คามิล กลิก ตัวเก๋าจากเบเนเวนโต, แยน เบดนาเร็ก จากเซาแฮมป์ตัน กองกลางมี เกอร์เซกอร์ซ ครีโซเวียก จากโลโกโมทีฟ มอสโกว์, มาเทอุสซ์ คลิช จากลีดส์, ปีโอตอร์ ซีลินสกี จากนาโปลี (เป็นรุกทางซ้าย ไดนามิก ชอบบุก) โดยกองหน้าใช้งาน โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี จาก บาเบิร์น มิวนิค หนึ่งในกองหน้าตัวเป้าที่ขึ้นชื่อที่สุดในทัวร์นาเมนท์ และ อาร์คาดิอุสซ์ มิลิก จาก มาร์กเซย์ ทำงานร่วมกัน

โปแลนด์ น่าจะเล่น 4-4-2 และมีกำลังพลที่น่าสนใจ สู้ได้ในกลุ่มนี้ แต่โดน ‘แจ็คพ็อต’ บินสองรอบในกลุ่มนี้ พวกเขาจะต้องเล่นเกมแรกกับ สโลวะเกีย ที่รัสเซีย ก่อนบินไปเล่นที่ เซบีญา กับสเปน และปิดท้ายด้วยการบินกลับมา เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก พบกับ สวีเดน

สโลวะเกีย

คงจะไม่เกินไปหากบอกว่าหลายคนจะมอง สโลวะเกีย เป็นแค่ทีมไม้ประดับประจำกลุ่มอี และน่าจะถือเป็น 1 ในทีมที่น่าสนใจน้อยที่สุดในทัวร์นาเมนท์ครั้งนี้ เพราะพวกเขาเพิ่งได้มาเล่นในฟุตบอลยูโรครั้งนี้เป็นครั้งที่สองเท่านั้น แถมมาจากการเพลย์ออฟเอาชนะ ไอร์แลนด์ (จุดโทษ) กับ ไอร์แลนด์เหนือ (หลังต่อเวลา) ผ่านเข้ามาอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นต้องอย่าลืมว่า เมื่อ 5 ปีก่อน ทีมทีมนี้เคยเอาแต้มจากทั้ง อังกฤษ และ รัสเซีย มาแล้วในรอบแบ่งกลุ่ม และไปได้ลึกถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายมาแล้ว

ปาเวล ฮาปาล ถูกปลดกลางอากาศระหว่างพาทีมเล่นเพลย์ออฟเพื่อไปสู่ยูโร 2020 หลังพาทีมพ่ายต่อ อิสราเอล คาบ้าน 2-3 ทำให้ สเตฟาน ทาร์โควิช เข้ามารับงานต่อ ก่อนพาทีมเอาชนะ ไอร์แลนด์เหนือ และเข้าไปเล่นในยูโรได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขาก็ไม่ได้ดีขนาดจะมาคุยได้ เพราะ 8 นัดที่คุมทีม สโลวักเอาชนะไปได้ 3 เกม เสมอ 4 และ แพ้ 1 นัดก่อนเข้าสู่ศึกยูโรในครั้งนี้

สโลวะเกีย เป็นชาติที่มีนักเตะน่าสนใจหลายคน ไล่ตั้งแต่ มาร์ติน ดูบราฟกา นายทวารจากนิวคาสเซิล, ปีเตอร์ เปการิก แนวรับจาก แฮร์ธา เบอร์ลิน, มิลาน สคริเนียร์ เช็นเตอร์จากอินเตอร์ มิลาน, มาเร็ก ฮัมซิก อดีตจอมทัพของนาโปลี (ไปอยู่สวีเดนในช่วงหลายเดือนหลัง เพื่อเร่งความฟิตส่วนตัว แต่ก็ยังน่าจะห่างจากจุดพีคของตนเอง), ยูไรจ์ คุชกา ตัวตัดเกมจากปาร์มา, ออนเดรจ์ ดูดา มิดฟิลด์ตัวรุกจาดกคโลญ และ สตานิสลาฟ โรบอตกา กองกลางสารพัดประโยชน์จากนาโปลี เป็นต้น

ความน่าจะเป็น:

เมื่อมองจากความพร้อมและประสบการณ์ สเปน คือทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์สูงกลุ่มเนื่องจากเป็นตัวเต็งในการคว้าแชมป์ยูโรครั้งนี้ด้วย โดยมีอัตราต่อรองอยู่ที่ 8/1 ตามมาด้วย สวีเดน ที่อัตราต่อรอง 80/1 ซึ่งเท่ากับ โปแลนด์ อย่างไรก็ตาม อัตราต่อรองของโปแลนด์เคยสูงถึง 60/1 ก่อนที่เยอร์ซี เบอร์ซีเซ็คจะถูกปลด แต่เรตก็ลดลงมาเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไป ขณะที่ สโลวะเกีย มีเรตรั้งท้ายที่ 250/1

มองตามฟอร์มในระยะหลังและคุณภาพทีม ดูเหมือนว่า สเปน น่าจะไม่พลาดการเข้ารอบในฐานะทีมอันดับที่ 1 ของกลุ่ม และปล่อยให้ โปแลนด์ และสวีเดน ตบตีแย่งชิงตำแหน่งที่ 2 ของกลุ่มกันเอง และทั้ง 2 ทีมก็มีโอกาสที่จะเข้ารอบไปเล่นในรอบน็อคเอาต็ได้พอ ๆ กัน โดย สโลวะเกีย ไม่น่ารอดครับ

กลุ่ม เอฟ: กรุ๊ป ออฟ เดธ ที่ไม่เดธ เพราะเข้ารอบ 3 ทีม

Group of Death ที่เป็นไฮไลท์ประจำการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 กลุ่มที่อัดแน่นไปด้วยทีมชั้นแนวหน้าไม่ใช่เพียงแต่ในยุโรป แต่ถือเป็นชาติระดับโลกไล่ตั้งแต่ ฝรั่งเศส แชมป์โลก 2018, โปรตุเกส แชมป์ฟุตบอลยูโรคราวก่อนเมื่อปี 2016, เยอรมนี ทีมแชมป์โลก 4 สมัย อยู่ร่วมกลุ่มกับ ฮังการี ทีมอันดับ 37 ของโลก ดังนั้นคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณไปมากกว่านี้แล้ว ไปไล่ดูกันทีมต่อทีมกันเลยครับ

ฝรั่งเศส

เบอร์ 2 ของโลก ไม่ใช่เพียงแค่แชมป์โลกในฟุตบอลโลก 2018 แต่พวกเขายังเป็นรองแชมป์ยูโร 2016 ด้วย และด้วยขุมกำลังชุดเดิมที่ยังอยู่กันอย่างพร้อมหน้า ทำให้ภารกิจในการผ่านรอบคัดเลือกไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยการทำสถิติชนะ 8 เสมอ 1 และแพ้ 1 คว้าแชมป์กลุ่มเอช และเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะคว้าแชมป์ในรายการนี้ อย่างไรก็ตามปัญหาความบาดหมางระหว่าง คีเลียน เอ็มบัปเป กับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ พร้อมกับปัญหาอาการบาดเจ็บของ คาริม เบนเซมา ที่เกิดขึ้น (แต่หายดีแล้วทันนัดเปิดสนามกับเยอมัน) อาจจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจทีมได้เหมือนกัน

ดิดิเยร์ เดส์ช็องป์ส กลายเป็นบุคคลที่ 3 ในโลกใบนี้ที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้ทั้งในฐานะนักเตะ และ กุนซือ ต่อจาก มาริโอ ซากาโล แห่งบราซิล และ ‘เดร์ ไคเซอร์’ ฟรานซ์ เบคเคนเบาเออร์ แห่งเยอรมนี ดังนั้นเป้าของ ‘เดเด้’ อีกอย่างเดียวที่เขาต้องการทำให้ได้ คือการคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโร ที่เมื่อ 5 ปีก่อน เขาพลาดท่าไปเพียงแค่เกมสุดท้ายเกมเดียวเท่านั้น และเหมือนโชคชะตาจะให้เขาแก้ไขความข้องใจ เพราะส่งโปรตุเกส คู่แข่งในรอบชิงคราวก่อนมาอยู่กลุ่มเดียวกันเสียเลย

ทีม ‘ตราไก่’ ยังคงแข็งแกร่งในทุกตำแหน่ง เดส์ช็องป์ส ยังคงใช้ระบบ 4-2-3-1 เหมือนเดิม แต่ฝั่งจาก แบรต มาทุยดี้ จะเป็นอาเดรียน ราบิโอต์ และการกลับมาของ คาริม เบนเซมา โดยโอลิวิเยร์ ชิรูด์ กับสถิติยิงประตูยังจัดได้ว่า น่าประทับใจในการเล่นทีมชาติ 

ไล่จากแดนหลังมาหน้า มีผู้รักษาประตูที่ไว้ใจได้อย่าง อูโก ยอริส แนวรับตัวหลัก ลูกาส์ เอร์น็องเดซ, เพรสเนล คิมเพมเป, ราฟาเอล วาราน และ แบ็งฌาแม็ง ปาวาร์ กองกลางแข็งปั๊กอย่าง เอ็นโกโล กองเต, ปอล ป็อกบา, อาเดรียน ราบิโอต์ และกองหน้ามีให้เลือกมากมาย ทั้ง อองตวน กรีซมันน์, คาริม เบนเซมา, คีเลียน เอ็มบัปเป และอื่น ๆ ทั้งตัวจริง และสำรองแบบดีขึ้นกว่าชุดแชมป์โลกเพราะประสบการณ์ และกลับมาของ เบนเซมา

ฝรั่งเศส จะเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์กับ เยอรมนี ที่เมือง มิวนิค ก่อนบินไปเล่นกับ ฮังการี ที่ บูดาเปสต์ และปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มกับ โปรตุเกส ที่ฮังการีอีกนัด

โปรตุเกส

ทีมแชมป์เก่า เบอร์ 5 ของโลกที่คว้าแชมป์ในยูโรคราวก่อนแบบพลิกความคาดหมายเล็ก ๆ และภารกิจในครั้งนี้คือการป้องกันแชมป์ให้ได้เหมือนที่ สเปน เคยทำได้ในปี 2012 แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผลถูกจับฉลากให้มาอยู่ในกลุ่มสุดโหด โดยนี่อาจจะเป็นการเล่นในฟุตบอลยูโร ครั้งสุดท้ายของนักเตะยุคทองของทีมหลาย ๆ คนด้วย ทั้ง คริสเตียโน โรนัลโด, เปเป, ชูเอา มูตินโญ และ โชเซ ฟอนเต

แฟร์นานโด ซานโตส อยู่กับทีมชุดนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2014 ผลงานการคว้าทั้งแชมป์ ยูโร 2016 (ไม่ชนะเลยใน 3 นัดรอบแรก) และ เนชันส์ ลีก 2019 ก็เกิดขึ้นภายใต้การทำทีมของกุนซือวัย 66 ปีคนนี้ จุดเด่นของ ซานโตส คือการเลือกใช้นักเตะดาวรุ่งให้ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ และเป็นที่รู้จักสู่สายตาชาวโลกแบบที่เกิดขึ้นกับ เรนาโต ชานเชส ในยูโร 2016 และ กอนซาโล กูเอเดส ในฟุตบอลโลก 2018 ต้องมาดูว่า ในยูโร คราวนี้จะมีนักเตะโปรตุเกสที่แจ้งเกิดได้เพิ่มเติมหรือ

โปรตุเกส ในชุดนี้แม้จะมีนักเตะใกล้หมดอายุอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่บรรดานักเตะใหม่ ๆ ที่ก้าวขึ้นมาก็ทำให้ทีม ‘ฝอยทอง’ แกร่งในทุกตำแหน่ง อาทิ ชูเอา คันเซโล กับ รูเบน ดิอาส, เปเป้ และ ราฟา เกอร์เรโร ที่ประจำการในเกมรับทั้งริมเส้น และเซนเตอร์ฮาล์ฟที่เด่นมาก, บรูโน แฟร์นานด์ส, รูเบน เนเวส และ เรนาโต ชานเชส ที่เก็บบอล และคอยทำเกมในแดนกลาง ขณะที่ อังเดร ซิลวา, ดีเอโก โชตา รวมไปถึง ชูเอา เฟลิกซ์ ที่จะคอยช่วยงาน คริสเตียโน โรนัลโด ได้

โปรตุเกส ดูเป็นทีมที่ดีทีเดียวหากไม่ดีกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนจะเปิดสนามเกมแรกกับ ฮังการี ที่ บูดาเปสต์ ก่อนบินไปเจอเยอรมนี ที่ มิวนิค และปิดท้ายด้วยการบินกลับมาปิดรอบแบ่งกลุ่มกับฝรั่งเศส ที่ ฮังการี

เยอรมนี

หลุดนิด ๆ ไปอยู่เบอร์ 12 ของโลก แต่ไม่ว่าฟอร์มของทีม ‘อินทรีเหล็ก’ จะเป็นอย่างไรมาก่อนหน้านี้ แต่นี่คือหนึ่งในไม่กี่ชาติที่มักจะอันตรายเสมอสำหรับคู่แข่งเมื่อได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ แม้อินมรีเหล็กจะเพิ่งคว้าแชมป์โลกมาเมื่อปี 2014 ทำให้ห่างจากความสำเร็จมาไม่นาน แต่การที่ได้แชมป์ยูโรครั้งสุดท้ายในปี 1996 ทำให้พวกเขาต้องการคว้าแชมป์รายการนี้มาครองอีกครั้ง และอีกนัยยะหนึ่งก็จะเป็นการอำลากุนซือของพวกเขาอย่างงดงามด้วย

โยอาคิม เลิฟ จะก้าวลงจากตำแหน่งหลังจากจบทัวร์นาเมนต์นี้ และเปิดทางให้ ฮันซี ฟลิก เข้ามารับช่วงต่อ นั่นหมายความว่าเขาน่าจะต้องการส่งท้ายการทำหน้าที่ด้วยความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าทัวร์นาเมนต์นี้จะจบลงอย่างไร เลิฟ ก็จะถูกจดจำในฐานะคนที่พา ‘อินทรีเหล็ก’ คว้าแชมป์โลก 2014 อย่างแน่นอน

เยอรมนี เรียกกองหน้ามาติดทีมแค่ 2 คนคือ ติโม แวร์เนอร์ และ เควิน โวลแลนด์ ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นกองหน้ากึ่งปีก ทำให้เราต้องลืมภาพเยอรมียุคก่อนที่มีกองหน้าตัวเป้าแบบ มิโรสลาฟ โคลเซ คอยประจำการไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม ทีมชุดนี้ยังถือมีนักเตะชื่อชั้นดี และกองหน้าอาจเล่น False 9 ได้อย่าง ไค ฮาเวิร์ตซ์ และ โธมัส มุลเลอร์ ติดตามมา โดยมีนักเตะตัวหลัก ๆ อย่าง มานูเอล นอยเออร์, มัตส์ ฮุมเมิลส์, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, โรบิน โกเซน, คริสเตียน กันเตอร์, โจชัว คิมมิช, โทนี โครส, แชร์จ กนาบรี, เลออน โกเรตซกา และ อิลกาย กุนโดกัน ติดทีมมาด้วย โดยรวม ๆ เหมือนจะขาดฟูลแบ็คดี ๆ ทำให้อาจเล่นระบบ “แบ็คทรี” และให้ไปใช้ตัวรุกเล่นวิงก์แบ็คกับภาพรวมของทีมที่น่าจับตาบาลานซ์ของทีม

‘อินทรีเหล็ก’ คือทีมที่มีบุญประจำกลุ่มนี้ พวกเขาจะได้เล่นทั้ง 3 เกมในรอบแบ่งกลุ่มที่ อาลิอันซ์ อารีนา ในเมืองมิวนิค ทุกเกม โดยไล่จากการพบกับ ฝรั่งเศส, ตามด้วยโปรตุเกส และปิดท้ายกับ ฮังการี

ฮังการี

อดีตยอดทีมระดับรองแชมป์โลกในยุคของ เฟเรนซ์ ปุสกัสห่างหายจากความสำเร็จในเวทีใหญ่มาอย่างยาวนาน ถึงขั้นไม่ผ่านเข่ามาเล่นในรอบสุดท้ายอยู่หลายปีทั้งในฟุตบอลโลก และ ฟุตบอลยูโร จนกระทั่งยูโรครั้งที่แล้วที่พวกเขาสามารถกลับมาได้อีกครั้ง และผ่านไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ด้วย โดยในครั้งนี้พวกเขาผ่านเข้ารอบมาในฐานะทีมจากการเพลย์ออฟ ซึ่งสามารถเอาชนะทีมอย่าง ไอซ์แลนด์ และเข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้ายได้ในที่สุด

มาร์โก รอสซี เข้ามารับงานหลังจากความล้มเหลวในรอบคัดเลือกของฟุตบอลโลก 2018 ต่อจาก จอร์จ ลีเคนส์ อันที่จริงแล้วผลงานในรอบคัดลือกของทีมก็ถือว่าน่าผิดหวัง แต่จากการที่เอาตัวรอดผ่านเพลย์ออฟมาได้ ทำให้กุนซือวัย 56 ปี ยังได้ทำงานต่อไป โดยสิ่งที่น่าสนใจคือการที่ฮังการีชุดนี้เล่นบอลแบบร้อนแรง กล้าได้กล้าเสีย ทำให้เป็นทีมที่ดูสนุก และต้องยกเครดิตให้กุนซือชาวอิตาเลียนรายนี้ด้วย

นักเตะในทีมชุดนี้ของฮังการี มากถึง 11 คนมาจากลีกในประเทศ นอกจากนั้นมาจากลีกต่าง ๆ ปะปนกันไป ที่น่าเสียดายคือการบาดเจ็บของ โดมินิค โซบอสซไล ดาวรุ่งจาก แอร์เบ ไลป์ซิก ที่มีอาการบาดเจ็บเล่นงานทำให้หลุดจากทีมชุดนี้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังมีนักเตะอย่าง ปีเตอรต์ กูลาคซี และ วิลลี ออร์บาน จาก ไลป์ซิก, อดัม ซาไล หัวหอกกัปตันทีมจาก ไมนซ์ 05 มีความแข็งแกร่ง โดดเด่นลูกกลางอากาศ และ โรแลนด์ ซัลไล จากไฟร์บวร์ก ในทีมชุดนี้

ฮังการี จะได้เล่นใน บูดาเปสต์ 2 นัด (แฟนบอลเข้าได้เต็มความจุสนาม) ในการพบกับ โปรตุเกส และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ ก่อนที่จะบินไปเล่นที่ มิวนิค ในเกมพบกับ เยอรมนี เป็นการปิดท้าย

ความน่าจะเป็น:

ทีมเกรดเอ 3 ค่อนข้างจะมีอัตราต่อรองเบียดกันชนิดที่ทิ้งฮังการีขาดลอย โดยฝรั่งเศส อัตราต่อรองดูดีที่สุดที่ 9/2 ส่วน เยอรมนี กับ โปรตุเกส จะมีอัตราต่อรองเท่ากันอยู่ที่ 8/1 และ ฮังการี เป็นทีมไม้ประตับในกลุ่มอย่างชัดเจนด้วยอัตราต่อรองที่ 250/1

ประเด็นหลักที่ทำให้คำว่า “กรุ๊ป ออฟ เดธ” ดูด้อยความหมายไปก็คือ การเข้ารอบได้สูงถึง 3 จาก 4 ทีม และก็เป็นอันดับ 3 ที่ดีที่สุดของ 4 กลุ่มจาก 6 กลุ่มซึ่งดูไม่ยากสำหรับโคตรทีมกลุ่มเอฟ

กลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะกอดคอกันเข้ารอบ 3 ทีม คือ ฝรั่งเศส, เยอรมนี และ โปรตุเกส โดยความน่าจะเป็นที่สุดคือการที่ทั้ง 3 ทีมเก็บ 3 คะแนนเต็มได้จากฮังการี และที่เหลือก็มาวัดกันเอง ซึ่งทั้ง 3 ทีมก็ต่างมีโอกาสเป็นแชมป์กลุ่ม ที่ 2 หรือที่ 3 เพียงแต่ยากที่จะบอกว่าใครอยู่ในอันดับไหนเท่านั้น

Author: สมศักดิ์ จันทวิชชประภา
Editor: ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

อ้างอิง

Categories
Column

ฟุตบอลของแฟนบอล

ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกีฬาของประเทศอังกฤษ เชื่อว่าว่า การตรวจสอบสโมสรที่นำโดยแฟนบอล จะต้องเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลในชาติ

“ฟุตบอลเริ่มต้น และจบลงด้วยแฟนบอล และเราได้เห็นการแสดงออกที่น่าทึ่งในสัปดาห์นี้ มันจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในเกมระดับชาติของเรา” รัฐมนตรีกีฬากล่าว “เราต้องใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่เป็นใจในคราวนี้ สโมสรเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนท้องถิ่นของพวกเขาแ ละการตรวจสอบที่สำคัญในครั้งนี้จะช่วยให้ฟุตบอลก้าวไปสู่อนาคตที่จะได้ยินเสียงของบรรดาแฟนบอลได้ชัดเจน”

ขณะที่ เทรซีย์ เคราซ์ สมาขิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา จะนั่งแท่นเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานข้อเสนอแนะกลับไปยังรัฐบาล และสมาคมฟุตบอล

“ฟุตบอลมีความหมายอย่างมากสำหรับผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ และการตรวจสอบของฉันจะมุ่งเน้นไปที่แฟน ๆ” เธอกล่าว “เราจะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อรักษาความเหมาะสมของเกม รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุดคือความผูกพันที่สโมสรมีต่อบรรดาแฟนบอล และผู้สนับสนุนในชุมชนท้องถิ่น" เธอกล่าวหลังกล่าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญนี้

ไม่น่าแปลกใจว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบฯ เกิดาขึ้นจากการได้รับผลกระทบเพราะความพยายามก่อตั้งยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ของบรรดาทีม “บิ๊ก 6” จนนำมาสู่ความไม่พอใจในอำนาจการตัดสินใจของบรรดาเจ้าของทีมและนำโลกของฟุตบอลในอังกฤษ (และยุโรป) เข้าสู่ความโกลาหลเกือบ 72 ชั่วโมง และจากการที่ ฟลอเรนติโน เปเรซ ยืนยันว่า ESL ยังไม่ตาย นั่นหมายความว่าทั้งบรรดาแฟนบอล, พรีเมียร์ลีก และรวมไปถึงรัฐบาล ยิ่งต้องเตรียมมาตรการหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกโดยง่าย

การตรวจสอบ และปรับปรุงโครงสร้างในครั้งนี้ ยังมีการอ้างถึงการใช้กฎ 50+1 แบบที่เป็นอยู่ในเยอรมนี เพื่อให้แฟนบอลคานอำนาจกับเจ้าของทีม โดยในลีกเมืองเบียร์จะมีกฎที่ทำให้สโมสรต่าง ๆ ไม่สามารถเล่นในบุนเดสลีกาได้หากนักลงทุนเชิงพาณิชย์รายหนึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 49% แต่นั่นก็ยังคงเป็นการโยนหินถามทางในเชิงนโยบายที่ยังไม่มีการลงเสียงใด ๆ ในตอนนี้

ในระยะสั้นการเข้ามาสอดส่องดูแลของรัฐบาลอังกฤษน่าจะมีขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการอธิบายความพยายามว่า “เข้าใจ” และ”เข้าถึง” แฟนบอลจริง ๆ เพราะนอกจากจากอุตสาหกรรมฟุตบอลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาลแล้ว ฟุตบอลยังมีความหมายทั้งในเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตต่อคนอังกฤษอย่างมาก การเดินหน้านโยบายนี้สำหรับในทางการเมืองแล้วควรจะมีแต่ได้มากกว่าเสีย แต่ในมุมของฟุตบอลที่ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง นี่ก็เป็นเหมือนการ “ตีตรวน” เพื่อลงโทษบรรดาสโมสรร่วมก่อการที่ริอาจสร้างความวุ่นวายขึ้นในสังคมฟุตบอลของอังกฤษเช่นกัน

ถ้าการทำงานของรัฐบาลในครั้งนี้เกิดนโยบายที่ดีให้สามารถเดินหน้าไปได้ นั่นหมายความว่า แฟนบอลจะมีบทบาทมากขึ้นในสโมสร และเสียงของพวกเขาจะ ‘ดังขึ้น’ เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แต่นั่นคงแลกมาด้วยสภาพคล่องในทีมที่อาจจะมีโอกาสถูกแทรกแซง และไม่แน่ว่าบรรดาสโมสรต่าง ๆ จะยอมให้ความร่วมมือกับนโยบายที่จะเกิดขึ้นนี้ง่าย ๆ เพราะในปัจจุบัน อำนาจในการบริหารสโมสรขึ้นอยู่กับเจ้าของทีมแบบเต็ม 100% โดยราฟาเอล เบนิเตซ อธิบายไว้ในบล็อกส่วนตัวของเขา (http://www.rafabenitez.com) ว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องโครงสร้างทางธุรกิจ หรือการบริหารทีม เจ้าของทีมมีสิทธิ์จะเข้ามาแทรกแซงตรงไหนก็ได้ที่พวกเขาเห็นว่าดี

ดังนั้นเราจึงเห็นคำขอโทษต่าง ๆ ที่ออกมาจากเจ้าของทีมหลังจากวิกฤติ ESL ที่ผ่านมา เป็นคำขอโทษต่อทั้งแฟนบอล นักเตะ ผู้จัดการทีม และผู้บริหารบางส่วนด้วย เพราะการตัดสินใจเข้าร่วม ESL เป็นการตัดสินใจจากเจ้าของทีมซึ่งสิทธิ์ขาดอยู่ที่พวกเขาเท่านั้นนั่นเอง

ในทางกลับกัน การกระทำแบบนี้มีเรื่องให้ต้องกังวลอยู่ เพราะเมื่อบรรดาเจ้าของทีมถูกลดทอนอำนาจลง การลงทุน และเม็ดเงินจะยังไหลเข้ามาในวงการฟุตบอลอังกฤษได้คล่องตัวเท่าเดิมหรือไม่ เพราะในเมื่อมีการซื้อสโมสรเกิดขึ้นแต่คนที่ซื้อไม่ได้อำนาจในการตัดสินใจเหนือทีมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะหลังจากนนี้อาจจะต้องให้แฟนบอลเข้ามามีส่วนร่วม ก็อาจจะทำให้มีความลังเลในการลงทุนกับสโมสรในอังกฤษเกิดขึ้นหรือเปล่า ลองคิดภาพว่าคุณซื้อของด้วยเงินของคุณแต่จะต้องแบ่งของชิ้นนั้นให้คนอื่นร่วมคิดวิธีที่จะใช้มันด้วย

ทว่าสำหรับมุมของแฟนบอลแล้ว และกุศโลบายที่แท้จริงของอุตสาหกรรมฟุตยอลแล้ว สโมสรฟุตบอลที่รักแม้จะไม่ได้มีชื่อแฟน ๆ เป็นเจ้าของ แต่พวกเขาก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรแห่งนั้น และน่าจะดีกว่าถ้าพวกเขาได้ร่วมมีส่วนในการตัดสินใจกับสโมสรได้ด้วย ขณะที่เจ้าของตัวจริง แม้มีชื่อในนามทางกฎหมาย แต่ก็ต้องเข้าใจถ่องแท้แล้วเช่นกันว่า นี่คือเกมที่กำเนิดขึ้นมาในภาคประชาชนจากแฟนบอล ทำเพื่อแฟนบอล และชุมชนลูกหนังของทุก ๆ คน โดยทุก ๆ คนมีส่วนร่วมด้วยกับทีมฟุตบอลของตนเอง

#ไข่มุกดำ #ไข่มุกดำทีม

#KMDFeature

#esl #EuropeanSuperLeague

Categories
Column

ความเสี่ยงสูง รีเทิร์นต่ำลง

ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหลักด้วยในการทำให้กุนซือวัย 58 ปีไม่ได้อยู่ใน “เป้าข่าว” มากอย่างที่ควรจะเป็น!?

หรืออาจจะเพราะมนต์ขลังส่วนตัวด้วยที่เสื่อมสลายพอควรตามวันเวลา รวมถึง “สไตล์ฟุตบอล” และการทำทีมที่อาจไม่ต้องพิสูจน์ทราบแล้วก็ได้ว่า มัน out ไปแล้ว?

มูลเหตุการปลด ยืนยันอีกครั้งนะครับว่า ไม่ใช่ “ทำหล่อ” เรื่องสเปอร์สจะเข้าร่วม ESL ในตอนนั้น แต่เป็นเพราะเรื่องผลงานล้วน ๆ และการที่นักเตะในทีมเริ่ม “แตก” เป็นเสี่ยง ๆ ไม่นับเสียงกระแสแฟนบอล

ในที่นี้จึงไม่ขอพูดอีก เพราะ “ภาพซ้ำ” มาก ๆ เช่น ประจานนักเตะตัวเองในที่สาธารณะ, มีปัญหาเรื่องอยากได้ใครแล้วไม่ได้ก็งอแงนิด ๆ หรือมีประเด็นกับนักเตะหลัก ๆ ของทีม ฯลฯ

ดังนั้น จึงขออนุญขยับไปที่เรื่องอนาคตของกุนซือโปรตุกีสที่หลายคนยังอาจสงสัยว่า ยังจะมีอยู่อีกหรือ? และเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร? และนายจ้างสโมสรใหม่จะต้อง “เรียนรู้” จากอดีตที่ผ่านมาของมูรินโญ ให้ดีจริง!

เมื่อวันก่อน (20 เมษายน) มีรายงานจาก สกาย สปอร์ตส์ ที่เข้าไปสัมภาษณ์มูรินโญ ถึงบริเวณบ้านพักเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้พอรู้ว่า น้ามูจะมองหางานต่อไปทันทีโดยไม่ต้องการเวลาพัก แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดอื่นใดมากกว่านั้น เพราะเจ้าตัวชิงเดินหนีไปเสียก่อนตามสไตล์

“ไม่จำเป็นครับ ผมไม่ต้องการพักเพื่อเติมแบตเตอรี ผมอยู่กับฟุตบอลมาเสมอ” อดีตบอสของ ‘ไก่เดือยทอง’ ตอบคำถามที่ว่าเขาต้องการเวลาพักก่อนรับงานใหม่หรือไม่

ปัจจุบันเริ่มมีข่าวเกี่ยวกับงานต่อไปของ มูรินโญ มาบ้างแล้ว แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียง ‘ข่าวลือ’ โดยสโมสรที่ตกเป็นข่าวก็ไล่ชื่อไปตั้งแต่ เบนฟิกา, เรอัล มาดริด, บาเลนเซีย และที่หนาหูที่สุดคือ กลาสโกว์ เซลติก ซึ่งเพิ่งร่วงจากบัลลังก์แชมป์ครั้งแรกในรอบ 9 ฤดูกาลด้วยน้ำมือ สตีวี เจอร์ราร์ด และเรนเจอร์ส เอฟซี (cr: ขอบคุณ คุณ Ko River ครับ)

อย่างไรก็ตาม ที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งเลยคือสโมสรใหม่ต้อง “เงินถึง” เพราะเมื่อมองค่าจ้างย้อนหลัง ครั้งสุดท้ายที่เขาคุมทีมโดยได้เงินไม่ถึงปีละ 10 ล้านปอนด์ ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยที่รับงานกับ อินเตอร์ มิลาน โดยสมัยนั้นค่าเหนื่อยตกปีละ 8.5 ล้านปอนด์ แต่เมื่อย้ายไปทำงานกับ เรอัล มาดริด ค่าเหนื่อยถูกเพิ่มเป็นปีละ 11.9 ล้านปอนด์ ก่อนขึ้นเป็น 13.5 ล้านปอนด์ กับเชลซีในการคุมทีมรอบที่ 2 เมื่อย้ายไปคุม แมนฯ ยูไนเต็ด ปีละ 12 ล้านปอนด์ ก่อนที่ล่าสุดจะรับปีละ 15 ล้านปอนด์กับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์

นอกจากตัวเลขค่าเหนื่อยที่น่าจะการันตีหลัก 10 ล้านปอนด์ขึ้นไปต่อปีแล้ว สโมสรปลายทางแห่งใหม่ยังน่าจะต้องเตรียมค่าฉีกสัญญาไม่น้อยกว่า 15 ล้านปอนด์ (ตัวเลขเฉลี่ยที่เขาได้รับจากการถูกปลดใน 5 ครั้งหลังสุด) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า มูรินโญ สามารถหารายได้มหาศาลจากการถูกปลดอย่างเดียวรวมแล้วถึง 77.5 ล้านปอนด์ (2007 เชลซี – 18 ล้านปอนด์, 2013 เรอัล มาดริด - 17 ล้านปอนด์, 2015 เชลซี – 12.5 ล้านปอนด์, 2018 แมนฯ ยูไนเต็ด – 15 ล้านปอนด์ และ 2021 สเปอร์ส – 15 ล้านปอนด์)

แต่ถึงกระนั้น เงินจำนวนมหาศาลนี้ สามารถแลกมากับการการันตีความสำเร็จให้สโมสรที่ตัดสินใจจ้างเขาไปร่วมงานอยู่เหมือนกัน เพราะนับตั้งแต่เขาย้ายออกมาจาก เอฟซี ปอร์โต ไม่มีสโมสรไหนเลยที่คว้าแชมป์ให้ไม่ได้ ยกเว้นเพียงแค่สโมสรล่าสุด ท็อตแนมเท่านั้น และไม่แน่ว่าถ้าปล่อยให้เขาทำงานต่อไปอีกสักหน่อย ก็อาจจะเห็นเขาคว้าแชมป์ให้ทีมในถ้วย คาราบาว คัพ ก็ได้เช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า มูรินโญ คือหนึ่งในโค้ชที่มีสถิติการคุมทีมในรอบชิงชนะเลิศดีที่สุด ด้วยการคว้าแชมป์ถึง 12 จาก 15 ครั้งที่เขาชิงชนะเลิศไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรายการใดก็ตาม

นอกจากการันตีแชมป์แล้ว อีกสถิติที่น่าสนใจสำหรับ มูรินโญ คือการการันตีชัยชนะอย่างน้อย 50% ให้ทีมที่เขาไปคุมทีม เพราะนับตั้งแต่เขาทำงานให้ เอฟซี ปอร์โต ในปี 2002 ผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษ นายใหญ่ชาวโปรตุกีสไม่เคยคุมสโมสรใดแล้วคว้าชัยชนะได้ไม่ถึง 50% เลย โดยสูงสุดเขาเคยพาทีมคว้าชัยได้ถึง 71.91% ในสมัยที่คุม เรอัล มาดริด และต่ำที่สุดของเขาคือการคุม สเปอร์ส โดยยังพาทีมเก็บชัยได้ 51.61% ในเวลาปีเศษ ๆ ที่ลอนดอนเหนือ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนมากเชื่อว่า มูรินโญ จะไม่คุมทีมในอังกฤษอีกแล้วโดยสองสาเหตุหลัก ๆ คือ ไม่มีทีมใดมีศักยภาพมากพอจะดึงเขาไปร่วมงาน เพราะบรรดาทีมที่มีศักยภาพมากพออย่างทีม ‘บิ๊ก 6’ ถ้าไม่ลงตัวด้านโค้ชอยู่แล้ว ก็เคยร่วมงานกับเขาไปแล้ว และไม่น่าจะกลับมาร่วมงานอีก กับอีกสาเหตุคือ มูรินโญเองก็อาจจะหมดแพสชั่นในการทำงานที่อังกฤษแล้วเช่นกัน เพราะเมื่อรวมระยะเวลาที่เขาคุมเชลซี 2 รอบ, ยูไนเต็ด และ ท็อตแนม อีกอย่างละรอบก็กินเวลากว่า เกือบ 10 ปีเลยทีเดียว

ไม่นับ “สไตล์ฟุตบอล” เนกาทีฟ เน้นรับ รอโต้กลับ ที่อาจจะ out ไปแล้วอย่างที่ได้พูดไว้ข้างต้น หรือการทำทีม บริหารคนแบบเผด็จการ กับโลกยุคโซเชียลที่ดูเหมือนจะไปกันไม่ได้เช่นกัน

เรียกได้ว่า “แพ็คเกจ” การได้ โจเซ่ มูรินโญ นั้น ราคาแพง และจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลลัพธ์กลับไม่รีเทิร์นเหมือนยุครุ่งเรือง

#ไข่มุกดำ #ไข่มุกดำทีม

#KMDFeature

Categories
Column

วิเคราะห์แบบจบๆ “ยกแรก”

ทีนี้ คำถามที่เกิดขึ้นจึง “ง่าย ๆ” ซ้ำ ๆ และเดิม ๆ มาก คือ:

นี่คือ เกม และเรื่องของผลประโยชน์ที่มีผู้ได้เสีย และกำลังอยากเจรจา หรือ “ง้างหมัด” ต่อรองกัน

นี่ไม่ใช่ “ครั้งแรก” และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ในระดับยุโรปก็เคยมีกลุ่ม “G14” ตั้งขึ้นยุคนิวมิลเลนเนียมก่อนจะเพิ่มอีก 4 ทีมในภายหลัง และยุติไป

นี่เป็นการรวมกลุ่ม “ก่อการ” ของทีมหน้าเดิม ๆ หรือชื่อคุ้นเคยทั้งนั้น ที่ก่อการ แต่ไม่ได้ถูกหมายหัว และยังมีความสำคัญในลีกตนเองต่อไป

นี่ก็ไม่ต่างจากแนวคิดโปรเจคต์ “Big Picture” ของบรรดาทีมใหญ่พรีเมียร์ลีกปีก่อนที่เหมือนจะเข้ามาช่วยทีมรองเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่มี agenda เรื่องผลประโยชน์แอบแฝง

ข้างต้น คือ ภาพรวม ๆ ที่ได้เห็น ได้ยิน เสมอ ๆ และวันดีคืนดีก็จะกระพือมาเรื่อย ๆ

เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใครครับ และอะไรก็เกิดขึ้นได้ในยุค “ทุนนิยม” ที่จะมีผู้นำ เจ้าของ หรือผู้มีอำนาจสักเท่าไหร่ที่มองเรื่องคุณธรรม, จรรยาบรรณ หรือธรรมาภิบาล ในการบริหารปกครองเหนือสิ่งอื่นใด

ขณะที่ในอดีต ค.ศ.1992 พรีเมียร์ลีก ได้แยกจาก “ฟุตบอลลีก” มาตั้งลีก และแม้จะมีการกระจายรายได้ไปทีมต่าง ๆ ในลีก หรือในลีกล่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะมันคือการจัดการ “แบ่งเค้ก” กันใหม่ก็เท่านั้น

หรือจากฟุตบอลถ้วยุโรป ยูโรเปี้ยน คัพ เป็น “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก” ในช่วงใกล้เคียงกันก็เช่นกัน จากหลักการ “แชมป์ลีก” ทีมเดียวได้เตะไม่พอ ต้องอันดับ 2, 3 หรือ 4 ในลีกก็มีสิทธิ์เตะด้วย

ทั้ง EPL และ UCL เกิดจาก “ปฏิบัติการ” แบบที่ ESL กำลังทำอยู่นี้ หรือที่ G14 ได้เคยคิดจะทำเมื่อ 20 ปีก่อนแต่ไม่สำเร็จ

คำถาม คือ แล้วคราวนี้ ESL จะทำเพื่ออะไรมากกว่า!? นอกเหนือจากการ “การันตี 100%” (หาใช่ต้องติด “ท็อปโฟร์”) ว่าจะได้ร่วมแข่งขัน และมีสิทธิ์ก้อนเค้กระดับ 300-400 ล้านปอนด์ต่อปี ต่อทีมใน ESL

แต่ก่อนจะไปค้นหาคำตอบ ผมเคยเขียนเรื่องความพิเศษของอุตสาหกรรมฟุตบอลเอาไว้ว่า “แตกต่าง” จากอุตสาหกรรมทั่วไป โดยคัดไว้ 6 ข้อ และเขียนมา 20 กว่าปีแล้ว (ตั้งแต่เป็น คอลัมนิสต์ “เดลินิวส์”) เพื่อให้อ่านกันก่อน และเข้าใจตรงกันว่า กุศโลบาย และที่มาที่ไปของสโมสรฟุตบอล และลีกฟุตบอล มันควรจะเป็นแบบนี้

---

👉ลักษณะพิเศษทางธุรกิจ, บริหารจัดการ และกฎกติกาของอุตสาหกรรมฟุตบอลลีกอาชีพที่ไม่เหมือนธุรกิจอื่น ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า The peculiar economics of professional football leagues มี 6 ข้อตามข้างล่างนี้ครับ:

1.ธุรกิจ “ฟุตบอล” เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง “ลีก” และ “สโมสรฟุตบอล” (Joint product) ที่ต้องอาศัยกัน และกัน เพราะฟุตบอลจะเตะกันเอง ดูกันเอง ทีมเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่แข่งขันมาร่วมด้วย และมีการจัดการลีกที่ดีเพื่อผลประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

2.ธุรกิจฟุตบอลจะมีการกระจายรายได้ (Redistribution) ภายในลีก และระหว่างลีกใหญ่สู่ลีกเล็กรวมไปถึงทีมใหญ่รายได้ดีสู่ทีมเล็กรายได้น้อยเพื่อช่วยให้ลีก และทีมฟุตบอลแต่ละทีมมีความสมดุลกันมากที่สุด

3.แฟนบอล (ลูกค้า) จะมีดีกรีความซื่อสัตย์สูงชนิดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะเป็นความรัก + ผูกพันด้วยใจโดยไม่มี “ผลประโยชน์” แอบแฝงดังจะเห็นได้จาก แฟนบอลทีมหนึ่งจะไม่เปลี่ยนใจไปเชียร์อีกทีมหนึ่งแม้ทีมตัวเองจะไม่ประสบสำเร็จ หรือย่ำแย่เพียงใดก็ตาม

4.ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และอยู่ได้ไม่ขาดทุนนอกสนาม

อย่างไรก็ดีครับ “จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงินบริหารทีมมาลุงทุนกับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะ “ใช้เกินตัว” หรือ Overspend ซะเป็นส่วนใหญ่

5.ตลาดแรงงานนักฟุตบอลนั้นมีกฎระเบียบค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าธุรกิจอื่น ๆ และผู้เล่นชั้นดีจะมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือน และการเลือกทีมสูงมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นักเตะกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ เพราะฟุตบอลเล่นกันแค่ทีมละ 11 คน และในแต่ละทีมก็ไม่ได้มี “ซุปตาร์” 11 คนด้วย แต่จะมีแค่ 2 – 3 หรือไม่เกิน 5 คน

ทว่านักเตะทั้งลีก (ไม่ใช่ทั้งโลกนะครับ) มีเป็นร้อย เป็นพัน ที่ยังกระเสือกกระสนเป็น “วัฏจักร” ปกติ

6.ฟุตบอลเป็นเกมที่ควบคุมโดยกฎกติกาสากล ผสมผสานกับการบริหารโดยรัฐบาลลูกหนังหลายระดับตั้งแต่ระดับประเทศ, นานาชาติ, ทวีป และโลก คอยควบคุมดูแล, ปรับปรุง และแก้ไข เพื่อคุณภาพที่ดีของเกม

จะเห็นได้ว่า “ข้อ 6” นี่แหละหมายถึง FIFA, UEFA, AFC ฯลฯ และ FA ของแต่ละชาติที่ “สมาชิก” เช่น สโมสรฟุตบอล ต้องปฏิบัติตามเป็นหลัก และอยู่เหนือกว่ากฎหมายบ้านเมืองของแต่ละชาติด้วยซ้ำ

---

👉‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก’ – จุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ หรือ จุดจบของสิ่งเก่า?

ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก (ESL) ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกพูดถึงในวงการฟุตบอลยุโรป โดยชื่อของการแข่งขันรายการนี้ถูกโยนไปในสื่อครั้งแรกเมื่อราวเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา และชื่อนี้ก็ปรากฏให้ได้เห็นเป็นระยะ ๆ ในแทบทุกปี แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีการก่อตั้งลีกอย่างเป็นทางการจวบจนกระทั่งเมื่อคืน (18 เมษายน) ที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ ยูฟา, พรีเมียร์ลีก และลีกอื่น ๆ ร่วมกันออกมาแถลง ‘ดักคอ’ ก่อนที่จะมีการแถลงเปิดตัว ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ยิ่งทำให้ประเด็นการก่อตั้งการแข่งขันรายการนี้ร้อนแรงขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายถึงการถูก “ตัดหาง” ของ 12 สโมสรสมาชิกลีกใหม่ถ้ามีการดำเนินการในลีกนี้เกิดขึ้นจริง

สำหรับ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก มีแนวคิดที่จะรวมสโมสรชั้นนำของยุโรปมาก่อตั้งลีกใหม่ที่พวกเขามีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงส่วนแบ่งรายได้ตลอดทุกฤดูกาลที่มีการแข่งขัน และจากแถลงการณ์เปิดตัวเมื่อคืนที่ผ่านมา สโมสรทั้ง 12 ทีมล้วนเป็นยักษ์ใหญ่จาก 3 ชาติมหาอำนาจในวงการฟุตบอลอย่าง อังกฤษ, อิตาลี และ สเปน ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซนอล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, เรอัล มาดริด, แอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน และ ยูเวนตุส

จุดที่น่าสนใจคือการไม่มีชื่อของมหาอำนาจจากเยอรมนีอย่าง บาเยิร์น มิวนิค หรือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กับสโมสรจากฝรั่งเศส อย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, ลียง หรือ มาร์กเซย์ แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าจะกาชื่อพวกเขาทิ้งไปได้ เพราะตราบได้ที่การแข่งขันยังไม่เริ่มต้น การเจรจาผลประโยชน์ก็ยังเป็นไปได้อยู่เสมอ โดยตอนนี้ในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่มีข่าวเกิดขึ้น อาจจะเร็วเกินไปที่จะฟันธงอะไรได้ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 สโมสรที่มีการยืนยันว่าจะเข้าร่วมแต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นสโมสรใดด้วย

อย่างไรก็ตามจุดที่น่าสนใจคือการที่ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ประกาศจะให้มีการแข่งในช่วงกลางสัปดาห์ ด้วยรูปแบบ ‘ลีก’ มีการ ‘เหย้า-เยือน’ ที่จะแบ่ง 20 สโมสรในแต่ละฤดูกาลออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม และเล่นในระบบลีกจนจบ 20 เกม ก่อนที่จะให้ทีมอันดับ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเข้ารอบไปรอในรอบน็อคเอาต์ ส่วนที่ 4 และ 5 ต้องเล่นเพลย์ออฟ เพื่อหาอีกทีมเข้ารอบก็จะได้ 8 ทีมสุดท้ายไปเตะแบบสองนัด ‘เหย้า-เยือน’ เพื่อหาแชมป์ต่อไป

การแข่งขันในรูปแบบที่ว่ามานั้นจะกินเวลาราว 20 สัปดาห์ สำหรับการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม และอีกราว 4 สัปดาห์ในการเล่นรอบน็อคเอาต์ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่พวกเขาจะต้องถอนตัวจากการแข่งขันอย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก หรือ ยูโรปาลีก หากได้เข้าร่วมแข่งขัน และเมื่อประกอบกับการแถลงการณ์ของ ยูฟา ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็เหมือนทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปเองก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น

ที่น่าสนใจคือและเป็นประเด็นคือการ “ผูกขาด” ของลีกที่จะให้ผู้ก่อตั้ง 15 ทีม (ซึ่งคือ 12 ทีมที่กล่าวไปแล้ว และอีก 3 ทีมที่ยังไม่มีการเปิดเผย) ร่วมแข่งขันแบบถาวร โดยทีมที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าจะมีเพียงแค่ 5 ทีมเท่านั้น ทำให้หลานฝ่ายกังวลเกี่ยวกับบรรดาสโมสรขนาดเล็กที่จะขาดรายได้ เพราะเมื่อบรรดาสโมสรแม่เหล็กหนีมาตั้งลีกเองแล้วเช่นนี้ ความน่าสนใจใน ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก / ยูโรปาลีก ก็มีแต่จะลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ที่เข้ากระเป๋าบรรดาสโมสรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันโดยปริยาย

ในทางกลับกัน การก่อตั้ง ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ก็น่าจะมาจากความเชื่อมั่นที่ว่า มูลค่าของบรรดาสโมสรผู้ก่อตั้ง มีมากกว่าที่พวกเขาได้รับจากการเล่นในฟุตบอลสโมสรยุโรปที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะทีม ‘บิ๊ก 6’ ของอังกฤษ ที่แต่ละปีจะได้ไปเล่นในยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ได้เพียง 4 ทีม โดยที่อีกสองทีมที่ไม่ได้ไปอาจจะรู้สึกว่า มูลค่าทางการตลาดของเขามีค่ามากกว่าที่จะเล่นใน ยูโรปาลีก

นั่นจึงเป็นทั้งสาเหตุให้มีคนบางกลุ่มสนใจและอยากดูการแข่งขันรายการนี้ ในทางกลับกันก็มีอีกกลุ่มที่รู้สึกโมโหโกรธาและขยะแขยงแนวคิดนี้เช่นกัน

เริ่มจากฝ่ายที่สนใจและอยากติดตาม ก็เป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่จะได้ดูฟุตบอลที่เต็มไปด้วยสโมสรคุณภาพระดับเกรดเอของแต่ละประเทศมาแข่งขันกันโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าฤดูกาลไหนสโมสรเหล่านี้จะหายไป นั่นไม่ต่างกับการได้ลุ้นฟุตบอลลีกอีกรายในช่วงกลางสัปดาห์ และเป็นเสมือนซูเปอร์ลีกในฝันแบบการเล่นเกมที่มีแต่ทีมดัง ๆ อย่างแท้จริง

ขณะที่ฝ่ายที่โมโหก็เชื่อว่า การมาของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก คือการลงมือฆาตกรรมกีฬาฟุตบอลไปอย่างช้า ๆ เพราะมันจะทำให้บรรดาทีมเล็ก ๆ ลืมตาอ้าปากได้อย่างยากเย็นขึ้นกว่าเดิม เพราะรายได้ที่พวกเขาจะได้รับก็จะยิ่งน้อยลงจากความสนใจที่อาจจะต่ำลงกว่าเดิม

คำถามที่น่าสนใจตอนนี้ คือ 12 สโมสรสมาชิกจะเดินหน้าการแข่งขันรายนี้ได้จริงหรือไม่ เพราะนอกจาก ยูฟา กับ ฟีฟา ที่ออกมาประกาศแบน ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก แล้วบรรดาลีกแต่ละชาติอย่าง พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, กัลโช เซเรีย อา ก็ประกาศจะตัดความสัมพันธ์กับสโมสรที่เข้าร่วมกับลีกใหม่รายการนี้ด้วย

แต่ในทางกลับกัน ลีกเหล่านั้นจะตัด ‘บ่อเงิน บ่อทอง’ ของพวกเขาออกจากลีกได้จริงหรือ? เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 12 สโมสรที่รวมตัวกันก่อตั้ง ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ในตอนนี้คือแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คนดูฟุตบอลลีกของแต่ละประเทศที่ว่าด้วย

ดังนั้นตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปก็ได้ ที่เราจะมาฟันธงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะทางผู้ก่อตั้งทั้ง เฟเรนติโน เปเรซ แห่งเรอัล มาดริด หรือ อันเดรีย อันเญลลี่ แห่งยูเวนตุส ต่างเป็นนักธุรกิจและนักเจรจาที่ยอดเยี่ยม นี่ยังไม่นับบรรดา “ตัวใหญ่” อื่น ๆ อย่าง เฟนเวย์ สปอร์ต กรุป (ลิเวอร์พูล), เอลเลียตต์ กรุป (เอซี มิลาน), ตระกูล เกลเซอร์ (แมนฯ ยูไนเต็ด), ซิตี ฟุตบอล กรุป (แมนฯ ซิตี) หรือ โครเอ็นเก สปอร์ต เอ็นเตอร์ไพร์ส (อาร์เซนอล) ด้วย

ทุกความเป็นไปได้ยังไม่ได้ปิดลง หากผลประโยชน์ยังลงตัว การแถลงเปิดตัว ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่เราต้องติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ต่อไป หาใช่จุดจบของ ฟุตบอลสโมสรยุโรป หรือ ฟุตบอลลีกในประเทศ อย่างแน่นอน

ที่สำคัญ และเป็นสมมติฐาน จากบทเรียนเรื่องเดียวกันจากอดีตก็คือ ทีมใหญ่กำลัง “ต่อรอง” แต่คราวนี้ดัน “ออกหมัด” ต่อยออกไปซึ่ง “รัฐบาลลูกหนัง” เจ็บกันทั้งบาง

ฉะนั้น “ฟีฟ่า” และลูก ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง “ยูฟ่า” และลีกยุโรป ในที่นี้จะโต้คืนอย่างไร? หลังขยับคืนด้วยการ “ประนาม” การกระทำ

ทว่าสุดท้าย หมัด 2, 3 หรือหมัดน็อค นั้นไม่มี และไม่เคยมี เพราะ “ผู้ก่อการ” แม้จะไม่ประสบสำเร็จ และมีชื่อหราก็ไม่เคยโดนลงโทษอะไร

ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน หนำซ้ำ ยังน่าจะต้อง “แบ่งเค้ก” เพิ่มให้ผ่านฟอร์แมตการแข่งขันบอลถ้วยยุโรปใหม่ และรายได้ที่จะถูกปรับให้ใหม่ก็เท่านั้น

#ไข่มุกดำ | #ไข่มุกดำทีม

🗣ปล.บ่าย 3 โมงวันนี้โดยประมาณผมจะมี Live ผ่าน Zoom กับพี่กบ เพจ Captain No.12 ขยายเรื่องนี้ #EuropeanSuperLeague ต่อนะครับ

Categories
Column

เลคเชอร์หัวข้อ Content Design นักศึกษาธรรมศาสตร์

ผมเองได้รับเกียรติเสมอจาก ดร.กนกนันทร์ สุเชาว์อินทร์ จากคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ ดร.ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ได้เลคเชอร์ในหัวข้อนี้เสมอ ทุก ๆ เทอม

ปีนี้ยังได้ "น้องฟรองซ์" ธนพงษ์ เข็มทอง มาเป็นนักศึกษาฝึกงานจากรั้วแม่โดมอีกด้วย

โดยล่าสุด สอนผ่านทางโปรแกรม Zoom วันพุธที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาประมาณ 2 ชั่วโมงนะครับก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหเวชฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไป

ขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่เปิดกล้องให้ตอนเริ่มสอน นัยว่า “สวัสดี” ทักทายเห็นหน้าตากันก่อน แม้เท่าที่ผมทราบมา คือ นิสิต นักศึกษา นักเรียน บ้านเราไม่เปิดกล้องกัน แต่คุณครูจะเปิดพร้อมแทรกเอกสารการสอน

(ต่างจากเวลา ผม และน้อง ๆ ไปขายงานลูกค้า พวกเราต้องเปิดกล้อง แต่ลูกค้าจะปิดกล้องได้ไม่เป็นไร)

ก็หวังว่าจะได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย และสอบถามกันเข้ามาได้ตลอดเนอะ (ยกเว้นถามข้อสอบ 555 ) เพราะครั้งหนึ่งเคยสอน เคยเรียนด้วยกันแล้ว ครู กับเด็ก ๆ ก็จะเป็นกันแบบนี้ตลอดไป

ผมเองจบ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เอกคณิตศาสตร์ ระดับมัธยม แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้สอนจริงจัง หากไม่นับฝึกสอนที่ รร.เทพศิรินทร์ ตอนปี 4 หรือก็รับเชิญประจำ 2 ที่นี้ หรือไม่ประจำเคยไปที่จุฬาฯ, รามคำแหง และสวนสุนันทา

ยินดีเสมอนะครับในฐานะพี่ใหญ่ของ KMD หรือ “ไข่มุกดำ” องค์กรเล็ก ๆ ที่วันนี้ผู้ช่วยของผม “น้องฝน” จริญญา ศรีจันทร์ ก็ได้สอดแทรกสอน และแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ด้วยเช่นกันในบางช่วง

---

ปิดท้าย ผมมี “รับสมัคร” จากทาง Workpoint ที่ “น้องวิศรุต” เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ฝากมา (ดูจากภาพนะ) ซึ่งก็ได้ฝากให้อาจารย์ และน้อง ๆ ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยข้างต้นไปแล้ว เลยอยากจะมาฝากในพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน เผื่อใครจะสนใจ หรือบอกเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ญาติ ๆ นะครับ

และจาก Zense ที่กำลังรับสมัครนักพากษ์รุ่นใหม่ ก็ลองดูนะครับ

โชคดี มีความสุข และปลอดภัยจากโควิด-19 กันทุกคนครับ เทคแคร์ครับ

#ไข่มุกดำ

#KMDEducation