Categories
Football Business

ซาอุดิ โปร ลีก ของเล่นหรือเมกะโปรเจกต์ของมหาเศรษฐี

ย้อนกลับไปวันที่ 30 ธันวาคม 2022 มีรายงานข่าวใหญ่ อัล-นาสเซอร์ สโมสรชั้นนำของซาอุดิ อาระเบีย ปิดดีลสัญญากับ คริสเตียโน โรนัลโด ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือนเศษเพิ่งแยกทางกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า เจ้าของบัลลงดอร์ 5 สมัย จะเป็นคนเปิดทำนบให้สตาร์ลูกหนังไหลทะลักเข้าสู่ ซาอุดิ โปรเฟสชันแนล ลีก

เดอะ การ์เดียน สื่อคุณภาพของอังกฤษ ระบุว่า โรนัลโด ซึ่งเซ็นสัญญากับอัล-นาสเซอร์ ถึงปี 2025 ได้รับการันตีค่าเหนื่อยขั้นต่ำปีละ 90 ล้านยูโร แต่เมื่อรวมผลประโยชน์จากสปอนเซอร์และการตลาด จะหนุนตัวเลขขึ้นไปแตะหลัก 200 ล้านยูโรต่อปี ว่ากันว่าเขายังได้โบนัสเซ็นสัญญาฉบับนี้ราว 100 ล้านยูโร

ช่วงนั้น เหล่าคอมเมนเตเตอร์ของสื่อต่างๆมองการย้ายถิ่นค้าแข้งไปตะวันออกกลางของโรนัลโดว่า ตัวเขายังไม่คิดแขวนสตั๊ดแต่ไม่ได้รับความสนใจจากทีมใหญ่ในยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรียกค่าเหนื่อยที่สูงเกินไปสำหรับนักเตะที่อายุย่าง38 ปี ขณะที่อัล-นาสเซอร์พร้อมทุ่มไม่อั้น โรนัลโดจึงปฏิเสธข้อเสนอของสปอร์ติง แคนซัส ซิตี ในลีกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอีกทีมที่ยื่นข้อเสนออย่างจริงจัง

โรนัลโดพาอัล-นาสเซอร์สัมผัสได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ รอชน์ ซาอุดิ ลีก (Roshn Saudi League หรือ RSL) มี 67คะแนนจาก 30 นัด ตามหลัง อัล-อิตติฮัด 5 คะแนน แต่คล้อยหลังไม่นานหลังจากซีซัน 2022-23 ปิดฉากปลายเดือนพฤษภาคม ซาอุดิ โปร ลีก ที่ควรเงียบสงบเพราะเพิ่งเข้าสู่ช่วงออฟ-ซีซัน กลับสร้างความครึกโครมบนหน้าสื่อฟุตบอลทั่วโลกเมื่อมีข่าวหลายสโมสรใน RSL พยายามทุ่มเงินดึงนักเตะดังๆเข้าทีม หนึ่งในนั้นคือ อัล-ฮิลาล ซึ่งรั้งอันดับ 3 ตามหลังอัล-นาสเซอร์ 8 คะแนน

มีรายงานว่า อัล-ฮิลาล เสนอเงินให้ ลิโอเนล เมสซี ก้อนมหาศาลถึง 400 ล้านยูโร เพื่อบรรลุเป้าหมายให้เจ้าของบัลลงดอร์ 7 สมัย พาทีมระเบิดศึกดาร์บีแมตช์กรุงริยาดห์กับโรนัลโด แต่เมสซี ซึ่งเป็นฟรีเอเยนต์หลังหมดสัญญากับปารีส แซงต์-แยร์กแมง ปฏิเสธข้อเสนอของอัล-ฮิลาล แต่เลือกไปค้าแข้งในเมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ (MLS) กับทีมอินเตอร์ ไมอามี ของเดวิด เบคแฮม

หลังอกหักจากเมสซี อัล-ฮิลาล เบนเป้าหมายไปยัง เนย์มาร์ จูเนียร์ สตาร์กองหน้าวัย 31 ปีของทีมชาติบราซิล ซึ่งประสบปัญหาบาดเจ็บเกือบตลอดซีซันที่ผ่านมา และมีแนวโน้มอยากย้ายออกจากปารีส แซงต์-แยร์กแมง ในตลาดซัมเมอร์ปีนี้ แต่เชื่อว่า เนย์มาร์ยังอยากค้าแข้งในยุโรป

สตาร์หลั่งไหลเข้าซาอุดิตามหลังโรนัลโด

ซาอุดิ โปร ลีก กลายเป็นลีกเนื้อหอมที่สื่อลูกหนังชั้นนำให้ความสนใจทันทีเมื่อ คาริม เบนเซมา เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนล่าสุด ย้ายไปเล่นให้อัล-อิตติฮัด แบบฟรีค่าตัวและเซ็นสัญญา 2 ปี มูลค่า 400 ล้านยูโรเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2023 โดยแชมป์ลีกซาอุดิได้จัดพิธีเปิดตัวเบนเซมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ขณะเดียวกันกองหน้าฝรั่งเศสวัย 35 ได้ปิดฉากชีวิตค้าแข้งกับเรอัล มาดริด ด้วยโทรฟีความสำเร็จ 24 ใบระหว่างปี 2009–2023 รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 4 สมัย และแชมป์แชมเปียนส์ ลีก 5 สมัย 

ทั้งโรนัลโดและเบนเซมา รวมถึงเมสซี 3 ดาวเตะเวิลด์คลาสมีจุดร่วมกันคือเป็นฟรีเอเยนต์ ซึ่งสโมสรได้ไปฟรีๆ จึงโฟกัสเฉพาะค่าเหนื่อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เอ็นโกโล กองเต มิดฟิลด์ตัวรับวัย 32 ปี อำลาชีวิต 7 ปีในสแตมฟอร์ด บริดจ์ เพื่อไปเล่นกับเพื่อนทีมชาติ เบนเซมา ที่อัล-อิตติฮัด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นักเตะดีกรีแชมป์โลก 2018 เซ็นสัญญา 4 ปี รับเงินตกปีละ 86 ล้านยูโร

3 วันต่อมา ความเชื่อว่า ซาอุดิ โปร ลีก เป็นขุมทองเฉพาะสตาร์ใกล้ปลดระวาง ไม่เป็นความจริงเสียแล้วเมื่อ รูเบน เนเวสกัปตันทีมวูลฟ์แฮมป์ตัน เซ็นสัญญา 3 ปีกับอัล-ฮิลาล ส่วนทีมหมาป่ารับค่าตัวไป 55 ล้านยูโร โดยเนเวสมีอายุเพียง 26 ปี เล่นให้ทีมชาติโปรตุเกสกว่า 40 นัด และได้รับความสนใจจากทีมใหญ่พรีเมียร์ลีก แถมก่อนย้ายมาค้าแข้งในเอเชียตะวันตก เนเวสเกือบได้ร่วมทีมบาร์เซโลนา แต่ปิดดีลไม่ลงเพราะบาร์ซาติดขัดเรื่องไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

วันที่ 25 มิถุนายน เชลซี ซึ่งเร่งโละนักเตะเพื่อลดค่าใช้จ่าย ตัดสินใจขาย คาลิดู คูลิบาลี เซ็นเตอร์แบ็ควัย 32 ปี ทีมชาติเซเนกัล ให้อัล-ฮิลาล ในราคาเพียง 20 ล้านยูโร ลดลงครึ่งหนึ่งของค่าตัวที่จ่ายให้นาโปลีในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว โดยคูลิบาลี ซึ่งเซ็นสัญญา 3 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นมุสลิม การมาอยู่ซาอุดิจึงเป็นไอเดียที่ดีสำหรับตัวเขาและครอบครัว สโมสรจะเปิดโอกาสให้เขาลงสนามมากๆเพื่อเตรียมตัวร่วมแอฟริกัน คัพ เขายังหวังจะครองแชมป์ลีกซาอุดิและอาเชียน แชมเปียนส์ ลีก

เอดูอาร์โด เมนดี เพื่อนร่วมทีมเชลซีและเซเนกัล ย้ายตามคูลิบาลีมาเล่นในซาอุดิเช่นกัน แต่เลือกเฝ้าประตูให้กับอัล-อาห์ลี ด้วยสัญญา 3 ปี นั่นเท่ากับเมนดีจะได้ดวลดาร์บีแมตช์เมืองจิดดาห์กับทีมอัล-อิตติฮัดของกองเต ส่วนเชลซีรับค่าตัวของนายทวารวัย 31 ปี เป็นเงินราว 18 ล้านยูโร

อัล-อาห์ลี ยังตกลงเซ็นสัญญาถึงปี 2026 กับ โรแบร์โต ฟีร์มีโน ยอดกองหน้าวัย 31 ปี ซึ่งเพิ่งหมดสัญญากับลิเวอร์พูล โบกมือลาแอนฟิลด์ที่ใช้ชีวิตนาน 8 ปี มีสถิติ 111 ประตู 79 แอสซิสต์รวมทุกรายการ ร่วมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกและแชมเปียนส์ ลีก รายการละ 1 สมัย

สตาร์นักบอลข้างต้นเป็นเพียง done deals เท่านั้นยังมีอีกหลายคนที่ตอบปฏิเสธไปแล้วหรือกำลังต่อรองบนโต๊ะเจรจาอยู่ แน่นอนว่าจะมีรายชื่อใหม่ๆผุดขึ้นบนรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยจนกระทั่งตลาดซัมเมอร์บนทวีปยุโรปปิดทำการในวันที่ 1 กันยายน แต่เชื่อได้ว่า ซาอุดิ โปร ลีก ยังจะเป็นเหมืองทองคำให้กับนักเตะทั่วโลกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ส่วนนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของเจ้าของสโมสร, ซาอุดิ โปร ลีก และประเทศซาอุดิ อาระเบีย

อาจได้เห็นเคนหรือฮาลันด์ในตะวันออกลาง

a flash in the pan เป็นสำนวนในภาษาอังกฤษ มีความหมายว่า “สิ่งที่ให้ความหวังในตอนต้น แต่ต่อมากลายเป็นความผิดหวัง” หรือ “ความสำเร็จชั่วประเดี๋ยว” ซึ่งกลายเป็นประเด็นให้สื่อมวลชนและกูรูในวงการฟุตบอลถกเถียงกัน

ไซนีส ซูเปอร์ ลีก (Chinese Super League หรือ CSL) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2004 หรือเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว เป็นกรณีศึกษา ลีกแดนมังกรดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีมีชื่อเสียงเข้ามาหลายคนอย่างเช่น ออสการ์ แนวรุกทีมชาติบราซิล ซึ่งย้ายจากเชลซีในตลาดฤดูหนาวปี 2017 มาเล่นให้ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี (ปัจจุบันคือ เซี่ยงไฮ้ พอร์ต) ด้วยค่าตัว 70 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าสูงสุดในทวีปเอเชียขณะนั้น ออสการ์เซ็นสัญญา 4 ปี รับค่าเหนื่อยปีละประมาณ 24 ล้านยูโร

ตลาดซัมเมอร์ปี 2019 เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ยังคว้าตัว มาร์โก อาร์เนาโตวิช กองหน้าทีมชาติออสเตรีย ซึ่งขณะนั้นเป็นดาวดังของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เพิ่งครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดซีซัน 2018-19 ของสโมสร ความจริงแล้วเซี่ยงไฮ้เจรจาขอซื้ออาร์เนาโตวิชตั้งแต่ต้นปี 2019 ก่อนสมหวังในที่สุดที่ราคา 26 ล้านยูโร

เบื้องหลังการก่อตั้งไชนีส ซูเปอร์ ลีก เป็นความต้องการโดยตรงของประธานาธิบดี ซึ่งปรารถนาจะให้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก มีทีมชาติที่ดีและลีกภายในประเทศที่ดี แต่ภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนแปลงนโยบาย พวกเขาไม่ต้องการเห็นเงินจำนวนมหาศาลในประเทศไหลเข้าสู่กระเป๋าชาวต่างชาติและทวีปยุโรป จึงกำหนดกฎเหล็กเพื่อขวางไม่ให้นักเตะต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาค้าแข้งในประเทศจีน

คาเวห์ โซลเฮคอล หัวหน้านักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ ให้ความเห็นถึงซาอุดิ โปร ลีก ว่า เขาเชื่อมั่นประเทศซาอุดิ อาระเบีย มองเรื่องนี้เป็นแผนงานระยะยาว แถมพวกเขามีเงินมากกว่า และดูเหมือนจะมีความมุ่งมั่นจริงจังมากกว่าด้วย โดยสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า ภายในเวลา 5 ปี พวกเขาต้องการให้นักเตะ 100 คนที่เก่งที่สุดในโลก เข้ามาเล่นในซาอุดิ โปร ลีก

โรนัลโดถูกดึงเข้ามานำร่องเป็นรายแรก ซาอุดิยังพยายามโน้มน้าวเมสซีด้วยค่าเหนื่อยจำนวนมหาศาล และยังได้เนเวส ยอดมิดฟิลด์ที่อายุเพิ่งเข้าช่วงพีคของอาชีพค้าแข้ง อีกทั้งเชื่อว่าจะมีนักเตะเชลซีอีกหลายคนตามกองเต, คูลิบาลี และเมนดี มายังตะวันออกกลาง โซลเฮคอลกล่าวด้วยว่า เขาไม่แปลกใจเลยหากสโมสรซาอุดิจะล็อกเป้าหมายไปที่ซูเปอร์สตาร์ระดับ แฮร์รี เคน หรือ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์

โมฮัมเหม็ด ฮัมดี ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการของทีมอัล-จาซีรา ในลีกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เชื่อมั่นว่า ซาอุดิ โปร ลีก สามารถดึงผู้เล่นตัวท็อปเข้ามาได้อย่างไม่ลำบากนัก

“พวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ สามารถเป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพ ซึ่งเราเห็นสิ่งที่เกิดกับกาตาร์ไปแล้วว่าเป็นอีเวนท์ที่น่าทึ่งขนาดไหน แผนระยะยาวจะสามารถดึงดูดลิขสิทธิ์โทรทัศน์ สื่อมวลชน สปอนเซอร์ และนักท่องเที่ยว เข้ามายังประเทศได้มากมาย ตอนนี้ไม่ใช่แค่นักเตะใกล้ปลดระวาง แต่คุณได้เห็นผู้เล่นหนุ่มๆก้าวเท้าเข้ามายังซาอุดิ โปร ลีก อีกด้วย”

การลงทุนใน RSL เพื่อเศรษฐกิจชาติที่ยั่งยืน

หัวหน้านักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ เสนอมุมมองถึงสาเหตุที่ซาอุดิ อาระเบีย เริ่มทุ่มเงินดึงนักบอลต่างชาติมาเล่นลีกในประเทศภายในเวลาเพียงครึ่งปีนับจากอัล-นาสเซอร์เซ็นสัญญากับโรนัลโดว่า พวกเขาต้องการขยายเศรษฐกิจให้เติบโตเพื่อเป็นหลักประกันสถานะการเงินในอนาคต เพราะที่ผ่านมา รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมัน ซึ่งแน่นอน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมด และมนุษย์พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาน้ำมันน้อยลง 

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิ อาระเบีย จึงเบนเข็มไปยังธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund หรือ PIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสินทรัพย์รวมโดยประมาณอย่างน้อย 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนตั้งขึ้นเมื่อปี 1971 มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนกองทุนในนามของรัฐบาลซาอุดิ อาระเบีย ตัวอย่างในวงการฟุตบอลคือ การเข้าซื้อกิจการ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สโมสรในพรีเมียร์ลีก

โซลเฮคอลระบุว่า ซาอุดิ อาระเบีย มั่นใจว่ากีฬาสามารถเจริญเติบโตได้สูงโดยเฉพาะฟุตบอลลีก พวกเขาต้องการสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมสันทนาการและบันเทิงของตัวเอง เนื่องจากฟุตบอลได้รับความนิยมอย่างมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในหมู่ประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี และในเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ซาอุดิ อาระเบีย ยังเปิดสนามได้สวยล้มอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแชมป์ในท้ายที่สุด ด้วยสกอร์ 2-1 นอกจากกีฬา พวกเขายังหวังขยายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศด้วย

โซลเฮคอลเสริมด้วยว่า ชนชั้นปกครองซาอุดิ อาระเบีย สัมผัสรับรู้ถึงความสนใจของประชาชนและมีแนวคิดว่า แทนที่จะให้คนชาติอื่นนำเงินออกจากกระเป๋าของคนรักกีฬา ทำไมไม่ทำเสียเองและเก็บเงินเหล่านั้นไว้ในอาณาเขตของตนเอง อีกทั้งยังทำให้คนทั่วโลกรู้จักซาอุดิ อาระเบีย และใช้จ่ายเงินสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

ซาอุดิ โปร ลีก ครั้งที่ 48 คิกออฟสิงหาคมนี้

ซาอุดิ โปรเฟสชันแนล ลีก เป็นลีกฟุตบอลอาชีพระดับเทียร์ 1 ของซาอุดิ อาระเบีย หรือรู้จักอีกชื่อหนึ่งคือ รอชน์ ซาอุดิ ลีกซึ่งตั้งตามชื่อสปอนเซอร์คือ รอชน์ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเซ็นสัญญาสนับสนุน 5 ปีในเดือนสิงหาคม 2022

สหพันธ์ฟุตบอลซาอุดิ อาระเบีย (Saudi Arabia Football Federation หรือ SAFF) จัดการแข่งขันครั้งแรกในซีซัน 1976-77 หรือเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ระยะแรกเป็นทัวร์นาเมนท์แบบพบกันหมด (round-robin) เหมือนระบบฟุตบอลลีกทั่วโลก จนกระทั่งซีซัน 1990-91 สหพันธ์ฯตัดสินใจรวมฟุตบอลลีกกับคิงส์คัพไว้ด้วยกัน โดยหลังจบการแข่งขันฤดูปกติ ทีมที่ติด 4 อันดับแรกของตารางลีก จะผ่านเข้าไปเล่นรอบรองชนะเลิศของ Golden Box เพื่อคัดทีมชนะไปเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งซีซันแรกของระบบนี้ อัล-ชาบับ ชนะ อัล-นาสเซอร์ 1-0 ก่อนกลับมาใช้ระบบฟุตบอลลีกตั้งแต่ซีซัน 2007-08 จนทุกวันนี้

นับตั้งแต่จัดครั้งแรกในซีซัน 1976-77 อัล-ฮิลาล ประสบความสำเร็จ ชนะเลิศซาอุดิ โปร ลีก มากได้ถึง 18 สมัย และเป็นรองแชมป์ 15 สมัย รองลงก็ได้แก่ อัล-อิตติฮัด แชมป์ 9 สมัย รองแชมป์ 8 สมัย และ อัล-นาสเซอร์ แชมป์ 9 สมัย รองแชมป์ 7 สมัย

แต่ถ้าจัดทำเนียบแชมป์ตามเมือง สโมสรลูกหนังในเมืองหลวง กรุงริยาดห์ คว้าถ้วยรางวัลรวมกัน 33 ครั้ง แบ่งเป็น อัล-ฮิลาล 18 ครั้ง, อัล-นาสเซอร์ 9 ครั้ง และ อัล-ชาบับ 6 ครั้ง ตามมาห่างๆคือ เมืองเจดดาห์ 13 ครั้ง แบ่งเป็น อัล-อิตติฮัด 9สมัย กับ อัล-อาห์ลี 4 สมัย

ขอบคุณภาพจาก  https://saudigazette.com.sa/article/632978

รอชน์ ซาอุดิ ลีก ซีซัน 2023-24 จะจัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2023 ถึงเดือนพฤษภาคม 2024 เป็นศึกลูกหนังลีกสูงสุดครั้งที่ 48 ของประเทศ โดยครั้งนี้ สหพันธ์ฯเพิ่มจำนวนสโมสรเป็น 18 ทีมจากเดิม 16 ทีมในซีซันที่แล้ว ส่วนแชมป์เก่าคือ อัล-อิตติฮัด ขณะที่ 4 ทีมน้องใหม่ที่ขึ้นมาจากดิวิชั่น 1 ได้แก่ อัล-อาห์ลี, อัล-ฮาเซม, Al-Okhdood และ อัล-ริยาดห์

สหพันธ์ฯกำหนดให้แต่ละสโมสรลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ 8 คน ซึ่งด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ เชื่อได้เลยว่า นักเตะแถวหน้าทั้งฝีเท้าและชื่อเสียงจะพาเหรดตบเท้าเข้าสู่ซาอุดิ โปร ลีก อีกหลายคนก่อนที่ตลาดจะปิดทำการ และจะเป็นลีกที่ถูกแฟนบอลทั่วโลกเฝ้าจับตาเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพียงอัล-นาสเซอร์ ที่มีโรนัลโด ทีมเดียวอย่างฤดูกาลที่ผ่านมา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Tactics

กั๊กโป เกิดใหม่ในร่างนักเตะเบอร์ 9 กับตัวช่วยที่มากกว่าพรสวรรค์-พรแสวง

ลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จในการเลือกสรรนักเตะใหม่เข้ามาในตลาดเดือนมกราคม 2 ปีติดต่อกัน ปี 2022 คือ ลุยซ์ ดิอาซ ค่าตัว 37 ล้านปอนด์จากทีมปอร์โต (บวกแอด-ออน 12 ล้านปอนด์) ปีกซ้ายทีมชาติโคลอมเบียปรับตัวกับลีกใหม่อย่างรวดเร็ว มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนฟอร์มทีมหงส์แดงจนคว้า 2 แชมป์ 2 รองแชมป์ ด้วยสถิติ 26 นัด 6 ประตูรวมทุกรายการ แต่โชคร้ายซีซันต่อมา ดิอาซใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาอาการบาดเจ็บจนลงสนามรวมแค่ 21 นัด แต่ยังทำได้ 5ประตู

ตลาดนัดปีนี้ ลิเวอร์พูลให้อภัยหน้าเค้กเปรียบเทียบแมนฯยูไนเต็ดจ่ายเงินราว 37 ทดสอบให้พีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน (บวกแอด-ออน 3 ความต้องการ) เพื่อซื้อโคดีกั๊กโปซึ่งใกล้  จะ  เซ็น สัญญากับทีมปีศาจแดงปี๊ทิ้งไว้ให้เล่นกับเพื่อนใหม่ดีกว่าจะได้ช่วยทีมหงส์แดงฟอร์มแรงช่วงท้ายไต่อันดับพรีเมียร์ลีกจนมีลุ้นโควตาแชมเปียนส์ลีกโดยดิอาซเล่น 26 นัดที่ 7 ประตูรวมทุกรายการ

สำหรับกั๊กโปแล้ว สิ่งที่เกินคาดทั้งแฟนบอลและสื่อมวลชนคือ แทนที่เยอร์เกน คลอปป์ จะส่งกั๊กโปเล่นแนวรุกฝั่งซ้าย ตำแหน่งประจำที่พีเอสวี แทนดิอาซและดีโอโก โซตา ที่บาดเจ็บพร้อมกัน แต่กลับมอบหมายกั๊กโปยืนศูนย์หน้า ส่วนปีกซ้ายเป็นดาร์วิน นูนเญซ ซึ่งกูรูลูกหนังเคยเชื่อว่า ลิเวอร์พูลยอมทุ่มให้เบนฟิกาสูงถึง 64 ล้านปอนด์ (บวกแอด-ออน 21ล้านปอนด์) เพื่อมายืนตำแหน่งเบอร์ 9 เหมือนเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ของแมนฯซิตี

ช่วงครึ่งแรกของซีซัน 2022-23 ก่อนย้ายมาเมอร์ซีย์ไซด์ กั๊กโปทำผลงานในเอเรดิวิซีของเนเธอร์แลนด์ 9 ประตู 12 แอสซิสต์จากการเล่น 14 นัด และเป็นปีกซ้ายเบอร์ 1 ของเฮดโค้ช รุด ฟาน นิสเตลรอย และจากสถิติทั้งหมด 159 นัดรวมทุกรายการ (55 ประตู 50 แอสซิสต์) ในสีเสื้อพีเอสวีตั้งแต่เล่นให้ทีมชุดใหญ่นัดแรกต้นปี 2018 เว็บไซต์ transfermarkt ระบุว่า กั๊กโปเล่นปีกซ้ายถึง 118 นัด รองลงมาคือ ศูนย์หน้า 15 นัด และปีกขวา 14 นัด ส่วนอีกนัดเป็นมิดฟิลด์ตัวรุก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คลอปป์จะทำให้ผู้คนมากมายเซอร์ไพรส์ที่ใช้งานกั๊กโปเป็นกองหน้าตัวเป้า ไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นภาพจำอย่างปีกซ้าย โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ดิอาซกับโซตาไม่สมบูรณ์พร้อมกัน แถมนูนเญซก็ถูกคาดหวังมาเป็นศูนย์หน้าตัวหลักอีก … แม้แต่ กั๊กโปเองก็ยอมรับว่าคิดไม่ถึงเช่นกัน

เมินคำแนะนำว่าเหมาะกับสไตรเกอร์มากกว่าปีก

หลังฤดูกาล 2022-23 ปิดฉากลง กั๊กโปให้สัมภาษณ์สื่อว่า คลอปป์โน้มน้าวให้เขาเชื่อว่าตำแหน่งที่ดีสำหรับเขามากที่สุดคือ STRIKER ไม่ใช่ปีก และตอนนี้เขาก็มีความสุขและสนุกกับตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าที่ลิเวอร์พูล การย้ายจากปีกซ้ายมายืนเบอร์ 9 เป็นสิ่งเพลิดเพลินด้วยซ้ำ คอมเมนเตเตอร์หลายคนมองว่าเมื่อโรแบร์โต ฟีร์มิโน ย้ายออกจากแอนฟิลด์ กั๊กโปจะเป็นตัวแทน false nine ของฟีร์มิโนอย่างแน่นอน

กั๊กโปเซ็นสัญญา 5 ปีครึ่งกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2022 หรือ 4 วันก่อนตลาดฤดูหนาวเปิดอย่างเป็นทางการ สร้างรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสรพีเอสวี เขาปรากฏตัวในสนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2023 เป็นเอฟเอ คัพ รอบ 3 ที่เสมอวูลฟ์แฮมป์ตัน 2-2 กั๊กโปยืนตำแหน่งปีกซ้ายที่คุ้นเคย ส่วนศูนย์หน้าคือนูนเญซ นัดต่อมาเป็นเกมพรีเมียร์ลีก วันที่ 14 มกราคม ลิเวอร์พูลชนะไบรท์ตัน 3-0 คลอปป์ปรับหมากเกม  ย้ายกั๊กโปยืนศูนย์หน้า ปีกซ้ายเป็นหน้าที่ของอเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน แม้กั๊กโปทำประตูไม่ได้ช่วง 6 นัดแรกแต่เขาไม่คิดว่ามีผลมาจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง

กั๊กโปส่งลูกหนังซุกตาข่ายให้ลิเวอร์พูลได้สำเร็จ เป็นสกอร์นำร่องก่อนชนะเอฟเวอร์ตัน ทีมเพื่อนบ้าน 2-0 ในบอลลีกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ประตูที่ 2 ตามมาอีก 5 วันในแมตช์ชนะนิวคาสเซิล 2-0 อีกทั้งยังทำ 2 ประตูเมื่อวันที่ 5 มีนาคม กับเกมหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในซีซันนี้ ลิเวอร์พูลเปิดบ้านถล่มแมนฯยูไนเต็ดราบคาบ 7-0 และยังมีเกมที่กั๊กโปทำ 2 แอสซิสต์อีกด้วยคือวันที่ 30 เมษายน จ่ายให้ดิอาซทำประตูขึ้นนำสเปอร์ส 2-0 ก่อนที่โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ สังหารจุดโทษให้สกอร์ห่างเป็น 3-0 เมื่อกั๊กโปโดนทำฟาวล์ในเขตโทษ แม้สเปอร์สตีเสมอ 3-3 แต่โซตาทำประตูชัยให้เจ้าถิ่นในนาทีที่ 90+4

สตาร์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “คลอปป์โน้มน้าวว่ากองหน้าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับผมมากที่สุด แน่นอนเป็นช่วงเวลาลำบากเมื่อครั้งมาถึงลิเวอร์พูลใหม่ๆ คลอปป์พูดชัดเจนว่าต้องการอะไรจากผม แต่ช่วงเริ่มต้น ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวให้คุ้นชินเป็นธรรมดา แต่อยากบอกว่า ผมสนุกที่ได้เล่นตำแหน่งนี้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

แม้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดทำหน้าที่แนวรุกริมเส้นบนสังเวียนเอเรดิวิซี แต่กับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นเรื่องปกติถ้ากั๊กโปถูกวางเป็นศูนย์หน้า อย่างเช่นเวิลด์คัพที่กาตาร์ หลุยส์ ฟาน กัล ให้กั๊กโปยืนตำแหน่งเบอร์ 9 ในนัดเสมอเอกวาดอร์ 1-1, ชนะกาตาร์ 2-0 และชนะสหรัฐอเมริกา 3-1 ส่วนนัดเปิดสนามที่ชนะเซเนกัล 0-2 และแมตช์รอบ 8 ทีมสุดท้ายที่แพ้ดวลจุดโทษต่ออาร์เจนตินา กั๊กโปรับบทมิดฟิลด์ตัวรุก โดยฟุตบอลโลก กั๊กโปเป็นตัวจริงทั้ง 5 นัด ทำได้ 3 ประตู

กั๊กโปเล่าว่า “กัส ฮิดดิงค์ เป็นคนแรกที่แนะนำว่า ผมควรเป็นสไตรเกอร์หรือไม่ก็ false nine มีช่วงหนึ่งเขาเป็นบอร์ดบริหารและเคยเห็นผมเล่น แต่ผมไม่เชื่อหรอกนะ ต่อมาเป็นโรเจอร์ ชมิดท์ ที่พูดแบบเดียวกันตอนที่คุมทีมพีเอสวี แต่ผมยังใจแข็งเหมือนเดิมเพราะรู้สึกดีกับปีกซ้ายมากกว่า”

“แต่จุดเปลี่ยนคือเวิลด์คัพ 2022 ผมต้องเล่นบริเวณพื้นที่กลางสนามมากขึ้น และกลายเป็นงานถาวรเกือบตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มันโอเคแล้วนะ ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆกับการเล่นตำแหน่งนี้ให้สโมสรเช่นเดียวกับทีมชาติ”

2 นัดล่าสุดกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในรายการเนชันส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ (แพ้โครเอเชีย) และนัดชิงอันดับ 3 (แพ้อิตาลี) โรนัลด์ คูมัน กุนซือคนใหม่ของเนเธอร์แลนด์ ใช้บริการกั๊กโปเป็นศูนย์หน้าแทนเมมฟิส เดปาย ที่บาดเจ็บน่อง

ดูเหมือนเส้นทางของกั๊กโปทั้งระดับสโมสรและทีมชาติได้มาบรรจบกันที่ “สไตรเกอร์” ทำให้เขาสามารถทุ่มเทสมาธิได้เต็มที่กับทักษะเครื่องจักรล่าประตู ซึ่งที่ผ่านมา แนวรุกดัตช์ไม่ได้มีเพียงสตาฟฟ์โค้ชสโมสรและทีมชาติที่เข้ามาช่วยพัฒนาฝีเท้า แต่ยังมีทีมงานส่วนตัวด้วย

จ้างทีมงานโค้ชแทคติกส่วนตัวเพื่ออัปเกรดฝีเท้า

ถ้าพิจารณาสไตล์การเล่นที่ผ่านมา กั๊กโปก็เป็นแนวรุกริมเส้นที่กึ่งๆกองหน้าอยู่แล้ว เขาเป็นปีกซ้ายที่ถนัดเท้าขวา บ่อยครั้งจะตัดเข้าในและเคลื่อนที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามบนพื้นที่กลางสนาม ใช้ความเร็วและการเลี้ยงบอลที่คล่องแคล่วเพื่อ “กิน” กองหลังคู่แข่งจนกระทั่งเจอช่องว่างและโอกาสที่จะซัดบอลเพื่อทำประตู

ย้อนกลับยังเวิลด์ คัพ 2022 นัดแรกของรอบแรก กลุ่ม เอ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในกาตาร์ เนเธอร์แลนด์ยังเสมอเซเนกัล 0-0 ดูเหมือนไม่สามารถหาช่องว่างของแนวรับเพื่อเจาะเข้าไปทำสกอร์ นักเตะเสื้อขาวยืนแพ็คแน่นบริเวณกรอบเขตโทษ 

เหลือเวลาราว 6 นาที แฟรงกี เดอ ยอง โยนยาวไปหน้าประตู กั๊กโปวิ่งทะยานจากปีกขวา ทะลวงกองหลังเซเนกัล 2 คนที่มองบอลที่กำลังลอยเข้ามา กั๊กโปกระโดดโฉบโหม่งตัดหน้านายทวารเอดูอาร์ เมนดี ที่กระโดดหวังชกบอลแต่พลาด กั๊กโปโหม่งให้เนเธอร์แลนด์นำ 1-0 ก่อนชนะไปในที่สุด 2-0 เก็บ 3 แต้มแรกตุนได้สำเร็จ

ประตูปลดล็อคคลายความกดดันให้ทีมอัศวินสีส้มมีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์ประมาณครึ่งปีก่อนหน้าฟุตบอลโลก ชายผู้สอนทริกการเล่นให้กั๊กโปผ่านการรีเพลย์คลิปวิดิโอทีละขั้นตอน เปิดเผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากบาสเกตบอล

โลแรน วีรีลิงค์ โค้ชด้านแทคติกของกั๊กโป ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “นั่นเป็นแผนการวิ่งที่พวกเราทำงานร่วมกัน เขาวิ่งไปด้านหลังในจังหวะกองหลังขยับขึ้นหน้า เป็นหนึ่งในแผนการวิ่งที่ผมเรียนรู้จากสมัยเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ เรามีรูปแบบที่แตกต่างกัน 6 อย่างของการวิ่งเข้าไปในกรอบเขตโทษ”

“ซิดนีย์ พี่ชายของกั๊กโป ส่งข้อความมาถึงผม (หลังเนเธอร์แลนด์ชนะเซเนกัล) บอกว่า ‘โลแรน นั่นเป็นประตูของคุณ’ กั๊กโปคงไม่วิ่งลักษณะนั้นถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผม เขาคงมองไม่เห็นดีเฟนซีพไลน์ที่ขยับขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาวิ่งตัดหลังคู่แข่ง”

ที่กาตาร์ กั๊กโปเดินหน้าทำสกอร์ต่อไปใน 2 นัดที่เหลือของรอบแรก (เอกวาดอร์และกาตาร์) ก่อนสิ้นสุดเส้นทางที่รอบก่อนรองชนะเลิศเมื่อพ่ายต่ออาร์เจนตินา

เป็นความปกติของฟุตบอลสมัยใหม่ที่นักเตะจะว่าจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวเพื่อยกระดับตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และเฉียบคมขึ้น กั๊กโปเป็นหนึ่งในนักฟุตบอล 200 คน ที่ทำงานร่วมกับวีรีลิงค์ด้วยความหวังให้ตัวเองเป็นนักเตะที่เก่งขึ้น อดีตครูพละชาวดัตช์ได้เข้ามาช่วยให้นักฟุตบอลมีคู่มือแผนการเล่นเฉพาะตัวเหมือนกับกั๊กโป ซึ่งนำไปสร้างความได้เปรียบหรือความแปลกใจให้กับคู่ต่อสู้บนสนามหญ้า

ปรารถนาเป็นหนึ่งในนักเตะ 1% ที่ยืนบนยอดพิระมิด

ซิดนีย์ กั๊กโป รู้ดีว่าน้องชายของเขาต้องการข้อมูลเชิงลึกมากกว่าเพื่อนร่วมอาชีพทั่วไป จึงแนะนำโคดีให้รู้จักวีรีลิงค์ก่อนลีกเนเธอร์แลนด์เปิดฤดูกาล 2021-22 แม้ความได้เปรียบจากส่วนสูง 6 ฟุต 3 นิ้ว ก็สร้างความหวั่นไหวให้กองหลังได้แล้ว กั๊กโปยังมีอันตรายจากความเร็ว การครองบอล และทักษะด้านเทคนิคในการสร้างแผนเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม

กั๊กโปมีพ่อเชื้อสายกานาที่เกิดในโตโก แม่เป็นชาวดัตช์ เขาเกิดในไอน์ดโฮเฟน เริ่มเข้าศึกษาศาสตร์ลูกหนังในอะคาเดมีของ พีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน เมื่อปี 2007 ตอนอายุเพียง 8 ขวบ กั๊กโปผ่านโปรแกรมเยาวชนทุกระดับของสโมสร และเริ่มเข้าไปอยู่ใน ยอง พีเอสวี ซึ่งเป็นทีมสำรองของพีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน ในซีซัน 2016-17 แต่ยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับทีม ยู-19กั๊กโปประเดิมทีมชุดใหญ่ของพีเอสวีเมื่อถูกส่งลงสนามช่วงทดเวลาเจ็บของแมตช์ชนะเฟเยนูร์ด 3-1 เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2018

แม้พรสวรรค์บวกกับพรแสวงที่เพิ่มเติมขึ้นขณะอยู่ในระบบของพีเอสวีจะทำให้กั๊กโปไปได้ไกลกว่านักเตะรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่ แต่กั๊กโปต้องการมากกว่านั้น แค่ดียังไม่พอ เขากระหายที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักฟุตบอลส่วนน้อย 1เปอร์เซ็นต์ที่ยืนอยู่บนยอดพีระมิด นั่นจึงทำให้เขาตกลงใจทำงานกับวีรีลิงค์

หลังทำการรีวิวการเล่นของกั๊กโป วีรีลิงค์ได้ข้อสรุปว่า กั๊กโปจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพและการเคลื่อนที่ในโซน final third พวกเขาประชุมสุมหัวคิดร่วมกัน กั๊กโปต้องเล่นฟุตบอลด้วยมันสมองมากขึ้น คิดคำนวณให้มากขึ้นในแต่ละครั้งที่จะขยับตัวหรือทำอะไรสักอย่าง แทนการตั้งหน้าตั้งตาวิ่งหรือดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่งบ่อยเกินไป กั๊กโปควรสงวนพลังงานเพื่อเอาไปใช้ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย

“กั๊กโปเป็นนักเตะที่ชอบเวลาลูกบอลอยู่กับเท้า แต่ผมบอกว่า ถ้าเขาต้องการเล่นฟุตบอลให้ได้ถึงระดับท็อป เขาจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่านี้ และมีคำตอบไว้หลายแบบสำหรับสถานการณ์ต่างๆในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น คุณต้องสร้างมุมและตำแหน่งที่แตกต่างกันเวลาเผชิญหน้ากรอบประตู มันเป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้จากบาสเกตบอล ทุกครั้งที่ได้ลูก คุณต้องพร้อมที่จะชู้ตลูกออกไปเสมอ นั่นจึงเป็นการสร้างอันตราย”

“ที่พีเอสวี เขาดูนิ่งเกินไปและมักปักหลักยืนแทนที่จะเคลื่อนที่ไปรอบๆ ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนงานว่า เขาจะวางสรีระอย่างไรก่อนจะรับบอล(ที่ส่งมาให้)หรือออกวิ่ง เรายังต้องวางแผนเรื่องการเฝ้ามองพื้นที่ว่างไม่ว่าจะมีบอลอยู่กับตัวหรือไม่ เพราะนั่นจะทำให้เขามองเห็นช่องว่างที่สามารถวิ่งทะลวงเข้าไป”

3 ซีซันก่อนหน้าทำงานกับวีรีลิงค์ กั๊กโปมีสถิติรวมทุกรายการคือ 19 นัด 2 ประตูในซีซัน 2018-19, 39 นัด 8 ประตูในซีซัน 2019-20 และ 29 นัด 11 ประตูในซีซัน 2020-21 ส่วนซีซัน 2021-22 เฉพาะในเอเรดิวิซี กั๊กโปทำได้ 12 ประตูจาก 27 นัด และ 21 ประตูจาก 47 นัดรวมทุกรายการ

กั๊กโปอำลาลีกเนเธอร์แลนด์เมื่อซีซัน 2022-23 ผ่านไปราวครึ่งทาง เขาครองอันดับ 1 ของเอเรดิวิซีทั้งจำนวนสกอร์ (9ประตู) และแอสซิสต์ (12 ครั้ง) จากการลงสนาม 14 นัด มีเพียง ดูซาน ทาดิช (อาแจ็กซ์) และ วาคลาฟ เชร์นี (ทเวนเต) ที่ทำประตูได้มากกว่ากั๊กโปเมื่อจบโปรแกรมแข่งขัน แต่ทั้งสองเล่นมากกว่ากั๊กโปคนละ 14 นัด

เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองก่อนแล้วเพื่อนจะเปลี่ยนตาม

วีรีลิงค์อธิบายถึงการทำงานร่วมกับกั๊กโปว่า ทีมงานได้เตรียมวิดีโอกว่าร้อยคลิปที่ได้จาก WyScout แพลตฟอร์มฟุตบอลอาชีพที่บรรดาเอเยนต์ แมวมอง ผู้เล่น สื่อมวลชน และกรรมการใช้งานอย่างแพร่หลาย พวกเขาโฟกัสไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของร่างกายและศีรษะของแนวรุกดัตช์เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับลูกฟุตบอล, การครองบอลของเพื่อนร่วมทีม และตำแหน่งของตัวประกบ จากนั้นจะถูกวางโปรแกรมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์หลายรูปแบบและนำไปสร้างผลกระทบเชิงลบต่อคู่แข่ง ประตูแรกของกั๊กโปช่วงปลายครึ่งแรกที่ทำให้ลิเวอร์พูลนำ 2-0 ก่อนชนะแมนฯยูไนเต็ดถล่มทลาย 7-0 ในเดือนมีนาคม เป็นตัวอย่างที่ดี

เพลย์เริ่มที่อลิสซง เบคเกอร์ เตะบอลยาวไปยังแดนแมนฯยูไนเต็ดให้ แอนดี โรเบิร์ตสัน ที่อยู่ใกล้ริมสนามฝั่งซ้าย กั๊กโปฉีกตัวเองจากแถววงกลมกลางสนามไปริมสนาม แต่เขาไม่ได้ขอบอลจากแบ็คซ้ายร่วมทีม แต่หวังสร้างพื้นที่ว่างตรงกลาง ซึ่งโรเบิร์ตสันตอบสนองด้วยการตัดเข้าในทันที 

มาถึงตรงนี้ กั๊กโปเห็นเฟรด นักเตะแมนฯยูไนเต็ด ที่อยู่ใกล้เขามากที่สุด กำลังมองไปที่บอล นั่นเป็นตัวกระตุ้นให้กั๊กโปนึกถึง backdoor run ที่ได้มาจากทีมงานของวีรีลิงค์ เขาจึงวิ่งตัดเข้าในด้านหลังของเฟรด ซึ่งเซเสียจังหวะ ขณะเดียวกันโรเบิร์ตสันจ่ายบอลทะลุกลุ่มผู้เล่นไปที่มุมกรอบเขตโทษ ส่วนกั๊กโปก็วิ่งเข้ามารับแบบเหมาะเจาะ

ราฟาเอล เวราน ปรี่เข้ามาขวาง กั๊กโปหักหลบเปลี่ยนทิศทางทำให้ปราการหลังเฟรนซ์เสียหลัก เป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างด้านหน้า เขาแตะบอลหนึ่งจังหวะก่อนสับไกด้วยเท้าขวา ลูกพุ่งเข้าประตูทางเสาไกล ซึ่งวีรีลิงค์กล่าวเพิ่มว่า ลูกเล่นนี้ กั๊กโปเรียนรู้จากคลิปการสอนของเขาที่ชื่อว่า Clear depth-run – backdoor side

กั๊กโปและ สเตฟาน เดอ ฟรีจ์ ปราการหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่วีรีลิงค์สามารถเปิดเผยชื่อได้ วีรีลิงค์ยังมีลูกค้าระดับดาราอีกหลายคนที่ได้ประโยชน์จากหลักสูตรของเขา แต่ปรารถนาจะเก็บการทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างลับๆ

วีรีลิงค์มีแผนขยายธุรกิจของบริษัท แทคทาไลซ์ (Tactalyse) ไปยังสหรัฐอเมริกาก่อนถึงฟุตบอลโลก 2026 ซึ่งเขามั่นใจว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะคนอเมริกันพร้อมลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพตัวเอง ต่างกับยุโรปที่เห็นว่าบริการเหล่านี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น ส่วนที่สหรัฐอเมริกา การจ่ายเงินให้เทรนนิงส่วนตัวเป็นเรื่องปกติมาก

แม้เป็นช่วงปิดซีซัน แต่นักฟุตบอลปัจจุบันนี้มักวางแผนซ้อมส่วนตัวระหว่างฤดูร้อนเพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะเข้าค่ายเก็บตัวพรี-ซีซันในสภาพร่างกายที่ดี หรือบางคนที่เพิ่งผ่านซีซันที่เลวร้าย ฤดูร้อนเป็นเวลาเหมาะสมที่จะประเมินประสิทธิภาพของตัวเอง และตั้งคำถามว่า มีอะไรที่ตัวเขาทำได้เพื่อช่วยเหลือทีม

วีรีลิงค์เสนอมุมมองว่า “นักเตะหลายคนชอบบ่นเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ยอมส่งบอลมาให้ บางทีเพื่อนอาจมองไม่เห็นคุณก็ได้เลยไม่ผ่านบอลมา ข้อแนะนำของผมคือ ถ้าคุณเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คุณจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเพื่อนได้ ผลกระทบที่ส่งไปจากคนๆเดียวนั้นใหญ่กว่าที่คิด”

กั๊กโปและแทคทาไลซ์ทำงานร่วมกันตลอดซัมเมอร์เพื่อให้มั่นใจว่าเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลเห็นเขากำลังวิ่งตัดหลังฝ่ายตรงข้ามหรือกองหลังที่จับตามองบอล จากนั้นเมื่อเขาหลุดเข้าไปดวลตัวต่อตัวกับนายประตูหรือกองหลังคนสุดท้าย เขาต้องพร้อมที่จะโป้งปิดบัญชีด้วยความเฉียบคม สำหรับวีรีลิงค์แล้ว แทคติกของทีมมักถูกตีค่าเกินจริง แต่เป็นกลยุทธเฉพาะบุคคลของตัวนักเตะต่างหากที่สร้างความแตกต่างให้กับเกมลูกหนัง

“เราสามารถคุยเรื่องระบบการเล่นของทีมได้ยาวเป็นชั่วโมงๆ แต่ท้ายสุดแล้ว เป็นนักเตะที่สามารถทำบางอย่างได้สมบูรณ์แบบต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสินเกม” บอสใหญ่แห่งแทคทาไลซ์กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ไกเซโด มิดฟิลด์ครบเครื่องรอบจัด ซีซันเดียวราคาพุ่ง 70-80 ล้านปอนด์

กว่า 3 ปีที่แล้ว มอยเซส ไกเซโด เล่นอยู่ในลีกเซเรีย เอ ของเอกวาดอร์ กับสโมสร อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล และยังเป็นผู้เล่นโนเนมของแฟนบอลทั่วโลก แต่ตอนนี้ เขากลายเป็นที่หมายปองของอาร์เซนอลและเชลซีด้วยค่าตัวแพงลิ่วถึง 70-80 ล้านปอนด์ในฐานะมิดฟิลด์ดาวรุ่งพุ่งแรงที่จะอายุเพียง 22 ปีในวันที่ 2 พฤศจิกายน

ไกเซโด ซึ่งย้ายมาอยู่ ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน ต้นปี 2021 ด้วยราคาเพียง 4.5 ล้านปอนด์ เพิ่งแจ้งเกิดจริงๆในพรีเมียร์ลีกเพียงปีเดียวคือฤดูกาล 2022-23 หลังจากปล่อยให้ เบียร์ช็อต วีเอ สโมสรเบลเยียม ยืมใช้งานครึ่งแรกของซีซัน 2021-22 ก่อนทีมนกนางนวลเรียกกลับเนื่องจากขาดแคลนมิดฟิลด์ช่วงครึ่งหลัง

อาร์เซนอลเคยพยายามเจรจาขอซื้อไกเซโดในตลาดเดือนมกราคมที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เคยมีข่าวสนใจมิดฟิลด์ทีมชาติเอกวาดอร์ด้วยเช่นกัน ขณะที่เชลซีเข้ามามีเอี่ยวด้วยเพื่อเป็นตัวแทนของ เอ็นโกโล กองเต้ ที่เพิ่งย้ายไปเล่นในลีกซาอุดิ อาระเบีย กับทีมอัลอิตติฮาด โดยถ้าซื้อขายจริงที่ 80 ล้านปอนด์จะทำให้ไกเซโดเป็นมิดฟิลด์ค่าตัวแพงที่สุดอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง นั่นเท่ากับไบรท์ตันทำกำไรเกือบ 20 เท่า

ทำไมไกเซโดที่เพิ่งมีตัวตนในพรีเมียร์ลีกแค่ซีซันเดียว กลายเป็นกองกลางรูปทองเนื้อหอมที่ถูกตั้งราคาไว้สูงลิ่ว

ไกเซโดเป็นนักเตะสำคัญลำดับต้นๆของทีมไบรท์ตันที่จบพรีเมียร์ลีกด้วยอันดับ 6 สูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร และได้สิทธิ์เล่นยูโรปา ลีก ซึ่งเป็นสังเวียนยุโรปครั้งแรก มีเพียง ปาสกาล กรอสส์ และ ลูอิส ดังค์ เท่านั้นที่เล่นบอลลีกมากกว่าเขาในทีมนกนางนวล

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ไกเซโดลงสนามรวม 3,140 นาที เป็นตัวจริง 34 นัด สำรอง 3 นัด มีแค่นัดเดียวที่ไม่มีชื่ออยู่ในทีมคือ เกมแพ้อาร์เซนอล 2-4 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2022 ซึ่งเป็นนัดที่ 2 ที่พรีเมียร์ลีกกลับมาแข่งขันต่อหลังเบรกฟุตบอลโลก ส่วนเกม 5 วันก่อนหน้านั้นที่ชนะเซาแธมป์ตัน 3-1 ไกเซโดลงเต็มแมตช์

หลักๆแล้วทั้ง แกรห์ม พอตเตอร์ และ โรแบร์โต เด แซร์บี ซึ่งเข้ามาคุมทีมไบรท์ตันกลางกันยายน 2022 วางไกเซโดเป็น double pivot บนกระดานหมากเกม เคียงข้างกรอสส์หรือไม่ก็ อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ ทั้งสองรับบทสร้างสรรค์เกมยามครองบอล ส่วนไกเซโดเน้นเกมรับเป็นตัว defensive ball-winner แถมท้ายซีซันยังเคยถูกย้ายไปยืนแบ็คขวา รวมถึงเกมสำคัญที่เฉือนแมนฯยูไนเต็ด 1-0 ต้นเดือนพฤษภาคม

อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซต์ transfermarkt กับแผนการเล่น 4-2-3-1 ซึ่งไกเซโดยืนฝั่งขวาของคู่มิดฟิลด์ เขาเล่นตำแหน่ง defensive midfield 27 นัด รวมถึงเกมที่เขาทำ 1 ประตู 1 แอสซิสต์ในซีซันที่ผ่านมา, central midfield 4 นัด และ right-back 3 นัด 

ทางด้านเว็บไซต์ theanalyst ระบุอย่างชัดเจนจากเวลาในการยืนตำแหน่งนั้นๆ DM 61%, CM 30% และ RB 8% เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ไกเซโดได้รับมอบหมายงานป้องกันเป็นหลัก รับผิดชอบเกมรับอยู่ด้านหน้าแบ็คโฟร์ คอยสกัดกั้นและแย่งบอลกลับคืน

ดีกรีแชมป์สโมสรทวีปอเมริกาใต้ รุ่น ยู-20

ไกเซโดมีชื่อเต็มว่า Moisés Isaac Caicedo Corozo เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2001 ที่เมืองซานโต โดมิงโก ประเทศเอกวาดอร์ เข้าร่วมอะคาเดมีของสโมสรอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ตอนอายุ 13 ปี ก่อนได้รับการเลื่อนชั้นร่วมทีมชุดใหญ่ในปี 2019 และลงสนามนัดแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ซึ่งทีมชนะแอลดียู ควิโต 1-0 เป็นเกมลีกเซเรีย อา โดยระหว่างปี 2019 – 2020 ไกเซโดเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ในบอลลีก 25 นัด ทำ 4 ประตู อีกทั้งยังมีส่วนพาทีมเยาวชนของสโมสรชนะเลิศรายการ โกปา ลิเบอร์ตาโดเรส รุ่น ยู-20 เมื่อปี 2020 อีกด้วย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ไกเซโดเซ็นสัญญากับไบรท์ตันเป็นระยะเวลา 4 ปีครึ่ง ส่วนค่าตัวไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่เชื่อว่า อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ได้รับเงิน 4.5 ล้านปอนด์ และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ไบรท์ตันใส่ชื่อดาวรุ่งจากเอกวาดอร์ในเกมเอฟเอ คัพ ซึ่งทีมนกนางนวลแพ้ 0-1 ในบ้านของเลสเตอร์ ซิตี แต่ไม่ได้ถูกส่งลงสนาม

ซีซัน 2020-21 จบลงโดยไกเซโดไม่ได้เล่นให้ไบรท์ตันเลย จนกระทั่งซีซันถัดมา วันที่ 24 สิงหาคม 2021 เขามีโอกาสประเดิมสนามครั้งแรก แถมเป็นตัวจริงในเกมอีเอฟแอล คัพ รอบ 2 ที่บ้านของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี ไกเซโดเป็นคนแอสซิสต์ให้แอนดี เซคคีรี ทำสกอร์นำร่องก่อนไบรท์ตันกำชัย 2-0 แต่วันที่ 31 สิงหาคม วันสุดท้ายของตลาดซัมเมอร์ ทีมนกนางนวลไฟเขียวส่งไกเซโดให้เบียร์ช็อต วีเอ ทีมในลีกสูงสุดของเบลเยียม ยืมใช้งาน 1 ฤดูกาลเต็ม และเพียงนัดที่ 7 เขาก็ทำประตูแรกในนาทีที่ 90+2 ตอกตะปูปิดฝาโลงให้ต้นสังกัดชนะเก็งค์ 2-0 เก็บ 3 คะแนนในบ้าน

สัญญายืมตัวของเบียร์ซ็อตถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 เนื่องจากไบรท์ตันประสบปัญหาขาดแคลนผู้เล่นมิดฟิลด์ โดยที่ผ่านมา ไกเซโดเล่นบอลลีกให้เบียร์ช็อต 12 นัด ทำ 1 ประตู

3 วันต่อมา ไกเซโดเป็นผู้เล่นสำรองที่ไม่ได้ใช้งานในเกมบอลลีกเสมอคริสตัล พาเลซ 1-1 แต่เขาก็ไม่ต้องรอนาน พอตเตอร์ส่งไกเซโดแทนโซลลี มาร์ช นาทีที่ 61 ของเกมเอฟเอ คัพ รอบ 4 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งไบรท์ตันแพ้ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ 1-3

ไกเซโดได้สัมผัสสังเวียนพรีเมียร์ลีกครั้งแรกในวันที่ 9 เมษายน ไม่เพียงเป็นตัวจริงแต่ยังแอสซิสต์ให้อีน็อค เอ็มเวปู ทำประตูนาทีที่ 66 ก่อนไบรท์ตันชนะ 2-1 ในบ้านของอาร์เซนอล ส่วนประตูแรกในสีเสื้อไบรท์ตันเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ไกเซโดซัดระยะ 25 หลา นำร่องนาทีที่ 15 ของแมตช์ถลุงแมนฯยูไนเต็ด 4-0 เขาจบซีซัน 2021-22 ด้วยสถิติพรีเมียร์ลีก 8 นัด 664 นาที 1 ประตู 1 แอสซิสต์

ปักหลักอย่างมั่นคงเมื่อซีซัน 2022-23 คิกออฟ

ไกเซโดถูกโปรโมทขึ้นมาเป็นตัวหลักของไบรท์ตันทันทีที่พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 เปิดฉาก พอตเตอร์ส่งมิดฟิลด์ดาวรุ่งเป็นตัวจริงใน 6 เกมแรก เล่นครบแมตช์ 5 นัด มีเพียงนัดแพ้ฟูแลมที่ถูกเปลี่ยนออกนาทีที่ 79 และเขายังทำ 1 ประตูในเกมต้อนเลสเตอร์ 5-2 ซึ่งเป็นการทำงานนัดสุดท้ายของพอตเตอร์ก่อนย้ายไปเป็นผู้จัดการทีมเชลซี

เด แซร์บี กุนซือคนใหม่ชาวอิตาเลียน ยังไว้ใจความสามารถของไกเซโด ใส่ชื่อเป็นตัวจริงในนัดแรกของการคุมทีมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2022 ซึ่งไบรท์ตันเสมอลิเวอร์พูล 3-3 ที่แอนฟิลด์ กราฟชีวิตถัดจากนั้นของไกเซโดก็เป็นขาขึ้นจนได้รับความสนใจจากอาร์เซนอลที่กำลังไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ

มีรายงานระหว่างตลาดเดือนมกราคม 2023 ว่า ไกเซโดเซ็นสัญญากับบริษัทเอเยนต์นักฟุตบอลแห่งหนึ่ง และในวันที่ 27มกราคม ตัวแทนของเขาได้ออกแถลงการณ์ว่า ไกเซโดต้องการย้ายออกจากทีมไบรท์ตัน และตัวเขายังโพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า “ผมเป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัวยากจนที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ 10 คนในซานตา โดมิงโก ผมมีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเอกวาดอร์ ผมขอขอบคุณแฟนๆอัลเบียน พวกคุณจะอยู่ในหัวใจของผมเสมอ

ไม่เพียงอาร์เซนอล ไกเซโดยังมีข่าวโยงกับลิเวอร์พูลและเชลซี แต่ไบรท์ตันปฏิเสธที่จะขายมิดฟิลด์ดาวรุ่งที่ยังเหลือสัญญาถึงกลางปี 2025 พร้อมสั่งให้ไกเซโดพักผ่อนจนกว่าตลาดฤดูหนาวจะสิ้นสุดลง เขากลับมาฝึกซ้อมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และได้ลงสนามอีก 3 วันต่อมา ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 57 ของนัดชนะบอร์นมัธ 1-0 ขณะที่เด แซร์บี ได้ขอร้องแฟนบอลไม่ให้ตำหนิหรือว่าร้ายลูกทีมของเขา

วันที่ 3 มีนาคม ไบรท์ตันได้ขยายสัญญาไกเซโดออกไปจนถึงฤดูร้อนปี 2027 พร้อมออปชันต่อสัญญาเพิ่ม 1 ปี ไกเซโดจบฤดูกาลด้วยสถิติ 43 นัด 1 ประตูรวมทุกรายการ และยังได้รับตำแหน่งรองผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของไบรท์ตันจากการโหวตของผู้ใช้งาน บีบีซี สปอร์ต โดยอันดับ 1 ตกเป็นของแม็ค อัลลิสเตอร์ คู่หูมิดฟิลด์ของเขา

แล้วแต่โค้ช เบอร์ 8 ก็รัก เบอร์ 6 ก็ได้

แม้ตอนนี้ถูกเด แซร์บี ใช้งานมิดฟิลด์เบอร์ 6 แต่ มิเกล แองเกิล รามิเรซ ผู้จัดการทีมสปอร์ติง กิฆอน ในลีกสเปน ซึ่งเคยเป็นอดีตโค้ชของไกเซโดที่อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงแล้วไกเซโดชอบเล่นตำแหน่งมิดฟิลด์เบอร์ 8(รุก) มากกว่าเบอร์ 6 (รับ) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ไบรท์ตันแสดงให้เห็นว่า ไกเซโดมีทักษะหลากหลาย เป็นนักเตะสารพัดประโยชน์ และมีความสามารถสูงในการปรับตัว

ช่วงต้นซีซัน 2022-23 พอตเตอร์ใช้งานไกเซโดเป็นมิดฟิลด์เบอร์ 8 ตัวซ้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เล่นให้เบียร์ซ็อตและครึ่งหลังของซีซันก่อนหน้า แต่เมื่อเด แซร์บี คุมทีมนกนางนวล เขาดึงไกเซโดถอยลงมาเป็นฐานของมิดฟิลด์หรือตำแหน่งเบอร์ 6 บางครั้งยังปรับเป็นแบ็คขวา

กุนซือทีมกิฆอนย้อนอดีตสมัยคุมทีมอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ว่า ไกเซโดผ่านระบบพัฒนานักเตะของอะคาเดมีกับบทบาทเบอร์ 6 แต่พอถูกดึงขึ้นทีมชุดใหญ่ เขาดันให้ไกเซโดไปแดนหน้ามากขึ้นในฐานะเบอร์ 8

“ตอนนั้นเรามี คริสเตียน เปลเลราโน อยู่ในทีมชุดใหญ่ เขาเป็นนักเตะเบอร์ 6 ที่ฝีเท้าเหลือเชื่อและเข้าใจเกมเอามากๆ เปรียบเสมือนกับโค้ชที่อยู่ในสนามนั่นแหละ เขามีส่วนช่วยมอยเซสเข้าใจเกมมากขึ้นและพัฒนาทักษะความสามารถ”

“อย่างไรก็ดี เรายังอยากใช้งานเปลเลราโมเป็นนักเตะเบอร์ 6 ดังนั้นถ้าเราต้องการให้มอยเซสอยู่ในทีม เขาจำเป็นต้องเล่นตำแหน่งเบอร์ 8 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี เขามีอิมแพ็คกับเกมอย่างมาก ช่วยทีมได้ดีมากในฐานะมิดฟิลด์ตัวรุกเพราะเขาสามารถทำประตู จ่ายบอลสุดท้าย และเข้าไปอยู่ในกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม”

“ต่อมา มอยเซสเริ่มเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งได้ดีขึ้นแม้เป็นงานยากเหมือนกัน เนื่องจากเขาต้องเล่นระหว่างไลน์ มีพื้นที่น้อยลง มีเวลาน้อยลง แถมจำเป็นต้องปรับร่างกายก่อนเข้าไปรับบอล มีข้อมูลมากมายที่ต้องเรียนรู้”

รามิเรซเชื่อว่า การที่เล่นได้ดีกับหลายหน้าที่ในแดนกลางเป็นสาเหตุสำคัญที่ไกเซโดได้รับความสนใจจากทีมใหญ่อย่างอาร์เซนอล, เขลซี, ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด พร้อมค่าตัวที่ถูกประเมินไว้สูงถึง 70-80 ล้านปอนด์

รามิเรซเข้าใจดีที่ไบรท์ตันปฏิเสธเงินก้อนโตจากอาร์เซนอลในตลาดเดือนมกราคมเพราะไกเซโดมีความสำคัญกับทีมมาก ซึ่งเรื่องแบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นที่อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล

ที่เอกวาดอร์ แม้อยู่ในช่วงวัยรุ่นแต่ไกเซโดมีฝีเท้าสูงเกินอายุ เขามีส่วนสำคัญช่วยให้ทีม ยู-20 ของอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ครองแชมป์โกปา ลิเบอร์ตาโดเรสเมื่อปี 2020 ที่ปารากวัย

“มอยเซสมีความสำคัญอย่างมากต่อทีมชุดใหญ่ของเรา แต่ยังเป็นผู้เล่นคีย์แมนของรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีด้วย ตอนนั้นเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์หรือราว 10 วันที่เขาเล่นให้ทีม ยู=20 แล้วต้องนั่งเครื่องบินกลับเมืองกีโตเพื่อเล่นให้เราในลีกเอกวาดอร์ ก่อนกลับไปเตะลิเบอร์ตาโดเรสต่อ มันเป็นอะไรที่บ้าชัดๆ”

ไกเซโดยังโชว์ฟอร์มเจิดจรัสในลิเบอร์ตาโดเรสระดับซีเนียร์ ซึ่งเปรียบกับแชมเปียนส์ ลีก ของทวีปอเมริกาใต้ “มอยเซสเริ่มเป็นที่รู้จักของทั่วโลก สโมสรใหญ่หลายแห่งส่งทีมเจรจาเดินทางมาพูดคุยกับเขาและสโมสร” รามิเรซกล่าว แล้วก็เป็นไบรท์ตันที่พาดาวรุ่งเอกวาดอร์ออกไปจากแผ่นดินบ้านเกิด

สร้างอิมแพ็คให้ไบรท์ตันทั้งยามบุกและรับ

จากผู้เล่นโนเนมช่วงครึ่งหลังซีซันกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักซีซัน 2022-23 ของไบรท์ตัน ลงตัวจริง 34 จาก 38 นัดพรีเมียร์ลีก สถิติบ่งชี้ว่าไกเซโดมีอิทธิพลทั้งจังหวะที่มีบอลไม่มีบอลของไบรท์ตัน จุดเด่นมากที่สุดหนีไม่พ้นการแย่งบอลไม่ว่าจะเป็นความปราดเปรียว การเข้าปะทะ และตื่นตัวต่ออันตราย ไกเซโดรั้งอันดับ 2 หมวดแทคเกิล (100 ครั้ง) และอินเตอร์เซปท์ (56 ครั้ง) ตามหลังชูเอา ปาลินญา (ฟูแลม) และดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม) ตามลำดับ นอกจากนี้มีเพียงไรซ์กับโรดรี (แมนฯซิตี) ที่เหนือเขาในการครองบอลในโซน middle third (142 ครั้ง)

ไกเซโดยังมีอิมแพ็คต่อการขึ้นเกมหรือบิลด์-อัพของทีมนกนางนวลด้วย เขาสัมผัสบอลรวม 2,735 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 8 ของพรีเมียร์ลีก และจ่ายบอลเข้าเป้า 1,961 ครั้ง อยู่อันดับ 6 ตามหลังปิแอร์-เอมิล ฮอยเบิร์ก (สเปอร์ส), กาเบรียล มากัลเญส (อาร์เซนอล), เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค (ลิเวอร์พูล), โรดรี และดังค์ เพื่อนร่วมทีม

ในส่วนความแม่นยำการผ่านบอล เรตติงของโกเซโดสูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขจะยิ่งดูน่าพอใจเป็นทวีคูณถ้าพิจารณาว่า เขาต้องจ่ายบอลในสถานการณ์กดดัน 780 ครั้ง ซึ่งมีเพียงโรดรีและบรูโน กีมาไรส์ (นิวคาสเซิล) ที่มีจำนวนครั้งมากกว่าสตาร์ทีมไบรท์ตัน โดยนิค ไรท์ นักวิเคราะห์เกมของสกาย สปอร์ตส์ มองว่า ทักษะการครองบอลและจ่ายบอลภายใต้ความกดดันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ค่าตัวของไกเซโดแพงลิ่ว

รามิเรซพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นตลาดที่จะบอกได้ว่าคุณเก่งแค่ไหน เมื่อสโมสรหนึ่งแจ้งราคาเสนอซื้อออกมา ตัวเลขจะบ่งบอกระดับฝีเท้าของคุณ และมอยเซสก็อยู่ในระดับนั้น (ค่าตัว 70-80 ล้านปอนด์) และนี่เป็นความจริง”

สำหรับทีมชาติเอกวาดอร์ ไกเซโดเปิดตัวในฐานะตัวจริงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2020 ขณะอายุย่าง 19 ปี เป็นเวิลด์คัพ รอบคัดเลือก ที่แพ้อาร์เจนตินา 0-1 และเพียงนัดที่ 2 อีก 4 วันต่อมา ก็ทำประตูแรกในนามทีมชาติได้จากแมตช์ชนะอุรุกวัย 4-2 เป็นผู้เล่นคนแรกที่เกิดในศตวรรษที่ 21 ที่ทำสกอร์ได้ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนอเมริกันใต้

ไกเซโดมีชื่ออยู่ใน 26 ขุนพลลุยเวิลด์คัพที่กาตาร์ ลงสนามเป็นตัวจริงและเล่นเต็มแมตช์ทั้ง 3 นัดของรอบแรก กลุ่ม เอ ซึ่งแพ้เจ้าภาพ 0-2, เสมอเนเธอร์แลนด์ 1-1 และแพ้เซเนกัล 1-2 ซึ่งไกเซโดทำสกอร์ตีเสมอนาทีที่ 67 ถ้ารักษาสกอร์ได้จะทำให้เอกวาดอร์ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่คาลิดู คูลิบาลีย์ ยิงประตูชัยให้เซเนกัลอีก 3 นาทีต่อมา ดับฝันของเอกวาดอร์ แต่กระนั้นไกเซโดได้รับการบันทึกว่า เป็นนักเตะทีมชาติเอกวาดอร์อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ทำสกอร์ในเวิลด์คัพ และล่าสุดเขาเล่น 32 นัด ทำ 3 ประตูให้ทีมชาติ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

บทสรุปพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 4-2-3-1, เบอร์ 9, ปีกขวาเท้าซ้าย

การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23 ปิดฉากบริบูรณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี ครองแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันและเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี อันดับ 2 คือ อาร์เซนอล ซึ่งยังไม่สามารถคว้าแชมป์นับจากซีซัน 2003-04 เซาแธมป์ตัน, ลีดส์ ยูไนเต็ด และเลสเตอร์ ซิตี ลงไปเล่นแชมเปียนชิพ ขณะที่เบิร์นลีย์ ซึ่งชนะเลิศแชมเปียนชิพด้วยแต้มสะสมสูงถึง 101 คะแนน, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์ เป็น 3 ทีมน้องใหม่ของพรีเมียร์ลีกซีซันหน้า

สำหรับสิทธิ์เล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปฤดูกาล 2023-24 แมนฯซิตี, อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ได้เล่นแชมเปียนส์ ลีก, ลิเวอร์พูลกับไบรท์ตัน เล่นยูโรปา ลีก และแอสตัน วิลลา เล่นคอนเฟอเรนซ์ ลีก

นอกเหนือผลแข่งขัน 380 นัดตลอดซีซัน และอันดับตารางคะแนน ศึกลูกหนังลีกสูงสุดเมืองผู้ดียังเกิดเหตุการณ์น่าสนใจมากมายในช่วงประมาณ 10 เดือนที่ยาวกว่าปกติเพราะมีการแข่งขันเวิลด์คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20พฤศจิกายนถึง 18 ธันวาคม โดยเว็บไซต์ khaimukdam ได้คัดเลือกบางเรื่องราว นำมาถ่ายทอดและบันทึกไว้ ณ โอกาสนี้

เปลี่ยนผู้จัดการทีมระหว่างซีซันมากที่สุด

พรีเมียร์ลีกมี 20 ทีมแต่ซีซันนี้มีผู้จัดการทีมที่ปฏิบัติหน้าที่มากถึง 39 คน ซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงผู้จัดการชั่วคราวและรักษาการที่คุมทีมอย่างน้อย 1 นัด โดยตลอดซีซันมีการเปลี่ยนแปลงนายใหญ่ 14 ครั้ง รวมถึง 3 สโมสรที่ไล่กุนซือออก 2 คนคือ เชลซี (โธมัส ทูเคิล, แกรห์ม พอตเตอร์), ลีดส์ (เจสซี มาร์ช, ซาบี กราเซีย) และเซาแธมป์ตัน (ราล์ฟ ฮาเซนฮึทเทิล, นาธาน โจนส์) นั่นทำให้มีผู้จัดการเพียง 9 คนเท่านั้นที่คุมทีมลงสนามครบ 38 นัด

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงกุนซือ 14 ครั้งเป็นการไล่ออก 13 ครั้งเนื่องจากพอตเตอร์กับไบรท์ตันแยกทางด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย พอตเตอร์ไปทำงานแทนทูเคิลในเดือนกันยายนที่เชลซีก่อนโดนไล่ออกในเดือนเมษายน แฟรงค์ แลมพาร์ด รับคุมทีมชั่วคราวจนกระทั่งจบซีซัน เช่นเดียวกับ รอย ฮอดจ์สัน (คริสตัล พาเลซ) กับ ไรอัน เมสัน (ทอตแนม ฮอตสเปอร์) เป็นอีก 2 คนที่เซ็นสัญญาระยะสั้น

ไม่ว่า 14 ครั้งของการเปลี่ยนตัวกุนซือหรือ 13 คนที่ถูกบอร์ดบริหารสั่งปลด ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก เริ่มจาก สกอตต์ ปาร์คเกอร์ (บอร์นมัธ) ปลายเดือนสิงหาคม ตามด้วยทูเคิล (เชลซี), บรูโน ลาเก (วูลฟ์แฮมป์ตัน), สตีเวน เจอร์ราร์ด (วิลลา), ฮาเซนฮึทเทิล (เซาแธมป์ตัน), แลมพาร์ด (เอฟเวอร์ตัน), มาร์ช (ลีดส์), โจนส์ (เซาแธมป์ตัน), ปาทริก วิเอรา (พาเลซ), อันโตนิโอ คอนเต (สเปอร์ส), รอดเจอร์ส (เลสเตอร์), พอตเตอร์ (เชลซี) และกราเซีย (ลีดส์) ซึ่งถูกปลดเป็นรายสุดท้ายต้นเดือนพฤษภาคม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปลี่ยนผู้จัดการไม่ได้ช่วยให้เซาแธมป์ตัน, ลีดส์ และเลสเตอร์ หนีการตกชั้นพ้น ขณะที่เชลซีจบซีซันด้วยอันดับ 12 ต่ำกว่าตอนปลดพอตเตอร์อันดับเดียว ส่วนวิลลา, พาเลซ, เอฟเวอร์ตัน, บอร์นมัธ และวูลฟ์ส มีผลงานดีขึ้นหลังเปลี่ยนผู้จัดการ โดย 3 จาก 5 ทีมลงมือทำก่อนสิ้นเดือนตุลาคม โดยเฉพาะสิงห์ผงาดแห่งเมืองเบอร์มิงแฮม เป็นทีมที่มีผลงานพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากที่สุด

สิงโตวิลลาผงาดเพราะกับดักล้ำหน้าของเอเมรี

แอสตัน วิลลา เป็นทีมสร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ เพราะหากย้อนไปเดือนตุลาคมเมื่อปลดสตีเวน เจอร์ราร์ด “เดอะ ไลออนส์” ชนะ 2 จาก 11 นัดแรก หล่นไปอยู่อันดับ 16 เหนือโซนตกชั้นแค่แต้มเดียว ก่อนเซ็นสัญญากับ อูไน เอเมรี โดยยอมจ่ายค่าเสียหายให้บีญาร์เรอัล 6 ล้านยูโร

กุนซือสแปนิชวัย 51 ทำให้สิงโตวิลลา “ผงาด” สมฉายา ชนะ 12 จาก 18 นัด ทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 6 หลังถลุงนิวคาสเซิล 3-0 กลางเดือนเมษายน คว้าชัยพรีเมียร์ลีก 5 นัดติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับจากปี 1998 แม้ผ่วปลายแต่ก็ประครองตัวจบด้วยอันดับ 7 ได้ไปเล่นคอนเฟอเรนซ์ ลีก ฤดูหน้า

นับจากโดนอาร์เซนอลถลุง 2-4 กลางเดือนกุมภาพันธ์ วิลลาเสียเพียง 8 ประตูจากการลงสนาม 15 นัดสุดท้าย ไม่มีนัดไหนเสีย 2 ประตู เอเมรีเสริมใยเหล็กเกมรับจนแข็งแกร่งขึ้นผิดตา เป็นปัจจัยสำคัญของการคว้าสิทธิ์เล่นบอลถ้วยยุโรป คู่เซ็นเตอร์แบ็ค ไทโรน มิงส์ และ เอซรี คอนซา พัฒนาฝีเท้าและแคแร็กเตอร์มาไกลจากยุคกุนซือ “สตีวี จี” มิงส์เพิ่งถูกแกเรธ เซาธ์เกต เรียกตัวกลับเข้าทีมชาติอีกครั้งหลังจากเล่นให้อังกฤษครั้งหลังสุดในเดือนมีนาคม 2022 

หัวใจของการวางหมากเกมรับของเอเมรีอยู่ที่กับดักเช็คล้ำหน้า มิงส์และคอนซาประสานงานอย่างรู้ใจ หากคู่ต่อสู้จะฝ่าด่านไปได้จะต้องจ่ายบอลและวิ่งตัดหลังชนิดสมบูรณ์แบบ แต่หากไม่โดนไลน์แมนยกธงล้ำหน้า ก็จะต้องเผชิญหน้ากับความเหนียบหนึบของ เอมิเลียโน มาร์ติเนซ ยอดผู้รักษาประตูทีมชาติอาร์เจนตินาดีกรีแชมป์โลก

นับตั้งแต่เอเมรีเป็นผู้จัดการทีม วิลลาทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้ำหน้า 102 ครั้ง ซึ่งเทียบกับอันดับ 2 ลิเวอร์พูลแล้วพบว่ามากกว่า 34 ครั้ง โดยทีมหงส์แดงได้รับฉายาว่า “เดอะ ออฟไซด์ คิง” จากการ “ยืนหนึ่ง” ตลอด 3 ซีซันก่อนหน้านี้ แต่ซีซันนี้ มงกุฎตกเป็นของวิลลา

เชลซีกับปีที่วุ่นวายและตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ซีซัน 2022-23 น่าจะเป็นช่วงอยากลืมของเชลซีและแฟนบอล “เดอะ บูลส์” จบด้วยอันดับ 12 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน1995-96 ที่พวกเขาหล่นลงมาอยู่ครึ่งล่างของตารางพรีเมียร์ลีก แต่นั่นเป็นหน้าฉาก ด้านหลังยังมีความวุ่นวายมากกว่านั้นเยอะ

นับตั้งแต่มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ทอดด์ โบห์ลีย์ เทคโอเวอร์สโมสรในเดือนพฤษภาคม 2022 เชลซีจ่ายเงินราว 583 ล้านปอนด์ไปกับกลุ่มนักฟุตบอลและผู้จัดการทีม 4 คน (รวมกุนซือชั่วคราว) เฉพาะตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ทะลุหลัก 300 ล้านปอนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ 107 ล้านปอนด์เป็นค่าตัวทำลายสถิติสหราชอาณาจักรที่ซื้อ เอ็นโซ แฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกา และ 62 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ มิไคโล มูดริค จากชัคตาร์ โดเน็ตส์ค

ส่วนตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว โบห์ลีย์ก็ลงทุนยกเครื่องขุมกำลังใหม่ให้โธมัส ทูเคิล ไปเบ็ดเสร็จ 270 ล้านปอนด์ แต่ต้นกันยายน เชลซีต้องปลดกุนซือเยอรมันแล้วดึงแกรห์ม พอตเตอร์ มาคุมทีมแทนด้วยสัญญา 5 ปี พร้อมจ่ายค่าชดเชย 21 ล้านปอนด์ให้ไบรท์ตันที่สูญเสียพอตเตอร์และทีมงาน

7 เดือนต่อมา พอตเตอร์ถูกไล่ออก เชลซีมอบหมายผู้ช่วยของเขา บรูโน ซัลตอร์ ทำหน้าที่แทน 1 นัด ก่อนดึงแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเคยคุมทีมเชลซี 1 ปีครึ่งก่อนถูกปลดเดือนมกราคม 2021 กลับมารับหน้าที่ผู้จัดการอีกครั้ง รอบนี้แลมพาร์ดมีผลงานชนะนัดเดียวจาก 11 นัดสุดท้ายของซีซัน ส่วนทูเคิลรูดม่านกับบาเยิร์น มิวนิก ด้วยโล่แชมป์บุนเดสลีกา ขณะที่เชลซีประกาศแต่งตั้ง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน เป็นนายใหญ่คนใหม่ของสแตมฟอร์ด บริดจ์ โดยจะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม

เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวว่าตลาดซัมเมอร์กลางปีนี้ ยอดกุนซืออาร์เจนไตน์วัย 51 จะถ่ายเทนักเตะที่ล้นทีมราว 30 คนออกไปอย่างไร และใครจะมาเป็นนักเตะใหม่เพื่อลบล้างฝันร้ายให้กับกองเชียร์สิงโตน้ำเงินคราม

4-2-3-1 แผนยอดนิยม 4-4-2 ใช้น้อยลงเรื่อยๆ

ระบบการเล่นยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงและแสดงความคิดเห็นเสมอในหมู่สื่อมวลชน กูรูลูกหนัง และแฟนบอล แม้ความจริงแล้ว แต่ละทีมไม่มีแผนตายตัว ระหว่าง 90 นาทีสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หรือแม้กระทั่งต่างกันในจังหวะมีบอล (บุก) หรือไม่มีบอล (รับ) ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือลิเวอร์พูลช่วงปลายซีซัน ซึ่งเปลี่ยนจาก 4-3-3 เมื่อเริ่มต้นเป็น 3-4-3 (หรือ 3-2-2-3) ขณะมีบอลโดยเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ดันตัวเองจากแบ็คขวาขึ้นไปยืนมิดฟิลด์แบบ double pivot คู่กับฟาบินโญ

สกาย สปอร์ตส์ สื่อกีฬาชั้นนำของอังกฤษ ได้เก็บสถิติ starting formations ทุกนัดของพรีเมียร์ลีกซีซันนี้และได้ข้อสรุปว่า 4-2-3-1 เป็นฟอร์แมทที่ถูกใช้บ่อยที่สุดคือ 261 ครั้ง รองลงมาได้แก่ 4-3-3 จำนวน 222 ครั้ง, 3-4-2-1 จำนวน 64ครั้ง และ 4-4-2 (Classic) จำนวน 62 ครั้ง ตามมาห่างๆคือ 3-5-2 จำนวน 23 ครั้ง และ 4-1-4-1 จำนวน 22 ครั้ง

ข้อมูลที่น่าสนใจคือมี 13 ทีมที่เริ่มต้นเกมด้วยแผนคลาสสิค 4-4-2 ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงกลางทศวรรษ 2000 โดยสกาย สปอร์ตส์ เริ่มบันทึกสถิติ starting formations ตั้งแต่ซีซัน 2006-07 ซึ่งมีการใช้ฟอร์แมท 4-4-2 มากถึง 498 ครั้ง ตามมาห่างๆด้วย 4-5-1 เพียง 71 ครั้ง และ 4-3-3 จำนวน 63 ครั้ง

4-4-2 ยังคง “ยืนหนึ่ง” อีก 5 ปีแต่จำนวนก็ลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งลงมาที่ 251 ครั้งในซีซัน 2011-12 ก่อนเสียตำแหน่งให้ 4-2-3-1 ในซีซัน 2012-13 ที่จำนวน 335 ครั้ง เพิ่มจาก 125 ครั้งในซีซันก่อนหน้านี้ ส่วนซีซัน 2012-13 ตัวเลขของ 4-4-2 ลงมาเหลือเพียง 91 ครั้ง นับจากนั้นเป็นต้นมา 4-2-3-1 ก็เป็นหมากเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพรีเมียร์ลีก

สกาย สปอร์ตส์ ให้ข้อสังเกตว่า 4-2-3-1 เริ่มได้รับโมเมนตัมจากกุนซือลีกเมืองผู้ดีอย่างมีนัยยะตั้งแต่ซีซัน 2009-10 ขณะที่กระแส 4-3-3 เริ่มเข้ามาในปีต่อมา ส่วน 62 ครั้งของ 4-4-2 ในซีซันนี้เป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 2006-07 ซึ่งสาเหตุมาจากผู้จัดการปรับใช้กลยุทธ์หมากเกมหลากหลายซับซ้อนขึ้นโดยเฉพาะหน้าที่ไฮบริดอย่าง inverted full-back และ inverted winger 

อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ เบิร์นลีย์กับเซาแธมป์ตัน สองทีมที่เป็นตัวหลักของ 4-4-2 ช่วงที่ผ่านมา โดยเบิร์นลีย์ลงไปอยู่แชมเปียนชิพพร้อมการจากไปของแซม ไดซ์ ส่วนเซาแธมป์ตันก็เล่นรูปแบบที่ต่างไปตามกุนซือ 3 คนในซีซันนี้

แต่ต้องบันทึกไว้เช่นกันว่า ทีมครึ่งบนตารางไม่ได้เพิกเฉยต่อ 4-4-2 ระบบที่หลายคนมองว่าตกยุคเช่น วิลลาใช้ 15 ครั้ง ไบรท์ตัน 3 ครั้ง ลิเวอร์พูล 2 ครั้ง และสเปอร์ส 2 ครั้ง แม้แต่แมนฯซิตียังใช้หนึ่งโอกาส

การถล่มประตูของเบอร์ 9 เหนือแนวรุกริมเส้น

แมนฯซิตีชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2021-22 ด้วยนักเตะตำแหน่ง false No 9 แต่ไม่เป็นความลับใดๆว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา ต้องการศูนย์หน้าหมายเลข 9 เมื่อพยายามเจรจาซื้อแฮร์รี เคน ดาวยิงทีมชาติอังกฤษในตลาดซัมเมอร์ปี 2021  แต่ต้องล้มโต๊ะเจรจาเพราะโดนสเปอร์สโก่งราคาถึง 100 ล้านปอนด์ ทีมเรือใบสีฟ้ามาสมหวังกลางปีที่แล้วเมื่อจ่ายเงินแค่ 51ล้านปอนด์ให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เพื่อแลกกับเออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ศูนย์หน้าดาวรุ่งทีมชาตินอร์เวย์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3486228

ด้วยวัยเพียง 22 ปี และปีแรกในพรีเมียร์ลีก ฮาลันด์กระหน่ำสกอร์สูงถึง 36 ประตู ทำลายสถิติสูงสุด 34 ประตู ซึ่งอลัน เชียเรอร์ และแอนดี โคล สร้างไว้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ตามมาห่างๆด้วย 30 ประตู เคน (สเปอร์ส), 20 ประตู อีวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), 19 ประตู โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล) และ 18 ประตู คัลลัม วิลสัน (นิวคาสเซิล)

สำหรับเคน แม้สเปอร์สจะทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เขายังกระซวกตาข่ายถึง 30 ประตู เท่ากับสถิติสูงสุดส่วนตัวในซีซัน 2017-18 และพัฒนาจากซีซันที่แล้ว ซึ่งทำได้เพียง 17 ประตู รั้งอันดับ 4 บนตารางดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท็อป-5 ซีซันนี้เป็นนักเตะหมายเลข 9 ถึง 4 คนยกเว้นซาลาห์ที่ยืนฝั่งขวาของแนวรุกฟรอนท์ทรีให้ลิเวอร์พูล ต่างกับซีซันที่แล้ว ซน ฮึง-มิน (สเปอร์ส) และซาลาห์ ซึ่งครองรางวัลรองเท้าทองคำด้วยจำนวน 23 ประตูเท่ากัน และอันดับ 5 ซาดิโอ มาเน (ลิเวอร์พูล) 16 ประตูต่างเป็นแนวรุกริมเส้น ยกเว้นอันดับ 3-4 คริสเตียโน โรนัลโด (แมนฯยูไนเต็ด) 18ประตูกับเคน 17 ประตู ที่ยืนตำแหน่งศูนย์หน้าตัวเป้า 

หรือถ้าชายตามอง 5 อันดับถัดมาในซีซันที่แล้วมีเพียงอันดับ 6 (ร่วม) เจมี วาร์ดี (เลสเตอร์) ที่รับบทบาทหัวหอก ส่วนเควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯซิตี) กับ ดีโอโก โซตา (ลิเวอร์พูล) ซึ่งทำ 15 ประตูเท่าเวอร์ดี รวมถึงอันดับ 9 วิลฟรีด ซาฮา (พาเลซ) 14 ประตู และอันดับ 10 ราฮีม สเตอร์ลิ่ง (แมนฯซิตี) 13 ประตู ต่างไม่ใช่ศูนย์หน้าเบอร์ 9

ซาลาห์จุดประกายปีกขวาเท้าซ้ายเป็นเทรนด์ฮิต

โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ปีกเท้าซ้ายดาวดัง ลากเลื้อยทำเกมรุกฝั่งขวาให้ลิเวอร์พูลตลอด 5 ซีซันล่าสุด คู่หูเท้าซ้ายของแมนฯซิตี ริยาด มาห์เรซ และ แบร์นาโด ซิลวา ต่างรับผิดชอบฟากขวาของสนาม บูกาโย ซากา ซึ่งเป็นอีกคนที่ถนัดเท้าซ้ายและเป็นคีย์แมนในความสำเร็จของอาร์เซนอลซีซันนี้ ก็สร้างอันตรายจากเกมรุกด้านขวา

ปีกขวาเท้าซ้ายจึงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในพรีเมียร์ลีกชนิดไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวได้ว่าเกือบทุกทีมบนครึ่งบนของตารางอันดับต่างใช้แทคติกนี้อย่างเช่น อันโตนี ของแมนฯยูไนเต็ด, มิเกล อัลมิรอน ของนิวคาสเซิล และไบรอัน เอ็มเบวโม ของเบรนท์ฟอร์ด ขณะที่เชลซีแม้จบด้วยอันดับ 12 แต่ตั้งแต่ปลายเมษายนได้ให้โอกาส โนนี มาดูเอเก ดาวรุ่งวัย 21 ปี ลงตัวจริงตำแหน่งปีกขวา เช่นเดียวกับ จาร์รอด โบเวน ของเวสต์แฮม และแฮร์รี วิลสัน ของฟูแลม

ต่อคำถามว่า “ทำไม” สามารถใช้ shot map ของซาลาห์ในพรีเมียร์ลีกซีซันนี้มาอธิบาย โดยแนวรุกทีมชาติอียิปต์กลับมาสร้างอันตรายให้คู่แข่งอีกครั้งจากบทบาท wide forward ซึ่งการตัดเข้าในทำให้ซาลาห์มีพื้นที่มากขึ้นในการยิงประตู แถมยังสามารถทะลวงไปถึงพื้นที่ตรงกลางได้มากขึ้น

“เป๊ป คอนเนคชัน” จุดไฟสมรภูมิพรีเมียร์ลีกเดือด

ขณะที่เป๊ป กวาร์ดิโอลา มอบถ้วยรางวัลพรีเมียร์ลีกแก่แมนฯซิตีเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี มองไปทีมอันดับ 2-3 อาร์เซนอลกับแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งถูกคาดหมายจะเขย่าบัลลังก์ทีมเรือใบสีฟ้าให้สั่นคลอนซีซันหน้า กุนซือของสองทีมมีความเชื่อมโยงกับกวาร์ดิโอลา

มิเกล อาร์เตตา เคยทำงานกว่า 3 ปีกับกวาร์ดิโอวาในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีมในแมนเชสเตอร์ ก่อนย้ายมารับตำแหน่งใหญ่ของอาร์เซนอล และซีซันนี้ เขาเกือบพาทีมปืนใหญ่ครองแชมป์สมัยแรกนับจากยุคแชมป์ไร้พ่ายในซีซัน 2003-04 ส่วนเอริก เทน ฮาก ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงปี พาแมนฯยูไนเต็ดกลับไปเล่นแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง ก็เคยคุมทีมบีของบาเยิร์น มิวนิก ช่วงที่กวาร์ดิโอลาเป็นเฮดโค้ชชุดใหญ่ 

แม้แต่ โรแบร์โต เด แซร์บี ซึ่งช่วยให้ไบรท์ตันได้ลงสังเวียนทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก็ยอมรับว่ากวาร์ดิโอลาเป็นแรงบันดาลใจให้เขามุ่งมั่นกับอาชีพโค้ช ขณะที่ แว็งซ็องต์ ก็องปานี ซึ่งเพิ่งพาเบิร์นลีย์ขึ้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์แชมเปียนชิพ ก็เคยสวมปลอกแขนกัปตันทีมแมนฯซิตีในยุคกวาร์ดิโอลา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

สตีฟ คูเปอร์ ผู้บันดาล 2 ปี 2 ปาฎิหาริย์แก่ฟอเรสต์

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2023 เป็นหนึ่งในวันสำคัญของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 เพราะการแข่งขันที่ซิตี กราวน์ ซึ่งน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เฉือนชนะอาร์เซนอล 1-0 จากประตูนาทีที่ 19 ของ ไตโว อโวนิยี โดยทีมเจ้าป่าครองบอลเพียง 18% เป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดสำหรับทีมชนะในเกมพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ซีซัน 2003-04

นัดนี้นัดเดียวทำให้เกิด 3 เรื่องสำคัญคือ  1. อาร์เซนอลหมดโอกาสครองแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเลิศซีซัน 2003-04 แบบไร้พ่าย  2. แมนเชสเตอร์ ซิตี ครองแชมป์สมัยที่ 5 ในรอบ 6 ปี  3. ฟอเรสต์รอดพ้นจากการกลับไปอยู่แชมเปียนชิพหลังจากได้สิทธิ์เลื่อนชั้นพรีเมียร์ลีกโดยชนะฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์-ออฟ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2022

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ถ้าไม่นับอันดับ 18 จากนัดเปิดสนามที่แพ้ 0-2 ในบ้านของนิวคาสเซิล “เดอะ เรดส์” เริ่มหล่นมาอยู่โซนตกชั้นตั้งแต่นัดที่ 6 ต้นเดือนกันยายนเมื่อแพ้บอร์นมัธ 2-3 ที่ซิตี กราวน์ ฟอเรสต์รั้งอันดับรองบ๊วยและวนเวียนอยู่ 3อันดับท้ายตารางจนปฏิทินเข้าสู่ปี 2023 จึงผุดขึ้นมาหายใจหายคอเหนือโซนสีแดงได้ตั้งแต่ออกไปเฉือนเซาแธมป์ตัน 1-0เมื่อวันที่ 4 มกราคม ขยับขึ้นมาอันดับ 15

แม้ติดทีมเต็งตกชั้นจากราคาต่อรองของบริษัทรับพนันแต่ฟอเรสต์ยังประคองตัวไม่ลงไปอยู่เขตอันตรายนาน 3 เดือน จนกระทั่งวันที่ 8 เมษายน แพ้แอสตัน วิลลา 0-2 (เยือน) ซึ่งเป็นความปราชัยบอลลีกนัดที่ 6 จาก 9 นัดล่าสุด ตกมาอยู่อันดับ 18

ฟอเรสต์ไม่มีแต้มเพิ่มต่ออีก 2 นัด แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0-2 (เหย้า) และแพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) ก่อนเถือไบรท์ตัน 3-1 (เหย้า) เมื่อวันที่ 29 เมษายน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 17 ก่อนหล่นไปอยู่อันดับ 3 จากท้ายตารางอีกครั้งเมื่อแพ้เบรนท์ฟอร์ด 1-2 (เยือน)

เหมือนนักเตะฟอเรสต์งัดพลังสำรองขึ้นมาใช้ถูกที่ถูกเวลา เฉือนเซาแธมป์ตัน 4-3 (เหย้า), เสมอเชลซี 2-2 (เยือน) และชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) เก็บเพิ่ม 7 แต้มจาก 3 นัด ได้รับการต่ออายุจากพรีเมียร์ลีกแม้ยังเหลือนัดปิดซีซันกับคริสตัล พาเลซ (เยือน) ในวันที่ 26 พฤษภาคม

สำหรับผลงานบอลถ้วย ฟอเรสต์สิ้นสุดเส้นทางเอฟเอ คัพ แค่ลงเตะนัดแรก แพ้แบล็คพูล 1-4 ในการแข่งขันรอบ 3 ส่วนอีเอฟแอล หรือ คาราบาว คัพ ทีมเจ้าป่าไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศและแพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์รวม 0-5

ปาฏิหาริย์จากความศรัทธาและเชื่อมั่น

ความสำเร็จของ สตีฟ คูเปอร์ และลูกทีมฟอเรสต์ ทำให้ซีซันนี้เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่ 3 ทีมน้องใหม่ไม่กลับลงไปเล่นแชมเปียนชิพ กุนซือวัย 43 เปิดใจว่าเขาไม่เคยสูญเสียความศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อนักเตะของเขาแม้กระทั่งช่วงวิกฤติ 2 ครั้งคือ 2 เดือนจากกลางสิงหาคมถึงกลางตุลาคมที่ฟอเรสต์ไม่ได้สัมผัสชัยชนะสักนัด และกว่า 2 เดือนครึ่งจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ถึง 26 เมษายน ซึ่งได้มาแค่ 3 แต้มจาก 11 นัด และหล่นไปอยู่ตำแหน่งรองบ๊วยขณะเหลือ 6 เกม

แต่อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ยู-17 ชุดแชมป์โลก ไม่ยอมแพ้ พาฟอเรสต์ขึ้นมาจากโซนสีแดงได้สำเร็จ จึงไม่แปลกใจเลยเมื่อบรรยากาศในซิตี กราวน์ หลังชนะอาร์เซนอล ทั้งเจ้าของสโมสร บอร์ดบริหาร นักเตะ ทีมงานโค้ช สตาฟฟ์ฝ่ายต่างๆ และแฟนบอล จึงร่วมฉลองราวกับครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ

คูเปอร์เปิดใจว่า “ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมจะไม่รู้สึกศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวนักเตะของผม มันมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราผ่าน 2เดือนครึ่งโดยไม่ชนะใคร นี่เป็นปีที่ 4 ของผมในการคุมทีมชุดใหญ่ ผมรู้ดีว่ายังต้องสัมผัสประสบการณ์ความพ่ายแพ้มากกว่านี้ แต่ผมจำเป็นต้องซึมซับและผ่านเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้ ผมคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนกลายเป็นผู้จัดการทีมที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องแสดงให้เห็นว่าผมจริงจังกับการบริหารจัดการสโมสรแห่งนี้มากแค่ไหน ผมต้องทำให้เห็นในช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์ด้วยเช่นกัน”

ทางด้าน อีวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของสโมสรชาวกรีซ ยอมรับว่ามีความสุขมากที่ตัดสินใจสนับสนุนคูเปอร์ให้คุมทีมฟอเรสต์ต่อไป ทั้งนี้ต้นเดือนเมษายน แม้ฟอเรสต์โชว์ฟอร์มได้ย่ำแย่สุ่มเสี่ยงตกชั้นแต่มารินาคิสกล่าวกับนักข่าวว่า เขายังศรัทธาคูเปอร์แต่ผลแข่งขันและการเล่นจะต้องปรับปรุงอย่างรวดเร็ว

“เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ คงไม่มีทีมไหนสมควรเปลี่ยนสตาฟฟ์โค้ชมากไปกว่าฟอเรสต์อีกแล้ว แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ซีเรียสมากๆหากต้องเปลี่ยนโค้ช ซึ่งหมายความว่าคุณต้องหาคนที่ดีกว่ามาทำงานแทน และเขายังต้องว่างตอนนั้นด้วย”

“ผมมองตัวเองว่าได้ให้การสนับสนุนเขามากเท่าที่ทำได้ และใช่ นั่นเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด แต่ยอมรับว่ามีหลายครั้งที่ผมก็รู้สึกเห็นด้วยและเห็นต่างเหมือนกัน”

อนึ่งพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 มีผู้จัดการถูกไล่ออกทั้งสิ้น 12 คนหลังจากเบรนแดน รอดเจอร์ส (เลสเตอร์) และแกรห์ม พอตเตอร์ (เชลซี) ตกงานวันเดียวกัน (2 เม.ย.) เป็นการทำลายสถิติสูงสุดเดิม 10 คน ที่เคยเกิดขึ้นห้าซีซัน (1994-95, 2008-09, 2013-14, 2017-18, 2021-22) ทั้งนี้ไม่นับกุนซือชั่วคราวและที่แยกทางกับสโมสรแบบสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยต้นเมษายนที่ผ่านมา คูเปอร์และเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) ยังถูกมองว่าน่าจะเป็นกุนซือลำดับที่ 13 ที่จะตกงานปลายซีซัน

พาทีมชาติอังกฤษครองแชมป์โลก ยู-17

สตีฟ คูเปอร์ เป็นชาวเวลส์ เกิดวันที่ 10 ธันวาคม 1979 ที่เมืองพอนตีพริดด์ ประเทศเวลส์ เป็นบุตรชายของคีธ คูเปอร์ อดีตผู้ตัดสินฟุตบอล คูเปอร์ ซึ่งสมัยเด็กเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล เล่นตำแหน่งกองหลังแต่ไม่มีประวัติในฐานะนักฟุตบอลให้พูดถึงนัก ปลายทศวรรษ 1990 เคยร่วมทีมเร็กซ์แฮมแต่ไม่มีโอกาสลงสนาม ก่อนย้ายไปอยู่กับสโมสรในเวลส์ ฟุตบอล ลีก อย่าง Total Network Solutions, Rhyl, Bangor City และ Portmadog ระหว่างปี 1999 ถึง 2003 โดยบังกอร์ ซิตี เป็นทีมที่คูเปอร์ได้เล่นมากที่สุดแต่ก็แค่ 57 นัดบอลลีก มีผลงาน 3 ประตู และโมเมนต์ที่น่าจดจำคือลงเตะยูฟา คัพ กับ FK Sartid Smederevo เมื่อปี 2002

ช่วงอยู่เร็กซ์แฮมในปี 1998 – 1999 ไบรอัน ฟลินน์ ผู้จัดการทีมขณะนั้น แนะนำให้คูเปอร์ ซึ่งอายุแค่ 19-20 ปี เบนเข็มชีวิตไปเป็นโค้ช  ประวัติระบุว่า คูเปอร์เริ่มร่ำเรียนวิชาโค้ชตามระบบขณะยังมีอาชีพค้าแข้งจนได้รับเลือกเข้าไปทำงานในอะคาเดมีของเร็กซ์แฮม เขายังได้รับยูฟา โปร ไลเซนซ์ ขณะอายุแค่ 27 ปี

หลังใช้เวลาหลายปีกับเร็กซ์แฮม สโมสรได้โปรโมทคูเปอร์ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน ก่อนย้ายไปทำงานในสตาฟฟ์โค้ชทีมเยาวชนลิเวอร์พูลในเดือนกันยายน 2008 ช่วงแรกได้รับมอบหมายให้คุมทีม ยู-12

18 กรกฏาคม 2011 คูเปอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการอะคาเดมีของลิเวอร์พูล และคุมทีม ยู-18 ในซีซัน 2012-13 ซึ่งสามารถตะลุยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ ยูธ คัพ แต่แพ้ต่อเซลซี

10 ตุลาคม 2014 สมาคมฟุตบอลอังกฤษแต่งตั้งคูเปอร์เป็นผู้จัดการทีมชาติ ยู-16 ก่อนขยับไปคุมรุ่น ยู-17 ในเดือนกรกฎาคม 2015 มีโอกาสร่วมงานกับเจดอน ซานโช, ฟิล โฟเดน และคัลลัม ฮัดสัน-โอดอย คูเปอร์พาทีมเยาวชนสิงโตคำรามผ่านเข้าชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป ยู-17 เมื่อปี 2017 แต่ได้เพียงรองแชมป์เมื่อแพ้ดวลจุดโทษสเปน 1-4 หลังจากเสมอกัน 2-2 ก่อนประสบความสำเร็จสูงสุด ครองแชมป์โลก ยู-17 ในเดือนตุลาคม 2017 โดยรอบตัดเชือก อังกฤษชนะบราซิล 3-1 ส่วนรอบชิง อังกฤษชนะสเปน 5-2

คูเปอร์ยังคุมทีม ยู-17 ของอังกฤษต่อไป โดยผลงานศึกลูกหนังยูโร 2018 ในฐานะแชมป์เก่า อังกฤษแพ้ดวลจุดโทษเนเธอร์แลนด์ในรอบรองชนะเลิศ ส่วนปี 2019 ไม่ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศแม้ชนะสวีเดน 3-1 ในนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม เขาพ้นตำแหน่งกลางปี 2019 มีผลงานคุมทีมอังกฤษ ยู-17 รวม 66 นัด ชนะ 45 นัด เสมอ 11 นัด แพ้ 10 นัด

เริ่มคุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรกลางปี 2019

13 มิถุนายน 2019 คูเปอร์เซ็นสัญญา 3 ปี เป็นผู้จัดการของ สวอนซี ซิตี ทีมในแชมเปียนชิพ ออกสตาร์ทงานกุนซือระดับสโมสรได้สวยงาม รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคม 2019 ของแชมเปียนชิพ โดย “เดอะ สวอนส์” ทีมลูกหนังเวลส์ ไม่แพ้ใครในการออกสตาร์ทซีซัน 2019-20 ยืนแป้นจ่าฝูงของลีก เก็บมาได้ 16 คะแนนจาก 6 นัด เป็นการเริ่มต้นฤดูใหม่ที่เยี่ยมที่สุดในรอบ 41 ปีของสโมสร

การระบาดของไวรัสโควิดทำให้แชมเปียนชิพพักแข่งขันชั่วคราว สวอนซีอยู่อันดับ 11 ของตาราง มีแต้มต่ำกว่าโซนเพลย์ออฟ 3 คะแนน จากนั้นบอลลีกกลับมาเตะและนัดสุดท้าย สวอนซีชนะเรดดิง 4-1 ทะยานขึ้นอันดับ 6 เบียดชนะฟอเรสต์ด้วยผลต่างประตู คว้าตั๋วเพลย์ออฟใบสุดท้าย แต่ทีมหงส์ขาวแพ้เบรนท์ฟอร์ดด้วยสกอร์รวม 2-3 ในรอบรองชนะเลิศ

ซีซันที่สอง 2020-21 คูเปอร์พาสวอนซีเล่นเพลย์ออฟอีกครั้งขณะยังเหลือคิวเตะ 2 นัดแม้โดนวิจารณ์เรื่องสไตล์การเล่นและฟอร์มที่กระท่อนกระแท่น สวอนซีจบด้วยอันดับ 4 แต่นัดชิงชนะเลิศแพ้เบรนท์ฟอร์ด 0-2 คูเปอร์และสโมสรประกาศแยกทางกันในเดือนกรกฎาคม 2021

21 กันยายน 2021 งานใหม่ของคูเปอร์ยังอยู่ในแชมเปียนชิพ เขาเซ็นสัญญาเป็นผู้จัดการทีมฟอเรสต์แทนคริส ฮิวจ์ตัน ที่ได้แต้มเดียวจาก 7 นัดแรกและรั้งอันดับบ๊วยของตาราง

คูเปอร์ลงมือปรับปรุงรูปแบบการเล่นของฟอเรสต์ทันที กระตุ้นให้นักเตะมีความมั่นใจมากขึ้นยามครองบอลและเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการบุก เขายังมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจให้มีทีมเวิร์คเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมปลูกฝังแนวคิด “big club mentality” เน้นย้ำประวัติศาสตร์ของฟอเรสต์ที่เคยครองความยิ่งใหญ่โดยเฉพาะปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งฟอเรสต์ชนะเลิศดิวิชัน 1 ซีซัน 1977-78 ตามด้วยแชมป์ยูโรเปียน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน

ฟอเรสต์จบซีซันด้วยอันดับ 4 และเฉือนฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ วันที่ 29 พฤษภาคม 2022 กลับขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่รั้งอันดับ 20 ในซีซัน 1998-99 ซึ่งระหว่างนี้ ฟอเรสต์เคยลงไปอยู่เทียร์ 3 หรือลีกวัน 3 ฤดูกาล ฟอเรสต์ตอบแทนคูเปอร์ในเดือนตุลาคมด้วยการขยายสัญญาจนถึงปี 2005

รวมหลายหัวใจเป็นหนึ่งเดียวที่น็อตติงแฮม

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กุนซือผู้มีประสบการณ์คุมสโมสรไม่ถึง 4 ปีเต็ม พาฟอเรสต์ผ่านวิกฤติรุนแรงได้ราวกับผู้จัดการทีมมากประสบการณ์ หนึ่งในทักษะที่คูเปอร์แสดงออกมาได้ชัดเจนคือ “จิตวิทยา”

ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว บอร์ดบริหารสนับสนุนคูเปอร์สำหรับการคืนสู่พรีเมียร์ลีกในรอบ 23 ปี ด้วยการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ถึง 22 คน บวกอีก 7 คนในตลาดเดือนมกราคม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องดีแต่อีกด้านหนึ่งทำให้ขุมกำลังฟอเรสต์เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากเทียบกับซีซันก่อนในแชมเปียนชิพ จำนวนนักเตะมากมายจากหลายเชื้อชาติและต่างลีก แต่คูเปอร์ใช้เวลาอันสั้นสร้างอัตลักษณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนฟอเรสต์เป็นทีมที่ร่วมหัวจมท้ายมานาน

หลายคนแสดงถึงพัฒนาการตลอดซีซัน ไตโว อโวนิยี ซึ่งช่วง 2-3 เดือนแรกดูเหมือนก้อนคาร์บอนที่ยังไม่ได้เจียระไนเป็นเพชร เป็นเจ้าของประตูสำคัญในชัยชนะเหนืออาร์เซนอล ซึ่งเป็น 5 ประตูจาก 3 นัดล่าสุด, สามฮีโรจากซีซันที่แล้ว เบรนแนน จอห์นสัน, ไรอัน เยตส์ และโจ วอร์รัลล์ ต่างพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรอยู่ในพรีเมียร์ลีก, มอร์แกน กิบส์-ไวท์ เป้าหมายเบอร์ 1 ของคูเปอร์ในตลาดกลางปีที่แล้ว สมควรได้รับตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟอเรสต์และถึงเวลาสำหรับทีมชาติอังกฤษ

ขณะที่เอฟเวอร์ตัน, ลีดส์ และเลสเตอร์ ต่างเจอวิกฤติทั้งในและนอกสนาม แต่บรรยากาศที่ซิตี กราวน์ กลับสงบเงียบราวกับอยู่กลางตารางอันดับ แฟนบอลไม่เคยสงสัยความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักเตะและการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร

“เดอะ เรดส์” ได้รับกำลังใจจากแรงเชียร์ที่น่าทึ่งเสมอของแฟนบอลทั้งเกมเหย้าและเยือน สังเกตจากความทุ่มเทเกินร้อยในแมตช์กับบิ๊กทีมอย่างเสมอแมนฯซิตี 1-1 (เหย้า), แพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) และแน่นอน ชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) สิ่งเดียวกันพวกเขาได้มอบให้ระหว่างช่วงเวลาที่เลวร้ายเช่น แพ้เลสเตอร์ -0-4 (เยือน) ยังมีเสียงตะโกนเรียกชื่อคูเปอร์เพื่อให้กำลังใจ และแทบไม่มีเสียงโห่ไล่ให้ได้ยินจากอัฒจันทร์ช่วงฟอเรสต์แพ้ 4 นัดรวดหรือไร้ชัยชนะติดต่อกัน 11 นัด

หนึ่งในเวทมนตร์ของคูเปอร์เห็นได้จากสนามฝึกซ้อม ซึ่งนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว คูเปอร์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสนับสนุนให้ผู้เล่นแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “พฤติกรรมประจำวัน” ของทีมขณะฝึกซ้อม ไม่สำคัญว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนแต่ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูที่บาดเจ็บ และสตีฟ คุ๊ก กองหลังที่หลุดจากรายชื่อ 25 นักเตะ ยังร่วมเดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนๆในแมตช์เยือน

คูเปอร์ไม่ยอมให้ใครมาทำลายจิตวิญญาณของทีม เราจึงเห็นมุมเด็ดขาดจากกุนซือเวลส์ ตัวอย่างเช่น จอนโจ เชลวีย์ กองกลางที่ถูกตัดชื่อออกจากแมตช์เดย์หลังมีปฏิกิริยาแย่ๆไม่ได้อยู่ในทีมที่ไปเยือนแอนฟิลด์ หรืออนาคตของอดีตแนวรุกแมนฯยูไนเต็ด เจสซี ลินการ์ด หายวับไปหลังแสดงอาการไม่ทุ่มเทในครึ่งแรกของแมตช์เยือนที่แพ้ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์

ความละเอียดอ่อนของคูเปอร์ยังพบเห็นกับบุคคลนอกสโมสรด้วย เขาเชิญอดีตผู้เล่นชุดแชมป์ยูโรเปียน คัพ อย่างเช่น จอห์น แม็คโกเวิร์น และแกร์รี เบอร์เทิลส์ มาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมบ่อยครั้ง หรือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลีห์ วู้ด นักมวยดังที่เป็นแฟนทีมฟอเรสต์ เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวทของสมาคมมวยโลก (WBA) คูเปอร์ได้เชิญมาที่ออฟฟิศของเขาเพื่อให้กำลังใจใน 2-3 วันต่อมา

กำลังใจล้นและเสียงโห่เบาบางในซิตี กราวน์

ซิตี กราวน์ สนามความจุ 30,332 คน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 1898 มีส่วนสำคัญต่อการต่ออายุพรีเมียร์ลีกเพราะก่อนหน้าเตะปิดท้ายในบ้านของพาเลซ จากทั้งหมด 37 คะแนนที่ฟอเรสต์เก็บได้ เป็นแมตช์เหย้าถึง 30 คะแนน แต่ละนัดให้บรรยากาศเหมือนจัดอีเวนท์ไม่ใช่เกมฟุตบอล ทำให้หวนรำลึกถึงยุคทองของสโมสรที่ผงาดเหนือทวีปยุโรป โดยเฉพาะแมตช์กลางคืนที่แสงไฟสะท้อนขึ้นมาจากแม่น้ำเทรนท์

น้ำหนึ่งใจเดียวกันที่คูเปอร์สร้างขึ้นมาแสดงให้เห็นอีกครั้งที่ซิตี กราวน์ วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม ลินการ์ด ซึ่งลงตัวจริงบอลลีกแค่ 12 นัด และไม่อยู่ในรายชื่อตัวสำรองนัดนี้ด้วยซ้ำ ลงไปโชว์แดนซ์สเต็ปกับแซร์จ ออริเยร์ ก่อนเข้าไปสวมกอดจอห์นสัน และถ่ายรูปกับเพื่อนร่วมทีม

เฮนเดอร์สัน นายทวารที่ยืมมาจากแมนฯยูไนเต็ด เดินโขยกเขยกด้วยไม้เท้า โบกไม้โบกมือให้กองเชียร์, ฌูเลียง เบียงโกเน ซึ่งแทบไม่ได้ลงสนามเพราะบาดเจ็บ เข้ามาดีใจในห้องพักนักกีฬา, คุ๊ก ซึ่งอาจตัดสินใจอำลาฟอเรสต์หลังหลุดจากรายชื่อ 25 ผู้เล่นของทีม ยังเข้ามาสวมกอดคูเปอร์, เคย์เลอร์ นาวาส นายทวารมือ 2 ซึ่งได้เล่นบอลลีก 17 นัดเพราะเฮนเดอร์สันบาดเจ็บ ถ่ายรูปกับก๊วนผู้รักษาประตูและโค้ช แดนนี อัลค็อก, เรแนน โรดี ซึ่งยืมตัวจากแอตเลติโก มาดริด และลงตัวจริงบอลลีก 25 นัด ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/65660335

ฟอเรสต์ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษเพื่อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกและได้รับรู้ว่า การเลื่อนชั้นว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากการตกชั้น คูเปอร์ ซึ่งเพิ่งมีประสบการณ์คุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรเมื่อกลางปี 2019 อาจไม่ได้รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมแห่งปี แต่การจบพรีเมียร์ลีกซีซันแรกด้วยอันดับ 16 เป็นความสำเร็จใหญ่หลวงที่มองข้ามไม่ได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

อังเก ปอสเตโคกลู คนสู้ชีวิต จากกุนซือโนเนมสู่ฮีโรของเซลติก

อังเกโลส หรือ อังเก ปอสเตโคกลู ชื่อนี้เคยถูกเอ่ยอย่างหนาหูในหมู่แฟนบอลและสื่อไทยเมื่อครั้งคุมทีมโยโกฮามา เอฟ. มารินอส เพราะธีราทร บุญมาทัน แบ็คซ้ายทีมชาติไทย เป็นหนึ่งในลูกทีมของกุนซือออสซีตั้งแต่ยืมตัวจากเมืองทอง ยูไนเต็ด ในเดือนมกราคม 2019 ก่อนซื้อขาดในเดือนธันวาคมโดยปีนั้น มารินอสคว้าแชมป์ เจลีก 1 มาครองเป็นสมัยแรกในรอบ 15ปี

หลังทำงานในดินแดนปลาดิบ 3 ปีครึ่ง ปอสเตโคกลูเดินทางข้ามทวีปมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมเซลติก ยักษ์ใหญ่สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ด้วยสัญญาเพียง 12 เดือน จากกุนซือโนเนมกลายเป็นขวัญใจและฮีโรของแฟนบอลเซลติกภายในเวลาอันรวดเร็ว เพียงซีซันแรก 2021-22 กุนซือชาวออสเตรเลียนเชื้อสายกรีกก็ทำดับเบิลแชมป์ นำถ้วยสกอตติช พรีเมียร์ชิพ และสกอตติช ลีกคัพ ใส่ไว้ในตู้โชว์ถิ่นเซลติก ปาร์ก

ซีซันล่าสุด 2022-23 ปอสเตโคกลูซ้ำรอยความสำเร็จ รักษาแชมป์ลีกคัพด้วยการเฉือนเรนเจอร์ส 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ 26กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพสมัยที่ 11 ในรอบ 12 ปีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมแม้เหลือโปรแกรมแข่งอีก 4นัด เซลติกยังมีโอกาสทำทริปเปิลแชมป์หากเอาชนะอินเวอร์เนสส์ คาเลโดเนียน ธิสเซิล คู่แข่งจากแชมเปียนชิพ ในนัดชิงชนะเลิศ สกอตติช คัพ (หรือเอฟเอ คัพ ของสกอตแลนด์) วันที่ 3 มิถุนายน

กลางเดือนพฤษภาคม กุนซือร่างใหญ่วัย 57 ยังได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีจากสมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งสกอตแลนด์ เคียงข้างสตาร์คู่ใจ เคียวโงะ ฟุรุฮาชิ ศูนย์หน้าวัย 28 ซึ่งรับตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสกอตติช พรีเมียร์ชิพ โดยกองหน้าทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งเหมา 2  ประตูในนัดชิงแชมป์ลีกคัพ มีสถิติลีกวิสกีขณะนี้ 32 นัด 24 ประตู

ก่อนหน้านี้ ปอสเตโกคลูได้รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมแห่งปีจากการโหวตของสมาคมนักข่าวฟุตบอลสกอตแลนด์ด้วย

Who’s this guy? เป็นประโยคยอดฮิตในหมู่แฟนบอลเซลติกตอนที่สโมสรประกาศแต่งตั้งปอสเตโคกลู แน่นอนกองเชียร์คู่อริ เรนเจอร์ส นำมาล้อเลียนเป็นที่สนุกสนานเพราะไลท์บลูส์เพิ่งชนะสกอตติช พรีเมียร์ชิพ ซีซัน 2020-21 หยุดการครองแชมป์ลีกสูงสุดติดต่อกันของเซลติกไว้ที่ 9 ปี

รับบทอัศวินไร้หน้าขี่ม้าขาวกอบกู้เซลติก

ซีซัน 2020-21 ก่อนหน้าปอสเตโคกลูเข้ามารับงานใหญ่ในกลาสโกว์ เซลติกเพิ่งพลาดนั่งบัลลังก์พรีเมียร์ชิพ 10 ปีติดต่อกัน ได้แค่รองแชมป์ที่มีแต้มตามเรนเจอร์สถึง 25 คะแนน เรนเจอร์สยังเขี่ยพวกเขาตกรอบสกอตติช คัพ ส่วนลีกคัพ แพ้รอสส์ เคาน์ตี ก่อเกิดบรรยากาศอึมครึมในหมู่แฟนบอล ซึ่งเรียกร้องให้สโมสรเร่งเปลี่ยนแปลง นีล เลนนอน โดนปลดจากผู้จัดการทรีม ปีเตอร์ ลอว์เวลล์ ที่ทำหน้าที่ซีอีโอมายาวนาน ส่งสัญญาณพร้อมลาออก โดมินิค แม็คเคย์ เข้ามารับงานแทนแค่สองเดือนก็โบกมือลาด้วยเหตุผลที่ยากจะอธิบาย

เซลติกเฝ้ารอการเซย์เยสจากเอ็ดดี ฮาว เพื่อรับตำแหน่งผู้จัดการทีม ผ่านไปหลายเดือนก่อนที่สโมสรออกมายอมรับว่าดีลกับฮาวไม่มีทางเกิดขึ้นแล้ว และท้ายสุด ปอสเตโคกลูถูกเลือกให้มารับเผือกร้อนกู้วิกฤติเร่งด่วนของเซลติกท่ามกลางอากัปกิริยาเลิกคิ้วด้วยความมึนงงกับชื่อของนายใหญ่คนใหม่ที่ยังไม่เคยทำงานในยุโรปเลยแม้เคยเป็นเฮดโค้ชทีมชาติออสเตรเลียชุดใหญ่, ยู-20 และยู-17 รวมถึงดีกรีแชมป์ลีกญี่ปุ่น 1 สมัย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหลายสโมสรในออสเตรเลีย

แฟนบอลเซลติกหันมามองหน้ากันเพื่อถามหาคำตอบว่า “Ange Postecog-who?” ขณะที่อลัน บราซิล อดีตกองหน้าทีมชาติสกอตแลนด์ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เซลติก ยังหลุดปากในเชิงสงสัยการตัดสินใจของบอร์ดบริหารระหว่างรายการ talkSPORT ของตัวเอง แต่ถัดจากนั้นหนึ่งปี เขาได้ขอโทษปอสเตโคกลูเมื่อกุนซือออสซีนำสองแชมป์มาให้สโมสร

ทอม โรจิช อดีตมิดฟิลด์เซลติกที่เคยร่วมงานกับปอสเตโคกลูในทีมชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า “ผมขำทุกครั้งที่มองย้อนไป แม้ผมรู้จักเขาดีแต่ก็มีแวบคิดว่าเขาเป็นใครกัน แต่ผู้คนใช้เวลาไม่นานหรอกที่จะตระหนักรู้ว่าเขาเก่งแค่ไหน และนั่นเป็นเหตุผลที่สโมสรนำเขาเข้ามา ผมยอมรับว่ามันง่ายที่จะพูดแบบนั้นตอนนี้ แต่เมื่อคุณพิจารณาผ่านประสบการณ์ ก็จะรู้ว่าเขาคือผู้จัดการทีมระดับท็อป”

เด็ก 5 ขวบนั่งเรือหนึ่งเดือนจากกรีซไปออสเตรเลีย

อังเก ปอสเตโคกลู (Ange Postecoglou) เป็นชาวออสเตรเลียน เล่นฟุตบอลตำแหน่งกองหลัง เคยเล่นให้ทีมชาติออสเตรเลีย ยู-20 จำนวน 13 นัดในปี 1985 เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ระหว่างปี 1986 – 1988 ลงสนามเพียง 4 นัด แต่แท้จริงแล้วเขามีเชื้อสายกรีก เกิดวันที่ 27 สิงหาคม 1965 ที่ Nea Filadelfeia ย่านชานเมืองกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

ช่วงเกิดรัฐประหารในประเทศเมื่อปี 1967 ทำให้ธุรกิจของ ดิมิทริส ปอสเตโคกลู ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “จิม” ตัดสินใจพาครอบครัว วูลา ภรรยา กับลูกสองคน ลิซและอังเก นั่งเรือข้ามทวีปอพยพไปเริ่มชีวิตใหม่ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียในปี 1970 ตอนนั้นอังเกเพิ่งอายุ 5 ขวบ และ 4 ปีต่อมา เข้าร่วมสโมสรเซาธ์ เมลเบิร์น เฮลลาส ฝึกปรือฝีเท้ากับทีมเยาวชนระหว่างปี 1978 – 1983 ก่อนถูกโปรโมทร่วมทีมซีเนียร์ตั้งแต่ปี 1984 จนถึง 1993 เขาเล่นให้สโมสรเดียวตลอดอาชีพค้าแข้ง มีสถิติ 193 นัด 27 ประตู จากนั้นเบนเข็มทิศเป็นผู้จัดการทีมให้เซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1996 – 2000 ก่อนอำลาสโมสรเพื่อรับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย ยู-17

ปอสเตโคกลูเปรียบเทียบการเอาชนะคำสบประสาทของแฟนบอลและสื่อมวลชนในสกอตแลนด์ว่า เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตไม่ต่างจากครอบครัวเขาเคยเผชิญเมื่อครั้งอพยพจากกรีซมาที่ออสเตรเลีย

กุนซือวัย 57 ซึ่งได้รับเบอร์ 24 เป็นหมายเลขประจำตัวผู้อพยพเมื่อปี 1970 ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าพ่อแม่ผ่านอะไรมาบ้าง ท่านต้องพาครอบครัวเดินทางครึ่งโลก ใช้เวลาบนเรือ 30 วันไปยังประเทศที่ท่านพูดภาษาไม่ได้ อีกทั้งไม่มีบ้านไม่มีงานรออยู่”

“ผู้คนมักพูดกันว่า คุณไปประเทศอื่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ชีวิตพ่อแม่ผมไม่เคยดีขึ้นเลย ท่านต้องเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อหาโอกาสให้ผมมีชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก”

ทางด้าน ลิซ พี่สาวที่อายุแก่กว่า 5 ปี เสริมว่า “พ่อแม่มีแค่กระเป๋าเดินทางตอนมาถึงเมลเบิร์น ต้องดูแลเด็กเล็กๆ 2 คน มันเป็นความลำบากยากเข็ญสำหรับแม่ ฉันจำได้ว่าได้ยินท่านนอนร้องไห้อยุ่หลายคืน”

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/65509996

ปอสเตโคกลูกล่าวต่อว่า “ผมเข้าใจดีถึงสิทธิ์พิเศษที่ผมได้รับตอนนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ยอมใช้ข้อได้เปรียบตรงนั้นเพราะตระหนักดีว่าพ่อและแม่เคยต้องทำงานหนักขนาดไหน พวกท่านเสียสละทั้งชีวิตเพื่อให้ผมมาอยู่ ณ จุดนี้ ทำให้ผมไม่ได้รู้สึกว่าทุกวันกำลังทำงาน แต่เป็นผมที่กำลังดำเนินชีวิตด้วยความฝันที่ก่อตัวขึ้นมาจากการเสียสละของผู้คน”

หลังใช้ชีวิตบนแผ่นดินใหม่ราว 5 ปี พ่อแม่ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อของเขาต่อหน่วยงานรัฐจาก Angelos Postecoglou เป็น Angelos Postekos “เป็นค่านิยมสมัยนั้นที่ต้องเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงถ้าคุณเป็นคนกรีก แต่ผมไม่เคยชอบมันเลยและไม่เคยใช้มันด้วย ผมภูมิใจในภูมิหลังของตัวเอง โอเคมันถูกใช้กับหนังสือเดินทางเล่มแรกและใบขับขี่เล่มแรกแต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถทำอะไรได้”

อังเกน้อยนั่งดูเซาธ์ เมลเบิร์น เล่นทุกวันอาทิตย์

คุณพ่อของเขาเสียชีวิตเมื่อปี 2018 ปอสเตโคกลูยอมรับว่า ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ พ่อมีวงจรชีวิตการทำงานแบบไม่รู้จักจบ ออกจากบ้านก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พอกลับถึงก็เหนื่อยจนต้องล้มตัวลงนอนทันที

แต่มีอยู่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ที่กิจวัตรได้ต่างออกไปให้จิมมีได้พักผ่อนร่างกายหลังต้องทำงานติดต่อกันตลอดสัปดาห์ด้วยการใช้เวลาบนอัฒจันทร์ นั่นทำให้อังเกน้อยได้เห็นอีกด้านหนึ่งของคุณพ่อ และเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาตกหลุมรักกีฬาลูกหนัง

ทุกวันอาทิตย์ จิมมีจะพาลูกชายไปดูการแข่งขันของเซาธ์ เมลเบิร์น สโมสรลูกหนังที่ผู้อพยพชาวกรีกร่วมกันก่อตั้งขึ้น ในวันนั้นพวกเขาจะเข้าโบสถ์ช่วงเช้าก่อนไปดูฟุตบอล สำหรับปอสเตโกคลูแล้ว ฟุตบอลไม่ใช่เพียงกีฬาแต่เป็นโอกาสที่ให้เขามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคุณพ่อ

“มันช่วยให้ผมเชื่อมโยงกับคุณพ่อได้รวดเร็ว ฟุตบอลเป็นอะไรที่ทำให้ท่านมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นถ้าผมรักในสิ่งนี้เหมือนท่าน นั่นจะช่วยให้ผมใกล้ชิดกับท่านมากขึ้น”

“ตอนเด็กผมจะนั่งอยู่ข้างๆคุณพ่อ ดูฟุตบอลด้วยกัน ท่านจะคอยชี้ให้เห็นความสนุกสนามของฟุตบอลและเวลาที่มีการทำประตูเกิดขึ้น ทั้งหมดได้ซึบซับเข้าไปอยู่จิตใต้สำนึกของผม เมื่อผมเป็นผู้จัดการทีม นั่นจึงเป็นลักษณะของทีมที่ผมอยากสร้างขึ้นมา”

ชีวิต one-club player และโค้ชเริ่มที่เซาธ์ เมลเบิร์น

ด้วยความผูกพันตั้งแต่เด็กบวกกับความเป็นสโมสรฟุตบอลชาวกรีก พออายุ 9 ขวบ ปอสเตโคกลูจึงเข้าร่วมฝึกวิชาลูกหนังกับเซาธ์ เมลเบิร์น เฮลลาส เขาใช้เวลาประมาณ 10 ปีเพื่อไต่เต้าตามระบบจนกลายเป็นแบ็คตัวหลักของทีมชุดใหญ่ มีส่วนในความสำเร็จกับตำแหน่งเนชันแนล ซอคเกอร์ ลีก แชมเปียนชิพ ของออสเตรเลีย 2 สมัยในปี 1984 และ 1991

คีมอน ตาเลียโดรอส อดีตเพื่อนร่วมทีม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สกอตแลนด์ ว่า “อังเกเป็นหนึ่งในนักเตะผู้ยิ่งใหญ่และเป็นดาราของทีมตอนนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ยกย่องเทิดทูนสโมสรเป็นอย่างมาก”

“เขาเป็นแบ็คซ้ายจอมลุยและเล่นแบบโอเวอร์แลป ซึ่งเหมือนกับนักฟุตบอลสมัยใหม่เล่นกันเลย เขามีความเร็วเหลือเชื่อ เต็มไปด้วยความกร้าวแกร่ง และใช้เท้าซ้ายได้สุดยอด อังเกคาดหวังกับตัวเองสูงไม่ว่าจะเจอใคร แม้ระหว่างฝึกซ้อมสนามเล็ก เขายังเป็นแบบนั้น เขากระหายชัยชนะเสมอ”

เฟเรนซ์ ปุสกัส อดีตตำนานแนวรุกทีมชาติฮังการี เป็นชื่อหนึ่งที่ปอสเตโคกลูได้ยินบ่อยครั้งจากปากของคุณพ่อเวลาพูดถึงนักฟุตบอลที่สร้างความบันเทิงให้กับคนดู และปอสเตโคกลูมีโอกาสเจอตัวจริงและทำงานใกล้ชิดตอนที่ปุสกัสเข้ามาคุมทีมเซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1989 – 1992 ซึ่งเป็นช่วงปลายอาชีพค้าแข้งของปอสเตโคกลู ทั้งคู่ร่วมกันพาทีมเฮลลาสชนะเลิศเอ็นเอสแอล ปี 1991 ซึ่งปีนั้นปอสเตโคกลูเป็นกัปตันทีมด้วย

ปอสเตโคกลูให้เครดิตปุสกัส ซึ่งเคยครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ 3 สมัยเมื่อครั้งเป็นนักเตะเรอัล มาดริด ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลต่ออาชีพนักฟุตบอลของเขามากที่สุด

ตาเลียโดรอส อดีตกองหน้าทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มต้นอาชีพค้าแข้งที่เซาธ์ เมลเบิร์น ระหว่างปี 1987 – 1992 กล่าวว่า “อังเกเป็นผู้นำเสนอระหว่างฝึกซ้อม เขาพัฒนาจุดนี้ขึ้นมากช่วงปุสกัสคุมทีม เขาวางเป้าหมายให้กับเพื่อนร่วมทีม และพยายามทำให้จังหวะอยู่ ณ ระดับที่ถูกต้องเสมอ”

“ปุสกัสใช้แผนการเล่น 4-3-3 แต่อย่าลืมนั่นเป็นทศวรรษ 1980 เขาสั่งให้ปีกออกข้างและดันขึ้นสูง เขายังคาดหวังให้ฟูลแบ็คมีส่วนร่วมเกมบุกด้วย ชวนให้นึกถึงสไตล์การเล่นของทีมของอังเก”

กราฟชีวิตขึ้นๆลงๆก่อนคุมทีมชาติออสเตรเลีย

หลังจากเป็นนักเตะเซาธ์ เมลเบิร์น 9 ปี ปอสเตโกคลูซ้ำรอยความสำเร็จด้วยแชมป์เอ็นเอสแอล 2 สมัยในปี 1998 และ 1999 แต่ครั้งนี้ในฐานะผู้จัดการทีมซึ่งเขารับหน้าที่ระหว่างปี 1996 ถึง 2000 ผลงานที่โดดเด่นในลีกเมืองจิงโจ้ทำให้ทีมชาติออสเตรเลียมอบหมายให้เขาคุมทีม ยู-17 (2000 – 2005) และ ยู-20 (2000 – 2007) 

การทำงานกับทีมจิงโจ้น้อยสิ้นสุดหลังจากไม่สามารถพาทีมเยาวชนซอคเกอรูส์เข้าไปเล่นฟุตบอลโลก ยู-20 ในปี 2007 แถมยังก่อวิวาทะทางโทรทัศน์อย่างรุนแรงกับเคร็ก ฟอสเตอร์ อดีตผู้เล่นทีมชาติออสเตรเลียที่สบประสาทปอสเตโกคลูเรื่องประสบการณ์โค้ช โดยกุนซือเชื้อสายกรีกเปิดใจไม่นานมานี้ว่า เขาเชื่อว่าการออกสื่อครั้งนั้นทำให้เขาตกงาน

ถัดมา ปอสเตโกคลูทำงานช่วงสั้นๆที่ พานาไชกิ ซึ่งเล่นในลีกเทียร์ 3 ของกรีก (2008) และ วิทเธิลซี ซีบราส์ (2009) พร้อมเปิดคลินิกฟุตบอลในเมืองเมลเบิร์น ก่อนกลับไปสร้างชื่อเสียงอีกครั้งที่ บริสเบน รอร์ (2009 – 2012) โดยพาทีมครองแชมป์ลีกสูงสุด (ซึ่งรีแบรนด์จากเอ็นเอสแอล เป็น เอ-ลีก เมื่อปี 2005) ติดต่อกัน 2 สมัยในซีซัน 2010-11 และ 2011-12 

ปี 2012 ปอสเตโคกลูเซ็นสัญญาสามปีกับ เมลเบิร์น ซิตี แต่ทำงานได้เพียงปีเศษก็ได้รับข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธคือ ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2013 ด้วยสัญญา 5 ปี

ทีมซอคเกอรูส์ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล แต่สิ้นสุดเส้นทางเพียงรอบแรก แพ้ชิลี 1-3, แพ้เนเธอร์แลนด์ รองแชมป์เก่า 2-3 และแพ้สเปน แชมป์เก่า 0-3 อย่างไรก็ตาม ลูกทีมของเปสเตโคกลูก็ได้รับคำชมล้นหลามแม้ต้องอยู่ในกลุ่มแข็งจนสื่อมวลชนเชื่อว่า ทีมชาติออสเตรเลียกำลังก้าวสู่ยุคทอง ซึ่งพวกเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวังด้วยตำแหน่งแชมป์เอเชียน คัพ ปี 2015 

ตาเลียโดรอสพูดถึงช่วงเวลานั้นว่า “เขาเตือนให้ฟุตบอลออสเตรเลียรู้ว่าพวกเราสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับโลกได้ และด้วยอังเกเป็นผู้นำ พวกเรารู้สึกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราอาจด้อยกว่าถ้าเทียบนักฟุตบอลตัวต่อตัว แต่ในฐานะทีม เขาทำให้เชื่อว่าพวกเราสามารถชนะทีมไหนก็ได้”

ปอสเตโกคลูสามารถพาออสเตรเลียผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย แต่ 2 สัปดาห์ต่อมา แฟนบอลทีมจิงโจ้ต้องช็อกเมื่อทราบข่าวปอสเตโกคลูประกาศอำลาตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2017 ไรอัน แม็คโกเวน อดีตกองหลังทีมชาติออสเตรเลีย ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า “เขาไม่ใช่คนจำพวก ดีครับท่าน..ใช่ครับนาย เขาไม่พอใจการตัดสินใจบางอย่างของคนที่อยู่เหนือเขา เขาจึงเลือกเดินจากไป”

แต่ปอสเตโคกลูว่างงานไม่นาน โยโกฮามา เอฟ. มารินอส ประกาศแต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าโค้ชเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมขณะที่กุนซือตอนนั้น เอริก มงบาร์ตส์ คุมทีมลงแข่งขัน เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ซึ่งมารินอสเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศแต่แพ้เซเรซโซ โอซากา ก่อนที่ปอสเตโคกลูจะรับหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อปฏิทินเปลี่ยนสู่ปี 2018

ช่วงปีแรกของปอสเตโคกลูไม่ดีนัก มีบางช่วงที่มารินอสต้องดิ้นรนหนีโซนตกชั้น ก่อนจบ เจลีก 1 ซีซัน 2018 ด้วยอันดับ 12 มี 41 คะแนนจาก 34 นัด แม้ทำสกอร์ได้ 56 ประตู มากกว่าทุกทีม แต่ก็เสียไปถึง 56 ประตู สูงเป็นอันดับ 3 แต่มารินอสกลับไปได้สวยในบอลถ้วย พวกเขาแพ้โชนัน เบลล์มาเร 0-1 นัดชิงชนะเลิศ เจลีก คัพ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2018

หลังจากปฏิเสธข้อเสนอคุมทีมชาติกรีซ ปอสเตโกคลูได้รับการขยายสัญญาจากสโมสร เขาตอบแทนด้วยการพามารินอสครองแชมป์ เจลีก 1 ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นสมัยแรกในรอบ 15 ปีของสโมสร เก็บ 70 คะแนนจาก 34 นัด เหนือรองแชมป์ เอฟซี โตเกียว 6 คะแนน แต่มารินอสป้องกันแชมป์ไม่สำเร็จ มี 47 คะแนนจาก 34 นัด จบซีซัน 2020 เพียงอันดับ 9 ก่อนปอสเตโกคลูลาออกไปคุมทีม กลาสโกว์ เซลติก ในเดือนมิถุนายน 2021

แคแร็กเตอร์ที่ปอสเตโคกลูนำมายังกลาสโกว์

ก่อนสองสโมสรออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ธีราทร บุญมาทัน ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “ถึงเวลาประกาศเรื่องสำคัญแล้วสินะ ผมจะคิดถึงคุณ” โดยปอสเตโคกลูเป็นโค้ชที่ธีราทรให้ความเคารพจากสไตล์การทำทีมและจิตวิทยาที่สามารถเค้นศักยภาพนักเตะที่ยอดเยี่ยม กุนซือเมืองจิงโจ้มีส่วนพัฒนาบทบาท wing-back ที่วิ่งขึ้นลงเพื่อเล่นเกมรับและรุก มาเป็น inverted-back ที่หุบเข้าในเพื่อเล่นกองกลางในบางจังหวะ

ธีราทรเคยพูดถึงอดีตบอสใหญ่ว่า ปอสเตโกคลูเป็นโค้ชที่ขรึมและดุมาก หากนักเตะเล่นไม่ได้ตามที่ต้องการ เขาจะดุหมดไม่ว่าเป็นใคร เขาจริงจังในการฝึกซ้อมมากเพื่อให้ทุกคนอยู่ในแท็คติก ไม่เล่นนอกแท็คติกที่เขาวางไว้ “ผมเรียนรู้แท็คติกจากเขามากจริงๆ”

วาตารุ ฟุนากิ นักข่าวชาวญี่ปุ่น ยืนยันคำพูดของสตาร์ทีมชาติไทยว่า ปอสเตโคกลูเป็นโค้ชที่สอนแท็คติกเก่ง เขาเข้มงวดจริงจัง แต่อีกด้าน เขาเก่งเรื่องสร้างแรงจูงใจนักเตะ เขาไม่เคยวิจารณ์ลูกทีมเสียๆหายๆผ่านสื่อ ทุกคนรักเขา เขาทำให้สปิริตของทีมมารินอสเปลี่ยนไป

ธีราทรยังเคยพูดถึงปอสเตโคกลูช่วงเวลานั้นด้วยว่า “ขอบคุณที่ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ในทุกวันทุกวินาทีต้องมีความคิดที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะต้องเจอกับอะไรถ้ามีความคิดที่แข็งแกร่ง เราจะสามารถผ่านมันไปได้”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่ปอสเตโคกลูมีความเชื่อและนำมาถ่ายทอดผ่านนักเตะและทีมฟุตบอลของเขา ล้วนมาจากชีวิตที่เข้มข้นนับตั้งแต่นั่งเรือร่วมเดือนเพื่อหนีความยากแค้นในบ้านเกิดไปยังแผ่นดินใหม่ รวมถึงประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดกว่า 3ทศวรรษทั้งบทบาทผู้เล่นและผู้จัดการทีม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

อลเวงโลโก้สองทีมแมนเชสเตอร์ ปมดรามาภาพเรือ โยงค้าทาส

พรีเมียร์ลีกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของซีซัน 2022-23 การขับเคี่ยวอย่างดุเดือดกำลังเกิดขึ้นหลายโซนของตารางอันดับ ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงแชมป์ระหว่างอาร์เซนอลกับแมนฯซิตี นั่นเท่ากับตั๋วยูฟา แชมเปียนส์ ลีก เหลือเพียงสองใบสำหรับอันดับ 3-4 แต่กลับมีทีมที่เข้าข่ายได้ลุ้นอย่างน้อยหกทีมคือ นิวคาสเซิล, แมนฯยูไนเต็ด, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, แอสตัน วิลลา, ลิเวอร์พูล และไบรท์ตัน ขณะที่ด้านล่างของตาราง เซาแธมป์ตัน, ฟอเรสต์, เอฟเวอร์ตัน, เลสเตอร์ และลีดส์ กำลังมีแต้มเบียดอยู่แถวโซนตกชั้น แม้แต่บอร์นมัธ, วูลฟ์แฮมป์ตัน และเวสต์แฮม ก็ยังชะล่าใจผ่อนคันเร่งไม่ได้

แต่แล้วเกิดเหตุนอกสนามที่ร้อนระอุไม่แพ้กันขึ้นกับสองทีมยักษ์ใหญ่แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ แมนฯซิตี และแมนฯยูไนเต็ด ที่เกิดกระแสรณรงค์ให้สองสโมสรเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ที่ใช้มายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ โดยจุดที่เป็นปัญหาคือภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงที่อยู่บนโลโก้ทีมเนื่องจากสื่อความหมายถึงการค้าทาสและการใช้แรงงานทาส ซึ่งสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คล้ายคลึงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับทีมอเมริกันฟุตบอล วอขิงตัน เรดสกินส์ ซึ่งถูกสั่งให้ยกเลิกคำว่า “เรดสกินส์” และโลโก “อินเดียนแดง” เพราะนัยว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมืองอเมริกัน

ปฐมบทโยงเรือทาสอยู่ที่ผู้ก่อตั้ง นสพ.”เดอะ การ์เดียน”

จุดเริ่มต้นของการถกเถียงมาจากบทความที่เผยแพร่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของ “เดอะ การ์เดียน” สื่อคุณภาพของอังกฤษ ซึ่งจากการสืบเสาะหาข้อมูลของนักประวัติศาสตร์พบว่า ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของตนเองและเครือข่ายมีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาส ก่อนที่ ไซมอน แฮทเทนสโตน นักข่าวของเดอะ การ์เดียน จะนำมาขยายต่อกลางเดือนเมษายนและสร้างประเด็นดรามาขึ้นมาว่า สมควรไหมที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะนำภาพเรือสำเภาสามเสากระโดงออกไปจากสัญลักษณ์สโมสรเพราะสื่อถึงการค้าและใช้แรงงานทาส

แฮทเทนสโตนยอมรับว่าเป็นแฟนบอลแมนฯซิตีกว่าครึ่งศตวรรษ สมัยเด็กชื่นชอบเรือสำเภาสีทองเป็นพิเศษเพราะทำให้จินตนาการถึงโจรสลัด ต่อมาปลายทศวรรษ 1990 มันถูกทดแทนด้วยนกอินทรีสีทองที่สามารถเชื่อมโยงถึงนาซี แต่สโมสรกลับไปใช้เรือสำเภาอีกครั้งในปี 2016 รวมถึงดอกกุหลาบสีแดง สัญลักษณ์ของแลงคาเชียร์ เขาไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับเรือสำเภาจนกระทั่งอ่านบทความชิ้นนั้นที่เขียนโดย คาสแซนดรา กูปทาร์

แฮทเทนสโตนรู้สึกอึดอัดใจที่รู้ว่า จอห์น เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ พ่อค้าฝ้ายชาวอังกฤษและผู้ก่อตั้งเดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน เมื่อปี 1821 (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเดอะ การ์เดียน ในปี 1959) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายบริษัทที่นำเข้าฝ้ายดิบซึ่งเป็นผลผลิตของแรงงานทาสในอเมริกา และมีอย่างน้อย 9 จาก 11 กลุ่มทุนที่สนับสนุนเทย์เลอร์เกี่ยวข้องกับการขนส่งทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากนี้ เซอร์จอร์จ ฟิลิปส์ หนึ่งในนักลงทุนยุคก่อตั้ง ยังเป็นเจ้าของ(ร่วม)สวนอ้อยในจาเมกาที่ใช้แรงงานทาสด้วย 

แฮทเทนสโตนได้ข้อสรุปว่าทุกเรื่องราวในบทความไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การเกษตร และทาส ล้วนมีเรือเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ธุรกิจฝ้ายในแมนเชสเตอร์บูมสุดขีดช่วงทศวรรษ 1850 มีจำนวนโรงงานมากถึง 108 แห่ง จนกระทั่งแมนเชสเตอร์ได้รับฉายา Cottonopolis

เดอะ แมนเชสเตอร์ การ์เดียน ฉบับปฐมฤกษ์วางจำหน่ายในปี 1821 หรือหลังจากสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกระบบทาสไปแล้วสิบสี่ปี แต่พ่อค้าฝ้ายยังเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ได้รับจากทาสอย่างต่อเนื่อง ฝ้ายดิบที่เกิดจากหงาดเหงื่อของทาสในอเมริกา แคริบเบียน และบราซิล ยังถูกลำเลียงมายังท่าเรือของสหราชอาณาจักร ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งทอสินค้ารูปแบบต่างๆในโรงงานแถบแลงคาเชียร์ แล้วกระจายไปขายทั่วโลก แฮทเทนสโตนมองว่า “เรือ” ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของ “การค้าขาย” ของแมนเชสเตอร์ แต่ยังสื่อความหมายถึง “การเอารัดเอาเปรียบ” อีกด้วย

เพื่อนคนหนึ่งของแฮทเทนสโตนชี้ให้เห็นว่า รูปเรือบนโลโกของแมนฯซิตีคล้ายกับเรื่องราวที่เขาเคยอ่านเกี่ยวกับเรือเสาเสากระโดงที่แล่นไปทั่ว “เดอะ เซเวน ซีส์” (The Seven Seas) ได้แก่มหาสมุทรอาร์กติก, แอตแลนติกเหนือ, แอตแลนติกใต้, แปซิฟิกเหนือ, แปซิฟิกใต้, อินเดีย และมหาสมุทรใต้ เพื่อรับ ขนส่ง และฝากสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาส แม้กระทั่งทาสเองก็เป็นสินค้า เหตุการณ์นี้ดำเนินมายาวนานจนกระทั่งอเมริกาเลิกทาสเมื่อปี 1865

แฮทเทนสโตนให้ความเห็นว่า แน่นอนเรือเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟุตบอล แต่ผลผลิตของทาสยังฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและผู้คนมีความสุขเฉลิมฉลองความสำเร็จผ่านตราสโมสรที่สื่อถึงความกดขี่โดยไม่รู้ตัว

มีคำกล่าวอ้างถึงเรือบนสัญลักษณ์สโมสรของแมนฯซิตีว่า เพื่อเฉลิมฉลอง คลองเดินเรือแมนเชสเตอร์ (The Manchester Ship Canal) ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำภายในประเทศความยาว 36 ไมล์ เชื่อมเมืองแมนเชสเตอร์กับทะเลไอริช และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1894 ปีเดียวกับทีมอาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน (Ardwick Association F.C.) เปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี แต่แฮทเทนสโตนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องจริงเพราะแนวคิดภาพเรือนำมาจากตราแผ่นดินของแมนเชสเตอร์

แฮทเทนสโตนระบุเพิ่มเติมว่า มีสโมสรฟุตบอลอังกฤษไม่มีแห่งที่ใช้ภาพเรือในสัญลักษณ์ทีม และแต่ละทีมก็อธิบายที่มาที่ไปชัดเจนเช่น ทรานเมียร์ โรเวอร์ส เป็นเรือรบและบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองแห่งการต่อเรือ, กริมสบี ทาวน์ เป็นเรือลากอวน ทีมมีฉายาว่า “เดอะ มาริเนอร์ส” และใช้กะลาสีเรือ “แฮร์รี เดอะ แฮดด็อค” เป็นตัวนำโชค, พลีมัธ อาร์ไกล์ ซึ่งโลโกเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ แต่ถูกออกแบบเพื่อระลึกถึงเรือเมย์ฟลาวเวอร์ที่นำกลุ่มผู้แสวงบุญเดินทางจากอังกฤษไปยังโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) เมื่อปี 1620 ขณะที่สโมสรที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสโดยตรงอย่างลอนดอน บริสตอล และลิเวอร์พูล ล้วนหลีกเลี่ยงภาพเรือปรากฏบนตราสโมสร แม้ บริสตอล โรเวอร์ส ซึ่งสื่อใกล้เคียงเรือที่สุด ก็ใช้ภาพโจรสลัด

เรือเข้ามาในโลโกพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “แมนฯยูไนเต็ด”

มาถึงประวัติศาสตร์ของสองสโมสรยักษ์ใหญ่ แมนฯยูไนเต็ดก่อตั้งสโมสรในปี 1878 ก่อนหน้าแมนฯซิตีสองปี จากการรวมตัวของพนักงานรถไฟแผนกขนส่งสายแลงคาเชียร์และยอร์กเชียร์ เดิมใช้ชื่อว่า “นิวตัน ฮีธ” (Newton Heath) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในปี 1902

ความเป็นมาของตราสโมสร นิวตัน ฮีธ ใช้ตราสโมสรสองแบบแต่ไม่เกี่ยวข้องกับเรือ ภาพเรือปรากฏครั้งแรกในปี 1902พร้อมเปลี่ยนชื่อทีมเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สัญลักษณ์แตกต่างจากที่แฟนบอลคุ้นตาอย่างสิ้นเชิง คือเป็นรูปสิงโตและแอนทิโลป (antelope) บนตัวมีกุหลาบสีแดง ถือโล่ที่มีเรือสามเสากระโดงอยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบคาดบนพื้นสีแดง แถบทั้งสามหมายถึงแม่น้ำสามสาย Irwell, Irk และ Medlock ที่ไหลผ่านตัวเมือง

เหนือโล่เป็นหมวกเหล็กที่มีลูกโลกตั้งอยู่ข้างบน แสดงถึงทักษะทางการค้าของชาวเมือง และเรือในโล่ยังหมายถึงการค้าทางเรืออีกด้วย ส่วนบริเวณด้านล่างของโล่และเท้าของสัตว์ทั้งสองเป็นคำจารึกภาษาลาติน “’Concilio Et Labore” แปลว่า “ปัญญาและความมานะ”

โดยรวมแล้ว การออกแบบตราของแมนฯยูไนเต็ดได้รับแรงบันดาลจากสัญลักษณ์ประจำเมือง บวกกับประวัติศาสตร์ในฐานะเมืองที่ประสบความสำเร็จด้านการค้าโลกระหว่างยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

แมนฯยูไนเต็ดใช้ตราสโมสรนั้นนานกว่าสี่สิบปี ก่อนเปลี่ยนระหว่างทศวรรษ 1940 ซึ่งคล้ายกับปัจจุบันคือ แถบด้านบนเป็นชื่อ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” และแถบด้านล่างเป็นคำว่า “ฟุตบอลคลับ” ตรงกลางเป็นโล่ที่มีเรืออยู่ด้านบนและปีศาจอยู่ด้านล่าง

โลโกใหม่สองครั้งต่อมาในปี 1958 และ 1970 ตัวปีศาจหายไป ถูกแทนที่ด้วยแถบสามเส้น ก่อนปีศาจกลับมาในเวอร์ชัน 1973, 1992 และ 1998 ซึ่งใช้จนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม เรือสำเภาไม่เคยหายไปจากโลโกทั้งหกแบบในยุคแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เรืออยู่ในโลโก “แมนฯซิตี” ก่อนทีมเพื่อนบ้านแปดปี

แมนฯซิตีก่อตั้งสโมสรในปี 1880 จากสมาชิกโบสถ์เซนต์มาร์คในเวสต์ กอร์ดอน, แมนเชสเตอร์ ใช้ชื่อแรกเริ่มว่า “เซนต์มาร์คส (เวสต์ กอร์ดอน)” (St. Mark’s (West Gorton)) ก่อนเปลี่ยนเป็น “อาร์ดวิค แอสโซซิเอชัน ฟุตบอล คลับ” (Ardwick Association Football Club) ในปี 1887 และ “แมนเชสเตอร์ ซิตี” ในปี 1894 หรือสองปีหลังเข้าร่วมฟุตบอลลีก

เช่นเดียวกับทีมเพื่อนบ้าน สัญลักษณ์ของแมนฯซิตีตอนใช้ชื่อเซนต์มาร์คสฯและอาร์ดวิคฯไม่มีรูปเรือ เรือปรากฏครั้งแรกในปี1894 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับแมนฯยูไนเต็ดในปี 1902 แต่ความจริงคือ แมนฯซิตีเองก็ดัดแปลงจากตราประจำเมืองของแมนเชสเตอร์ที่มีตั้งแต่ปี 1842

แมนฯซิตีใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจนถึงปี 1960 จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ที่คล้ายกับโลโกตอนนี้ คือเป็นแถบวงกลมเขียนคำว่า “แมนเชสเตอร์ ซิตี เอฟ.ซี.” โดยมีโล่อยู่ข้างในวงกลม ด้านบนเป็นเรือสำเภาสามเสากระโดง ด้านล่างเป็นแถบสีเหลืองสามแถบหรือ Three Rivers

จากนั้นเป็นเวอร์ชันปี 1970 ที่ใกล้เคียงรูปแบบเดิมเปลี่ยนเพียงโทนสี, ปี 1972 ใช้กุหลาบสีแดงแทนสามแถบ, ปี 1976 เปลี่ยนโทนสี, ปี 1997 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ภาพพญาอินทรีผงาดเหนือโล่ที่ข้างในเป็นเรือ, ตัวหนังสือ M.C.F.C. และแถบสีขาวสามแถบบนพื้นสีฟ้า เหนือนกอินทรีเป็นดาวห้าแฉกสามดวง ข้างล่างโล่เป็นคำขวัญภาษาลาติน “Superb in Proelio” แปลว่า “ความภาคภูมิใจในสนามรบ” โดยนกอินทรีสื่อความหมายถึงอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสนามบินแมนเชสเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจของประเทศอังกฤษตอนเหนือ

อย่างไรก็ตาม โลโกนี้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลและถูกเปลี่ยนใหม่ในปี 2016 ซึ่งคล้ายกับเวอร์ชัน 1972 แต่ปรับดีไซน์และสีให้ชัดเจนทันสมัย พร้อมใส่ปี 1894 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ชื่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี ลงไปในแถบวงกลม สโมสรยังใช้สัญลักษณ์นี้จวบจนปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์กว่าหนึ่งศตวรรษในช่วงที่ใช้ชื่อ แมนฯยูไนเต็ด (120 ปี) และแมนฯซิตี (129 ปี) เรือสำเภาถือเป็นส่วนสำคัญของสัญลักษณ์สโมสรมาตลอดเพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ในการค้าขายทางเรือของเมืองแมนเชสเตอร์

หลายเสียงยืนยัน “เรือ” เป็นประตูสู่การค้าขายทั่วโลก

เปรียบเทียบตราสโมสรของสองทีม เรือของแมนฯซิตีมีขนาดใหญ่กว่า กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโล่เท่ากับส่วนที่เป็นกุหลาบสีแดง ขณะที่เรือของแมนฯยูไนเต็ดจะอยู่หนึ่งส่วนสามของพื้นที่โล่ อีกสองส่วนสามเป็นปีศาจแดง

อย่างไรก็ตามตอนที่แมนฯซิตีเปลี่ยนจากพญาอินทรีกลับไปใช้รูปแบบเดิมเมื่อปี 2016 สโมสรได้ออกแถลงการณ์ว่า “ตราใหม่เป็นเสมือนต้นฉบับดั่งเดิมที่ดูทันสมัยขึ้น หวนกลับไปสู่รูปทรงกลมในอดีต พร้อมชุดสัญลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของแมนเชสเตอร์ได้แก่ เรือ แม่น้ำสามสาย และดอกกุหลาบสีแดง อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่สโมสรได้ใส่ตัวเลข 1894 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งสโมสรไว้ด้วย เพื่อเป็นการเคารพแก่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนแมนเชสเตอร์

โจนาธาน สโคฟิลด์ นักประวัติศาสตร์ เปรียบเรือเป็นเสมือนลมหายใจของเมือง “มันคือสัญลักษณ์ของการค้าเสรี ภายใต้แนวคิดมนุษย์ในโลกใบนี้ต่างมีความเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมซึ่งกันและกันในการประกอบธุรกิจ และนี่แหละเป็นความหมายของเรือ”

แกรห์ม สตริงเกอร์ ส.ส.เขต Blackley และ Broughton จากพรรคแรงงาน ให้ความเห็นว่า “เมืองแมนเชสเตอร์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการค้าทาสเลย จริงๆแล้วประชาชนที่นี่ในสมัยอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1861 เคยรวมตัวประท้วงระบบทาสด้วยซ้ำ การรณรงค์เรื่องนี้ (เรือเป็นสัญลักษณ์ของการค้าและการใช้ทาส) เป็นสิ่งที่บ้าบอคอแตกเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเจอมา”

แคเธอรีน เฟลทเชอร์ ส.ส.จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งถือตั๋วปีของแมนฯยูไนเต็ด เป็นคนหนึ่งที่ไม่พอใจรายงานพิเศษชิ้นนั้นของเดอะ การ์เดียน “ผู้คนในเมืองแมนเชสเตอร์เป็นเจ้าบ้านที่ให้การต้อนรับผู้มาเยือนได้อบอุ่นมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ดังนั้นเรือไม่สามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไรแบบนั้นแน่นอน”

เจพี โอ’นีล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของแมนฯยูไนเต็ด และเขียนหนังสือชื่อ “Red Rebels: United and the FC Revolution” ถึงขนาดระบุว่า ตรรกะของแฮทเทนสโตนเป็นเรื่องตลกเพราะมันย้อนแย้งกันเอง 

“ไม่ใช่แค่ตราสัญลักษณ์ของสโมสรเกิดขึ้นหลังการประกาศเลิกทาสนานมาก ตัวสโมสรเองยังก่อตั้งหลังระบบทาสสิ้นสุดลงหลายสิบปี แล้วต้องไม่ลืมว่าเรือลำแรกเดินทางมาถึงแมนเชสเตอร์ในปี 1894 พร้อมการเปิดคลองเรือ และที่แมนเชสเตอร์ คนงานโรงงานฝ้ายในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา พร้อมใจไม่ยอมทำงานยุ่งเกี่ยวกับฝ้ายดิบที่ได้มาจากแรงงานทาส แม้นั่นทำให้ชีวิตของพวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายก็ตาม”

ทางด้านความคิดเห็นของแฟนบอล ไมค์ โกลด์สตีน นักบินวัย 57 ปี ซึ่งเริ่มดูการแข่งขันแมนฯซิตีในสนามตั้งแต่อายุแปดขวบ กล่าวว่า “ไร้สาระด้วยประการทั้งปวง คุณเอาแต่ย้อนเวลากลับไปแบบนั้นไม่ได้หรอก มันคล้ายกับคนอิตาเลียนยังบ้าคลั่งอาณาจักรโรมัน”

ปีเตอร์ ชอว์ แฟนบอลวัย 34 ปีของแมนฯยูไนเต็ด “ช่างไร้สาระจริงๆถ้าจะเอา(ภาพเรือ)ออกไป มันเกี่ยวข้องกับการฉลองเปิดคลองเรือ ไม่มีอะไรยุ่งกับการค้าทาสแม้แต่นิดเดียว”

เจมี พาร์คเฮาส์ พ่อครัวแฟนบอลแมนฯยูไนเต็ดวัย 37 ปี “เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ผู้คนจะตั้งคำถามเรื่องการค้าทาสใช้แรงงานทาส แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ (ภาพเรือ) ตราสัญลักษณ์สื่อถึงคลองเรือแมนเชสเตอร์ไม่ใช่ทาส การโยงโลโกสโมสรกับค้าขายเป็นอะไรที่มากจนเกินเลยไป”

เทียบ “เรดสกินส์” เปลี่ยนชื่อ-โลโกเพราะด้อยค่าอินเดียนแดง

ไม่กี่ปีที่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นกับ “วอชิงตัน เรดสกินส์” (Washington Redskins) ทีมอเมริกันฟุตบอลเก่าแก่ของเนชันแนล ฟุตบอล ลีก (เอ็นเอฟแอล) ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อปี 2020 เอ็นเอฟแอล มีมติให้ตัดคำว่า “เรดสกินส์” ออกจากชื่อ และยกเลิกตราสโมสรที่มีภาพอินเดียนแดง หลังจากถูกวิจารณ์มายาวนานเนื่องจากสื่อถึงชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากบริษัทสปอนเซอร์ใหญ่อย่าง เฟดเอ็กซ์, ไนกี้, เป๊ปซี่ และธนาคารแห่งอเมริกา

ระหว่างหาชื่อถาวร ทีมเลือกใช้ชื่อ “วอชิงตัน ฟุตบอล ทีม” (Washington Football Team) เป็นการชั่วคราว ส่วนสัญลักษณ์ของทีมบนหมวกอเมริกันฟุตบอลจะใช้ตัวอักษร W จนกระทั่งต้นปี 2022 ทีมได้ประกาศใช้ชื่อใหม่ว่า “วอชิงตัน คอมมานเดอร์ส” (Washington Commanders) อย่างเป็นทางการ ขณะที่โลโก W ถูกออกแบบใหม่

วอชิงตัน โพสต์ สื่อยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ระบุว่าการเปลี่ยนชื่อทีมและตราสัญลักษณ์จะใช้ค่าใช้จ่ายกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการดำเนินงานด้านต่างๆอาทิ การผลิตสินค้าของที่ระลึก ชุดแข่งขัน สนามแข่งขัน ฯลฯ แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของทีมวอชิงตัน ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากแฟนอเมริกันฟุตบอลมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกรณีของวอชิงตันถือว่าแตกต่างกับแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตีอย่างเห็นได้ชัดทั้งประเด็นการสื่อความหมายและแรงกดดันจากสังคม

ไนเจล เคอร์รี ผู้ชำนาญการด้านแบรนดิ้ง ให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเปลี่ยนตราสโมสรจะต้องใช้เงินหลายล้านปอนด์เช่นกัน “นี่จะเป็นการดำเนินงานใหญ่มากครั้งหนึ่งและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการเปลี่ยนตราสโมสรของแมนฯยูไนเต็ดและแมนฯซิตี”

“ความเชื่อมโยงเรื่องทาสไม่ได้ชัดเจนหรือแข็งแกร่ง แต่มันมีศักยภาพที่จะทำลายสร้างความเสียหายให้กับประวัติศาสตร์ด้านต่างๆที่เชื่อมโยงสโมสร  เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงก็ดูไม่มีน้ำหนัก แน่นอนย่อมมีการถกเถียงกันต่อไปว่าแท้จริงแล้ว เรือเป็นตัวแทนของอะไรกันแน่ การอภิปรายจะดำเนินต่อไป แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเกิดขึ้น”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

8 นักเตะเกรดพรีเมียมในตลาดซัมเมอร์ เคน-เบลลิงแฮม-ไรซ์-โอซิมเฮน นำขบวน

ตลาดซื้อขายนักเตะกลางซีซัน (Winter/January transfer window) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สโมสรพรีเมียร์ลีกร่วมกันสร้างสถิติใหม่ใช้เงินรวมกัน 815 ล้านปอนด์ มากกว่าตลาดฤดูหนาวสี่ปีที่ผ่านมารวมกัน เชลซีนำโด่งหัวขบวน 323 ล้านปอนด์หรือ 329 ล้านยูโร ทีมเดียวมากกว่าทั้งกัลโช เซเรีย อา ทั้งลีกรวมกันไม่ถึง 28 ล้านยูโร เชลซียังสร้างสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วยการทุ่ม 106.8 ล้านปอนด์เพื่อดึงเอ็นโซ แฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกา

ตลาดใหญ่ช่วงฤดูร้อน (Summer transfer window) กลางปีนี้ของพรีเมียร์ลีก ยังไม่ประกาศวันเปิดปิดแต่คาดว่าน่าจะเป็นต้นเดือนมิถุนายนเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งเปิดวันที่ 10 มิถุนายน และปิดวันที่ 1 กันยายน โดยใช้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 2พันล้านปอนด์ มากกว่าอีกสี่ลีกบิ๊กไฟฟ์ บุนเดสลีกา, ลีกเอิง, เซเรีย อา และลา ลีกา รวมกัน

การซื้อขายเพื่อเสริมแกร่งให้กับขุมกำลังเพื่อสู้ศึกฤดูการแข่งขัน 2023-24 ยากที่จะคาดเดาว่าตัวเลขเงินหมุนเวียนในตลาดจะสูงเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ นักเตะเนื้อหอมที่จะก้าวสู่ตลาดฤดูร้อนปีนี้จัดอยู่ในกลุ่มสตาร์เอบวกหลายคนนำโดย จูด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ GOAT ซึ่งคาดว่าโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ต้องการค่าตัวเริ่มต้นที่ 130 ล้านปอนด์, เฮนรี เคน ยอดศูนย์หน้าที่วัยใกล้พ้นช่วงพีคและมองหาทีมใหม่ที่จะทำให้เขาได้รับเกียรติยศระดับเมเจอร์ครั้งแรกในชีวิต, ดีแคลน ไรซ์ ยอดมิดฟิลด์ตัวรับที่ตกเป็นข่าวตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา และวิคเตอร์ โอซิมเฮน ดาวซัลโวระดับบล็อกบัสเตอร์อีกคนหนึ่ง

สกาย สปอร์ตส์ สื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ได้รวบรวมรายชื่อนักเตะที่เข้าข่าย Big transfer moves ในตลาดใหญ่กลางปีดังต่อไปนี้

แฮร์รี เคน: ความคลุมเครือสู่สัญญาปีสุดท้ายกับสเปอร์ส

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3147101

การตัดสินใจของแฮร์รี เคน ซึ่งเหลือสัญญากับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2024 เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของตลาดซัมเมอร์หลังจากเคยเกือบโบกมือลาสเปอร์สเมื่อปี 2021 แต่ดาเนียล เลวี ประธานสโมสร ทั้งโก่งราคาสูงลิ่วและยืนยันเสียงแข็งไม่ขายให้แมนฯซิตี แต่ปีนี้สถานการณ์ต่างออกไป เคนเหลือสัญญาปีเดียว อนาคตของทีมยังลุ่มๆดอนๆ ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการทีมสเปอร์ส เขาอายุ 29 ปีแต่ยังไร้แชมป์ระดับเมเจอร์ และทีมยังไม่แน่ว่าจะได้เล่นบอลยุโรปถ้วยไหน

แน่นอน เคนรักสโมสร ครอบครัวเขาติดตามเชียร์ทั้งเกมหย้าเยือน แต่อันโตนิโอ คอนเต ซึ่งถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นคนพาสเปอร์สไปสู่ความสำเร็จ โดนไล่ออกแบบสายฟ้าฟาด เช่นเดียวกับฟาบิโอ ปาราติซี ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา ก็มีอนาคตไม่ชัดเจน เคนจะยอมต่อสัญญาใหม่หรือไม่ซึ่งเชื่อว่าจะยาวพอให้เขาแขวนสตั๊คกับทีมที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2004 ตอนอายุ 11 ขวบ

ไมเคิล บริดจ์ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ มองว่ายังมีความเป็นไปได้แม้น้อยนิดที่เลวีจะรั้งเคนอยู่ต่อจนหมดสัญญาและเป็นฟรีเอเยนต์ หรืออาจยอมปล่อยให้ทีมที่ต้องการศูนย์หน้าที่การันตี 20 ประตูต่อซีซันอย่างแมนฯยูไนเต็ดในราคา 80 ล้านปอนด์ ขณะที่บาเยิร์น มิวนิก ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดแต่ดูเหมือนเคนยังอยากเล่นในพรีเมียร์ลีกต่อไปมากกว่า

จูด เบลลิงแฮม: ใช้เงินจูงใจไม่พอยังต้องมีแผนงานเด็ด

ฟอร์มในเวิลด์คัพที่กาตาร์เป็นเครื่องยืนยันระดับฝีเท้าของจูด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติอังกฤษและโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ว่าเป็นทองแท้ไม่ใช่ทองชุบที่หลุดลอกเมื่อต้องลงแข่งขันบนสังเวียนระดับสูง เขามีอายุแค่ 19 ปี ยังสามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีกมาก บวกกับสัญญาที่สิ้นสุดในปี 2025 ทำให้ทีมเสือเหลืองตั้งราคาแบบไม่อยากขายที่ 130 ล้านปอนด์

แต่อะไรไม่สำคัญเท่าเบลลิงแฮมเองก็ไม่รีบร้อนตัดสินใจอนาคตเสียด้วย หากจะสะสมประสบการณ์กับดอร์ทมุนด์ต่ออีกสักหนึ่งปีก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรแม้มีบิ๊กทีมอย่างเรอัล มาดริด, แมนฯซิตี, ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด พร้อมอ้าแขนรับเขาไปอยู่ด้วย 

เบลลิงแฮมเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาให้ความสำคัญอันดับแรกกับการพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อขยายขอบเขตศักยภาพออกไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นทำให้เรอัล มาดริด เป็นเต็งหนึ่งเพราะเป็นทีมที่จะยกระดับให้เขาเป็นมิดฟิลด์ระดับโลก รวมถึงความสำเร็จสูงสุดอย่างเหรียญชนะเลิศแชมเปียนส์ลีกและรางวัลบัลลงดอร์ แหล่งข่าววงในระบุว่า ทีมราชันชุดขาวถึงขนาดบอกว่า คีลิยัน เอ็มบัปเป เลือกผิดที่ยังอยู่กับปารีส แซงต์-แยร์แมง

เมลิสสา เรดดี คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ อ้างอิงคนในครอบครัวเบลลิงแฮมที่เคยพูดว่า “มีทางเดียวที่จะชนะใจจูด คือขายแผนงานเกี่ยวกับฟุตบอล” เหมือนเมื่อครั้งเขาตัดสินใจย้ายจากเบอร์มิงแฮมไปอยู่ดอร์ทมุนด์แทนแมนฯยูไนเต็ด เพราะเชื่อว่าที่ดอร์ทมุนด์ เขามีโอกาสลงสนามมากกว่าและพัฒนาฝีเท้าได้ดีกว่า

ดีแคลน ไรซ์: ถึงย้ายทีมก็ยังใช้ชีวิตในลอนดอน

ดีแคลน ไรซ์ เป็นมิดฟิลด์เนื้อหอมตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ซัมเมอร์นี้ มิดฟิลด์ตัวรับวัย 24 น่าจะโบกมือลาเวสต์แฮมที่ยังเหลือสัญญาอีกสองปี เพราะที่กาตาร์ ไรซ์เคยพูดชัดเจนว่าเขาต้องการเล่นในระดับที่สูงขึ้น นักข่าวตีความว่า ไรซ์อยากสัมผัสเกมแชมเปียนส์ลีกและลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งตอนนี้ เวสต์แฮมไม่ใช่ทีมที่ตอบโจทย์ต่อไปแล้ว

สื่อเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่ไรซ์อาจกลับไปเล่นให้เชลซีที่เขาเคยฝึกปรือฝีเท้าในอะคาเดมีตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมสัน เมาท์ แต่อาร์เซนอลเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายเพราะอย่างน้อยทีมปืนใหญ่ตกเป็นข่าวสนใจไรซ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขาชัดเจนในความต้องการยกระดับมิดฟิลด์เมื่อเคยพยายามเซ็นสัญญากับมอยเซส ไกเซโด

ดาร์เมช เชธ คอลัมน์ของสกาย สปอร์ตส์ ระบุว่าเมื่อไรซ์ไม่ขยายเซ็นสัญญา เวสต์แฮมก็ต้องขายเขาปีนี้ไม่รอถึงปีหน้าให้เหลือสัญญาปีเดียว และสนนราคาไม่เบาแน่ เดวิด มอยส์ กุนซือทีมขุนค้อน เคยประเมินค่าตัวไรซ์ว่าทะลุหลัก 150 ล้านปอนด์แน่นอน

วิคเตอร์ โอซิมเฮน: วาดฝันชี้เป้าหมายไปเล่นพรีเมียร์ลีก

วิคเตอร์ โอซิมเฮน เป็นอีกหนึ่งสินค้าเนื้อหอมที่ยังเหลือสัญญาสองปีแต่ยังไม่มีข่าวต่อสัญญาใหม่กับนาโปลี ซึ่งแน่นอนที่ต้องการเก็บศูนย์หน้าวัย 24 ปีเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในลีกอิตาลี และกลับไปลุ้นแชมป์แชมเปียนส์ลีกอีกครั้งหลังจากเพิ่งแพ้เอซี มิลาน ในรอบแปดทีมสุดท้าย

ในเซเรีย อา โอซิมเฮนทำไปแล้ว 21 ประตู 5 แอสซิสต์ บวกอีก 5 ประตูในบอลถ้วยยุโรป เขาตกเป็นข่าวกับแมนฯยูไนเต็ดที่ต้องการศูนย์หน้าระดับห้าดาวในซัมเมอร์นี้ แต่ทีมปีศาจแดงจะยอมทุ่มเงินถึงร้อยล้านปอนด์บวกหรือเปล่าทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนงานของตระกูลเกลเซอร์ หรือบางทีอาจต้องรอความชัดเจนว่ากลุ่มทุนไหนที่จะมาเทคโอเวอร์แมนฯยูไนเต็ด

ดาร์เมช เชธ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่าคงต้องรอความเคลื่อนไหวเรื่องสัญญาใหม่จากสองฝ่าย แต่โอซิมเฮนเคยพูดชัดเจนว่า เขาจะทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อบรรลุความฝันในการจะได้เล่นพรีเมียร์ลีกสักวันหนึ่ง สโมสรระดับท็อปและรวยพอจ่ายค่าตัวร้อยล้านปอนด์ก็มีไม่กี่ทีม

มอยเซส ไกเซโด: ยากที่ไบรท์ตันยอมปล่อยถ้าไม่เปย์หนักจริง

เดือนมกราคมที่ผ่านมา อาร์เซนอลและเชลซีเสนอซื้อมอยเซส ไกเซโด แต่ถูกไบรท์ตันปฏิเสธรวมถึงเงิน 70 ล้านปอนด์จากทีมแรก ทีมนกนางนวลยืนยันไม่ขายไกเซโด และยังปิดดีลต่อสัญญาสี่ปีบวกออปชันปีที่ห้า

พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอสโมสร ระบุไม่มีเงื่อนไขฉีกสัญญาหรือ release clause นั่นจึงทำให้หลายทีมพรีเมียร์ลีกที่หวังเติมพลังให้แดนกลางยังไม่ถอดใจ น่าติดตามว่าอาร์เซนอลกับเชลซีจะเคลื่อนไหวอย่างไรในฤดูร้อนนี้

ดาร์เมช เชธ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า ถ้าไบรท์ตันทำอันดับสูงพอคว้าโควตาแชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีก มิดฟิลด์วัย 21 ซึ่งเล่นให้เอกัวดอร์ 30 นัด คงจะร่วมงานท้าทายกับกุนซือโรแบร์โต เด แซร์บี แต่ถ้าไม่ ไกเซโดน่าจะยังสวมยูนิฟอร์มไบรท์ตันต่ออย่างน้อยหนึ่งซีซันอยู่ดี ยกเว้นบิ๊กทีมอังกฤษจะกล้าทุ่มเงินมหาศาลให้ไบรท์ตันชนิดยากที่จะปฏิเสธ แน่นอนต้องมากกว่า 70 ล้านปอนด์ที่รวมแอดออน

เมสัน เมาท์: การเลือกอนาคตที่ขึ้นกับปัจจัยมากมายของเชลซี

อนาคตของเมสัน เมาท์ ค่อนข้างคลุมเครือ เขาเหลือสัญญากับเชลซีแค่กลางปี 2024 การต่อสัญญาใหม่ยังไม่คืบหน้าเพราะสโมสรต้องปรับโครงสร้างค่าเหนื่อยนักเตะให้เข้ากับไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ แถมมีผู้เล่นมากเกินความจำเป็นจนต้องผ่องถ่ายออกในซัมเมอร์นี้ ขณะที่ยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่และจะเริ่มงานเมื่อไร ส่วนฟอร์มของมิดฟิลด์วัย 24เองก็ดร็อปเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทีมส่วนใหญ่ในยุคแกรห์ม พอตเตอร์ แถมเพิ่งบาดเจ็บกระดูกเชิงกราน หายหน้าไปจากสนามสี่นัด

ลิเวอร์พูลและนิวคาสเซิลเป็นสองทีมที่มีข่าวสนใจเมาท์อย่างจริงจัง บาเยิร์นก็มีข่าวเชื่อมโยงแต่สกาย เยอรมัน ระบุว่าสโมสรคงไม่ซื้อมิดฟิลด์เพิ่มแล้วเมื่อคอนราด ไลเมอร์ กองกลางทีมชาติออสเตรียของไลป์ซิก เตรียมตัวย้ายเข้านครมิวนิกแบบฟรีค่าตัวในฤดูร้อนนี้

ไลออล โธมัส คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ยอมรับว่าเป็นการคาดเดาที่ยากมากว่ามิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษรายนี้จะร่วมหัวจมท้ายกับเชลซีต่อหรือไม่ คิดอย่างไรกับการขยายสัญญา และถ้าเลือกออกจากสแตมฟอร์ดบริดจ์ เมาท์จะลงเอยกับทีมไหน

ชูเอา เฟลิกซ์: เนื้อหอมขึ้นมากหลังฟอร์มเด่นช่วงเชลซียืมตัว

ในตลาดหน้าหนาว เชลซียืมชูเอา เฟลิกซ์ จากแอตเลติโก มาดริด มาใช้งานจนจบซีซัน แต่ในสัญญาไม่มีออปชันหรือเงื่อนไขซื้อขาด เฟลิกซ์ทำไป 2 ประตูจาก 11 นัด (ตัวจริง 10 ตัวสำรอง 1) ถ้าไม่เจอใบแดงถูกแบนสามนัด เขาคงได้ลงเล่นทุกนัด ดูเหมือนแนวรุกวัย 23 จะไปได้สวยกับตำแหน่งเบอร์ 10 สตาฟฟ์โค้ชและฝ่ายบริหารด้านเทคนิคค่อนข้างพอใจผลงานของเฟลิกซ์

ไลออล โธมัส คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า เฟลิกซ์แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาเรื่อยๆในสีเสื้อเดอะบลูส์ มีความเป็นไปได้ที่เชลซีจะยื่นซื้อขาดหรือยืมตัวต่อ แต่ติดตรงที่เชลซีคงไม่ได้เล่นบอลสโมสรยุโรปสักรายการ บวกกับคำถามว่าเขาจะอยู่ในแผนงานของผู้จัดการทีมคนใหม่หรือไม่ แต่ถึงไม่ใช่เชลซี เฟลิกซ์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับสโมสรชั้นนำของยุโรปที่จะเจรจาขอซื้อกับแอตเลติโก มาดริด

เจมส์ แมดดิสัน: น่าซื้อหากเลสเตอร์ไม่โก่งราคาสูงเว่อร์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/63126188

ซีซันนี้แม้มีอาการบาดเจ็บรบกวนแต่เจมส์ แมดดิสัน มีผลงาน 9 ประตู 6 แอสซิสต์จาก 24 เกมพรีเมียร์ลีก ในวัย 26 ปีเขาเหลือสัญญากับเลสเตอร์แค่ปีเดียว บวกกับเดอะฟ็อกซ์อาจลงไปเล่นแชมเปียนชิพฤดูกาลหน้า สโมสรน่าจะขายแมดดิสันได้ในราคาประมาณ 50 ล้านปอนด์ขึ้นไป ขณะที่ต้องเสียสตาร์อีกคน ยูริ ติเลอมองส์ ไปแบบฟรีๆเพราะหมดสัญญา

สเปอร์สและนิวคาสเซิลต่างให้ความสนใจแมดดิสันมายาวนาน สองทีมกำลังอยู่ในสมรภูมิแย่งชิงอันดับ 3-4 บนตารางพรีเมียร์ลีก แน่นอนโควตาแชมเปียนส์ลีกย่อมมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทีมของแมดดิสันในซัมเมอร์นี้ ทีมสาลิกาดงอาจได้เปรียบกว่าในเรื่องสถานการณ์สโมสรที่มีความเสถียรทั้งบอร์ดบริหารและสตาฟฟ์โค้ช เอ็ดดี ฮาว กำลังพาทีมไปได้สวย ยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่แถวหน้าของลีก แถมยังได้รับเงินสนับสนุนชนิดใจถึงพึ่งได้จากกลุ่มทุนตะวันออกกลาง

ร็อบ ดอร์เซตต์ คอลัมนิสต์ของสกาย สปอร์ตส์ เชื่อว่าแมดดิสันคงย้ายออกเลสเตอร์หน้าร้อนนี้ และคงไม่ใช่แค่สเปอร์สกับนิวคาสเซิลที่พร้อมเสนอราคาซื้อให้เดอะฟ็อกซ์พิจารณา ทักษะตำแหน่งเบอร์สิบไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสภาพร่างกายของแมดดิสันที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม อีกตัวแปรที่ช่วยให้การเจรจาง่ายขึ้น เลสเตอร์ไม่ควรโก่งราคาเกินงาม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ทีมชาติหมู่เกาะมาร์แชลล์ เตะฟุตบอลให้มหาสมุทรกระเพื่อม

ปัจจุบันโลกมี 195 ประเทศ สองประเทศไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติคือ รัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) และ สันตะสำนัก (Holy See) ซึ่งเป็นรัฐอิสระบริหารส่วนกลางของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข และมีนครรัฐวาติกันเป็นเมืองหลวง แต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟากลับมีสมาชิกมากถึง 211 ชาติ เนื่องจากฟีฟาอนุญาตให้ Dependent Territories หรือดินแดนที่ไม่ได้มีเอกราชทางการเมืองหรืออธิปไตยทางการเมืองเต็มรูปแบบสมัครเป็นสมาชิกได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับโอลิมปิก

ไม่ใช่ทุกประเทศสมาชิกจะร่วมแข่งขันรายการที่ฟีฟาดูแล บางประเทศลงเล่นด้วยความเพลิดเพลินมากกว่าหวังผลแพ้ชนะหรือชิงความเป็นเลิศ หลายประเทศไม่ถูกสื่อต่างชาตินำเสนอข่าวความเคลื่อนไหว ไม่อยู่ในความสนใจของแฟนบอลที่อยู่อีกมุมหนึ่งของโลก และบางชาติกำลังพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฟีฟาเพื่อโอกาสแข่งขันกับทีมฟุตบอลชาติอื่น

หนึ่งในนั้นคือ หมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Republic of the Marshall Islands)

หมู่เกาะมาร์แชลล์มีประชากรราวหกหมื่นคน กระจายอยู่บน 5 เกาะเดี่ยวและ 30 หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ยังไม่มีลีกฟุตบอล แต่คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ฟุตบอลได้รับความนิยมในประเทศและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฟีฟา เป้าหมายดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากความรักระหว่างพ่อลูกคู่หนึ่ง ซึ่งย้อนกลับไปยังสมัยที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ยังไม่มีทีมชาติฟุตบอล เชม ลิวาย (Shem Livai) นักธุรกิจท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง มาจูโร (Majuro) เป็นผู้นำกลุ่มที่หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

คาร์เตอร์ ลิวาย (Carter Livai) ลูกชายของเชม เล่นฟุตบอลเพราะรู้สึกเป็นกีฬาที่เล่นง่าย แค่ไล่เตะลูกฟุตบอลกับเพื่อนฝูงบริเวณชายหาดที่งดงามแห่งหนึ่งของมาจูโร หรือความจริงคือพวกเขาเล่นกันที่สนามหลังบ้านซึ่งมีข้อจำกัดด้วยการขึ้นลงของน้ำจากมหาสมุทร แต่พอคาร์เตอร์อายุ 11 ขวบ เขากับเพื่อนๆก็เลิกเล่นฟุตบอลเพราะเบื่อที่จะเตะกันเองสนุกแบบเด็กๆแล้ว พวกเขาอยากแข่งขันอย่างจริงจังแต่มาจูโรและส่วนอื่นๆของหมู่เกาะมาร์แชลล์ยังไม่มีลีกฟุตบอล

ด้วยความที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว ชาวมาร์แชลล์จึงนิยมกีฬาอเมริกันชนอย่างบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล มากกว่าฟุตบอลหรือซอคเกอร์ เชม ลิวาย จึงเกิดไอเดียและเริ่มก่อตั้ง สหพันธ์ฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands Soccer Federation หรือ MISF) ขึ้นในปี 2020

ลิวายผู้พ่อให้สัมภาษณ์กับสื่ออีเอสพีเอ็นว่า “ผมเห็นพวกเด็กๆรักกีฬาฟุตบอลมากขนาดไหน แต่ที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีลีกฟุตบอล ผมตระหนักทันทีว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่างแล้ว”

เดือนธันวาคม 2022 ลิวายและผู้ร่วมอุดมการณ์กลุ่มหนึ่งได้แต่งตั้ง ลอยด์ โอเวอร์ส (Lloyd Owers) ชาวอังกฤษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกของประเทศ พวกเขายังเพิ่มตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารมวลชน และวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา พวกเขาแถลงข่าวจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทเพลเยอร์เลเยอร์ (PlayerLayer) ซึ่งดูแลเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้กับฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส สโมสรฟุตบอลที่เล่นในลีกวันของอังกฤษ ซึ่งเพิ่งครองแชมป์ลีกทู ฤดูกาล 2021-22

ไม่เป็นความลับใดๆถึงภารกิจนี้ที่มีวัตถุประสงค์มากกว่าการนำทีมฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชลล์ออกไปสู่สายตาชาวโลก พวกเขาต้องการให้ทีมชาติสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่กำลังจะอุบัติขึ้นภายในปี 2030 ที่ถูกคาดหมายว่า พื้นที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของมาจูโร ซึ่งบางส่วนครั้งหนึ่งเคยถูกทำลายจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ จะจมอยู่ใต้น้ำ

บ่อยครั้งที่กีฬาเป็นเครื่องมือทรงอานุภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกโดยมีอนาคตของชาติเป็นเดิมพัน ครั้งนี้ก็เช่นกันที่หมู่เกาะมาร์แชลล์หวังจะใช้ทีมฟุตบอลทดสอบแนวคิดดังกล่าวว่ายังสามารถใช้ได้ผลอยู่หรือไม่

ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกของมาร์แชลล์

ถึงลิวายเป็นตัวตั้งตัวตีจนโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้น แต่บุคคลสำคัญที่สานต่อจนความฝันเป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็คือมืออาชีพอย่างโอเวอร์ส ซึ่งรับตำแหน่งทั้งที่ไม่เคยเดินทางมาหมู่เกาะมาร์แชลล์เลย เขาไม่เคยเจอบอสใหญ่ ลิวาย แบบซึ่งๆหน้าด้วยซ้ำ ทั้งสองติดต่อสื่อสารผ่านหน้าจอและโทรศัพท์ แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของงานเลย

โอเวอร์สได้รับการทาบทามหลังจากลิวายเข้าไปศึกษาเว็บไซต์ของเขา ตอนนั้นโอเวอร์สทำเนื้อหาถามตอบรายสัปดาห์ โฟกัสไปยังประเทศที่ฟุตบอลยังไม่มีเสถียรภาพ เขาถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับสมัยเรียนมหาวิทยาลัยและเคยทำงานในสตาฟฟ์โค้ช รวมถึงตอนเป็นผู้จัดการทีม ยู-23 ของออกซ์ฟอร์ด ซิตี เขายังเคยทำงานที่ออกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด, แมนส์ฟิลด์ ทาวน์ และโคลเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สหรัฐ, แคนาดา และสวีเดน แต่เป็นบทความเรื่องซามัว ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ที่ทำให้ลิวายสนใจอยากดึงโอเวอร์สมาทำงานให้กับ MISF

โอเวอร์สเล่าให้สื่ออีเอสพีเอ็นฟังว่า “เราสองคนคุยกันเยอะมาก แต่ผ่านทางข้อความเสียงที่ทิ้งไว้ใน WhatsApp ซึ่งพอผมตื่นขึ้นมาก็จะเห็นข้อความของเขาเพราะความต่างของเวลา ต่อมาเขาอยากให้ผมวางแผนระยะยาวตามแนวทางส่วนตัวของผม เพื่อดูว่ามันจะเข้ากับ MISF ได้มากน้อยแค่ไหน มารู้ตัวอีกทีเขาก็เสนอตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคให้ผม เราสร้างทุกอย่างขึ้นมาจากศูนย์จริงๆ”

แต่โอเวอร์สยอมรับว่า ก่อนตัดสินใจรับงานนั้น เขาต้องใช้กูเกิลเพื่อค้นหาคำตอบของข้อสงสัยสำคัญคือ หมู่เกาะมาร์แชลล์อยู่ส่วนไหนของโลก

สมรภูมิสงครามโลกและพื้นที่ทดสอบนิวเคลียร์

หากอธิบายพิกัดเพื่อให้นึกภาพง่ายที่สุดแม้ไม่ตรงความจริงเป๊ะ หมู่เกาะมาร์แชลล์จะอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศออสเตรเลียและรัฐฮาวายของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก มีประชากรประมาณหกหมื่นคน ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่สองประมาณปี 1939 ถึง 1945 หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นเสมือนศูนย์กลางการสั่นสะเทือนของการสู้รบแถบแปซิฟิก เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนสหรัฐเข้ามาครอบครองในปี 1944 

ระหว่างปี 1946 ถึง 1958 สหรัฐได้ใช้พื้นที่หลายแห่งในหมู่เกาะมาร์แชลล์ และอีกสองสามแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ โดยตั้งชื่อสถานที่เหล่านั้นว่า Pacific Proving Grounds แม้เวลาผ่านกว่าเจ็ดสิบปีแต่ผลกระทบและสิ่งตกค้างจากรังสียังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพของคนท้องถิ่น

หมู่เกาะมาร์แชลล์ได้บัญญัติรัฐธรรมนูญของตนเองขึ้นมาเมื่อปี 1979 สามารถหลีกหนีจากอำนาจศาลของสหรัฐ แต่เกาะควาจาเลน (Kwajalein) ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง ยังคงถูกใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ยังคงได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ทางการทหาร และการเข้าถึงบริการต่างๆจากสหรัฐ

สหประชาชาติยอมรับหมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นสมาชิกเมื่อปี 1991 รายได้หลักของประเทศมาจากปลาทูนาและน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุด

การเข้ามาของสหรัฐช่วงสงครามโลกส่งผลให้กีฬายอดนิยมของชาวอเมริกันอย่างบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล แพร่หลายเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวมาร์แชลล์ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่พื้นที่ใช้เล่น ตัวอย่างเช่นกรุงมาจูโร ประชากรสามหมื่นคนอาศัยอยู่บนที่ดินขนาดรัศมีไม่ถึงสิบกิโลเมตร โดยพื้นที่ของเกาะราว 97.8 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำ นั่นทำให้โอเวอร์สใช้เวลาประมาณ 40 ชั่วโมงเดินทางจากบ้านพักกในออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ไปยังหมู่เกาะมาร์แชลล์

แต่โอเวอร์สไม่เคยมองว่าการเดินทางที่ยากลำบากเป็นอุปสรรค เขาได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากภรรยาเมื่อ MISF ติดต่อเข้ามา “เธอบอกว่าลุยเลยเพราะมันเป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่และส่งผลดี ส่วนตัวผมเองก็มีเป้าหมายส่วนตัวอยู่แล้วคือ อยากทำงานกับประเทศที่ฟีฟายอมรับ ซึ่งตอนนี้ก็เฝ้าหวังว่านั่นจะเป็นหมู่เกาะมาร์แชลล์”

ก่อนเดินทางมาเห็นหมู่เกาะมาร์แชลล์ด้วยตาตัวเอง โอเวอร์สยอมรับว่าเขาจินตนาการความเป็นจริงไม่ออกเมื่อมองชายหาด โรงแรม และสถานที่ต่างๆจากสิ่งที่เห็นผ่าน Google Maps สิ่งที่เขาเห็นมีแค่ที่ดินผืนเล็กๆและหญ้าเป็นหย่อมๆ จนไม่แน่ใจว่ามันจะใช้เป็นพื้นที่เล่นฟุตบอลได้จริงๆ ดังนั้นเขาต้องเดินทางไปที่นั่น

สนามใหม่จุสองพันประเดิมจัดมินิโอลิมปิก

แม้โครงการดังกล่าวผ่านไประยะเวลาหนึ่งพร้อมความคืบหน้าแต่ลิวายไม่ต้องการเร่งรัดคณะทำงานของเขา “ผมเพียงอวยพรให้ทุกคนสามารถทำงานให้ผ่านไปด้วยดี และต้องมั่นใจว่ารากฐานของเราแข็งแรงเพียงพอ”

แผนงานอันดับแรกๆคือพลักดันฟุตบอลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน และนับตั้งแต่โอเดอร์สรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค สื่อมวลชนภายในประเทศได้ให้ความสนใจ MISF มากขึ้นเรื่อยๆ โอเวอร์สยังกระตุ้นให้ MISF เป็นที่รับรู้ในสหราชอาณาจักรเป็นวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การบริจาคเสื้อผ้าชุดแข่งและลูกฟุตบอลที่หลั่งไหลเข้ามาสู่หมู่เกาะมาร์แชลล์

โอเวอร์สกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การบริจาคเหมือนเป็นฝันร้ายในเชิงขนส่ง แต่พอผมเดินทางไปที่หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปัญหาก็คลี่คลายเพราะผมนำมันติดตัวไปด้วย ตอนนี้ผมเริ่มมองอะไรที่ไกลกว่านั้นเช่นนำฟุตบอลเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับชาติ ให้การศึกษาแก่ครูอาจารย์และฝึกสอนสตาฟฟ์โค้ช เรายังพยายามระดมทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ลิวายกล่าวเสริมว่า “ผมได้รับอีเมล์และโทรศัพท์มากมายจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ ผมยังหวังจะก่อตั้งลีกฟุตบอลท้องถิ่นที่เริ่มต้นด้วยหกสโมสร ผสมผสานระหว่างนักศึกษาระดับวิทยาลัยและผู้ใหญ่ตามหมู่บ้านต่างๆ”

ควบคู่ไปกับปลุกกระแสกีฬาลูกหนังในบ้านเกิด การขยับตัวให้เป็นที่รับรู้ของต่างประเทศก็สำคัญไม่พอกัน หนึ่งในกิจกรรมที่น่าจะสร้างอิมแพ็คได้แก่ “ไมโครนีเซีย เกมส์” (Micronesian Games) ซึ่งจะจัดแข่งขันที่กรุงมาจูโรในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นเสมือน “มินิ โอลิมปิก” ของไมโครนีเซีย กลุ่มเกาะที่อยู่ทางตอนเหนือของโอเชียเนีย ประกอบด้วย 5 ประเทศ คิริบาส, หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเชีย, นาอูรู, ปาเลา และ 2 ดินแดน กวม (สหรัฐ), หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (สหรัฐ) ส่วนใหญ่ในอดีตเคยตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐในฐานะดินแดนในภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ

ไมโครนีเซีย เกมส์ ยังเป็นมหกรรมกีฬาระดับเมเจอร์รายการแรกที่จัดในสนามกรีฑาแห่งใหม่ความจุ 2,000 ที่นั่งในมาจูโร โดยในส่วนของ MISF ค่อนข้างมั่นใจว่าฟุตบอลจะได้รับความนิยมอย่างสูง และหลังการแข่งขันจบ MISF และคณะกรรมการโอลิมปิกหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Marshall Islands National Olympic Committee) ก็จะเดินหน้าโฟกัสฟุตบอลเต็มที่หลังจากเคยส่งนักกีฬาทีมชาติลงแข่งขันกรีฑาทั้งลู่และลาน, เทควันโด, ว่ายน้ำ และยกน้ำหนักในโอลิมปิก เกมส์ 4 ครั้งที่ผ่านมา

สร้างฟุตบอลทีมชาติด้วยโมเดล “อเมริกัน ซามัว”

สำหรับนักฟุตบอลที่จะมาเป็นตัวแทนทีมชาติ โอเวอร์สเริ่มต้นมองหาและรวบรวมมาระยะเวลาหนึ่ง ความจริงแล้วทันทีที่ข่าวรับตำแหน่งของโอเวอร์สกระจายไปทั่วสื่อทวิตเตอร์ ได้มีนักเตะสามคนติดต่อเข้ามา หนึ่งในนั้นเป็นผู้เล่นระดับวิทยาลัยในสหรัฐที่มีบรรพบุรุษเป็นคนมาร์แชลล์ แต่เพราะยังไม่มีทีมชาติและโครงสร้างลีกที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดใจนักเตะเก่งๆเข้ามา

แม้ MISF มีแผนส่งทีมลงแข่งขันในไมโครนีเซีย เกมส์ แต่นั่นเป็นการรวมนักเตะอย่างไม่เป็นทางการ “เดิมทีผมตั้งใจจะรวมทีมชาติให้เป็นรูปร่างชัดเจนในปีนี้ แต่ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นตอนนี้หรือเร็วๆนี้หรอก เอาจริงๆน่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิปีหน้าที่ทีมชาติจะลงแข่งขันแมตข์ทางการครั้งแรก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็ยอดเยี่ยมมาก” โอเวอร์สให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็น

“มีชาวมาร์แชลล์มากมายอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามเชื่อมโยงกับพวกเขาเพื่อกระตุ้นให้รู้ถึงโปรแกรมและโปรเจ็กต์นี้ของพวกเรา พร้อมดึงนักเตะเข้ามามีส่วนร่วม แต่แผนระยะยาว เราจะมีกลุ่มนักเตะที่อยู่ในสหรัฐ จากนั้นก็นักเตะท้องถิ่นในหมู่เกาะมาร์แชลล์ เราสามารถรวมสองกลุ่มเข้าด้วยกันเหมือนกับที่ชาวอเมริกันซามัวทำมาแล้วอย่างที่เห็นในสารคดีเรื่อง Next Goal Wins”

“ฟุตบอล เมเนเจอร์” (Football Manager) เกมคอมพิวเตอร์ยอดฮิตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วย เป็นเกมสร้างทีมฟุตบอลเสมือนจริงด้วยการคัดเลือกนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชจากฐานข้อมูลที่มีมากกว่าสี่แสนคน

แอนดรู ซินแคลร์ จากสปอร์ตส์ อินเตอร์แอคทีฟ บริษัทสร้างสรรค์เกมดังกล่าว เปิดเผยกับอีเอสพีเอ็นว่า “เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะบรรจุหมู่เกาะมาร์แชลล์ไว้ในซีรีส์ของฟุตบอล เมเนเจอร์ ที่ผ่านมาเราก็มีบางประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟาอยู่ในฐานข้อมูล จึงเป็นแบบอย่างที่จะเพิ่มประเทศอธิปไตยอย่างหมู่เกาะมาร์แชลล์เข้าไป”

“แต่ยังมีกระบวนการที่ต้องทำอีกมาก เรายังไม่แน่ชัดเรื่องจำนวนผู้เล่นว่ามากน้อยแค่ไหน พวกเขายังไม่มีสถิติการแข่งขันแมตช์นานาชาติ แต่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือหมู่เกาะมาร์แชลล์”

สำหรับเป้าหมายสำคัญคือ ได้รับไฟเขียวจากฟีฟาให้ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ซึ่งต้องเริ่มจากเป็นสมาชิกสมาพันธ์ฟุตบอลระดับทวีป อันดับแรก MISF จะต้องนำเสนอแผนงานและเป้าหมายให้พิจารณาลงคะแนนเสียงรับรอง ว่าหมู่เกาะมาร์แชลล์มีที่พักโรงแรม สถานที่ฝึกซ้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่ผ่านการรับรองเหมือนอย่างที่ตูวาลู (Tuvalu) ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เคยได้สิทธิเป็นเพียงสมาชิกสมทบ (associate member) ของสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย (Oceania Football Confederation: OFC) และยังไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟาเพราะขาดความเหมาะเรื่องโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม MISF ยังมองในแง่ดีว่า สนามกีฬาแห่งใหม่ในมาจูโร ซึ่งมีสนามฟุตซอลอยู่ข้างใน จะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้ผ่านการรับรอง

มีความเป็นไปได้มากที่ MISF จะสมัครเป็นส่วนหนึ่งของ OFC มากกว่าสมาพันธุ์ฟุตบอลเอเชีย (Asia Football Confederation: AFC) ซึ่งออสเตรเลียเป็นสมาชิก หรือสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (CONCACAF) ถ้าได้เข้าร่วม OFC แล้ว เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปเป็นฟีฟา

โอเวอร์สกล่าวว่า “ลิวายต้องการให้เราเป็นสมาชิกฟีฟา เขาต้องการร่วมแข่งขันรอบคัดเลือกเวิลด์คัพ นี่เป็นเป้าหมายใหญ่ของเขา แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เป็นสมาชิก OFC เลย เหตุผลหลักคือขาดเงินทุน เราจึงต้องระดมทุนและขอความสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เราได้สร้างหน้าเพจ GoFundMe ขึ้นมาแทบทันทีที่ผมรับตำแหน่ง ซึ่งมันไปได้สวยตั้งแต่แรกๆ แต่เรายังจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับโปรเจ็กต์นี้ รวมถึงประเทศของเรา และเป้าหมายระยะยาวที่เราพยายามทำให้สำเร็จ”

แผ่นดินบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำภายในเวลาเจ็ดปี

เป้าหมายสูงสุดของพลเมืองมาร์แชลล์คือ ทำให้โลกตระหนักถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขาหวังว่าฟุตบอลจะช่วยส่งเสริมให้คนทั้งโลกรับรู้มหันตภัยนี้ ทั้งนี้มีการคาดคะเนว่าภายในปี 2030 หรืออีกแค่เจ็ดปีข้างหน้า แผ่นดินราว 40เปอร์เซ็นต์ของหมู่เกาะมาร์แชลล์จะจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงเกาะอีบีเย (Ebeye Island) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะปะการังควาจาเลน (Kwajalein) ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ

ลิวายขยายความปัญหาที่น่าเป็นห่วงในบ้านเกิดว่า “สภาพอากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆวัน เราเห็นมันเป็นเรื่องประจำวัน ถ้าใครมาเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์ก็จะสังเกตได้ง่ายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น”

ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมาร์แชลล์จะจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2030 อย่างแน่นอน สิ่งก่อสร้างราว 40 เปอร์เซ็นต์ในกรุงมาจูโรจะถูกกลืนหายไปด้วยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น บางเกาะผู้คนจะไม่สามารถพักอาศัยใช้ชีวิตได้อีกต่อไป ขณะที่โครงสร้างสนามกีฬาในมาจูโรถูกออกแบบโครงสร้างให้สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงสองเท่าเพื่อป้องกันไม่ให้จมหายไป ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการป้องกัน King Tides ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสน้ำขึ้นสูงสุดปีละสองครั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐจากคลื่นมหาสมุทรแปซิฟิกที่พุ่งขึ้นสู่ชายหาด

ลิวายกล่าวต่อว่า “มหาสมุทรกำลังรุกล้ำพื้นที่หลังบ้านของเราและกัดเซาะผืนดินของเรา ต้นไม้ต่างพากันล้มลงในมหาสมุทรจากระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราจึงหวังการเล่นฟุตบอลจะทำให้ผู้คนตระหนักว่า เกาะเล็กๆกำลังเผชิญหน้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์อยู่ใกล้ตัวเพียงแค่หลังบ้านเท่านั้นเอง”

“นี่เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าฟุตบอลหรือการยอมรับจากฟีฟามากนัก มันจะสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเหตุการณ์ยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ไปเรื่อยๆ ผมภาวนาให้สิ่งนี้ (ฟุตบอล) ช่วยเหลือหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้ และในระยะยาวจะช่วยรักษาชาวมาร์แชลล์ให้อยู่ในบ้านของพวกเขาได้ต่อไป”

ถึงกระนั้น ลิวายยอมรับว่านั่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาวไกล แต่ระยะสั้น เขาต้องโฟกัสอยู่กับความฝันที่จะเห็นนักเตะกลุ่มหนึ่งเป็นตัวแทนของประเทศเล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิก “เราหวังจะได้เห็นชาวมาร์แชลล์เป็นตัวแทนประเทศพร้อมธงชาติลงแข่งขันในกีฬาที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน (อย่างฟุตบอล”

ท้ายสุด ลิวายได้เปรียบเทียบพวกเขาเหมือนกับภาพยนตร์ตลกกีฬาเรื่อง Cool Runnings (สี่เกล๊อะจาไมก้า) ซึ่งออกฉายในปี 1993 สร้างจากเรื่องจริงของชาวจาไมกากลุ่มหนึ่งที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเพื่อจะได้เป็นประเทศแรกจากแอฟริกา ทวีปโซนร้อน ลงแข่งขันกีฬาเลื่อนน้ำแข็งในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988

“นี่เป็นเรื่องของประเทศเล็กๆ แต่ฟุตบอลสามารถช่วยวางดินแดนแห่งนี้ไว้บนแผนที่โลกได้” เป็นคำกล่าวของนักธุรกิจชาวมาร์แชลล์ ผู้ที่เริ่มหันมาสนใจฟุตบอลเพื่อให้ลูกชายและเพื่อนๆได้เล่นฟุตบอลที่พวกเขารักต่อไป

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

เอแดร์ซอน ผู้รักษาประตูสายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากฟุตซอลและเป๊ปร่วมสร้าง

เอแดร์ซอน อาจไม่ใช่ผู้รักษาประตูมือหนึ่งทีมชาติบราซิล ได้เล่นเพียง 19 นัดนับจากประเดิมสนามกับแมตช์ชนะชิลี 3-0 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2017 แต่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี นายด่านวัย 29 ปี ยึดตัวจริงได้เหนียวแน่น เป็นหนึ่งในขุนพลคู่บารมีของเป๊ป กวาร์ดิโอลา นับตั้งแต่ย้ายเข้าถิ่นเอติฮัดระหว่างตลาดซัมเมอร์ปี 2017

พรีเมียร์ลีกห้าซีซันแรก เอแดร์ซอนพลาดเฝ้าประตูแค่ 8 นัดเท่านั้น โดยเฉพาะซีซัน 2018-19 เขาลงตัวจริงครบ 38 นัด ส่วนฤดูแข่งปัจจุบัน นับถึงเกมที่ 29 ซึ่งแมนฯซิตีชนะเซาแธมป์ตัน ไม่มีนัดไหนที่กวาร์ดิโอลาไม่ใส่เอแดร์ซอนในรายชื่อ 11 คนแรก

ทุกเกียรติประวัติของแมนฯซิตียุคกวาร์ดิโอลา เอแดร์ซอนได้รับเท่ากับที่นายใหญ่ชาวสเปนของเขาได้รับ แชมป์พรีเมียร์ลีก 4สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย, แชมป์อีเอฟแอล คัพ 4 สมัย, แชมป์เอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์ 2 สมัย รวมถึงเหรียญรองแชมป์ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ปี 2021

ชีวิต 24 ปีก่อนลงหลักปักฐานที่แมนฯซิตี

เอแดร์ซอน ซานตานา เด โมราเรส เกิดวันที่ 17 สิงหาคม 1993 ที่โอซัสคู รัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล เริ่มเส้นทางนักฟุตบอลกับสโมสร เซา เปาโล ในปี 2008 เล่นแค่ปีเดียวก็เดินทางข้ามทวีปไปอยู่กับทีมเยาวชนของ เบนฟิกา ในโปรตุเกสตอนอายุ 16 ปี แต่ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้เบนฟิกา เอแดร์ซอนอยู่ได้สองปีก็ถูกปล่อยตัวในปี 2011

เอแดร์ซอนยังมองหาอนาคตในโปรตุเกสต่อไป โชคที่ ริเบลราโอ ซึ่งอยู่ในดิวิชันสองขณะนั้น อ้าแขนรับ ก่อนเซ็นสัญญากับ ริโอ อเว สโมสรปรีไมรา ลีกา ในตลาดซัมเมอร์ปี 2012 ที่นี่เขาโชว์ฟอร์มได้โดดเด่นจนถูกเรียกตัวร่วมทีมชาติบราซิล ยู-23 ในเดือนเมษายน 2015 ขณะที่ริโอ อเว ต่อสัญญาใหม่ไปถึงปี 2019 แต่ไม่กี่เดือนต่อมา เบนฟิกา เห็นแววสดใสของเอแดร์ซอน จึงคว้าตัวกลับไปด้วยสัญญาห้าปีในเดือนกรกฎาคม 2015 และจ่ายค่าตัวให้ต้นสังกัด 5 แสนยูโร พร้อมเงื่อนไขแบ่งค่าตัว 50 เปอร์เซ็นต์หากเบนฟิกาขายเอแดร์ซอนในอนาคต

ซีซัน 2015-16 เอแดร์ซอนเป็นตัวสำรองของฮูลิโอ ซีซาร์ ในทีมชุดใหญ่ และถูกส่งลงไปเล่นให้ทีมสำรองของเบนฟิกาในดิวิชันสอง จนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2016 เอแดร์ซอนได้สัมผัสเกมลีกสูงสุดแทนฮูลิโอ ซีซาร์ ที่บาดเจ็บ เบนฟิกาชนะสปอร์ติง ลิสบอน 1-0 ขยับขึ้นไปยืนแป้นจ่าฝูงลีกแดนฝอยทอง เขามีส่วนร่วมในช่วงที่เหลือของซีซันที่ปิดฉากด้วยแชมป์ปรีไมรา ลีกา สมัยที่ 35 อีกทั้งยังได้เฝ้าประตูนัดชิงชนะเลิศ Taça da Liga (หรือ Portuguese League Cup เปรียบได้กับลีก คัพ ของโปรตุเกส) ซึ่งชนะมาริติโม 6-2 นั่นเท่ากับว่า เอแดร์ซอนได้เหรียญแชมป์ 2 รายการในปีแรกกับเบนฟิกาทั้งที่ลงเล่น 15 นัด ยังไม่นับอีก 3 นัดของแชมเปียนส์ ลีก ที่เบนฟิกาเข้าถึงรอบแปดทีมสุดท้าย

ซีซัน 2016-17 เอแดร์ซอนเป็นนายทวารมือหนึ่ง ครองแชมป์เมเจอร์ร่วมกับเบนฟิกาอีก 2 รายการคือ ปรีไมรา ลีกา และ Taça de Portugal (หรือ Cup of Portugal เปรียบได้กับเอฟเอ คัพ ของโปรตุเกส)

1 มิถุนายน 2017 เบนฟิกาแถลงข่าวขายเอแดร์ซอนให้แมนฯซิตี ด้วยราคา 40 ล้านยูโร เป็นค่าตัวผู้รักษาประตูที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกขณะนั้นต่อจากจิอันลุยจิ บุฟฟอน (52 ล้านยูโรในปี 2001) ก่อนหล่นลงไปอยู่อันดับ 4 ตามหลัง อลิสซอน เบคเกอร์ (75 ล้านยูโรในปี 2018) และเกปา อาร์รีซาบาลากา (80 ล้านยูโรในปี 2018)

วางบอลยาวสร้างประทับใจแรกให้เป๊ป

ย้อนกลับไปปลายซีซัน 2015-16 ปีแรกของเอแดร์ซอนกับเบนฟิกา ตอนนั้นกวาร์ดิโอลายังคุมทีมบาเยิร์น มิวนิก แม้เซ็นสัญญาล่วงหน้ากับแมนฯซิตีในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เขาเฝ้าดูฟอร์มการเล่นของเบนฟิกา ซึ่งเป็นคู่แข่งของทีมเสือใต้ในรอบก่อนรองชนะเลิศของแชมเปียนส์ ลีก

“ไอ้หนุ่มคนนั้นเป็นใคร” กวาร์ดิโอลาเอยปากถามกับสตาฟฟ์โค้ชเมื่อเห็นทักษะการเตะบอลของเอแดร์ซอนด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก ต่อมาราวหนึ่งปีเศษ เขาก็ได้ร่วมงานกับนายทวารบราซิลที่แมนฯซิตี

ทันทีที่เข้าทำงานในเมืองแมนเชสเตอร์ กวาร์ดิโอลาปรับขุมกำลังสำหรับซีซัน 2016-17 เซ็นสัญญากับ อิลคาย กุนโดกัน, ลีรอย ซาเน และจอห์น สโตนส์ ซึ่งล้วนมีส่วนในความสำเร็จของแมนฯซิตีในเวลาต่อมา กุนซือสเปนยังทำให้แฟนบอลบางกลุ่มไม่พอใจด้วยการดึงเคลาดิโอ บราโว อดีตลูกทีมที่บาร์เซโลนา มาทำหน้าที่แทนโจ ฮาร์ท ซึ่งเป็นนายประตูมือหนึ่งของแมนฯซิตีนานหลายปี เนื่องจากกวาร์ดิโอลาไม่พอใจการเล่นช่วงพรีซีซันของฮาร์ท จึงปล่อยให้โตริโนยืมใช้งาน

แต่บราโวเล่นได้น่าผิดหวัง กวาร์ดิโอลาไม่ได้แชมป์อะไรในซีซันแรก เขาพยายามยกระดับเกมรับในตลาดซัมเมอร์ปี 2017 เซ็นสัญญากับสองวิงแบ็ค เบนจามิน เมนดี และไคล์ วอล์คเกอร์ รวมถึงคว้าตัวเอแดร์ซอนที่เขาประทับใจเมื่อครั้งคุมทีมบาเยิร์น

เอแดร์ซอนเป็นผู้รักษาประตูตัวจริงของแมนฯซิตีตั้งแต่ซีซัน 2017-18 เปิดฉาก การจ่ายบอลสั้นจากแบ็คไลน์มีส่วนสร้างความสำเร้จให้กับทีม รวมถึงแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยในห้าปี แต่กวาร์ดิโอลาเคยให้สัมภาษณ์ว่า การจ่ายบอลยาวของเอแดร์ซอนต่างหากที่ทำให้เขาทึ่ง “นั่นหมายความว่า เรามีโอกาสวางบอลยาวไปยังกรอบเขตโทษอีกฝั่งหนึ่งแล้ว”

ยอดนายทวารวัย 29 ระลึกอดีตเกือบเจ็ดปีที่แล้ว เขาเชื่อว่าคงเป็นการทำประตูของ ราอูล ฮิเมเนซ ในเกมลีกนัดหนึ่งของเบนฟิกาที่ทำให้กวาร์ดิโอลาเกิดไอเดียอะไรบางอย่าง

เอแดร์ซอนให้สัมภาษณ์กับสกายสปอร์ตส์ว่า “ราอูลเป็นคนที่ขึ้นไปสูงที่สุดของทีมเสมอ เขาเป็นคนที่วิ่งเร็วฝีเท้าจัด มักมองหาจังหวะวิ่งตัดแนวหลังฝ่ายตรงข้าม ผมเลยหมั่นหาโอกาสส่งบอลไปให้เขารวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะเกมสำคัญที่ช่วยให้เราครองแชมป์ ผมมีความสุขเสมอที่มีส่วนแอสซิสต์” ใช่แล้ว..ฮิเมเนซทำสกอร์นั้นจากการส่งบอลยาวของนายด่านร่วมทีม

กวาร์ดิโอลาต้องการอะไรแบบนั้นกับแมนฯซิตีเช่นกัน เอแดร์ซอนกล่าวต่อว่า “นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่พวกเราใช้เวลาฝึกซ้อมเยอะมากโดยเฉพาะปีแรกที่ผมย้ายเข้ามา ในนัดสองของพรีซีซันที่อุ่นเครื่องกับสเปอร์ส แซร์จิโอ อเกวโร ยิงชนเสา นั่นเป็นสัญญาณดีในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

เอแดร์ซอนช่วยเพิ่มมิติใหม่ให้กับการเล่นของแมนฯซิตี “มันเป็นประโยชน์มากเมื่อเจอทีมที่เล่นเพรสสูงเพราะเราสามารถชิงความได้เปรียบจากการที่พวกเขาเปิดพื้นที่แดนหลัง มันเป็นอาวุธที่เจ๋งมากช่วยให้เราเล่นได้หลากหลายทั้งระยะสั้น กลาง และยาว”

เปิดบอลแม่นและเร็ว จุดแข็งของเอแดร์ซอน

จาก 211 นัดที่ผ่านมาในพรีเมียร์ลีก เอแดร์ซอนทำแอสซิสต์ให้แมนฯซิตี 3 ครั้ง ลูกที่อยู่ในความทรงจำของหลายคนคือแอสซิสต์ที่ส่งให้กุนโดกันยิงประตูสเปอร์สในปี 2021 แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุดในเชิงแท็คติกน่าจะเป็นประตูของเออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ที่ยิงในแมตช์ชนะไบรท์ตันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมปีที่แล้ว 

“เป็นการผ่านบอลที่ดีมาก” เอแดร์ซอนเปิดใจถึงแอสซิสต์ล่าสุด “เขา (ฮาลันด์) ชอบเคลื่อนที่ลักษณะนั้น เขาเป็นผู้เล่นที่สภาพร่างกายแข็งแกร่งพร้อมระเบิดตลอดเวลา นั่นเวิร์คมากกับไบรท์ตันที่ประกบเราแบบตัวต่อตัวและเพรสค่อนข้างสูง เราจึงชิงได้เปรียบด้วยการส่งบอลยาวข้ามพวกเขาไปแดนหน้า”

ไม่ใช่พละกำลังความแรงในการเตะ แต่เป็นความแม่นยำและความเร็วที่ผู้คนต่างแซ่ซ้องสรรเสริญเอแดร์ซอน เขายืนอันดับหนึ่งของผู้รักษาประตูที่เตะบอลยาวแม่นยำที่สุดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ที่ตัวเลช 52% (คำนวณจากการเตะลูกยาวอย่างต่ำ 100 ครั้ง) ตามด้วยมาร์ค ทราเวอร์ส (บอร์นมัธ) 49%, อลิสซอน เบคเกอร์ (ลิเวอร์พูล) 47%, เกปา อาร์รีซาบาลากา (เชลซี) 45% และอูโก โยริส (สเปอร์ส) 43%

เมื่อถูกถามว่ารู้สึกชอบแอสซิสต์มากกว่าการป้องกันหรือเปล่า เอแดร์ซอนตอบว่า “ผมยังชอบการเซฟมากกว่าอยู่แล้ว นั่นคืองานที่ผู้รักษาประตูต้องทำให้ดีที่สุด แต่ผมก็มีความสุขที่ได้แอสซิสต์นะ มันไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นทุกวัน”

แต่การเซฟก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยเช่นกันเมื่อเทียบกับมาตรฐานปกติของผู้รักษาประตูในพรีเมียร์ลีก เพราะตลอดหกปีที่ร่วมงานกับกวาร์ดิโอลา แมนฯซิตีเป็นทีมที่คู่แข่งมีจังหวะยิงประตูน้อยที่สุด อีกนัยหนึ่งคือ เอแดร์ซอนไม่ค่อยได้ออกแรงเซฟมากนัก

นั่นจึงเป็นภาพอีกด้านของนายทวารในทีมที่ประสบความสำเร็จสูง ขณะที่โรดรี เอร์นานเดซ มิดฟิลด์ทีมเรือใบสีฟ้า เป็นคนที่มีสถิติจ่ายบอลมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก เช่นเดียวกับฮาลันด์ที่ยิงในกรอบเขตโทษเหนือทุกคนในลีก ดูเหมือนเอแดร์ซอนมีงานเบากว่าผู้รักษาประตูทีมอื่น

คำถามใหม่จึงถูกตั้งขึ้นมาว่า แล้วอะไรในสนามแข่งที่สร้างความหนักใจให้เอแดร์ซอนมากที่สุด “สภาพอากาศที่หนาวเย็นโดยเฉพาะตอนเหนือที่ฝนตกประจำ เหมือนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแมนเชสเตอร์”

ฟุตซอลในวัยเด็กช่วยสร้างตัวตนทุกวันนี้

ถ้าให้ตอบอย่างจริงจัง เอแดร์ซอนชี้ว่าเป็นเรื่องสมาธิจดจ่อกับเกมการแข่งขัน เพราะเมื่อบอลจากฝ่ายตรงข้ามไม่มีโอกาสมาถึงหน้าประตูแมนฯซิตีบ่อยนัก จิตใจของเขามีโอกาสหลุดลอยคิดเรื่องอื่นได้ ซึ่งนั่นเป็นเหมือนดาบสองคม ทำให้ลดทอนปฏิกิริยาที่ควรเฉียบคมและว่องไว

“เป็นหนึ่งในความยากลำบากที่ผมเจอตอนย้ายมาใหม่ๆ มันยากจริงๆที่ใจจะจดจ่อตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะกับพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเล่นปกติ หรืออ่านเกมเพื่อจ่ายและเซฟ ล้วนเป็นตัวแปรใหญ่สำหรับการเล่นของผม ผมทำงานหนักเพื่อสิ่งนั้น ทุกวันนี้ผมยังฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คาดการณ์สิ่งต่างๆระหว่างแมตช์”

หนึ่งในโมเมนต์คือการตัดสินใจออกมาจากพื้นที่ตัวเองเพื่อทำหน้าที่สวีปเปอร์หลังแนวรับ ทักษะตรงนี้มีส่วนทำให้เอแดร์ซอนโดนยิงน้อยกว่านายปรตูทีมอื่น “นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมฝึกเยอะมาก การเล่นไฮไลน์ของผู้รักษาประตู เราต้องตัดสินใจว่าจะขึ้นมาเพื่อบิลด์-อัพเกมอย่างไร”

แต่อีกด้านหนึ่ง ไฮไลน์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บตัวเหมือนช่วงต้นที่เล่นให้แมนฯซิตี เอแดร์ซอนถูกเย็บหลายเข็มจากการโดนซาดิโอ มาเน แนวรุกลิเวอร์พูล เตะบริเวณใบหน้า “ผมเชื่อนะ บางทีผู้รักษาประตูจำเป็นต้องบ้าบิ่นหน่อยๆ แต่คุณไม่สามารถหวาดกลัวที่จะออกมาเพื่อหยุดการเล่นลักษณะนั้นของคู่ต่อสู้”

ความกล้าหาญยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นของเอแดร์ซอน “ผมมักทุ่มเททุกอย่างที่มีลงไปเสมอ แม้กระทั่งกระดูกบางชิ้นอาจหัก ผมก็ยังจะทำ”

แต่กูรูลูกหนังต่างเห็นตรงกันว่า ทักษะการเล่นบอลด้วยเท้าทำให้เอแดร์ซอนต่างจากผู้รักษาประตูส่วนใหญ่ นั่นเป็นผลพ่วงจากการเล่นฟุตบอลด้วยเท้าเปล่าที่บ้านเกิดในบราซิล บ่อยครั้งที่ทำให้เล็บเท้าหลุดเพราะเล่นมากเกินพอดี

เอแดร์ซอนกล่าวว่า การเล่นฟุตซอลสมัยเด็กๆช่วยสร้างสไตล์การเล่นเฉพาะตัวของเขาขึ้นมา “ฟุตซอลมีส่วนช่วยเยอะ คุณต้องมีใจเยือกเย็น ตัดสินใจถูกต้อง และเลือกจ่ายบอลสวยๆ เนื่องจากสนามแข่งมีขนาดเล็ก คุณต้องเล่นภายใต้ความกดดันเกือบตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้ผมเป็นนักฟุตบอลอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ช่วยให้ผมสามารถสงบใจให้เยือกเย็นตามธรรมชาติ”

“บางครั้งการได้ยินเสียงแฟนบอลที่ทะลวงลึกลงไปในจิตใจขณะเล่น เพิ่มความเสี่ยงให้อย่างไม่รู้ตัว แต่ผมไม่สามารถเสียสมาธิได้ ผมจำเป็นต้องรักษาความเยือกเย็นเข้าไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผมตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำเมื่อฝ่ายตรงข้ามกำลังเพรสเข้ามา และอีกงานสำคัญของผมคือ มองหาเพื่อนร่วมทีมที่ว่างอยู่”

แม้ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นบนสังเวียนระดับนานาชาติร่วมกับทีมชาติบราซิลมากนัก แต่ปัจจัยทั้งหมดได้ก่อร่างสร้างตัวตนของเอแดร์ซอนให้เป็นผู้รักษาประตูที่มีแคแรกเตอร์เฉพาะตัวและโดดเด่นคนหนึ่งในโลกกีฬาลูกหนัง

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)