Categories
Special Content

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ : ปิดตำนาน “เดอะ คิง เมกเกอร์” ชายผู้ทรงอิทธิพลแห่งอิตาลี

ข่าวการเสียชีวิตของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี, อดีตเจ้าของสโมสรเอซี มิลาน และมอนซ่า วัย 86 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2023 ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอิตาเลียน

การสวมหมวก 2 ใบ ในฐานะเจ้าของทีมฟุตบอล พ่วงด้วยนายกรัฐมนตรี แบร์ลุสโคนี่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของยอดปิรามิด และเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับผู้นำคนต่อไป หรือ “เดอะ คิง เมกเกอร์” ด้วยกันทั้งคู่

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของแบร์ลุสโคนี่ ทั้งในสนามฟุตบอล และสนามการเมือง กับการบริหารจัดการที่สร้างแรงกระเพื่อมในด้านบวกและด้านลบ กับทั้ง 2 วงการ จนถูกยกให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งอิตาลี

ลูกชายนายธนาคาร สู่การเป็นนักธุรกิจ

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เกิดในปี 1936 ที่มิลาน เป็นลูกชายของนายธนาคาร เมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เขาค้นพบว่าเป็นผู้ที่รักการเอ็นเตอร์เทน เพราะเป็นนักร้องบนเรือสำราญ และเป็นนักดนตรีในตำแหน่งดับเบิลเบส

ในเวลาต่อมา ชีวิตของแบร์ลุสโคนี่ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นนักธุรกิจ โดยเริ่มจากเปิดบริษัท Miano Due บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีโครงการหลักคือการสร้างอพาร์ทเมนท์กว่า 4,000 แห่ง ทางฝั่งตะวันออกของเมืองมิลาน

จากนั้น แบร์ลุสโคนี่ก็ได้มาทำธุรกิจด้านสื่อเป็นครั้งแรก กับบริษัท TeleMilano เคเบิลทีวีระดับท้องถิ่น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะสร้าง Canale 5 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งแรกของอิตาลี

ต่อมาในปี 1978 แบร์ลุสโคนี่ได้ก่อตั้งบริษัท Fininvest ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นในบริษัทลูกที่มีทั้งกิจการสื่อสิ่งพิมพ์, ทีวี, โรงละคร รวมถึงเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ปัจจุบันบริหารงานโดยมารีน่า ลูกสาวคนโตของเขา

บริษัท Fininvest ของแบร์ลุสโคนี่ มีสถานีโทรทัศน์ในเครือ 3 ช่อง คือ Canale 5, Italia 1 และ Rete 4 ซึ่งมีเนื้อหาที่เน้นรายการบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ฉีกไปจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล จนสร้างรายได้ถล่มทลาย

และแล้ว โชคชะตาของแบร์ลุสโคนี่ ก็ได้เจอกับสโมสรฟุตบอลที่ชื่อว่า เอซี มิลาน ซึ่งเขาก็ไม่ทิ้งโอกาสทองครั้งนี้ ตัดสินใจซื้อกิจการทีมลูกหนังระดับตำนานของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ มาไว้ในครอบครอง

การเข้าสู่วงการฟุตบอลของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ คือการประกาศตัวว่า เขาคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมือง และพร้อมเป็นฮีโร่ที่จะเข้ามากอบกู้ สร้างยุคสมัยใหม่กับเอซี มิลาน ในการกลับมาเป็นยอดทีมของอิตาลี และยุโรป

ผู้กอบกู้รอสโซเนรี่ กลับมายิ่งใหญ่ในยุโรป

เอซี มิลาน หนึ่งในสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลอิตาลี แต่มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่พวกเขาต้องเจอกับฝันร้าย นั่นคือช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s ที่พัวพันคดีล้มบอล “โตโตเนโร่” จนถูกปรับตกชั้นไปเซเรีย บี

ในช่วงปี 1980-1986 เอซี มิลาน เป็นเพียงทีมที่มีผลงานระดับกลางตาราง แถมการบริหารงานของประธานสโมสร ไม่ว่าจะเป็นเฟลิเซ่ โคลอมโบ หรือคนต่อมาอย่างจูเซ็ปเป้ ฟารีน่า ที่มีปัญหาเรื่องทุจริต และหนี้สิน

จนกระทั่งช่วงซัมเมอร์ของปี 1986 สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง เมื่อซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ได้เข้ามาขอซื้อทีมเอซี มิลาน ด้วยการจ่ายเงิน 40 ล้านลีร์ (สกุลเงินของอิตาลีในสมัยก่อน) และล้างหนี้สินให้ทั้งหมด

ฤดูกาล 1986/87 คือฤดูกาลแรกของมิลาน ภายใต้การบริหารของแบร์ลุสโคนี่ ดำเนินไปอย่างขรุขระ จบในอันดับที่ 5 แต่ในซีซั่นถัดมา การได้อาร์ริโก้ ซาคคี่ กุนซือผู้ริเริ่มแนวคิด “เพรสซิ่ง ฟุตบอล” ทีมก็เข้าที่มากขึ้น

เพรสซิ่ง ฟุตบอล คือการปฏิวัติวงการลูกหนังอิตาลีครั้งสำคัญ ด้วยสไตล์การเล่นที่ใช้พละกำลังสูง ไล่กดดันคู่แข่งตั้งแต่แดนหน้า และต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ซาคคี่ ช่วยให้มิลานคว้าสคูเด็ตโต้ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม

หลังจากนั้น เอซี มิลาน ก็ปิดทศวรรษ 1980s ด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1989 และ 1990 พร้อมกำเนิดตำนานแข้ง 3 ทหารเสือดัตช์ รุด กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และมาร์โก ฟาน บาสเท่น

ช่วงระหว่างปี 1991-1993 มิลานสร้างสถิติไร้พ่ายในเซเรีย อา 58 นัดติดต่อกัน ซึ่งนับรวม invincible season ไร้พ่ายทั้ง 34 นัด ตลอดฤดูกาล 1991/92 ต่อด้วยการกลับมาคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้งในปี 1994

ตามมาด้วยยุค 2000s รอสโซเนรี่ยังคว้าแชมป์ยูซีแอลเพิ่มอีก 2 สมัย ที่มีคาร์โล อันเชล็อตติ เป็นเฮดโค้ช ในปี 2003 ที่ชนะจุดโทษยูเวนตุส คู่ปรับร่วมลีก และปี 2007 ที่มีคีย์แมนสำคัญอย่างกาก้า กับฟิลิปโป้ อินซากี้

ถ้วยรางวัลของเอซี มิลาน ในยุคที่ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นเจ้าของทีม มีทั้งแชมป์สคูเด็ตโต้ 8 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 5 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวมทั้งหมด 28 โทรฟี่ ครองความยิ่งใหญ่นานมากกว่า 20 ปี

เป็นผู้นำในสนามฟุตบอล และสนามการเมือง

ในปี 1994 หลังก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของสโมสรของเอซี มิลานได้ 8 ปี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ในสังกัดพรรคฟอร์ซ่า อิตาเลีย ที่ก่อตั้งได้แค่ 2 เดือน

แบร์ลุสโคนี่ ได้ชูนโยบายต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล จะสร้างงานเพิ่มขึ้น 1 ล้านตำแหน่ง และเขาก็ชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นสมัยแรก ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 1996

และอีก 5 ปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่จะได้รับเลือกกลับสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง จนถึงปี 2006 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 3 ในปี 2008 ทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิตาลี

แต่หลังจากที่ได้เป็นนายกฯ รอบ 3 แบร์ลุสโคนี่ตกเป็นข่าวฉาวเรื่องบูลลี่นักการเมืองดัง เช่น เคยเหยียดสีผิวบารัค โอบาม่า ผู้นำสหรัฐฯ, ล้อเลียนแองเกลาร์ แมร์เคิล ผู้นำเยอรมัน ว่าก้นใหญ่ ไม่ขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย เป็นต้น

จนกระทั่งในปี 2011 อิตาลีประสบปัญหาวิกฤติการเงินครั้งร้ายแรง เพราะหนี้สาธารณะสูงกว่า 113 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจเสียหายมาก จนต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ

อีก 2 ปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่ ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกงภาษี จนต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำประเทศถึง 3 สมัย แต่ก็ต้องหลุดจากอำนาจ เพราะพฤติกรรมส่วนตัว

และการเมืองในอิตาลี ก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับเอซี มิลานด้วย ต้องขายนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เมื่อคุณภาพของทีมลดลง ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ถึงขั้นห่างหายจากเวทีแชมเปี้ยนส์ ลีก ไปนานหลายปี

ตลอดช่วงเวลาที่ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นเจ้าของทีมเอซี มิลาน ก็เป็นที่รักของแฟนๆ รอสโซเนรี่ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มักจะเข้าไปล้วงลูกผู้จัดการทีมในการซื้อขายนักเตะอยู่บ่อยๆ ซึ่งในยุคของเขา ใช้โค้ชไปถึง21 คน

พามอนซ่าสู่ลีกสูงสุด ก่อนลาจากชั่วนิรันดร์

ปี 2017 ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ตัดสินใจลงหลังเสือ ยุติการเป็นเจ้าของสโมสรเอซี มิลานเป็นที่เรียบร้อย ปิดตำนาน 31 ปี ที่เขาครอบครองสโมสรแห่งนี้ ทิ้งความยิ่งใหญ่ให้แฟนๆ “ปีศาจแดง-ดำ” ทุกคนได้จดจำ

ด้วยปัญหาเรื่องหนี้สิน และการลงทุนที่สูญเปล่าจากผลงานที่ล้มเหลว จนไม่สามารถอัดฉีดเงินเพื่อพาเอซี มิลาน กลับสู่ความยิ่งใหญ่ ที่สุดแล้ว แบร์ลุสโคนี่ ก็ขายสโมสรให้กับกลุ่มทุนจากจีนด้วยราคา 740 ล้านยูโร

และในปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่ ได้เข้ามาซื้อสโมสรมอนซ่า ที่ในขณะนั้นยังอยู่ในระดับเซเรีย ซี หรือดิวิชั่น 3พร้อมดึงอาเดรียโน่ กัลเลียนี่ มือขวาคนเดิมที่รู้ใจสมัยอยู่กับเอซี มิลาน มาดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารของสโมสร

ท่อน้ำเลี้ยงของแบร์ลุสโคนี่ที่คอยหนุนหลัง รวมถึงประสบการณ์ซื้อขายนักเตะที่เหลือล้นของกัลเลียนี่ มอนซ่าใช้เวลา 2 ฤดูกาล เลื่อนชั้นขึ้นสู่เซเรีย บี นั่นหมายความว่า เหลืออีกเพียงขั้นเดียวเท่านั้น จะไปถึงลีกสูงสุด

ฤดูกาล 2020/21 มอนซ่า จบอันดับที่ 3 ในซีซั่นปกติของลีกรอง แต่แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้น และในซีซั่นถัดมา จบในอันดับที่ 4 ได้สิทธิ์ลุ้นเพลย์ออฟเลื่อนชั้นอีกครั้ง โดยในรอบรองชนะเลิศ ชนะเบรสชา สกอร์รวม 4 – 2

มอนซ่า เข้ารอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับปิซ่า โดยในนัดแรก มอนซ่าเปิดบ้านชนะได้ก่อน 2 – 1 ส่วนในนัดสองที่บ้านของปิซ่า ต้องเล่นถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ และเป็นมอนซ่าที่ย้ำแค้นได้อีกครั้ง ด้วยการเอาชนะ 4 – 3

ทำให้สกอร์รวม 2 นัด มอนซ่า ชนะ 6 – 4 ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่เซเรีย อา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร ภารกิจของแบร์ลุสโคนี่ ในการพาสโมสรเล็กๆ จากแคว้นลอมบาเดีย ขึ้นสู่ลีกสูงสุดสำเร็จโดยใช้เวลา 4 ปี

ผลงานของมอนซ่า ในเซเรีย อา ฤดูกาล 2022/23 ที่เพิ่งจบไป พวกเขาทำได้ดีเลยทีเดียว จบในอันดับที่ 11 ของตาราง ประเดิมการลงเล่นลีกสูงสุดครั้งแรกได้น่าประทับใจ ก่อนที่แบร์ลุสโคนี่จะจากไปตลอดกาล

เส้นทางชีวิตของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ มีทั้งด้านขาวและด้านดำ เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่ช่วงเวลาที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งด้านการเมืองและฟุตบอล ชายคนนี้คือผู้สร้างอิมแพกต์ให้กับอิตาลีแบบไร้ข้อโต้แย้ง

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.nytimes.com/2023/06/12/world/europe/silvio-berlusconi-italy.html

https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/silvio-berlusconi-ap-milan-ac-milan-italian-b2355824.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Silvio_Berlusconi

Categories
Special Content

รอสโซเนรี่ vs เนรัซซูรี่ : สองยักษ์แห่งเมืองมิลาน กับความทรงจำในถ้วยยุโรป

เมื่อพูดถึงการพบกันระหว่างเอซี มิลาน กับอินเตอร์ มิลาน นี่คือคู่ปรับร่วมเมืองที่มีเรื่องราวความขัดแย้งทางด้านประวัติศาสตร์มานานร่วมศตวรรษ รวมถึงการแย่งชิงความสำเร็จทั้งในอิตาลี และยุโรป

และยามที่ 2 สโมสรจากเมืองเดียวกัน ต้องทำศึกดาร์บี้แมตช์ในรายการระดับทวีป ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นได้บ่อยนักในโลกของฟุตบอล แต่ก็ยังคงความคลาสสิกไม่ต่างกับดาร์บี้แมตช์เกมอื่นๆ

“รอสโซเนรี่” และ “เนรัซซูรี่” กลับมาพบกันในถ้วยยุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2005 ที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายถึงขั้นต้องยกเลิกการแข่งขัน และทีมที่เป็นต้นเหตุก็ถูกลงโทษ ชดใช้ความผิดที่ได้ก่อขึ้นมา

ทั้ง 2 ทีม กำลังจะดวลกันในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ ซึ่งการันตีเข้าชิงชนะเลิศแน่นอน 1 ทีม และถ้าคว้าแชมป์ได้ ก็จะได้สิทธิ์กลับไปเล่นถ้วยนี้ในฤดูกาลหน้า โดยไม่ต้องสนใจอันดับในเซเรีย อา

ซีซั่น 2022/23 ทั้งคู่ต้องเจอกันถึง 5 เกม โดย 3 เกมที่ผ่านมา ประกอบด้วยลีกในประเทศ ชนะบ้านใครบ้านมันทีมละ 1 เกม (เอซี มิลาน 3 – 2, อินเตอร์ มิลาน 1 – 0) และศึกซูเปอร์คัพ เป็นอินเตอร์ ที่ถล่ม 3 – 0

เมืองเดียวในยุโรป ที่มี 2 สโมสรคว้าถ้วยยูซีแอล

แม้เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน จะเป็นคู่ปรับที่ชิงดีชิงเด่นกันมานาน แต่ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของเมืองนี้ คือเป็นเมืองเดียวในทวีปยุโรป ที่มี 2 สโมสร ช่วยกันคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รวมกัน 10สมัย

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Inter

เริ่มจากช่วงทศวรรษที่ 1960s ทั้ง 2 ทีม ต่างซิวโทรฟี่ที่ยิ่งใหญ่สุดของยุโรป ทีมละ 2 สมัย โดยฝั่งเอซี มิลาน ทำได้ในปี 1963 กับอีกครั้งในปี 1969 ส่วนฝั่งสีน้ำเงิน-ดำ ทำได้ 2 ครั้งติดต่อกัน ในปี 1964 และ 1965

ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ 2 ทีมเมืองมิลาน ผงาดในเวทียูโรเปี้ยน คัพ นั่นคือการเล่นสไตล์ “คาเตนัชโช่” (ภาษาอิตาลี แปลว่า กลอนประตู) ที่เน้นการตั้งรับลึก และใช้เกมเคาน์เตอร์แอทแท็ก โต้กลับอย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้น เอซี มิลาน ก็คว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1989 และ 1990 ยุคของกุนซืออาร์ริโก้ ซาคคี่ พร้อมกับตำนานแข้ง 3 ทหารเสือดัตช์ ที่ประกอบด้วย รุด กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และมาร์โก ฟาน บาสเท่น

ต่อเนื่องด้วยแชมป์สมัยที่ 5 ของเอซี มิลาน ในปี 1994 ฟาบิโอ คาเปลโล่ เป็นผู้จัดการทีม ซึ่งขาดนักเตะคนสำคัญหลายคน ทั้งบาดเจ็บ ติดโทษแบน รวมถึงกฎของยูฟ่าที่บังคับส่งนักเตะต่างชาติลงสนามได้แค่ 3 คนเท่านั้น

โดยนักเตะต่างชาติ 3 คน คาเปลโล่เลือกมาร์กแซล เดอไซญี่, ชโวนิเมียร์ โบบัน และเดยัน ซาวิเซวิช ลงเป็นตัวจริง แม้สภาพทีมของมิลานจะเป็นรอง แต่สุดท้ายถล่มบาร์เซโลน่า ชุดดรีมทีมของโยฮันน์ ครัฟฟ์ ขาดลอย 4 – 0

เท่านั้นยังไม่พอ ในยุค Y2K “รอสโซเนรี่” ยังคว้าแชมป์เพิ่มอีก 2 สมัย ยุคที่มีคาร์โล อันเชล็อตติ เป็นเฮดโค้ช ในปี 2003 ที่ชนะจุดโทษยูเวนตุส คู่ปรับร่วมลีก และปี 2007 ที่มีคีย์แมนสำคัญอย่างกาก้า กับฟิลิปโป้ อินซากี้

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/ACMilan

ขณะที่ฝั่ง “เนรัชซูรี่” กว่าจะได้แชมป์ถ้วยใหญ่ยุโรปเป็นสมัยที่ 3 ต้องรอนานถึง 45 ปี จากฝีมือของโจเซ่ มูรินโญ่ เทรนเนอร์ชาวโปรตุกีส ในปี 2010 และเป็นทีมแรกของอิตาลี ที่คว้า 3 แชมป์ใหญ่สุดภายในซีซั่นเดียว

ส่วนในปีนี้ (2023) ที่ทั้งคู่พบกันในรอบรองชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก นั่นหมายความว่า จะมี 1 ทีม ที่เป็นตัวแทนของเมืองในรอบชิงชนะเลิศอย่างแน่นอน โดยจะไปพบกับเรอัล มาดริด หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ย้อนรอยมิลาน ดาร์บี้ เวอร์ชั่นถ้วยยุโรปที่ดุเดือด

เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน เคยพบกันในฟุตบอลถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาแล้ว 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 4 นัด และเป็นฝั่งสีแดง-ดำ ที่สามารถผ่านเข้ารอบต่อไปได้ทั้ง 2 ครั้ง พร้อมกับสถิติไร้พ่ายทุกนัดที่พบกัน

ครั้งแรก ในรอบรองชนะเลิศ ซีซั่น 2002/03 นัดแรก เอซี มิลาน อยู่ฝั่งเจ้าบ้านก่อน เสมอ 0 – 0 และนัดสอง สลับให้อินเตอร์ มิลาน เป็นทีมเจ้าบ้านบ้าง เสมอ 1 – 1 แต่ “รอสโซเนรี่” เข้าชิงชนะเลิศด้วยกฎอเวย์โกล

ครั้งต่อมา ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ซีซั่น 2004/05 เอซี มิลาน ได้สิทธิ์เป็นเจ้าบ้านเลกเรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2005 และทีมของ “อันเช่” เอาชนะไปได้ก่อน 2 – 0 จากประตูของยาป สตัม และอังเดร เชฟเชนโก้

อีก 6 วันต่อมา (12 เมษายน 2005) อินเตอร์ มิลาน สลับมาเป็นทีมเจ้าบ้าน ด้วยสถานการณ์ที่เป็นรองจากเลกแรก และยิ่งเป็นรองเข้าไปอีก เมื่อเชฟเชนโก้ ซัดด้วยซ้ายให้เอซี มิลาน บุกนำ 1 – 0 ในครึ่งแรก

ช่วง 20 นาทีสุดท้ายของเกม “เนรัซซูรี่” ได้เตะมุม เอสเตบัน กัมบิอัสโซ่ โขกจมตาข่าย แต่มาร์คุส แมร์ก ผู้ตัดสินชาวเยอรมันไม่ให้เป็นประตู เพราะมองว่ากัมบิอัสโซ่ไปทำฟาวล์ดีด้า ผู้รักษาประตูทีมเยือนก่อน

ซึ่งก่อนหน้านั้น แฟนบอลอินเตอร์ก็หงุดหงิดกับการตัดสินของมร.แมร์ก อยู่หลายครั้ง ความไม่พอใจสะสมมาเรื่อยๆ จนปะทุกลายเป็นความรุนแรง ด้วยการขว้างสิ่งของต่างๆ รวมถึงพลุไฟลงมาในสนาม

ทันใดนั้น มีพลุไฟอันหนึ่งถูกขว้างลงมาโดนที่หัวไหล่ของดีด้า จอมหนึบของมิลานเต็มๆ อีกทั้งยังมีภาพของรุย คอสต้า ยืนเคียงข้างกับมาร์โก้ มาเตรัซซี่ ท่ามกลางควันไฟ กลายเป็นภาพในตำนานของโลกลูกหนัง

มร.แมร์ก สั่งหยุดพักการแข่งขัน 10 นาที เพื่อเคลียร์สถานการณ์ ทว่าเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ความวุ่นวายไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง และเมื่อเห็นว่าไม่สามารถไปต่อได้ เขาจึงตัดสินใจยุติการแข่งขันในที่สุด

บทสรุปของเหตุการณ์เมื่อ 18 ปีก่อน ยูฟ่า ตัดสินให้งูใหญ่ถูกปรับแพ้ 0 – 3 ทำให้ตกรอบด้วยสกอร์รวม 0 – 5 นอกจากนี้ยังถูกปรับเงินเกือบ 200,000 ยูโร และลงเล่นเกมเหย้าถ้วยยุโรปแบบไม่มีคนดู 4 นัด

มีตั๋วลุยแชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่นหน้าเป็นเดิมพัน

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 เป็นต้นไป เซเรีย อา จะใช้ระบบ “เพลย์ออฟ” ในกรณีที่มีแต้มเท่ากัน สำหรับการลุ้นแชมป์ ระหว่างทีมจ่าฝูง พบกับทีมรองจ่าฝูง และการหนีตกชั้น ระหว่างอันดับ 17 พบกับอันดับ 18

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Inter

ความสำคัญของดาร์บี้แมตช์เมืองมิลานฉบับยุโรป ไม่ใช่แค่การผ่านเข้าไปลุ้นแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการลุ้นอันดับท็อปโฟร์ ที่เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน มีคะแนนห่างกันไม่มาก

นาโปลี เป็นทีมแรกที่ได้สิทธิ์ไปยูซีแอล ซีซั่นหน้า ในฐานะแชมป์ลีก ส่วนตั๋วอีก 3 ใบที่เหลือ มีลุ้นแย่งกันถึง 6 ทีม โดยอันดับที่ 2 มีคะแนนมากกว่าทีมอันดับที่ 7 เพียง 6 แต้มเท่านั้น กับโปรแกรมที่เหลืออยู่ 4นัด

การจัดอันดับคะแนนในลีกอิตาลี ถ้าทีมที่มีคะแนนเท่ากัน (2 ทีม หรือมากกว่า) จะดูจากผลการแช่งขันในแมตช์ที่พบกันเอง หรือ “เฮด-ทู-เฮด” เป็นลำดับแรก ซึ่งจะใช้กฎนี้เฉพาะกลุ่มลุ้นโควตาฟุตบอลยุโรปเท่านั้น

การดูผลงานแบบ “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกแดนมะกะโรนี จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) และมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้เสียนับรวมทั้งซีซั่น

อย่างไรก็ตาม ยูฟ่า กำหนดโควตาทีมที่ได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ไว้สูงสุดไม่เกิน 5 ทีม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ทีมที่จบอันดับ 4 ของลีกอิตาลี จะไม่ได้สิทธิ์เล่นถ้วยใหญ่สุด ถ้าเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ

เงื่อนไขที่ 1 : เอซี มิลาน หรือ อินเตอร์ มิลาน ทีมใดทีมหนึ่ง คว้าแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่ไม่ติดท็อปโฟร์

เงื่อนไขที่ 2 : ยูเวนตุส หรือ โรม่า ทีมใดทีมหนึ่ง คว้าแชมป์ยูโรป้า ลีก แต่ไม่ติดท็อปโฟร์

ศึกดาร์บี้แมตช์ผ่าเมือง ในแชมเปี้ยนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ ถือเป็นเกมที่เดิมพันสูงทั้งมิลาน และอินเตอร์ เพราะการที่ทีมใดทีมหนึ่งตกรอบไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงไม่น้อย ที่จะพลาดกลับมาเล่นถ้วยนี้ในฤดูกาลหน้า

โปรแกรมการแข่งขันเซเรีย อา 4 นัดสุดท้าย 

– ยูเวนตุส (66 คะแนน) : เครโมเนเซ่ (เหย้า), เอ็มโปลี (เยือน), มิลาน (เหย้า), อูดิเนเซ่ (เยือน)

– ลาซิโอ (64 คะแนน) : เลชเช่ (เหย้า), อูดิเนเซ่ (เยือน), เครโมเนเซ่ (เหย้า), เอ็มโปลี (เยือน)

– อินเตอร์ (63 คะแนน) : ซัสซูโอโล่ (เหย้า), นาโปลี (เยือน), อตาลันต้า (เหย้า), โตริโน่ (เยือน)

– มิลาน (61 คะแนน) : สเปเซีย (เยือน), ซามพ์โดเรีย (เหย้า), ยูเวนตุส (เยือน), เวโรน่า (เหย้า)

– อตาลันต้า (58 คะแนน) : ซาแลร์นิตาน่า (เยือน), เวโรน่า (เหย้า), อินเตอร์ (เยือน), มอนซ่า (เหย้า)

– โรม่า (58 คะแนน) : โบโลญญ่า (เยือน), ซาแลร์นิตาน่า (เหย้า), ฟิออเรนติน่า (เยือน), สเปเซีย (เหย้า)

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.thesun.co.uk/sport/football/3328970/inter-milan-ac-milan-champions-league-transfers-serie-a-titles/

https://en.wikipedia.org/wiki/Derby_della_Madonnina

Categories
Special Content

ทฤษฎีช้างตกต้นไม้ : ย้อนรอยทีมจ่าฝูงแพ้ภัยตัวเอง พลาดแชมป์แบบสุดช็อก

หลังเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ชี้ชะตาการลุ้นแชมป์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านถล่ม อาร์เซน่อล 4 – 1 ส่งผลให้ “แชมป์เก่า” ทำคะแนนไล่จี้เหลือ 2 แต้ม แถมเตะน้อยกว่าถึง 2 นัด

แม้โมเมนตัมในการลุ้นคว้าแชมป์จะเอียงไปทาง “เรือใบสีฟ้า” มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ทิ้งห่างแบบขาดลอย “ปืนใหญ่” ก็มีหวังเล็ก ๆ ในการกลับมาคว้าโทรฟี่พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี

มีเรื่องโจ๊กจากแฟนบอลในต่างประเทศ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “อาร์เซน่อลที่อยู่ในอันดับ 1 ของตาราง เสมือนช้างที่อยู่บนต้นไม้ ไม่มีใครรู้ว่ามันปีนขึ้นไปได้อย่างไร แต่ทุกคนรู้ว่าสุดท้ายมันต้องตกลงมาอยู่ดี”

วลี “ช้างที่อยู่บนต้นไม้” คือการเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกแห่งความเป็นจริง ก็จะกระชากจากภวังค์ให้กลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอีกครั้ง

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ของทีมที่กำลังอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง แต่พอพลาดท่าแพ้เกมสำคัญระหว่างฤดูกาล ให้กับคู่แข่งที่แย่งแชมป์แบบโดยตรง กลายเป็นจุดพลิกผันสู่ความผิดหวังในที่สุด

1989 : ลิเวอร์พูล 0 – 2 อาร์เซน่อล (26 พฤษภาคม)

ศึกลูกหนังดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดของอังกฤษในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1988/89 ลิเวอร์พูล กับ อาร์เซน่อล คือคู่ชิงแชมป์ประจำซีซั่น และมีโปรแกรมพบกันเองในนัดสุดท้าย ซึ่ง “หงส์แดง” กุมความได้เปรียบอยู่

สถานการณ์ก่อนลงเตะนัดตัดสินแชมป์ที่แอนฟิลด์ ลิเวอร์พูลนำอันดับ 1 มี 76 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +39 โดยมีอาร์เซน่อล ตามมาติด ๆ ในอันดับ 2 มี 73 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +35

ที่สำคัญ ลิเวอร์พูลกำลังอยู่ในช่วงฟอร์มที่ดี 18 เกมหลังสุดในลีก ไม่แพ้ใคร และเสียประตูในบ้านเพียง 2 ลูก โยนความกดดันไปให้อาร์เซน่อล ที่ต้องชนะด้วยผลต่าง 2 ประตูขึ้นไป ถึงจะแซงคว้าแชมป์

ครึ่งแรกยังยิงกันไม่ได้ แต่เริ่มครึ่งหลังได้ไม่ถึง 10 นาที อลัน สมิธ โขกให้อาร์เซน่อลขึ้นนำก่อน 1 – 0 อย่างไรก็ตาม ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ลิเวอร์พูลยังเป็นฝ่ายที่ได้แชมป์ เพราะผลต่างประตูได้-เสียดีกว่า

เจ้าบ้านพยายามบุกหนักหวังตีเสมอให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ เคนนี่ ดัลกลิช กุนซือลิเวอร์พูล ตัดสินใจเคาะบอลไปมาเพื่อเผาเวลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่ากลางแอนฟิลด์ขึ้นจนได้

ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ไมเคิล โธมัส ยิงประตู 2 – 0 ส่งอาร์เซน่อลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 18 ปี โดยมีแต้ม และผลต่างประตูได้เสียเท่ากัน แต่มีจำนวนประตูได้ที่มากกว่าลิเวอร์พูล (73 ต่อ 65)

1996 : นิวคาสเซิล 0 – 1 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (4 มีนาคม)

ฤดูกาล 1995/96 ลีกสูงสุดเมืองผู้ดี เปลี่ยนชื่อเป็น “พรีเมียร์ลีก” ได้ไม่นาน นิวคาสเซิล ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนทำแต้มทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไกลถึง 12 แต้มในเดือนมกราคม 1996

แต่หลังจากนั้น นิวคาสเซิลก็เริ่มฟอร์มแกว่ง จนถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ไล่จี้เข้ามา และทั้ง 2 ทีม มีโปรแกรมพบกันเองที่เซนต์ เจมส์ปาร์ค ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งก่อนลงสนาม “สาลิกาดง” นำอยู่ 4 แต้ม

นิวคาสเซิล มีโอกาสบุกมากกว่า แต่ยิงอย่างไรก็ไม่ผ่านมือปีเตอร์ ชไมเคิล นายทวารแมนฯ ยูไนเต็ด สุดท้ายแล้ว เอริค คันโตน่า พังประตูชัยให้ “ปิศาจแดง” บุกชนะ 1 – 0 ลดช่องว่างเหลือแค่แต้มเดียว

เมื่อระยะห่างแคบลงเรื่อย ๆ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือแมนฯ ยูไนเต็ด จัดการเปิดสงครามจิตวิทยา และสุดท้าย เควิน คีแกน ก็ตกหลุมพรางจนสูญเสียความมั่นใจ และเริ่มรับมือกับความกดดันไม่ไหว

ช่วงที่เหลือของซีซั่น สถานการณ์ลุ้นแชมป์ก็กลับตาลปัตร นิวคาสเซิล ชนะ 5 เสมอ 2 แพ้ 3 สุดท้ายถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ชนะถึง 7 จาก 9 เกมสุดท้าย แซงคว้าแชมป์ด้วยการมีคะแนนมากกว่า 4 แต้ม

1998 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0 – 1 อาร์เซน่อล (14 มีนาคม)

ฤดูกาล 1997/98 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หวังจะเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 ซีซั่นติดต่อกัน แต่สำหรับอาร์เซน่อล นี่คือครั้งแรกที่อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีมแบบเต็มซีซั่น

ช่วงกลางเดือนมีนาคม 1998 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นำเป็นจ่าฝูง มีแต้มนำอาร์เซน่อล 9 แต้ม แต่ทีมของกุนซืออาร์แซน เวนเกอร์ ลงเตะน้อยกว่าถึง 3 เกม และทั้ง 2 ทีม มีนัดปะทะกันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด

เกมทำท่าว่าจะจบด้วยผลเสมอ แต่ในนาทีที่ 79 มาร์ค โอเวอร์มาร์ส วิ่งมาซัดด้วยขวาผ่านปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นประตูชัยให้อาร์เซน่อล พร้อมกับลดช่องว่างเหลือ 6 แต้ม กับโปรแกรมที่ตกค้างในมือ 3 นัด

หลังบิ๊กแมตช์ที่โรงละคร “เดอะ กันเนอร์ส” กุมชะตากรรมไว้ในมือของตัวเองแล้ว โดยชนะถึง 8 จาก 10 เกมที่เหลือ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 5 จาก 7 เกมสุดท้าย แต่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันแชมป์

อาร์เซน่อล การันตีตำแหน่งอันดับ 1 หลังถล่มเอฟเวอร์ตัน 4 – 0 เมื่อเหลือ 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้เป็นครั้งแรกในยุคของเวนเกอร์ โดยเฉือน “ปิศาจแดง” เพียงแต้มเดียวเท่านั้น

2010 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1 – 2 เชลซี (3 เมษายน)

หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2009/10 หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ชนิดที่ไม่มีทีมใดเคยทำมาก่อน ด้วยการคว้าแชมป์ต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 4

และผู้ท้าชิงของพวกเขาคือ เชลซี ของกุนซือคาร์โล อันเชล็อตติ ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงแมตช์ที่ต้องพบกับทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในเกมที่ 33 ของฤดูกาล ช่วงต้นเดือนเมษายน 2010

ก่อนเกมบิ๊กแมตช์ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด “ปิศาจแดง” อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนนำหน้าเชลซี 1 แต้ม ต้องการชัยชนะเพื่อทำแต้มทิ้งห่างออกไป และถือเป็นการล้างแค้นจากเกมนัดแรกที่บุกไปแพ้ 0 – 1

เชลซี ออกนำก่อน 2 ประตู จากโจ โคล และดิดิเยร์ ดร็อกบา แม้เฟเดริโก้ มาเคด้า จะยิงตีตื้นให้แมนฯ ยูไนเต็ด ไล่มาเป็น 1 – 2 แต่ “สิงห์บูลส์” ก็ยันสกอร์นี้ไว้ได้จนจบเกม แซงขึ้นจ่าฝูง เมื่อเหลือ 5 นัดสุดท้าย

ซึ่งโปรแกรมที่เหลือของทั้ง 2 ทีม ต่างฝ่ายต่างชนะทีมละ 4 เกมเท่ากัน ส่งผลให้เชลซี เป็นฝ่ายที่คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ ดับฝันแมนฯ ยูไนเต็ด ในการเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน

2012 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 – 0 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (30 เมษายน)

ฤดูกาล 2011/12 ช่วงต้นเดือนเมษายน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีแต้มนำแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 8 แต้ม เมื่อเหลืออีก 6 เกม ทำให้หลายคนมองว่า “ปิศาจแดง” น่าจะเข้าวินได้ไม่ยาก

ทว่า 3 นัดหลังจากนั้น แมนฯ ซิตี้ ชนะรวด สวนทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ออกอาการสะดุดครั้งใหญ่ เมื่อบุกไปแพ้วีแกน แบบพลิกล็อก 0 – 1 และถูกเอฟเวอร์ตันไล่ตามตีเสมอ 4 – 4 คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ก่อนเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถิ่นของ “เรือใบสีฟ้า” ในวันสิ้นเดือนเมษายน 2012 ยูไนเต็ดมีแต้มนำซิตี้เพียง 3 แต้ม นั่นหมายความว่า ถ้า “ปิศาจแดง” แพ้ จะหล่นมาเป็นอันดับ 2 ทันที

ในช่วงทดเจ็บครึ่งแรก แว็งซองต์ กอมปานี ทำประตูชัยให้กับแมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสำคัญ แซงแมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นนำเป็นจ่าฝูง มี 83 แต้มเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้-เสีย ดีกว่าอยู่ 8 ลูก เมื่อเหลืออีก 2 เกม

นัดรองสุดท้าย 2 ทีมเมืองแมนเชสเตอร์ ชนะทั้งคู่ ส่วนผลแข่งในเกมที่ 38 แมนฯ ยูไนเต็ด ที่แข่งจบไปก่อน บุกชนะซันเดอร์แลนด์ 1 – 0 ขณะที่แมนฯ ซิตี้ ยังเสมอกับควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส 2 – 2 ช่วงท้ายเกม

และนัดปิดซีซั่น คือหนึ่งในเหตุการณ์การคว้าแชมป์ที่ดราม่าที่สุดตลอดกาล กับประตูชัยของกุน อเกวโร่ นาทีที่ 93.20 ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ทำเอาแฟนๆ “เรด อาร์มี่” อยากจะลบออกจากความทรงจำเลยทีเดียว

2019 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2 – 1 ลิเวอร์พูล (3 มกราคม)

ฤดูกาล 2018/19 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล เป็นคู่ชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ แฟนบอลของทั้ง 2 ทีม ต่างลุ้นกันนัดต่อนัด ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล

สิ้นปี 2018 ลิเวอร์พูล มีคะแนนนำแมนฯ ซิตี้ อยู่ 7 แต้ม หลังผ่านไป 20 เกม และเกมต่อมา คือเกมแรกของปี 2019 ทั้งคู่ต้องห้ำหั่นกันเอง ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถือเป็นนัดสำคัญที่มีผลต่อการลุ้นแชมป์โดยตรง

ขณะที่ยังเสมอกันอยู่ 0 – 0 ในนาทีที่ 20 ซาดิโอ มาเน่ ดาวยิงลิเวอร์พูล ซัดบอลไปชนเสา จอห์น สโตนส์ แนวรับแมนฯ ซิตี้ สกัดบอลโดนเอแดร์ซอน นายทวารเพื่อนร่วมทีม ก่อนที่สโตนส์จะเคลียร์บอลออกจากเส้น ขาดเพียง 11 มิลลิเมตร จะข้ามเส้นประตู

ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสุดล้ำค่า ด้วยชัยชนะ 2 – 1 ลดช่องว่างลงมาเหลือ 4 แต้ม แถมเป็นการยัดเยียดความปราชัยนัดแรก และนัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาลชองลิเวอร์พูลด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เก็บชัย 2 นัดติด ก่อนบุกไปแพ้นิวคาสเซิล 1 – 2 และหลังจากนั้น สร้างสถิติสุดโหด ชนะ 14 นัดติดต่อกัน ฮึดแซงคว้าแชมป์ได้แบบน่าเหลือเชื่อ โดยเฉือนลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว (98 ต่อ 97)

และในฤดูกาล 2022/23 ทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็มีโอกาสทำสถิติชนะ 14 นัดรวด เหมือนเมื่อ 4 ซีซั่นก่อน หลังจากชัยชนะในเกมกับอาร์เซน่อลเมื่อกลางสัปดาห์ พวกเขาเก็บชัยชนะมาแล้ว 7 นัดติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จากลิสต์นี้ ทีมที่นำจ่าฝูงแต่วืดแชมป์เมื่อจบฤดูกาล สามารถกลับมายืนแป้นอันดับ 1 ทันทีในซีซั่นถัดมาได้ถึง 5 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการนำบทเรียนจากความผิดหวัง เป็นแรงขับสู่ความสำเร็จ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12010655/The-pivotal-title-deciders-Man-City-host-Arsenal-Premier-League.html

– https://thearsenalelephant.com/the-arsenal-elephant-blog/f/the-elephant-that-never-fell-from-the-tree

Categories
Special Content

การเดินทางของ “แว็งซองต์ กอมปานี” โค้ชอัจฉริยะผู้พาเบิร์นลี่ย์คืนสู่พรีเมียร์ลีก

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เบิร์นลีย์ เป็นทีมแรกที่การันตีเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลหน้าเป็นที่เรียบร้อย หลังบุกไปชนะมิดเดิลสโบรช์ 2 – 1 โดยใช้เวลาเพียงซีซั่นเดียว กลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

เบิร์นลี่ย์ มีแต้มทิ้งห่างลูตัน ทาวน์ ทีมอันดับ 3 ที่เหลือโปรแกรมเพียง 6 นัด ขาดลอยถึง 19 แต้ม สร้างสถิติใหม่ เป็นทีมลีกแชมเปี้ยนชิพที่เลื่อนชั้นเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยที่ยังเหลืออีก 7 เกม

ทั้งหมดทั้งมวล ต้องยกเครดิตให้กับแว็งซองต์ กอมปานี ผู้จัดการทีมชาวเบลเยียม ที่เพิ่งมาคุมทีมในอังกฤษเป็นฤดูกาลแรก แต่สามารถฝ่าฟันวิกฤตของสโมสรที่ถาโถมเข้ามา จนได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่

อีกทั้งในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน กอมปานี ฉลองวันเกิดอายุครบ 37 ปี ด้วยการนำ “เดอะ คลาเร็ตส์” เปิดเทิร์ฟ มัวร์ รับการมาเยือนของเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมรองจ่าฝูงที่กำลังลุ้นเลื่อนชั้นอัตโนมัติ

เชฟฯ ยูไนต็ด คือทีมล่าสุดที่ยัดเยียดความปราชัยให้กับเบิร์นลี่ย์ ด้วยสกอร์ 5 – 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว หลังจากนั้น จ่าฝูงแชมเปี้ยนชิพ ไร้พ่ายมา 19 นัดติด ก่อนดวลกับ “ดาบคู่” อีกครั้ง

จุดเริ่มต้นจากติดลบ, ตกชั้น และทีมแตก

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2016/17 จนถึง 2021/22 เป็นเวลา 6 ฤดูกาลติดต่อกัน ที่เบิร์นลี่ย์อยู่ในลีกสูงสุดของอังกฤษ แต่พวกเขาก็ลงทุนไปไม่น้อย และส่วนหนึ่งต้องกู้เงินจากธนาคาร เป็นจำนวน 65 ล้านปอนด์

โดยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 ALK Capital กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสร ซึ่งเงินกู้ธนาคาร 65 ล้านปอนด์นั้น ถูกรวมอยู่ใน 200 ล้านปอนด์ ที่เป็นมูลค่าการเทคโอเวอร์ด้วย

สำหรับเงินที่กู้มาจากธนาคารนั้น มีกำหนดชำระคืนภายในเดือนธันวาคม ปี 2025 แต่มีเงื่อนไขที่ว่า เบิร์นลีย์ต้องอยู่รอดในพรีเมียร์ลีกต่อไปถึงตรงนั้น หากตกชั้นจะต้องชำระเงินกู้คืนทันทีภายใน 3 เดือน

และในที่สุด เบิร์นลีย์ก็ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกจริง ๆ ในซีซั่น 2021/22 นั่นหมายความว่า “เดอะ คลาเร็ตส์” จะต้องจ่ายเงินกู้คืนให้ธนาคารภายในเดือนสิงหาคม 2022 กระเทือนไปถึงการเงินภายในสโมสร

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

เมื่อการเงินของเบิร์นลี่ย์มีปัญหา ก็จำใจต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปแทบยกทีม ไม่ว่าจะเป็นนิค โป๊ป, นาธาน คอลลินส์, ดไวท์ แมคนีล รวมถึงแม็กซ์เวลล์ คอร์เนต์ 4 คนนี้ ได้เงินกลับเข้ามาเกือบ 70 ล้านปอนด์

โดยเงิน 70 ล้านปอนด์ที่ได้จากการขายนักเตะ ทางเบิร์นลีย์ได้เอาไปชำระหนี้ธนาคารทั้งหมด แต่พวกเขายังได้เงินก้อนเล็กๆ ในการเสริมผู้เล่นจากกฎการเงินชูชีพ (Parachute Payments) หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“กอมปานี” เจองานหนักภายใต้ข้อจำกัด

เมื่อฌอน ไดซ์ ถูกปลดจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ก่อนจบฤดูกาล 2021/22 เพียง 1 เดือน เบิร์นลีย์ได้แต่งตั้งแว็งซองต์ กอมปานี อดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้ามารับงานเป็นกุนซือคนใหม่ เพื่อสู้ศึกในซีซั่นถัดไป

หลังจากสร้างตำนานคว้าแชมป์ 12 โทรฟี่ ตลอด 11 ปีกับแมนฯ ซิตี้ ในปี 2019 กอมปานีได้ย้ายไปอยู่กับอันเดอร์เลชท์ โดยรับบทบาททั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีมในปีแรก ก่อนจะมาเป็นโค้ชแบบเต็มตัวในปีถัดมา

จากประสบการณ์งานโค้ช 2 ปีที่เบลเยียม สู่โลกที่โหดกว่าเดิมอย่างแชมเปี้ยนชิพ อังกฤษ ซึ่งกอมปานีรู้ดีว่า เบิร์นลีย์มีข้อจำกัดด้านการเงิน และเขาจะขอสร้างทีมขึ้นมาใหม่ตามแนวทางของตัวเอง

กอมปานี นำเงินที่ได้รับจาก Parachute Payments ซื้อนักเตะเข้ามามากกว่า 10 คน ใช้เงินรวมกันไม่ถึง 40 ล้านปอนด์ ล้วนเป็นนักเตะโนเนม และอายุไม่เกิน 26 ปี เอามาเจียระไนให้เป็นเพชรเม็ดงาม

ตัวอย่างเช่น 3 นักเตะจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้อย่าง ซีเจ อีแกน-ไรลีย์ (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), อาริยาเนต์ มูริค (ค่าตัว 3.5 แสนปอนด์) รวมถึงยืมตัวเทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส เซ็นเตอร์แบ็กดาวรุ่งวัย 21 ปี

หรือนักเตะที่ดึงมาจากลีกเบลเยียม เช่น จอช คัลเลน อดีตลูกทีมสมัยอยู่อันเดอร์เลชท์ (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), มานูเอล เบนสัน จากรอแยล อันท์เวิร์ป (ค่าตัว 3 ล้านปอนด์), อานาส ซารูรี่ จากชาเลอรัว (ค่าตัว 3.5 ล้านปอนด์) เป็นต้น

วินัย และเด็ดขาด คือเคล็ดลับความสำเร็จ

สมัยที่ฌอน ไดซ์ เป็นผู้จัดการทีม ได้ติดป้ายขนาดใหญ่เป็นม็อตโต้หน้าสนามซ้อมของเบิร์นลีย์ว่า “วิ่งด้วยขา, สู้ด้วยใจ, ไม่ยอมแพ้” นั่นคือมรดกชิ้นสำคัญที่ฌอน ไดซ์ ได้ทิ้งไว้ให้กับสโมสรจนถึงทุกวันนี้

เมื่อแว็งซองต์ กอมปานี เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ของ “เดอะ คลาเร็ตส์” ในสภาพทีมที่แตกสลายหลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ได้พูดคุยกับนักเตะเป็นเวลา 12 นาที เพื่อฝังดีเอ็นเอความเป็นผู้ชนะให้กับลูกทีม

เนื่องจากกอมปานี ไม่เคยมีประสบการณ์การคุมทีมในอังกฤษมาก่อน ทำให้งานคุมทีมเบิร์นลีย์ คือโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเขา เขาเป็นคนที่มีวินัยในการทำงานที่สูงมาก และใส่ใจในทุกรายละเอียด

ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานกับเบิร์นลีย์ กอมปานีมาถึงสโมสรเป็นคนแรก และกลับบ้านเป็นคนสุดท้ายเสมอ ซึ่งในแต่ละวันเขาได้ปรับปรุง และพัฒนางานของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อยกระดับทีมให้แข็งแกร่งมากขึ้น

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของกอมปานี คือเป็นโค้ชที่มีความเด็ดขาด ไม่สนใจว่านักเตะหน้าไหนที่ออกมาบ่นว่าไม่ได้ลงเล่น ลูกทีมทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ถ้าพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าดีพอที่จะออกสตาร์ทเป็นตัวจริง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปรีซีซั่น เมื่อนักเตะคนหนึ่งได้ซื้อเค้กมาอวยพรวันเกิดให้กับแจ็ค คอร์ก กองกลางเพื่อนร่วมทีม แต่ถูกกอมปานีสั่งห้ามโดยเด็ดขาด เนื่องจากมองว่าเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ

ซึ่งนักเตะภายในทีมก็เชื่อฟัง แสดงให้เห็นว่ากอมปานีได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง และมองว่ากุนซือชาวเบลเยียมคือผู้นำที่จะนำพาเบิร์นลีย์ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่าเขาสามารถซื้อใจลูกทีมได้แล้ว

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วย “มันสมอง”

ด้วยความที่เบิร์นลี่ย์ เสียนักเตะตัวหลักออกไปเยอะในช่วงซัมเมอร์ปี 2022 ทำให้ถูกมองข้ามว่า โอกาสเลื่อนชั้นคงจะมีน้อย แต่พวกเขากลับทำสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นจริงแบบไม่น่าเชื่อ

เหตุผลสำคัญคือ แว็งซองต์ กอมปานี ได้เปลี่ยนแนวทางการเล่นจากยุคของฌอน ไดซ์ ที่เน้นพละกำลัง และบอลโยนยาวสไตล์อังกฤษขนานแท้ ให้เป็นการต่อบอลสั้น เซ็ตเกมจากแดนหลัง เหมือนกับแมนฯ ซิตี้ ยุคเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

ด้วยแผนการเล่น 4-3-3 หรือบางครั้งใช้ 4-2-3-1 ทำให้ทีมของกอมปานี มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลเฉลี่ย 64 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในลีกรอง เมื่อเทียบกับซีซั่นก่อนในยุคฌอน ไดซ์ ที่ครองบอลเฉลี่ยเพียง 39เปอร์เซ็นต์

คีย์แมนคนสำคัญของเบิร์นลีย์ชุดนี้ คือ นาธาน เทลล่า มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 4 แอสซิสต์ แตกต่างจากช่วงเวลา 3 ปีในถิ่นเซนต์ แมรี่ส์ ที่เจ้าตัวทำได้แค่ประตูเดียวเท่านั้น

หรือ 2 กองหน้าวัยเก๋าอย่างเจย์ โรดริเกวซ กับแอชลีย์ บาร์นส์ วัย 33 ปีเท่ากัน ที่กำลังเข้าสู่ช่วงท้ายปลายทางของอาชีพค้าแข้ง ทำไป 9 และ 6 ประตู ตามลำดับ ติดอันดับท็อป 5 ดาวซัลโวของทีมอยู่ในเวลานี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือเบื้องหลังผลงานอันยอดเยี่ยมของเบิร์นลีย์ ในวันที่ได้รับการการันตีว่าเลื่อนชั้น ด้วยสถิติยิงได้มากที่สุด 76 ประตู เสียน้อยที่สุด 30 ประตู และมีโอกาสเก็บถึง 100 แต้ม ในอีก 7 นัดที่เหลือ

สำหรับเบิร์นลีย์โฉมใหม่ คือส่วนผสมระหว่างความสดกับความเก๋า ผู้จัดการทีมดาวรุ่งที่มีความกระหายชัยชนะ และสไตล์การเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ พวกเขาคือทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก ซีซั่นหน้าที่น่าจับตามองจริงๆ

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เบิร์นลี่ย์มีแต่ปัญหาที่เข้ามารุมเร้ามากมาย แต่ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดของแว็งซองต์ กอมปานี ก็ช่วยให้สโมสรเอาตัวรอดจากวิกฤต และกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในที่สุด

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/burnleyofficial

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/4389762/2023/04/07/vincent-kompany-burnley-promotion-premier-league/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11951087/Vincent-Kompany-turned-burnt-Burnley-warriors-Premier-League.html

Categories
Special Content

Der Klassiker : ศึก 2 เสือแห่งเยอรมัน ที่ไม่มีวันอยู่ถ้ำเดียวกัน

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศเยอรมนี ซึ่งความขัดแย้งของทั้งคู่ เกิดขึ้นจากการชิงดีชิงเด่นในสังเวียนลูกหนังล้วนๆ

ก่อนเกม “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 เมษายนนี้ ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ กลายเป็นอดีตโค้ชบาเยิร์นแบบสายฟ้าแลบ และคนที่เข้ามาสานต่อคือโธมัส ทูเคิ่ล อดีตโค้ชดอร์ทมุนด์

ทำให้ทูเคิ่ล กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรกในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ เมื่อปี 1998 ที่ขึ้นมาขี่หลังทั้ง “เสือเหลือง” และ “เสือใต้” ซึ่งเขาจะประเดิมคุมทีมนัดแรก พบกับทีมเก่าทันที

ด้วยความที่ระยะทางระหว่าง 2 เมือง (มิวนิค-ดอร์ทมุนด์) ห่างกันมากถึง 600 กิโลเมตร ทำให้ไม่ค่อยมีภูมิหลังความเกลียดชังรุนแรงตั้งแต่ยุคอดีต ซึ่งจะแตกต่างจากคู่ปรับคู่อื่นๆ ในโลกฟุตบอล

แม้ดีกรีความดุเดือดจะไม่มากเท่ากับบิ๊กแมตช์อื่น แต่เจอกันครั้งใดก็คลาสสิกอยู่เสมอ และนี่คือเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำ ตลอดเกือบ 6 ทศวรรษ ระหว่าง 2 เสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุนเดสลีกา

สกอร์ 11 – 1 ชัยชนะขาดลอยที่สุดของ “เสือใต้”

บุนเดสลีกา ฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 และอีก 2 ปีหลังจากนั้น บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่มิวนิค แต่เป็นดอร์ทมุนด์ที่บุกมาชนะ 2 – 0

พอเข้าสู่ยุค 1970s ได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในแมตช์ “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่เอาชนะกันแบบขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา เป็นบาเยิร์นเปิดบ้านถล่มดอร์ทมุนด์ 11 – 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1971

11 ประตูของ “เสือใต้” มาจากแกร์ด มุลเลอร์ คนเดียว 4 ประตู, อูลี เฮอเนส กับฟรานซ์ โรธ คนละ 2 ประตู, ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, พอล ไบรท์เนอร์ และวิลไฮม์ ฮอฟมันน์ ส่วน “เสือเหลือง” ตีไข่แตกจากดีเทอร์ ไวน์คอฟฟ์

หลังจากสิ้นสุดฤดูกาล 1971/72 แกร์ด มุลเลอร์ ศูนย์หน้าบาเยิร์น คว้าตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 40 ประตู เป็นตัวเลขสูงสุดภายในซีซั่นเดียว (ก่อนจะถูกโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ทุบสถิติในซีซั่น 2020/21 ที่ทำได้ 41 ลูก)

ขณะที่ดอร์ทมุนด์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งบุนเดสลีกาตั้งแต่ฤดูกาลแรก ตกชั้นไปเล่นลีกระดับดิวิชั่น 2 หลังจากอยู่ในบุนเดสลีกาได้เพียง 9 ฤดูกาล และใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าจะได้กลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

นับตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1960s จนถึงช่วงต้นยุค 1990s บาเยิร์นคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 12 สมัย ดูเหมือนว่า “เสือใต้” กำลังจะผูกขาดความยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทีมไหนเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเลย

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ยุคทอง “เสือเหลือง” จากแชมป์เยอรมันสู่เจ้ายุโรป

หลังจากต้องมองดูบาเยิร์น มิวนิค ฉลองแชมป์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ถึงทีของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ได้สร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาบ้าง โดยเริ่มจากการเข้ามาของกุนซืออ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ตั้งแต่ปี 1991

ซึ่งฤดูกาลแรกของฮิตช์เฟลด์กับดอร์ทมุนด์ ทำได้ดีมากในการลุ้นแย่งแชมป์บุนเดสลีกาจนถึงนัดสุดท้าย จบซีซั่นด้วยตำแหน่งรองแชมป์ มีคะแนนเท่ากับสตุ๊ดการ์ท แพ้เพียงแค่ผลต่างประตูได้-เสีย

แม้หลังจากนั้น ฮิตช์เฟลด์จะทำได้เพียงอันดับ 4 ในลีก 2 ซีซั่นติดต่อกัน แต่การคว้าตัวมัทธีอัส ซามเมอร์ มิดฟิลด์สตุ๊ดการ์ท ที่เคยหักอกดอร์ทมุนด์เมื่อปี 1992 มาร่วมทีม และกลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญในยุคทองของสโมสร

ศึกบุนเดสลีกา นัดปิดฤดูกาล 1994/95 ดอร์ทมุนด์ ลุ้นแย่งแชมป์กับแวร์เดอร์ เบรเมน ซึ่งสถานการณ์ก่อนลงสนามเกมสุดท้าย “นกนางนวล” มีคะแนนนำอยู่ 1 แต้ม (สมัยนั้นยังใช้ระบบชนะได้ 2 แต้ม)

ผลปรากฏว่า ดอร์ทมุนด์ ชนะ ฮัมบวร์ก 2 – 0 และได้รับโชคชั้นที่ 2 เมื่อบาเยิร์น มิวนิค ทีมอันดับ 6ปล่อยทีเด็ด ถล่มเบรเมน 3 – 1 ช่วย “เสือเหลือง” แซงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในยุค “บุนเดสลีกา”

ความสำเร็จจากแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก ยังต่อยอดสู่การป้องกันถาดแชมป์ได้สำเร็จในซีซั่นถัดมา และก้าวสู่จุดสูงสุดของยุโรป ในการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 1996/97 ที่มิวนิค

อย่างไรก็ตาม หลังจากคว้าแชมป์ยุโรป ฮิตช์เฟลด์ประกาศอำลาทีม ยุคทองของดอร์ทมุนด์ก็ได้สิ้นสุดลง และไปเข้าทางบาเยิร์น ที่ต้องการดึงตัวกุนซือรายนี้มาร่วมงาน หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับคืน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbayern.en

“ท่านนายพล” ผู้ทำลายล้าง “เอฟซี ฮอลลีวูด”

ช่วงกลางยุค 1990s คือยุครุ่งเรืองของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อย่างแท้จริง แต่อีกด้านหนึ่ง บาเยิร์น มิวนิค ล้มเหลวแบบสุดๆ เพราะนับตั้งแต่ปี 1995-1998 คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเตะบาเยิร์นหลายคน สนใจกอสซิปนอกสนาม ราวกับดาราฮอลลีวูด มากกว่าผลงานในสนาม ทำให้สื่อในเยอรมัน ตั้งฉายาให้กับทีมยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิคว่า “เอฟซี ฮอลลีวูด”

บาเยิร์น ในฤดูกาล 1994/95 โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ เทรนเนอร์ชาวอิตาลี ทำทีมจบแค่อันดับ 6 ถูกปลดออกไป แล้วอ็อตโต้ เรห์ฮาเกล เข้ามาสานต่อในฤดูกาลถัดมา แต่ก็โดนเชือดก่อนจบซีซั่นไม่กี่นัด

แม้ตราปัตโตนี่ จะรีเทิร์นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการพา “เสือใต้” คว้าถาดแชมป์ในฤดูกาล 1996/97 ทว่าในซีซั่นต่อมา กลับถูกไกเซอร์สเลาเทิร์น ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้น ปาดหน้าคว้าแชมป์ “อิล แทร็ป” ก็ไม่ได้ไปต่อ

ก่อนที่ฤดูกาล 1998/99 จะเริ่มขึ้น บาเยิร์นตัดสินใจเลือกอ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ผู้เคยพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย และแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก 1 สมัย มาคุมบังเหียน เพื่อฟื้นฟูทีมให้แข็งแกร่งอีกครั้ง

และความเฮี้ยบของ “ท่านนายพล” ก็ช่วยปลุกเสือใต้ที่หมดสภาพในยุคเอฟซี ฮอลลีวูด ให้กลับมาเป็นเสือใต้ที่น่าเกรงขามเหมือนที่ทุกคนเคยรู้จักอีกครั้ง ด้วยแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย จาก 6 ฤดูกาลที่คุมทีม

แถมด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 1998/99 แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแบบเจ็บปวด แต่ก็แก้ตัวคว้าแชมป์ได้ในอีก 2 ซีซั่นถัดมา พร้อมกับเอาคืน “ปิศาจแดง” ชนะทั้ง 2 นัด ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

เสือเหลืองกำลังจะจมน้ำ เสือใต้ยื่นมือเข้าช่วย

เข้าสู่ยุค Y2K มัทธีอัส ซามเมอร์ ที่เพิ่งแขวนสตั๊ดได้ไม่นาน เข้ารับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2000 และใช้เวลา 2 ซีซั่น พาทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาหนแรกในรอบ 6 ปี

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ซามเมอร์ อดีตดาวเตะเจ้าของฉายา “เจ้าชายผมแดง” กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของดอร์ทมุนด์ ที่ได้ถาดแชมป์ทั้งในฐานะผู้เล่นและโค้ช ซึ่งนั่นคือโทรฟี่ใบเดียวของเขา ตลอดเวลา 4 ฤดูกาลที่คุมทีม

กระนั้น แชมป์บุนเดสลีกาปี 2002 ของ “เสือเหลือง” กลับไม่ช่วยอะไรพวกเขามากนัก เพราะสโมสรเริ่มที่จะเจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จากการลงทุนขยายสนามเหย้า และการทุ่มเงินเพื่อสู้กับ “เสือใต้”

อีกทั้งการพลาดเข้ารอบแบ่งกลุ่มยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2003/04 ทำให้ดอร์ทมุนด์ขาดรายได้ก้อนโต หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ด้วยหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลาย และการถูกปรับตกชั้น ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องยอมให้บาเยิร์น มิวนิค คู่แข่งสำคัญ ยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการให้ยืมเงินจำนวน 2 ล้านยูโร เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน

เงิน 2 ล้านยูโรของบาเยิร์น มิวนิค แม้มันจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สินของดอร์ทมุนด์ แต่ก็ช่วยให้ “Yellow Wall” รอดพ้นจากการล้มละลาย พร้อมกับได้รับบทเรียนสำคัญจากความผิดพลาดในครั้งนี้

การเข้ามาของคล็อปป์ กับฟ้าหลังฝนที่สวยงาม

จุดเริ่มต้นการสร้างความสำเร็จของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในยุคใหม่ เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อฮานส์ โยฮาคิม วัตช์เก้ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ ด้วยนโยบายที่จะช่วยให้สโมสรมีความยั่งยืนทางการเงิน

จากสโมสรที่เคยติดหนี้มากกว่า 100 ล้านยูโร ทำให้วัตช์เก้ ได้เปลี่ยนแนวคิดการบริหารสโมสรเสียใหม่ โดยเน้นการสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก และผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่กระหายความสำเร็จ

แน่นอนว่า นโยบายเช่นนี้ช่วยให้สถานะทางการเงินของสโมสรดีขึ้น แม้จะต้องแลกกับผลงานในสนามที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นทีมระดับกลางตาราง และต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2007/08 ที่จบอันดับ 13

และในซีซั่นต่อมา ดอร์ทมุนด์ ได้โค้ชวัยหนุ่มอย่างเจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตกุนซือทีมเล็กๆ อย่าง ไมนซ์ 05เข้ามาเป็นผู้นำในการกอบกู้สโมสร พร้อมกับแพชชั่นที่สูงมากในการเปลี่ยนทีมให้เต็มไปด้วยพลัง

คล็อปป์ได้สร้างยุคทองครั้งใหม่ ด้วยการคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2011 และ 2012 พร้อมกับแชมป์เดเอฟเบ โพคาล อีก 1 ถ้วย ในปี 2012 ด้วยการถล่มบาเยิร์นขาดลอย 5 – 2

นอกจากความสำเร็จในสนามแล้ว นโยบายการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ก็ช่วยให้ดอร์ทมุนด์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วย หนิ้สินก็ลดลง จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง

ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีม แขวนอยู่บนเส้นด้าย

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมัน แต่ก็มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงมาก ส่งผลถึงอายุงานของกุนซือที่ไม่ยาวนานมากนัก พลาดเมื่อไหร่ มีสิทธิ์ตกงานได้ทุกเมื่อ

ยกตัวอย่างเช่น นิโก้ โควัช ถูกปลดจากกุนซือบาเยิร์น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 หลังผลงานแย่ในบุนเดสลีกา แล้วฮันซี่ ฟลิค เข้ามาสานต่อ จบซีซั่นด้วย “เทรบเบิลแชมป์” เที่ยวที่ 2 ต่อจากซีซั่น 2012/13

กรณีของโควัช ก็คล้ายกับนาเกลส์มันน์ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้บริหารบาเยิร์นประเมินแล้วว่า ถ้าพบแนวโน้มที่จะล้มเหลว มากกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็จะแสดงความเด็ดขาด ด้วยการยื่นซองขาวให้กุนซือทันที

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/BVB

ทางฝั่งดอร์ทมุนด์ ก็มีกรณีของเจอร์เก้น คล็อปป์ ในฤดูกาล 2014/15 ซีซั่นสุดท้ายในการทำงาน จบแค่อันดับที่ 7 เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบกับความล้มเหลว ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง

เรื่องผลงานในสนาม อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้กุนซือต้องแยกทาง อย่างเช่นในปี 2017 โธมัส ทูเคิ่ล มีปัญหากับบอร์ดบริหาร และนักเตะบางคน แม้จะพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาลก็ตาม

ในประวัติศาสตร์ 60 ฤดูกาลของฟุตบอลบุนเดสลีกา เยอรมนี บาเยิร์นมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 33 ครั้ง จาก 26 คน ขณะที่ดอร์ทมุนด์ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 49 ครั้ง จาก 43 คน

อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ คือโค้ช “เสือใต้” ที่คุมทีมนานสุด (6 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.58 ปี ด้านเจอร์เก้น คล็อปป์ คือโค้ช “เสือเหลือง” ที่คุมทีมนานสุด (7 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.14 ปี

ลุ้นแชมป์ลีกเยอรมันซีซั่นนี้ ไม่ได้มีแค่ 2 เสือ

สถานการณ์แย่งแชมป์บุนเดสลีกา 2022/23 เรียกได้ว่าลุ้นสนุกมากกว่าหลายๆ ฤดูกาลที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีเพียงบาเยิร์น กับดอร์ทมุนด์เท่านั้น แต่มีอีก 2-3 ทีม ที่ยังอยู่ในวิสัยพอจะมีลุ้นได้เช่นกัน

ก่อนศึกใหญ่ที่อัลลิอันซ์ อารีน่า ในสุดสัปดาห์นี้ ดอร์ทมุนด์อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนมากกว่าบาเยิร์นแค่แต้มเดียวเท่านั้น แต่ยักษ์ใหญ่จากบาวาเรีย ได้เปรียบตรงที่มีผลต่างประตูได้-เสีย ที่ตุนไว้เยอะ

อย่างไรก็ตาม ถ้านับเฉพาะผลงานในลีกนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2023 เอดิน แทร์ซิซ เทรนเนอร์ของดอร์ทมุนด์ พาทีมชนะได้ถึง 9 เกม หลุดเสมอกับชาลเก้ 04 ในดาร์บี้แมตช์เมืองถ่านหินเพียงแค่เกมเดียวเท่านั้น

ขณะที่บาเยิร์น แม้ผลงานในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ชนะทุกนัด ในจำนวนนี้คลีนชีต 7 นัด และเสียแค่ 2 ประตู แต่ผลงานในลีกไม่สม่ำเสมอ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยูเลี่ยน นาเกลส์มันน์ ตกเก้าอี้กุนซือ

สถิติการพบกันในยุค “บุนเดสลีกา” บาเยิร์น ชนะ 52 ครั้ง ดอร์ทมุนด์ ชนะ 25 ครั้ง เสมอกัน 30 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุดทั้งหมด เมื่อนับรวมยุคก่อนบุนเดสลีกาด้วย เสือใต้ 32 สมัย และเสือเหลือง 8 สมัย

นับตั้งแต่บุนเดสลีกา จัดแข่งขันครั้งแรก ในซีซั่น 1963/64 มี 12 สโมสรที่เคยคว้าแชมป์ โดยทีมล่าสุดที่ไม่ใช่บาเยิร์น และดอร์ทมุนด์ ที่สามารถยืนแป้นอันดับ 1 ของลีก นั่นคือโวล์ฟส์บวร์ก ในฤดูกาล 2008/09

ยูนิโอน เบอร์ลิน, ไฟร์บวร์ก และแอร์เบ ไลป์ซิก ที่แม้จะมีคะแนนตามหลังจ่าฝูง 5, 7 และ 8 แต้ม ตามลำดับ แต่ทั้ง 3 ทีมนี้ ก็ยังมีสิทธิ์คว้าแชมป์สมัยแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน กับโปรแกรมอีก 9 นัดที่เหลือ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://fcbayern.com/en/news/2021/12/11-1-50-years-ago-fc-bayern-celebrated-their-biggest-ever-bundesliga-win

– https://sqaf.club/why-bayern-munich-called-fc-hollywood/

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/borussia-dortmund-1994-95-remembering-first-title-12164

https://bvbbuzz.com/2018/01/24/look-back-borussia-dortmunds-remarkable-financial-recovery/

https://en.wikipedia.org/wiki/Der_Klassiker

Categories
Special Content

ความกังวลของ “แกเร็ธ เซาท์เกต” กับปัญหาแข้งอังกฤษในพรีเมียร์ลีกลดลง

โปรแกรมฟุตบอลในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ยาวไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า จะสลับฉากจากระดับลีก เป็นทีมชาติ ในส่วนฝั่งยุโรป จะเป็นรอบคัดเลือก ของฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีป หรือ “ยูโร 2024”

สำหรับยูโร 2024 รอบคัดเลือก มี 53 ชาติเข้าร่วม (ยกเว้นเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพ และรัสเซีย ที่ยังติดโทษแบนจากยูฟ่า) แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม โดยมี 7 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 5 ชาติ และอีก 3 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 6 ชาติ

แต่ละกลุ่ม คัดเอา 2 อันดับแรก เข้ารอบสุดท้ายอัตโนมัติ ส่วนอีก 3 ชาติที่เหลือ จะเอามาจากชาติที่ตกรอบคัดเลือกยูโร แต่มีผลงานดีที่สุด ในยูฟ่า เนชันส์ ลีก เฉพาะลีก A, B และ C ลีกละ 4 ชาติ มาเตะเพลย์ออฟกันในแต่ละลีก

ในส่วนของทีมชาติอังกฤษ จะประเดิม 2 นัดแรก ด้วยการ “รีแมตช์” คู่ชิงชนะเลิศยูโรครั้งที่แล้ว ในการบุกไปเยือนทีมชาติอิตาลี ที่เนเปิ้ลส์ 23 มีนาคม และจะกลับมาเล่นในเวมบลีย์ พบกับทีมชาติยูเครน 26 มีนาคม

อย่างไรก็ตาม แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือ “ทรี ไลออนส์” ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะอังกฤษที่ได้ลงเล่นเป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีกลดลง เหตุใดเขาจึงออกมาพูดเช่นนี้

ส่องไลน์-อัพอังกฤษ ก่อนประเดิมคัดยูโร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมชาติอังกฤษประกาศรายชื่อ 25 นักเตะชุดสู้ศึกยูโร 2024 รอบคัดเลือก 2 นัดแรกกับอิตาลี ในวันที่ 23 มีนาคม และยูเครน ในวันที่ 26 มีนาคม โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

– ผู้รักษาประตู : จอร์แดน ฟิคฟอร์ด (เอฟเวอร์ตัน), นิค โป๊ป (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด), อารอน แรมส์เดล (อาร์เซน่อล)

– กองหลัง : เบน ชิลเวลล์ (เชลซี), เอริค ดายเออร์ (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), มาร์ค เกฮี (คริสตัล พาเลซ), รีช เจมส์ (เชลซี), แฮร์รี่ แม็กไกวร์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ลุค ชอว์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), จอห์น สโตนส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ไคล์ วอล์คเกอร์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)

– กองกลาง : จู๊ด เบลลิงแฮม (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), คอเนอร์ กัลลาเกอร์ (เชลซี), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (ลิเวอร์พูล), เจมส์ แมดดิสัน (เลสเตอร์ ซิตี้), คัลวิน ฟิลลิปส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม), เมสัน เมาท์ (เชลซี)

– กองหน้า : ฟิล โฟเด้น (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แจ็ค กริลิช (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แฮร์รี่ เคน (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), บูกาโย่ ซาก้า (อาร์เซน่อล), อิวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มี 3 แข้งขอถอนตัวออกไป เริ่มจากนิค โป๊ป ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่นิวคาสเซิล ชนะฟอเรสต์ 2 – 1 ในเกมลีกนัดล่าสุด โดยเฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์ นายทวารจากสเปอร์ เสียบแทน

รายต่อมาคือเมสัน เมาท์ ที่ไม่ได้ลงเล่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน และล่าสุดเป็นรายของแรชฟอร์ด ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่เอาชนะฟูแล่ม 3 – 1 ในถ้วยเอฟเอ คัพ

นักเตะผู้ดีในพรีเมียร์ลีกน้อยลงเรื่อย ๆ

“ตัวเลขก็คือตัวเลข และมันก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่ผมรับงานอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นชัดเจนเลยว่า มันคือกราฟขาลงแบบไม่มีข้อโต้แย้ง”

“จำนวนนักเตะอังกฤษที่ลดลงอย่างรวดเร็วในพรีเมียร์ลีก มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่ในอีก 4-5 ปีต่อจากนี้ มันอาจจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือแค่ 28 เปอร์เซ็นต์”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของแกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะชาวอังกฤษที่เป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีก กำลังน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว

สำหรับในฤดูกาล 2022/23 มีนักเตะอังกฤษลงเล่นในพรีเมียร์ลีก 161 คน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ฤดูกาลหลังสุด และอีก 22 คน ลงเล่นใน 4 ลีกใหญ่ของยุโรป (เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส)

เมื่อมาดูตัวเลขของนักเตะสัญชาติอังกฤษ ที่ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ คำนวณออกมาเป็นจำนวนนาที พบว่าอยู่ในอันดับที่ 6 น้อยกว่าฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกส และบราซิล ตามลำดับ

และถ้าเจาะลึกลงไปสำหรับเปอร์เซ็นต์การลงสนามในพรีเมียร์ลีก ของ 23 นักเตะสิงโตคำรามที่ติดทีมในการคัดเลือกยูโร 2 เกมแรก ปรากฏว่า ในจำนวนนี้ มีอยู่ 7 คน ที่ลงเล่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ไคล์ วอล์คเกอร์, คอเนอร์ กัลลาเกอร์, รีช เจมส์, เบน ชิลเวลล์, เฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และคัลวิน ฟิลลิปส์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ซีซั่นหลังสุด นักเตะจากสโมสร “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก (อาร์เซน่อล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์) ลงเล่นคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16 เปอร์เซ็นต์ ของ 4 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

ไม่ใช่แค่เซาท์เกตเท่านั้นที่กังวล โรแบร์โต้ มันชินี่ เทรนเนอร์ของ “อัซซูรี่” คู่แข่งของอังกฤษในเกมเปิดหัว คืนวันพฤหัสบดีนี้ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาก็เจอปัญหาขาดแคลนนักเตะชาติตัวเองในลีกสูงสุดเช่นกัน

แม้สโมสรจากเซเรีย อา จะผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 3 ทีม แต่มีนักเตะอิตาลีรวมกันไม่ถึง 10 คน จำนวนนาทีที่นักเตะลงเล่นในถ้วยใหญ่ยุโรป อยู่ในอันดับที่ 8 ต่ำกว่าอังกฤษเสียอีก

อีกไม่นานคงต้องหานักเตะจากลีกรอง

แกเร็ธ เซาท์เกต นายใหญ่สิงโตคำราม ชี้ว่า ตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ที่ใช้เงินมากถึง 815 ล้านปอนด์ คือการตัดโอกาสนักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีก และเขาอาจจะต้องหานักเตะจากลีกแชมเปี้ยนชิพมาทดแทน

และนี่คือหน้าตาของทีมชาติอังกฤษ ถ้าเซาท์เกตอยากหานักเตะฝีเท้าดีจากลีกรอง (แผนการเล่น 4-3-3หรือ 4-2-3-1)

– เฟรดดี้ วูดแมน (เปรสตัน นอร์ทเอนด์) : อดีตผู้รักษาประตูนิวคาสเซิล วัย 26 ปี เล่นตำแหน่งเดียวกับแอนดี้ วูดแมน คุณพ่อของเขา เก็บคลีนชีตได้ 16 นัด จาก 38 นัด ให้กับเปรสตันในฤดูกาลนี้

– ไรอัน ไจล์ส (มิดเดิลสโบรช์) : ฟูลแบ็กฝั่งซ้ายวัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากวูล์ฟแฮมป์ตัน ทำ 11 แอสซิสต์ จาก 38 นัด ให้กับมิดเดิลสโบรช์ ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาลนี้ ภายใต้การคุมทีมของไมเคิล คาร์ริก

– เทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส (เบิร์นลีย์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 21 ปี ที่ยืมตัวมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นเกมรุกได้ และเคยติดทีมชาติอังกฤษชุดเยาวชนทุกรุ่น ตั้งแต่ชุดยู-16 จนถึงยู-21

– ชาร์ลี เครสเวลล์ (มิลล์วอลล์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 20 ปี ที่ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ลูกชายของริชาร์ด เครสเวลล์ อดีตกองหน้าชื่อดัง กำลังพามิลล์วอลล์ลุ้นพื้นที่เพลย์ออฟ เพื่อเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก

– แม็กซ์ อารอนส์ (นอริช ซิตี้) : ฟูลแบ็กฝั่งขวาวัย 23 ปี เพชรเม็ดงามจากอคาเดมี่ของนอริช ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2018 และเคยตกเป็นเป้าหมายของบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่จากสเปนมาแล้ว

– เจมส์ แม็คอาธี (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) : มิดฟิลด์วัย 20 ปี ยิง 5 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ ในลีก ซึ่งเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมของเขา จับสลากพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้นสังกัดที่แท้จริง ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ

– อเล็กซ์ สกอตต์ (บริสตอล ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 19 ปี มีจุดเด่นในเรื่องแอสซิสต์ให้เพื่อนยิงประตู ได้รับการคาดหมายว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของลีกรอง โดยมีทีมจากพรีเมียร์ลีกหลายทีมให้ความสนใจเขา

– จอร์จ ฮอลล์ (เบอร์มิงแฮม ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 18 ปี เติบโตจากอคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เดียวกับจู๊ด เบลลิ่งแฮม ซึ่งทรอย ดีนี่ย์ กองหน้าเพื่อนร่วมทีม บอกว่า เขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของอังกฤษแน่นอน

– นาธาน เทลล่า (เบิร์นลีย์) : มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยิมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 3 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมของกุนซือแว็งซองต์ กอมปานี จ่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรองเต็มที

– โจ เกลฮาร์ดท์ (ซันเดอร์แลนด์) : ศูนย์หน้าวัย 20 ปี ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลงเล่นให้ซันเดอร์แลนด์ 10 นัด ในลีกรอง ทำได้ 1 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

– ชูบา อัคปอม (มิดเดิลสโบรช์) : อดีตกองหน้าอาร์เซน่อล วัย 27 ปี ทำได้ 24 ประตู จาก 31 นัด ในลีก มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ “เดอะ โบโร่” มีลุ้นเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ท้ายตารางเมื่อช่วงต้นซีซั่น

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/64988328

– https://www.bbc.com/sport/football/65014530

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/17/what-england-team-would-look-like-filled-current-championship/

– https://www.skysports.com/football/news/11095/12835452/gareth-southgate-admits-concern-over-englands-shrinking-talent-pool-with-only-32-per-cent-of-starters-in-premier-league-eligible

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11885279/We-worse-Southgate-Roberto-Mancini-bemoans-lack-homegrown-talent-Italy.html

Categories
Special Content

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

มาดริด และบาร์เซโลน่า 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และความขัดแย้งนั้น ก็ได้ส่งต่อสู่เกมฟุตบอล ที่ดวลบนสนามหญ้ามานานกว่า 100 ปี

การพบกันของ 2 สโมสรลูกหนังที่ดีที่สุดในสเปน และอาจจะดีที่สุดในโลก ระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถูกเรียกว่า “เอล กลาซิโก้” (El Clásico) เจอกันครั้งใดก็สัมผัสได้ถึงความคลาสสิก

แมตช์นี้ มีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมดา ๆ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 2 เมืองใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ราชันชุดขาว” ถูกมองว่าเป็นทีมของฝ่ายอำนาจนิยม ส่วน “เจ้าบุญทุ่ม” คือตัวแทนแห่งเสรีนิยม ที่ต้องการปลดแอกจากเมืองหลวง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะเผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้ ก็มีประเด็นของบาร์เซโลน่า ที่ถูกลาลีกากล่าวหาว่าติดสินบนกรรมการ และเรอัล มาดริด อริตัวแสบ ก็ไม่พลาดที่จะร่วมฟ้องร้องด้วย

“เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้ ชิ้ทิศทางลุ้นแชมป์

ก่อนการต่อสู้ในยกสอง ที่สปอติฟาย คัมป์ นู สถิติการพบกันในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 77 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุด เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

สถานการณ์ล่าสุดของการลุ้นแชมป์ลาลีกา 2022/23 บาร์เซโลน่า นำเป็นจ่าฝูง มี 65 คะแนน นำห่างเรอัล มาดริด ทีมอันดับที่ 2 อยู่ 9 แต้ม ผลแข่ง “เอล กลาซิโก้” ครั้งที่ 186 ในลีก จะเป็นตัวชี้ทิศทางการลุ้นแชมป์ของทั้ง 2 ทีม

การจัดอันดับคะแนนในลาลีกา ถ้ามีทีมที่คะแนนเท่ากัน (2 ทีมหรือมากกว่า) จะพิจารณาผลการแข่งขันที่ในแมตช์ที่พบกันเอง (เฮด-ทู-เฮด) เป็นลำดับแรก ซึ่งการใช้กฎเฮด-ทู-เฮดนั้น จะมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว

การดู “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกสเปน จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้-เสียนับรวมทั้งซีซั่น ซึ่งแมตช์แรกที่ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นราชันชุดขาว เอาชนะ 3 – 1

ความเป็นไปได้ของผลการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ ถ้าเรอัล มาดริด เก็บชัยได้ จะจี้บาร์เซโลน่าเหลือ 6 แต้ม และผลงาน “เฮด-ทู-เฮด” ดีกว่า หรือผลเสมอ ก็ตามหลังบาร์เซโลน่า 9 แต้มเท่าเดิม แต่ “เฮด-ทู-เฮด” ยังเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายชนะ ต้องแยกออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

– ชนะด้วยผลต่าง 1 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แต่ผลงานเฮด-ทู-เฮด เรอัล มาดริด ยังได้เปรียบ

– ชนะด้วยผลต่าง 2 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม ผลงานเฮด-ทู-เฮด เท่ากับเรอัล มาดริด ต้องไปวัดที่ประตูได้-เสีย โดยในตอนนี้ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ 47 เสีย 8 (ผลต่าง +39) ส่วน “ราชันชุดขาว” ได้ 50 เสีย 19 (ผลต่าง +31)

– ชนะด้วยผลต่าง 3 ประตู หรือมากกว่า : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แถมผลงานเฮด-ทู-เฮด เหนือกว่าเรอัล มาดริด อีกด้วย

เริ่มต้นจากการเป็นมิตร

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลน่าจะเป็นศัตรูกันแบบในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นมิตรที่ดี เกื้อหนุนกันมาก่อน อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง

ในอดีต แคว้นคาตาลุญญ่า คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรอารากอน มีเมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองท่าสำคัญ มีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสถาปัตยกรรม

ส่วนอาณาจักรกาสติลญ่า ที่มีเมืองมาดริดเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นศูนย์กลางในด้านการเมืองการปกครอง มีจุดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1469 เมื่อเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่งกาสติลญ่า ทำให้เกิดการผนวกระหว่าง 2 อาณาจักรใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปน

จักรวรรดิสเปน คือการหลอมรวมอานาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากจักรวรรดิสเปนเกิดขึ้น เมืองบาร์เซโลน่าเจริญขึ้นมากจากการค้าขายทางเรือ ส่วนเมืองมาดริดค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงในปี 1561

รอยร้าวเล็ก ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

แม้ 2 อาณาจักรใหญ่จะรวมกันเป็นสเปนแล้ว การปกครองก็ยังเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริด และบาร์เซโลน่า ดูเหมือนจะราบรื่น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกระหว่างสองเมือง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สงครามชิงบัลลังก์ราชวงศ์ ในปี 1714 คาตาลุญญ่าเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ทำให้ถูกริบสิทธิและอำนาจการปกครองของตัวเอง รวมถึงภาษา วัฒนธรรมของแคว้น ก็ถูกอำนาจของสเปนกดทับไว้

ต่อมาในปี 1808 สงครามคาบสมุทร ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสงครามนโปเลียน เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ถอนกำลังจากโปรตุเกส และเข้าโจมตีเมืองบาร์เซโลน่า ของสเปนแทน

ทว่าในช่วงเวลาของสงครามคาบสมุทรนั้น สเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทหารนับแสนนายไม่สามารถทำอะไรได้ ปล่อยให้จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเมืองบาร์เซโลน่า และส่งคนเข้ามาปกครองสเปนในที่สุด

แม้ในภายหลัง สเปนจะได้เมืองบาร์เซโลน่ากลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวคาตาลัน ที่ถูกทอดทิ้งจากการต่อสู้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองนี้ไปแล้ว

ชิงความเป็นหนึ่งด้วยเกมลูกหนัง

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การก่อตั้งสโมสรเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลน่า ที่เป็นตัวแทนของ อุดมการณ์ ซึ่งผลงานในสนาม คือการพิสูจน์ว่าเมืองของตัวเองเหนือกว่าอีกเมืองหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

หลายคนเข้าใจว่า เมืองบาร์เซโลน่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในบางครั้ง กรุงมาดริดก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้ว ฝ่ายบาร์เซโลน่าโดนหนักกว่ามาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายมาดริดโกรธแค้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือเหตุการณ์ที่นักเตะเรอัล มาดริดรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารในคาตาลุญญ่า เมื่อปี 1916 แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เป็นฝีมือของชาวคาตาลันหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ โคปา เดล เรย์ เมื่อปี 1930 ที่เรอัล มาดริด แพ้ให้กับแอธเลติก บิลเบา ซึ่งต้นเหตุมาจากผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว เป็นชาวคาตาลัน ที่ทำหน้าที่ตัดสินแบบค้านสายตา

แตกหักเพราะสงครามกลางเมือง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ก็ยิ่งทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ไม่มีวันที่จะญาติดีกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นายพลฟรังโก้ เข้ามาปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1936 นิยมแนวคิดแบบขวาจัด ต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายบาร์เซโลน่าต่อต้านอย่างหนัก เพราะเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของคาตาลุญญ่า

ความคับแค้นของบาร์เซโลน่า ที่มีต่อเรอัล มาดริด เริ่มจากโฆเซป ซูโยล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสรีนิยมแห่งคาตาโลเนียในขณะนั้น ถูกฝ่ายของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร

เท่านั้นยังไม่พอ นายพลจอมฟาสซิสต์รายนี้ ได้จัดการเอาธงคาตาลันออกจากโลโก้ของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน สั่งห้ามพูดภาษาคาตาลัน และส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

สงครามกลางเมืองของสเปน เกิดจากทหารที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลฝ่ายซ้าย นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนเผด็จการ กับผู้สนับสนุนเสรีนิยม ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของนายพลฟรังโก้ ในปี 1939

และในปี 1943 เกมโคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่า 11 – 1 สร้างสถิติชนะขาดลอยที่สุดใน “เอล กลาซิโก้” แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้อยู่เบื้องหลัง

ตำนานชิงตัว “ดิ สเตฟาโน่ – ฟิโก้”

นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ถูกเล่าขานระดับตำนาน คือกรณีของอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และหลุยส์ ฟิโก้ ซึ่งเป็นเรอัล มาดริด ที่กระทำกับบาร์เซโลน่าถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 1953 บาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายที่ทาบทามตัว ดิ สเตฟาโน่ ก่อน โดยอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เรอัล มาดริด ได้อาศัยช่องว่างด้วยการอ้างกฎอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้

กฎของฟุตบอลลีกสเปนในเวลานั้น คือ การซื้อผู้เล่นต่างชาติ ต้องมีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่รัฐบาลสเปน กลับออกกฎใหม่โดยให้มีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่แท้จริง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าก็ตาม

ยื้อกันไปยื้อกันมา ทำให้ฟุตบอลลีกสเปน ตัดสินใจให้ทั้ง 2 ทีม สลับกันใช้งาน ดิ สเตฟาโน่ ตลอดเวลา 4 ฤดูกาล และหลังจากนั้น เป็นราชันชุดขาว ที่ได้ตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร และกลายเป็นตำนานในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวในที่สุด

ต่อมาในปี 2000 เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาล หลังจากฟลอเรนติโน่ เปเรซ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

อันที่จริง เปเรซได้วางแผนฉกฟิโก้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานของเรอัล มาดริดแล้ว โดยเดิมพันผ่านเอเย่นต์ส่วนตัวของดาวเตะโปรตุกีสรายนี้ว่า ถ้าตัวเขาแพ้เลือกตั้ง ยินดีจ่ายเงินให้ 4 ล้านยูโร แต่ถ้าชนะ ต้องย้ายมาค้าแข้งกับ “โลส บลังโกส” ทันที

ซึ่งเปเรซก็ชนะการเลือกตั้งจริงๆ และได้ตัวฟิโก้มาร่วมทีมสมใจอยาก เรียกว่าเป็นการตบหน้าบาร์เซโลน่าครั้งใหญ่ ทำเอาแฟนๆ อาซุลกราน่าโกรธแค้น ถึงขั้นสาปส่งฟิโก้ว่าเป็น “จูดาส” หรือคนทรยศ เหยียบเมืองบาร์เซโลน่าไม่ได้อีกต่อไป

ถึงอย่างไรก็ขาดกันไม่ได้อยู่ดี

หลังหมดยุคนายพลฟรังโก้ สเปนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในปี 1983 จังหวัดมาดริดได้แยกออกจากแคว้นกาสติย่า จัดตั้งเป็น “แคว้นมาดริด”

แต่จากความขัดแย้งที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก้เรืองอำนาจ ความพยายามของคาตาลุญญ่าที่ต้องการจะแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางก็ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะพวกเขาคือคาตาลัน ไม่ใช่ชาวสเปน

กระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รุนแรงขึ้นในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 มีชาวคาตาลันประมาณ 2 ล้านคน ไปลงคะแนนโหวต ผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 90% สนับสนุนให้คาตาลุญญ่าเป็นเอกราช

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ ผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสเปน ทำให้สเปนส่งเจ้าหน้าที่มายึด และทำลายคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ รวมถึงสลายผู้คนที่รวมตัวกันในบริเวณนั้น จนเกิดการปะทะขึ้นกลายเป็นเหตุรุนแรง

อีก 26 วันต่อมา (27 ตุลาคม 2017) แกนนำที่เคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ได้อ่านคำประกาศอิสรภาพในการเป็นเอกราชของคาตาลุญญ่า แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจการปกครองจากคาตาลันทันที

มีการวิเคราะห์ว่า การแยกตัวของคาตาลุญญ่าออกจากสเปน อาจจะส่งผลกระทบต่อลาลีกาไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด คือแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผลประโยชน์มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลสเปน

แม้บาร์เซโลน่า จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาดริด และอาจถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน แต่การที่ศึกเอล กลาซิโก้ ยังมีเสน่ห์ที่น่าติดตามเช่นนี้ ลาลีกาก็อาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่ทั้งคู่ยังได้พบกันต่อไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.the101.world/the-rivalry-ep-1/

https://www.barcablaugranes.com/2017/4/21/15381184/the-transfers-of-figo-and-di-stefano

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Catalan_independence_referendum

Categories
Football Business

เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ? : เมื่อ “พรีเมียร์ลีก” เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง ของกุนซือเลือดกระทิง

การถือกำเนิดของพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1992 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะเป็นการเปิดประตูให้เม็ดเงิน ผู้เล่น และผู้จัดการทีมจากต่างชาติ ได้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองผู้ดีมากขึ้น

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ได้มีโค้ชต่างชาติหลายๆ คน ก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาความสนุกเร้าใจ และสร้างความสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้ลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับความนิยมไปทั่วโลก

โดยเฉพาะบรรดากุนซือสัญชาติ “สเปน” ที่ได้เข้ามาคุมทีมในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังๆ นั้น มีเหตุผลมาจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ? ติดตามไปพร้อมกันได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ราฟา เบนิเตซ ผู้เปิดตำนานโค้ชสเปนในลีกผู้ดี

ผู้จัดการทีมชาวสเปนคนแรกในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือ ราฟาเอล เบนิเตซ ที่เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2004/05 และสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการชนะเอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นโทรฟี่แรก

ตามมาด้วยแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, แชมป์เอฟเอ คัพ, แชมป์คอมมูนิตี้ ชิลด์ และเกือบพา “หงส์แดง” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2008/09 ก่อนที่ในซีซั่นถัดมา จบเพียงแค่อันดับที่ 7 จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง

หลังจากนั้น ราฟาก็ได้รับงานคุมสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีก 3 ทีม คือ เชลซี ช่วยทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่อด้วยการพานิวคาสเซิล เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ และปิดท้ายที่เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/ChelseaFC

ราฟา เบนิเตซ ถือเป็นผู้ที่ปูทางให้กับโค้ชชาวสเปนคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา ยังมีอีก 5 เทรนเนอร์เลือดกระทิง ที่ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือในลีกยอดนิยมอย่างพรีเมียร์ลีก ในช่วงกลางยุค 2000s ถึงกลางยุค 2010s ดังนี้

– ฆวนเด้ รามอส (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์) : เข้ามาคุมทีมไก่เดือยทองในฤดูกาล 2007/08 และคว้าแชมป์ลีก คัพ ซึ่งนั่นคือแชมป์รายการล่าสุดของสโมสร ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม ปี 2008

– โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ (วีแกน / เอฟเวอร์ตัน) : รับงานกับวีแกนในพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2009 และสร้างเทพนิยายคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 2013 แม้จะตกชั้นจากลีกสูงสุด ก่อนจะย้ายไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน จนถึงปี 2016

– เปเป้ เมล (เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน) : เข้ามารับงานในเดือนมกราคม 2014 เซ็นสัญญา 18 เดือน พา “เดอะ แบ็กกี้ส์” ได้ที่ 17 รอดตกชั้นหวุดหวิด แต่การทำทีมชนะแค่ 3 จาก 17 เกม เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง

– กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส (วัตฟอร์ด) : เปิดประสบการณ์คุมทีมบนเวทีพรีเมียร์ลีกกับ “เดอะ ฮอร์เน็ตส์” เมื่อฤดูกาล 2015/16 ก่อนแยกทางหลังจบซีซั่น แล้วกลับมารับงานอีกครั้งในปี 2019 แต่อยู่ได้เพียง 3เดือน ก็ถูกปลด

– ไอตอร์ การันก้า (มิดเดิลสโบรช์) : กุนซือผู้พา “เดอะ โบโร่” เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016/17 และได้ยืมตัวอัลบาโร่ เนเกรโด้ กองหน้าเพื่อนร่วมชาติ ช่วยยิงได้ถึง 10 ประตู แต่ไม่สามารถช่วยให้ทีมรอดตกชั้น

ช่วงทศวรรษแรก กับกุนซือชาวสเปน 6 คน ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว จนกระทั่งการมาของชายที่ชื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟุตบอลอังกฤษ และสร้างความยิ่งใหญ่ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

คนที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน จะทราบดีว่า สไตล์การเล่นของฟุตบอลอังกฤษขนานแท้ คือเน้นการโยนบอลยาว แล้วอาศัยความแข็งแกร่ง ในการดวลลูกกลางอากาศ หรือเสียบสกัดคู่แข่งแบบถึงลูกถึงคน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/mancity

แต่การมาถึงของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลูกหนังเมืองผู้ดี ด้วยแท็กติกการเล่นบอลสั้น ขึ้นเกมรุกจากแดนหลัง แทนที่จะใช้ลูกโด่ง แย่งบอลวัดดวงเหมือนในอดีต

โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้รักษาประตู เป๊ปตัดสินใจลดบทบาทของโจ ฮาร์ท ไปเป็นตัวสำรอง โดยให้เหตุผลว่า อดีตนายทวารทีมชาติอังกฤษรายนี้ ไม่ใช่สเปกที่ตัวเองต้องการ เพราะออกบอลสั้นด้วยเท้าไม่เก่ง

ทำให้อดีตกุนซือบาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค ตัดสินใจดึงตัวเคลาดิโอ บราโว่ มาแทน แต่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแท็กติกได้ จึงซื้อตัวเอแดร์ซอน มาร่วมทีม และกลายเป็นตัวหลักจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนที่เป๊ปจะเข้ามาคุมทีมแมนฯ ซิตี้ ผู้รักษาประตูพรีเมียร์ลีก มีสัดส่วนการเล่นบอลยาวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วง 7 ปีหลังสุด ลดลงเหลือ 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือนายทวารสมัยใหม่ตามแนวคิดของเขา

เมื่อการเล่นบอลยาวจากผู้รักษาประตูลดลง ทำให้ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลจากแดนหลัง ในช่วง 7 ปี หลังสุด เพิ่มขึ้นเป็น 912 ครั้งต่อเกม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เป๊ปเข้ามาทำงานในอังกฤษ มีค่าเฉลี่ย 869 ครั้งต่อเกม

วิธีการของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ได้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นถึงความยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวม 11 โทรฟี่ ขาดเพียงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ยังต้องตามหาต่อไป

ใครจะเชื่อว่า ฟุตบอลที่เน้นการต่อบอลสั้น ที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดถึงขั้นเสียประตู จะได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ ทีมในลีกรองของอังกฤษ และในยุโรป เริ่มเปลี่ยนมาเอาอย่างแมนฯ ซิตี้

แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้เพราะเงินล้วนๆ มันไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ 5 ฤดูกาลหลังสุด เรือใบสีฟ้า ไม่เคยครองอันดับ 1 ทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในลีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อจากเป๊ป ก็มีกุนซือเลือดสแปนิชตามมาเรื่อยๆ

หลังจากที่สุดยอดกุนซืออย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาเขย่าพรีเมียร์ลีก ในช่วงเวลาแค่ 7 ปีหลังสุด ก็ได้มีโค้ชชาวสเปน เข้ามาคุมทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษอีก 6 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับช่วงระหว่างปี 2004-2015

นอกเหนือจากเป๊ปแล้ว ยังมีกุนซือจากแดนกระทิงดุที่รับงานอยู่ในปัจจุบันอีก 5 คน ประกอบด้วย มิเกล อาร์เตต้า (อาร์เซน่อล), อูไน เอเมรี่ (แอสตัน วิลล่า), ฆูเลน โลเปเตกี (วูล์ฟส์แฮมป์ตัน), รูเบน เซลเลส (เซาแธมป์ตัน) และฆาบี้ กราเซีย (ลีดส์ ยูไนเต็ด)

ความจริงยังมีซิสโก้ มูนญอซ โค้ชอิมพอร์ตจากสเปนอีกหนึ่งคน ที่เคยรับงานคุมทีมในพรีเมียร์ลีกกับวัตฟอร์ด ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ถึงกันยายน 2021 แต่ถูกปลดออกไป เนื่องจากทำผลงานได้ย่ำแย่ ชนะแค่ 2 จาก 7 นัดแรกของฤดูกาล 2021/22

นั่นแสดงให้เห็นว่า โค้ชฟุตบอลเลือดสแปนิช เริ่มที่จะมองลีกอังกฤษเป็นเป้าหมายต่อไปในการสร้างชื่อเสียง และค่าจ้างที่มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทีมในพรีเมียร์ลีกหลายทีม ได้มีการลงทุนในสโมสรอย่างเต็มที่

เมื่อเร็วๆ นี้ ดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ได้มีการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่ทำเงินเข้ามามากที่สุด (Deloitte Football Money League) ประจำปี 2023 โดยวัดจากรายรับในฤดูกาล 2021/22

ปรากฏว่า ใน 30 อันดับแรก มีทีมจากพรีเมียร์ลีก ติดเข้ามาถึง 16 ทีม ซึ่งแตกต่างจากลาลีกา สเปน ที่มีเพียง 5 ทีมเท่านั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษติดอันดับเกินครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการจัดอันดับมา 26 ปี

ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีก เป็นที่น่าสนใจของผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวสเปนมากขึ้น คือคุณภาพของผู้เล่น การเคลื่อนที่เป็นจังหวะเร็ว เกมที่มีความเข้มข้นสูง และบรรยากาศการเชียร์ของแฟนบอลที่คึกคัก

การที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลสัญชาติสเปน เข้ามาแสวงหาความท้าทายบนแผ่นดินอังกฤษมากกว่าในอดีต เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า พรีเมียร์ลีกกำลังจะไปอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าลาลีกาในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/why-spaniards-dream-managing-england-not-just-money/

https://theathletic.com/3327242/2022/05/24/guardiola-premier-league-change/

https://thegodofsports.com/how-pep-guardiola-transformed-man-city-into-a-giant/

https://sport360.com/article/football/english-premier-league/283343/how-spanish-managers-have-fared-in-the-premier-league-as-unai-emery-takes-the-reins-at-arsenal

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_managers

https://www2.deloitte.com/uk/en/pages/sports-business-group/articles/deloitte-football-money-league.html

Categories
Football Business

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้ง “องค์กรอิสระ” ดูแลความยั่งยืนลูกหนังเมืองผู้ดี

เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลอังกฤษมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไฟเขียวประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระ ในการกำกับดูแลเกมลูกหนังของประเทศ

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลอังกฤษได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ในการรวบรวมความคิดเห็น และกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกมลูกหนังเมืองผู้ดีเสียใหม่

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาขยายให้ฟังถึงรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

“สมุดปกขาว” นำไปสู่การปฏิรูป

จุดเริ่มต้นการปฏิรูปฟุตบอลของประเทศอังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “Review of Football Governance”

เบื้องหลังของรายงานฉบับดังกล่าว มาจากแฟนฟุตบอลและรัฐบาลที่ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องหาวิธีการที่จะมีการควบคุมการบริหารงานของทีมฟุตบอล ไม่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม

ข้อเสนอแนะการยกเครื่องที่ตกผลึกแล้ว ได้รวมอยู่ในสมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “A Sustainable Future – Reforming Club Football Governance” ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของเอกสารสมุดปกขาว อยู่ที่การผลักดันให้รัฐบาล จัดตั้ง “ผู้ควบคุมกิจการด้านฟุตบอล” (Football regulator) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจควบคุมดูแลลูกหนังในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของ Football regulator ได้กำหนดกฎเหล็กไว้ 5 ข้อ ได้แก่ ป้องกันความล้มเหลวด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล, กำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่เข้มงวดขึ้น, หยุดแนวคิดการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ชอบธรรม, ให้อำนาจแฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร และการจัดสรรเงินที่ยุติธรรมตามลำดับขั้นแบบพิระมิด

“การปฎิรูปครั้งใหม่ แฟนบอลคือหัวใจสำคัญในการปกป้องรากฐานที่ยาวนานของวงการฟุตบอลในประเทศ และส่งต่อเกมฟุตบอลที่สวยงามให้กับคนรุ่นหลังสืบไป” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ

ด้านลูซี่ เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่า “สมุดปกขาวฉบับนี้ แสดงถึงการปฎิรูปกีฬาฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีมานานกว่า 165 ปี”

กรณีศึกษาของบิวรี่ และแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 บิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา

สาเหตุสำคัญที่บิวรี่หลุดออกจากลีกอาชีพ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายนักเตะ และพนักงานของสโมสร นับเป็นสโมสรแรกในรอบ 27 ปี ที่ต้องพบกับจุดจบดังกล่าว ปิดฉาก 134 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในลีกฟุตบอลระดับอาชีพ

อีกทีมหนึ่งที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในเนชั่นแนล ลีก (ดิวิชั่น 5) เมื่อฤดูกาล 2020/21 แต่ยังไม่ทันเปิดซีซั่น สโมสรถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จนต้องเริ่มใหม่ที่ดิวิชั่นต่ำสุดในซีซั่นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางสโมสรที่โชคดี ยังรักษาสถานภาพทีมระดับอาชีพไว้ได้ เช่น ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ต้องแลกด้วยการถูกตัดแต้มอยู่หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด

ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่จากรัฐบาล จะมีการสร้างระบบออกใบอนุญาต เพื่อบังคับให้สโมสรต่าง ๆ แสดงรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยป้องกันความล้มเหลวด้านการเงิน ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดกับหลายสโมสร

ทดสอบนายทุนเมื่อมีการเทคโอเวอร์

ตัวอย่างจากการซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เมื่อเดือนตุลาคม 2021 แอมเนสตี้ แถลงประณามกลุ่มทุนจากซาอุดีอารเบีย ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์เป็นผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับการยื่นข้อเสนอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของมหาเศรษฐีจากกาตาร์ ที่ทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ส่วนกรณีของโรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน จนถูกบังคับขายสโมสรในเดือนมีนาคม 2022 และท็อดด์ โบห์ลี่ กลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่

โดยหน่วยงานอิสระของรัฐบาล จะมีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์หลักประกันว่า เจ้าของทีมและผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลงทุนในสโมสรจริง ๆ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ดับฝันกบฏที่เป็นภัยต่อฟุตบอลอังกฤษ

จากการก่อตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ในเดือนเมษายน 2021 สโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาก็ยอมถอนตัวออกมาในที่สุด

แม้จะออกมายอมรับความผิดพลาด แต่บรรดาแฟนบอลต้องการทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก จึงเรียกร้องให้มีการออกกฎเพื่อหยุดสโมสรที่พยายามจะทำลายพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้คืนชีพอีกครั้ง กับรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามี 60 – 80 ทีมเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 4 ดิวิชั่น มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสโมสรใดเข้าร่วมบ้าง

การถือกำเนิดของ “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาลอังกฤษ จะมีอำนาจในการหยุดความพยายามของสโมสรในอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อเกมฟุตบอลในประเทศ

ป้องกันการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าที่ไม่เข้าท่า

เมื่อปี 2012 กรณีของวินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จัดการเปลี่ยนสีเสื้อทีมเหย้าจากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง และเปลี่ยนโลโก้จากนก เป็นมังกร ตามความเชื่อแบบเอเชีย จนถูกแฟนบอลตำหนิอย่างรุนแรง

ผ่านไป 3 ปี วินเซนต์ ตัน ทานกระแสต่อต้านจากแฟนบอลไม่ไหว จนต้องกลับสู่สิ่งเดิมทั้งเสื้อ และโลโก้ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกได้ว่าบรรยากาศภายในสโมสรกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอลกลับมาสนับสนุนทีมเต็มที่

หรือกรณีของฮัลล์ ซิตี้ ในปี 2013 อัสเซม อัลลัม เจ้าของทีม พยายามเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น “ฮัลล์ ซิตี้ ไทเกอร์ส” แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธคำขอ ทำให้ตัวเขาตัดสินใจขายสโมสรในปีถัดมา

สำหรับหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ จะมอบอำนาจให้แฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของสโมสร ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ทั้งการเปลี่ยนชื่อสโมสร, โลโก้ของสโมสร, สีประจำสโมสร และอื่นๆ

การกระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นเรื่องการเงินระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดข้อตกลงในการลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการจัดสรรเงินที่ยุติธรรม เพื่อให้ทีมระดับล่าง ๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น

ริค แพร์รี่ ประธานอีเอฟแอล (EFL) ต้องการส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการออกอากาศรวมกับพรีเมียร์ลีก อีกทั้งขอให้ยกเลิกกฎการจ่ายเงินแบบชูชีพ (Parachute Payment) สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“พรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก (1992/93) ช่องว่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับลีกรองอยู่ที่ 11 ล้านปอนด์ ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้นตลอดเวลา จุดประสงค์ของเราคือการทำให้สโมสรมีความยั่งยืนในระยะยาว” อดีตซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าว 

จนถึงเวลานี้ การเจรจาระหว่างพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้คือ ให้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล เข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหา

ปฏิกิริยาจากผู้คนในแวดวงลูกหนัง

จากการที่รัฐบาลอังกฤษ เปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลฟุตบอลในประเทศ ก็ได้มีปฏิกิริยาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามมามากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด มาสเตอร์ส (ประธานพรีเมียร์ลีก) : “เรารู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่กฎระเบียบของรัฐบาล จะต้องไม่ทำลายการแข่งขัน หรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน”

สตีฟ แพริช (เจ้าของร่วมคริสตัล พาเลซ) : “มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อังกฤษจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟุตบอลถูกควบคุมโดยรัฐบาล แน่อนว่าสมุดปกขาวเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจมีปีศาจซ่อนอยู่”

เดวิด ซัลลิแวน (ประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด) : “ผมคิดว่าเป็นความพยายามโปรโมตผลงานของรัฐบาลมากกว่า รัฐบาลนี้แย่มากที่มาจัดการทุกอย่าง ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐบาล”

องค์กรควบคุมฟุตบอลของรัฐบาลอังกฤษ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2024 คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะปกป้อง รักษาวัฒนธรรมฟุตบอลที่ดีงามไว้ให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.gov.uk/government/publications/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future

– https://www.gov.uk/government/publications/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance

– https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9255/CBP-9255.pdf

– https://theathletic.com/4245991/2023/02/24/explained-white-paper-regulation-epl-efl/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/02/22/football-regulator-should-not-have-needed-game-has-blame/

Categories
Special Content

บิลลี่ เมเรดิธ : ตำนานแข้งแมนฯ ซิตี้ ผู้มีเอี่ยวคดีแหกกฎการเงินยุคโบราณ

ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน คือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกทางพรีเมียร์ลีก ตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงินมากกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 จากการสืบสวนที่ใช้เวลานานถึง4 ปี

พรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่า ตลอด 9 ปีดังกล่าว แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลการเงินที่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของยูฟ่า และไม่ให้ความร่วมมือกับลีกสูงสุดเมืองผู้ดีในการสอบสวนอีกด้วย

ซึ่งบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้ม, ริบแชมป์ หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขึ้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ แต่บทสรุปของคดีนี้ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือนานนับปีกว่าจะรู้ผล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แมนฯ ซิตี้ เคยถูกยูฟ่าลงโทษ จากกรณีผิดกฎ FFP ทำให้พวกเขาถูกแบนจากถ้วยยุโรป 2 ฤดูกาล แต่ขอยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนได้รับโทษเพียงแค่ปรับเงิน 10 ล้านยูโรเท่านั้น

แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในอดีต ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน คือ “เรือใบสีฟ้า” เคยทำผิดกฎการเงินในโลกลูกหนังยุคเก่าแก่ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ต้นตำรับ “ปีกพ่อมดแห่งเวลส์”

หากพูดถึงนักเตะที่มีฉายาว่า “The Welsh Wizard” หรือปีกพ่อมดแห่งเวลส์ แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่จะนึกถึงไรอัน กิกส์ ตำนานดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่บิลลี่ เมเรดิธ คือแข้งคนแรกของโลกที่ได้ฉายานี้

เมเรดิธ เกิดที่ย่านแบล็ก พาร์ค ในประเทศเวลส์ อาชีพแรกในชีวิตของเขา คือการเป็นคนงานเหมืองถ่านหินในบ้านเกิด แต่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล จึงได้รวมตัวกับเพื่อนคนงาน เล่นฟุตบอลในเวลาว่าง

ซึ่งฝีเท้าของเมเรดิธ ก็ไปเข้าตาหลายสโมสรในอังกฤษ อีกทั้งคุณแม่อยากให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ตัวเขาไม่ปรารถนาที่จะอยู่ห่างจากครอบครัวก็ตาม และได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1894

เมเรดิธ ลงสนามเป็นครั้งแรกให้กับแมนฯ ซิตี้ ในเกมบุกแพ้นิวคาสเซิล 4 – 5 ก่อนที่จะเริ่มฉายแววเก่งด้วยการยิง 2 ประตู ใส่นิวตัน ฮีธ (ปัจจุบันคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ในศึกดาร์บี้แมตช์ แต่ทีมของเขาแพ้คาบ้าน 2 – 5

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการใช้ความเร็วสูง และวิ่งกระชากลากเลื้อยตัดเข้าในกรอบเขตโทษ จึงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซิตี้ ซีซั่นแรกของเมเรดิธ ทำผลงานได้น่าประทับใจ ลงสนามแค่ 18 นัด แต่ยิงไปถึง 12 ประตู

ตลอด 5 ฤดูกาลแรกที่อยู่กับแมนฯ ซิตี้ เมเรดิธ เป็นดาวซัลโวของสโมสรถึง 3 ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาล 1898/99 เจ้าตัวยิงได้ถึง 30 ประตู มีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงเวลาที่เรือใบสีฟ้า โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด เมเรดิธ และบิลลี่ กิลเลสพี ถูกยกให้เป็นดาวเด่นของทีม อย่างไรก็ตาม สโมสรตกชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1901/02 แต่ก็คว้าแชมป์ลีกรองได้ในฤดูกาลถัดมา

หลังเลื่อนชั้นกลับมาแค่ซีซั่นเดียว แมนฯ ซิตี้ สร้างความตื่นตะลึงเมื่อจบตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 และคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เอาชนะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ในนัดชิงชนะเลิศ 1 – 0 ซึ่งเมเรดิธ คือผู้ทำประตูชัยของเกมนี้

เงิน 10 ปอนด์ พาซวยครั้งใหญ่

ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาล 1904/05 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในทีมที่มีลุ้นแชมป์ในนัดปิดซีซั่น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาแพ้แอสตัน วิลล่า 2 – 3 ไม่เพียงแค่ชวดแชมป์เท่านั้น เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ตามมาด้วย

โดยหลังจบเกม อเล็กซ์ ลีค กัปตันทีมวิลล่า บอกว่า บิลลี่ เมเรดิธ จ้างวานให้ล้มบอลด้วยเงิน 10 ปอนด์ แม้ได้ต่อสู้คดีถึงที่สุด แต่เอฟเอก็สั่งแบนเมเรดิธ ห้ามลงเล่น 1 ซีซั่น ส่วนแมนฯ ซิตี้ ถูกปรับเงิน

คดีล้มบอลของเมเรดิธ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คดีใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ในปี 1906 ทอม ฮินเดิล นักบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างจากเอฟเอ ได้มาตรวจสอบการเงินที่น่าสงสัยของสโมสร และพบความผิดปกติจนได้

สาระสำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ ได้มีการถ่ายเทเงินผ่านบัญชีลับ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงินของเอฟเอ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำเงินเข้ามาสู่สโมสรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับทีมอื่นๆ

จากการสืบสวนของเอฟเอ พบว่า แมนฯ ซิตี้เจอข้อกล่าวหาติดสินบน กรณีได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1903/04 รวมทั้งการจ่ายเงินโบนัสให้กับนักเตะรวม 681 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ

โดยในช่วงที่เมเรดิธชดใช้โทษแบน ได้รับค่าจ้างมากกว่าเพดานเงินเดือนสูงสุดอีก 50% จากเดิม 4 ปอนด์ เป็น 6 ปอนด์ แต่เจ้าตัวไม่เชื่อว่า มีนักเตะเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเขาแน่นอน

นอกจากนี้ เรือใบสีฟ้ายังถูกตรวจพบว่า มียอดเงินจำนวนมากเข้าไปในบัญชีส่วนตัวของผู้อำนวยการสโมสร ที่มีการกระจายไว้หลายบัญชี และมีการโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปยังบัญชีของนักเตะในสโมสรด้วย

จากรายงานของเอฟเอ สรุปได้ว่า “ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สโมสรทำผิดกฎอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลอย่างมาก” ซึ่งคำซัดทอดของเมเรดิธ ก็ได้นำไปสู่การลงโทษแมนฯ ซิตี้ในที่สุด

บทสรุปของคดีนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน ขณะที่บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่เกี่ยวข้อง โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล และถูกบีบให้ออกจากสโมสร

ส่วนนักฟุตบอล 17 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดกฎการเงิน ถูกแบนยาว และไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสรได้อีกต่อไป บิลลี่ เมเรดิธ ได้ทิ้งผลงาน 147 ประตู จาก 338 นัด ให้แฟนบอลซิติเซนส์ได้จดจำ

สลับขั้วสู่ยูไนเต็ด และรีเทิร์นที่ซิตี้

หลังจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอมรสุมคดีแหกกฎการเงิน บิลลี่ เมเรดิธ ก็ได้ย้ายสู่อีกฟากของเมือง ในการไปค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1906/07

ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก เมเรดิธ และแซนดี้ เทิร์นบูลส์ อดีตนักเตะซิตี้อีกคนที่ย้ายมาด้วยกัน ยังอยู่ในช่วงชดใช้โทษแบน กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ในปี 1907 ทั้งคู่ได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า

เมเรดิธ แอสซิสต์ให้เทิร์นบูลส์ ยิงประตูเดียวของเกม เฉือนเอาชนะวิลล่า 1 – 0 เปิดตัวกับสโมสรใหม่ได้อย่างสวยงามทั้งคู่ และกลายมาเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของปีศาจแดง ช่วยทีมจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

ขณะที่สโมสรเก่าของเมเรดิธ หลังจากทีมแตกสลาย ผลงานก็ร่วงลงไปอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 3 เมื่อ 1 ฤดูกาลก่อน มาอยู่อันดับ 17 แม้ในซีซั่นถัดมาจะขึ้นสูงในอันดับ 3 อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องตกชั้นในซีซั่น1908/09

ตลอดช่วงเวลาที่สวมเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด เมเรดิธ และเทิร์นบูลส์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย ก่อนที่เทิร์นบูลส์ จะถูกแบนตลอดชีวิต จากคดีล้มบอลในเกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูล เมื่อปี 1915

ส่วนเมเรดิธ ตัดสินใจย้ายกลับไปแมนฯ ซิตี้ เป็นคำรบสอง ในฤดูกาล 1921/22 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก ทำได้แค่ 2 ประตู ตลอด 3 ปีที่ลงเล่น และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบซีซั่น 1923/24 ขณะอายุ 49 ปี

เมเรดิธ เสียชีวิตเมื่อ 19 เมษายน 1958 ด้วยวัย 83 ปี และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายปี สโมสรแมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด และสมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้ร่วมกันทำป้ายสุสาน เพื่อระลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล

การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎการเงิน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ซึ่งพวกเขาขอต่อสู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อหวังหลุดพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2020/feb/26/manchester-city-falling-foul-of-ffp-in-1906-forgotten-story

https://playupliverpool.com/1906/06/01/the-billy-meredith-case/

– https://playupliverpool.com/1906/05/31/suspensions-of-manchester-city-players-and-officials/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/nostalgia/billy-meredith-manchester-city-united-7409284

https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Meredith